พระพุทธนวราชบพิตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระพุทธนวราชบพิตร พระพุทธรูปประจำจังหวัด และประจำหน่วยทหาร ที่บัวฐานมี พระสมเด็จจิตรลดา ประดิษฐานอยู่

พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริสร้างพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธนวราชบพิตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระพุทธลักษณะด้วยพระองค์เองจนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าให้เททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509

พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ที่บัวฐานด้านหน้าบรรจุพระพิมพ์ พระสมเด็จจิตรลดา ไว้อีกองค์หนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด และเป็นพระพุทธรูปประจำหน่วยทหาร ประดิษฐานไว้ ณ กองบัญชาการหน่วยทหาร

จังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ก็คือจังหวัดหนองคาย ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2510 ในโอกาสนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวจังหวัดหนองคาย มีความสำคัญที่ขออัญเชิญมาเฉพาะบางตอน ดังนี้

“...ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ ได้นำพระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบไว้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่ฐานบัวหงายข้าพเจ้าได้บรรจุพระพิมพ์องค์หนึ่ง ซึ่งทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ อันได้มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร...”

“...พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง...”

“ขออานุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุกๆประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป”


เนื้อหา

[แก้] พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระประจำจังหวัด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักรไทย ดังนี้

Cquote1.svg

ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ได้นำ พระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ท่านด้วย พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่บัวฐาน ข้าพเจ้าบรรจุพระพิมพ์ (พระสมเด็จจิตรลดา)ไว้องค์หนึ่ง เป็นพระ(พระสมเด็จจิตรลดา)ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้มาจากทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรมีผงจากองค์พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลยนี้รวมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าถือว่าพระพุทธนวราชบพิตร เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุดและเป็นที่หมายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทย และคนไทยทั้งชาติจึงได้บรรจุพระพิมพ์(พระสมเด็จจิตรลดา)ที่ทำด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญ และนำมามอบให้ท่านด้วยตนเอง ท่านทั้งหลายจงรับพระพุทธนวราชบพิตรนี้ไว้ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับจังหวัดและสำหรับตัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ ในการที่จะสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันประกอบความดี และขอให้ระลึกไว้เสมอเป็นนิตย์ด้วยว่า ในการกระทำการงานทั้งปวงนั้น ทุกคนต้องมีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร ประกอบด้วยความอะลุ้มอล่วย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และความสามัคคี ถือเอาประโยชน์ร่วมกัน เป็นจุดประสงค์สำคัญ งานของท่านจึงจะสำเร็จผลได้โดยสมบูรณ์และจะช่วยให้ท่าน สามารถรวมกำลังกัน รักษาความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ของจังหวัดของท่าน พร้อมกับพัฒนาให้เจริญรุดหน้าต่อไปในทุก ๆ ทางได้ ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัย พระธาตุศรีสองรัก และพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านทั้งปวง ให้แผ้วพ้นจากทุกข์และภัยทุก ๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขความสวัสดี และความสามัคคีอันมั่นคง ให้ทุกคนสามารถประกอบกรณียกิจน้อยใหญ่ในหน้าที่ สำเร็จลุล่วงได้ดังประสงค์ บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง แก่จังหวัดเลย และแก่ประเทศชาติยิ่งสืบไป

Cquote2.svg

[แก้] พระราชทานพระบรมราโชวาทให้คนไทยสำนึกอยู่ในความสามัคคี

พ.ศ. 2508 - 2513 ที่ฐานของพระพุทธนวราชบพิตรมีข้อความจารึกเป็นภาษาบาลีว่า ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ แปลว่า คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ในปัจจุบัน ดังนี้

24 ธ.ค. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ ความว่า

Cquote1.svg

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มอบกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศอีกรุ่นหนึ่งขอแสดงความชื่นชมด้วยกับทุกๆคนที่ได้รับความสำเร็จ และได้รับเกียรติเป็นนายทหารของกองทัพไทยท่านทั้งหลายได้ผ่านการศึกษาจากสถาบันทางทหารของไทย และกำลังจะออกไปปฏิบัติการในตำแหน่งที่สำคัญ คือการสร้างเสริมและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ในโอกาสนี้จึงขอให้ทุกคนทำความเข้าใจให้กระจ่างว่า การจรรโลงรักษาประเทศนั้น เป็นงานส่วนรวม ไม่อยู่ในวิสัยที่บุคคลจะกระทำให้สำเร็จได้โดยลำพังตนเอง บุคคลจะทำการนี้ได้ก็โดยปลูกฝังและเสริมสร้างความร่วมมือในชาติให้เกิดทวีขึ้น ทุกคนทุกฝ่าย ทั้งทหารและพลเรือน จึงต้องรักษาความสามัคคีในชาติ รักษาความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติไว้ทุกเมื่อ อย่ายอมให้ผู้ใดสิ่งใดมาแบ่งพวกแบ่งฝ่ายคนชาติไทยเป็นอันขาด ชาติของเราจึงจะตั้งมั่นอยู่โดยอิสระเสรีมีความผาสุกสงบและเจริญมั่นคงได้ตลอดไปขออวยพรให้นายทหารใหม่ทุกนาย และทุกท่านที่มาร่วมประชุมในพิธีนี้ มีความสุขความเจริญทุกเมื่อทั่วกันสรุปได้ว่า คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี เช่นเดียวกับคำจารึกไว้ที่ฐานพระพุทธนวราชบิตร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2508

Cquote2.svg

[แก้] อ้างอิง


[แก้] ดูเพิ่ม

Dharma wheel.svg พระพุทธนวราชบพิตร เป็นบทความเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ พระพุทธนวราชบพิตร ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:พระพุทธศาสนา