รัฐศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รัฐศาสตร์ (อังกฤษ: political science) เป็นการศึกษากระบวนการแบ่งปันและถ่ายโอนอำนาจในกระบวนการตัดสินใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ การศึกษาด้านรัฐศาสตร์นั้นถูกจัดว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวและสถาบันที่เป็นสาธารณะ สาขาวิชานี้มักถูกแบ่งเป็นหลายด้าน

รัฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กระบวนการทางการเมือง สถาบันทางการเมือง รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมือง การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษาในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอี่นมาช่วยในการอธิบายหรือประกอบในการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้น

เนื้อหา

[แก้] สาขาวิชาที่สำคัญของรัฐศาสตร์

ในประเทศไทย การศึกษารัฐศาสตร์มักแบ่งออกเป็น สาขาวิชาหลักๆได้สามสาขา ดังนี้

การเมืองการปกครอง 
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องของหลักวิชาในการเมือง การปกครอง ความคิดทางการเมือง ระบบการเมือง ระบบการปกครอง ปรัชญาการเมือง รัฐธรรมนูญ และอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งเน้นที่ การบูรณาการองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระบบระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มศึกษาจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พัฒนาการของระบบระหว่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง การทูตและการต่างประเทศ และอื่นๆ
รัฐประศาสนศาสตร์ 
เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นในการบริหารกิจการต่างๆอันเป็นของรัฐ หรือการบริหารงานภาครัฐ สาขาวิชานี้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงอย่างมากในปัจจุบัน และเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมจากผู้สนใจศึกษารัฐศาสตร์ค่อนข้างมาก

[แก้] ขอบเขตของการศึกษา

วิชารัฐศาสตร์มีขอบเขตกว้าง เป็นวิชาที่ศึกษารัฐเป็นศูนย์กลาง ศึกษาตั้งแต่ต้นกำเนิดของรัฐ พัฒนาการของรัฐ ความหมายของรัฐ การวิเคราห์ความแตกต่างของแต่ละรัฐ โครงสร้างรัฐบาล ระบบกฎหมาย ระบบการเมือง การกำหนดดำเนินนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

เราสามารถแบ่งสาขาวิชาของรัฐศาสตร์อย่างคร่าวๆดังนี้

  1. ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)
  2. การเมืองการปกครอง (Government)
  3. การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics)
  4. พลังเคลื่อนไหวทางการเมือง (Political Dynamic)
  5. กฎหมายมหาชน (Public Law)
  6. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations)
  7. เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy)
  8. รัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration)

[แก้] ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์สากล

[แก้] สมัยกรีก

การศึกษารัฐศาสตร์รุ่งเรืองอย่างมาก เน้นความสำคัญของศีลธรรม พยายามทำรัฐให้เป็นอุดมคติ นับเป็นรากฐานสำคัญของรัฐศาสตร์อย่างแท้จริง ปัจจุบันเรายกย่องให้ เพลโต เป็นบิดาของปรัชญาการเมือง และ อริสโตเติลเป็นบิดาของวิชารัฐศาสตร์

[แก้] สมัยโรมัน

จะแตกต่างกับยุคกรีกอย่างมาก ในยุคนี้รัฐศาสตร์จะไม่ให้ความสำคัญกับรัฐในอุดมคติมากนักแต่จะเป็นพวก ปฏิบัตินิยม มากกว่าคือ มีระเบียบวินัย เชื่อฟังผู้ปกครองและมีกฎหมาย แนวความคิดสำคัญของยุคนี้คือสิทธิส่วนบุคคล ความเท่าเทียมกัน และหลักประชาธิปไตย

[แก้] สมัยกลาง

จากการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน ทำให้รัฐไม่มีความสำคัญ ศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่ง เป็นยุคที่มีแนวความคิดเรื่องโลกเดียว การอยู่ด้วยกันอย่างสันติโดยไม่แบ่งเป็นรัฐ และกฎหมายธรรมชาติ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน

[แก้] สมัยฟื้นฟู

ยุคนี้ รัฐ กลับมามีอำนาจขึ้นอีกครั้ง สันตะปาปาต้องต่อสู้กับการเกิดใหม่ของรัฐ มีการแยกรัฐออกจากศาสนาอย่างชัดเจน ยุคนี้มีการพัฒนาของรัฐอย่างชัดเจน มีสงคราม มีการล่าอาณานิคม การขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรม

[แก้] สมัยใหม่

เป็นยุคที่วิชา รัฐศาสตร์มีแบบแผนของข้อมูลมากที่สุด แนวคิดการแบ่งสันอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุล ปรับปรุงเอาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มาใช้ในโครงร่างรัฐบาล การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดระบอบทุนนิยม และลัทธิมาร์กซิสต์ตามลำดับ

[แก้] ปัจจุบัน

ให้ความสำคัญกับเรื่อง การศึกษาเชิงพฤติกรรม มากกว่าในรูปแบบขององค์กร

[แก้] ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์ของไทย

การศึกษาด้านรัฐศาสตร์ของไทยเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน เพื่อรับคัดเลือกนักเรียนเข้ามาฝึกหัดเป็นข้าราชการตามกระทรวงต่างๆ (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์) ต่อมาได้มีการขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพัฒนาโรงเรียนดังกล่าวเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังได้สถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากเหตุดังกล่าวนี้ การศึกษารัฐศาสตร์จึงเริ่มต้นขึ้น โดยคณะรัฐศาสตร์แห่งแรก คือ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งที่สอง คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแห่งที่สาม คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

[แก้] ดูเพิ่ม

Nuvola apps bookcase.svg รัฐศาสตร์ เป็นบทความเกี่ยวกับ วิชา ความรู้ และศาสตร์ต่างๆ  ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ รัฐศาสตร์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ