ประเทศตองกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Pule'anga Fakatu'i 'o Tonga
ปูเลอังกา ฟากาตูอี โอ โตงา
ราชอาณาจักรตองกา
ธงชาติตองกา ตราแผ่นดินของตองกา
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญKo e ʻOtua mo Tonga ko hoku tofiʻa (พระเจ้าและตองกาคือมรดกของข้าพเจ้า)
เพลงชาติKoe Fasi Oe Tu'i Oe Otu Tonga
ที่ตั้งของตองกา
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
นูกูอะโลฟา

21°08′S 175°12′W

ภาษาทางการ ภาษาตองกาและภาษาอังกฤษ
รัฐบาล ราชาธิปไตย
  พระมหากษัตริย์

นายกรัฐมนตรี
สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูปูที่ 5
ดร. เฟเลติ เซเวเล
ก่อตั้งชาติ
  ก่อตั้งราชวงศ์ตูปู พ.ศ. 1493
พ.ศ. 2388 
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 748 กม.² (ลำดับที่ 171)
 -  พื้นน้ำ (%) 4
ประชากร
 -  .ก.ค. 2549 ประมาณ 114,689 (อันดับที่ 178)
 -  ความหนาแน่น 153/กม.² (อันดับที่ 50 1)
GDP (PPP) 2548 ประมาณ
 -  รวม 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 167)
 -  ต่อประชากร 7,984 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 76)
HDI (2546) 0.810 (สูง) (อันดับที่ 54)
สกุลเงิน พาแองกา (TOP)
เขตเวลา (UTC+13)
 -  ฤดูร้อน (DST)  (UTC+13)
รหัสอินเทอร์เน็ต .to
รหัสโทรศัพท์ +676
1.) อันดับจากปี พ.ศ. 2548

ราชอาณาจักรตองกา (Kingdom of Tonga) หรือ ตองกา (ออกเสียงที่ถูกตัองว่า โตงา ในภาษาตองกาแปลว่า ทิศใต้) เป็นประเทศหมู่เกาะในเครือจักรภพ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และมลรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา โดยอยู่ทางใต้ของประเทศซามัว และทางตะวันออกของประเทศฟิจิ ประเทศตองกาไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก แม้ว่าจะเป็นสมาชิกของเครือจักรภพก็ตาม[1]

เนื้อหา

[แก้] ประวัติศาสตร์

ดูบทความหลัก ประวัติศาสตร์ตองกาและจักรวรรดิตูอิตองกา

ในหมู่เกาะตองกาที่เรียกว่า ราชอาณาจักรตองกา ในปัจจุบันนั้น ชาวลาพิตา (บรรพบุรุษของชาวโพลินีเซียนรวมถึงชาวตองกา) ได้อพยพมาตั้งรกรากจากเอเชียใต้ มากว่า 6,000 ปี ตองกามีประเพณี วัฒนธรรมและอารยธรรมเป็นของตัวเอง ได้พัฒนาจากสังคมเล็กจนเป็นสังคมชั้นสูง โดยมีกษัตริย์ปกครอง ในช่วงระหว่างนั้น มีการแลกเปลี่ยนสินค้า การทำสงคราม รวมถึง การถูกยึดครองดินแดนโดยจักรวรรดิตูอิปูโลตูจากประเทศฟิจิ และจักรวรรดิมานูอาจากประเทศซามัวสลับกันไป

จนกระทั่ง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 ตองกาได้พ้นจากการปกครองของทั้งสองประเทศ โดยพระเจ้าอะโฮอิตูได้สถาปนาตัวเป็นกษัตริย์องค์แรกของตองกา ในรัชกาลที่ 10 ต่อมา ในพุทธศตวรรษที่ 17 จักรพรรดิโมโมและพระโอรส (รัชกาลที่ 11 จักรพรรดิตูอิตาตูอิ) ได้ขยายอาณาจักรตองกาโดยยึดประเทศฟิจิและบางส่วนของประเทศซามัว และยังคงขยายอาณาเขตต่อ โดยเข้ายึดโพลินีเซียนตะวันออกทั้งหมด และบางส่วนของเมลานีเซีย ไมโครนีเซีย และโปลีนีเซียนกลาง ในประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 จักรพรรดิตากาลัวอา ได้ทรงแยกอำนาจกษัตริย์ โดยให้มีกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรพร้อมกัน 2 พระองค์ ราชวงศ์ที่ 2 ที่เกิดขึ้นมา คือ ราชวงศ์ตูอิฮาอาตากาลัวอา โดยมีกษัตริย์องค์แรก คือ จักรพรรดิโมอันกาโมตูอา ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ 2 ของจักรพรรดิตากาลัวอา และได้ปกครองสืบต่อมา[2]

ในช่วงที่กัปตันเจมส์ คุก ได้แล่นเรือมาที่เกาะ ในปี พ.ศ. 2316, 2317, และ 2320 ได้มาพบหมู่เกาะตองกาและตั้งชื่อว่า "หมู่เกาะแห่งมิตรภาพ" (Friendly Islands) กลุ่มมิชชันนารีกลุ่มแรกจากลอนดอนได้มาอยู่ที่เกาะ ในปี พ.ศ. 2340 และกลุ่มมิชชันนารีกลุ่มต่อมาในปี พ.ศ. 2365[2]

ในปี พ.ศ. 2388 เตาฟาอาเฮา ตูปู ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลู ได้รวบรวมหมู่เกาะตองกาที่แตกแยกกัน ให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน ภายใต้ชื่อ "อาณาจักรโพลีนีเซีย" แล้วสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1 พร้อมสถาปนาราชวงศ์ตูปูขึ้น พระองค์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2418 ในระยะเวลาต่อมา พระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 2ทรงทำสนธิสัญญาให้ตองกาเป็นรัฐภายใต้ การคุ้มครองของสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2443 จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูปูที่ 4 ตองการได้อำนาจการปกครองตนเองคืนทั้งหมด และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือจักรภพ และเมื่อกันยายน พ.ศ. 2543 ตองกาได้เข้าร่วมเป็นประเทศในสหประชาชาติ[3]

[แก้] การเมือง

พระราชวังตองกา

ระบบรัฐสภา ระบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก 3 กลุ่ม คือ

  1. คณะรัฐมนตรี คัดเลือกและแต่งตั้งโดยกษัตริย์ ดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเกษียณอายุ
  2. ผู้แทนขุนนาง (Noble MPs) คัดเลือกโดยกลุ่มขุนนาง
  3. ผู้แทนสามัญชน (Commoner MPs) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

[แก้] สถานการณ์ทางการเมือง

จุดเปลี่ยนแปลงการปกครองของตองกา คือ การลาออกของเจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตา จึงทำให้หลาย ๆ คนคาดว่าตองกาจะก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนสาเหตุการลาออกไม่ทราบแน่นอน แต่ที่จริงแล้วเจ้าชายลาวากาไม่ต้องการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่ที่แรก จึงทำให้ ดร. เฟเลติ เซเวเลซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยตองกาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของตองกาจากการแต่งตั้งของสมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูปูที่ 5 เมื่อยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร[1]

ประชาชนชาวตองกามีการเรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และบ่อยครั้งที่รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินและการขายหนังสือเดินทางให้แก่ชาวต่างชาติ นอกจากนี้ เจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตายังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบริหาร โดยเฉพาะกรณีสายการบิน Royal Tongan Airlines ซึ่งพระองค์ทรงเป็นประธาน ประสบภาวะล้มละลายในปี พ.ศ. 2547 และการที่พระองค์เสด็จฯ ต่างประเทศเป็นเวลานานในช่วงเวลาที่ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2547 อนึ่ง เจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตา ทรงไม่ได้ให้เหตุผลต่อการลาออกจากตำแหน่งในครั้งนี้ แต่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าพระองค์ไม่มีพระประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น และไม่ทรงชื่นชอบการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี[1]

แม้ว่าการเมืองตองกาจะมีแนวโน้มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่รัฐบาลยังคงประสบปัญหาขัดแย้งกับสมาคมข้าราชการ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นเงินเดือน รวมทั้งการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายตูอิเปเลหะเก ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภาด้านการปฏิรูปการปกครอง จากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 จึงคาดว่ากระบวนการปฏิรูปการเมืองจะยังคงล่าช้าต่อไป[1]

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

แผนที่ประเทศตองกาแสดงถึงเขตกลุ่มเกาะต่าง ๆ
ดูบทความหลัก รายชื่อเมืองในตองกา

ตองกาแบ่งการปกครองใหญ่เป็น 3 หมู่เกาะ[4] คือ

[แก้] ภูมิศาสตร์

ประเทศตองกาตั้งอยู่ในทวีปโอเชียเนีย ในภูมิภาคโพลินีเซีย ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ อยู่ระหว่างระยะทาง 2 ใน 3 ระหว่างมลรัฐฮาวาย - นิวซีแลนด์ มีเกาะทั้งหมด 169 เกาะ แต่มีเพียง 96 เกาะที่มีคนอาศัยอยู่ เกาะส่วนใหญ่เป็นเกาะปะการัง มีบางเกาะเท่านั้นที่เกิดจากภูเขาไฟ เกาะที่ใหญ่ที่สุด คือเกาะตองกาตาปู ซึ่งมีพื้นที่ถึง 257 ตารางกิโลเมตร (34.36 % ของพื้นที่ทั้งประเทศ) ประเทศตองกาวัดตั้งแต่เหนือสุดเกาะนีอูอาโฟเอา จนใต้สุดสาธารณรัฐมิเนอร์วาได้ทั้งสิ้นกว่า 800 กิโลเมตร แต่มีพื้นที่ติดทะเลทั้งหมด 419 กิโลเมตร ประเทศตองกาอยู่ในเขตร้อน เพราะฉะนั้น จึงมีอุณหภูมิตลอดทั้งปีโดยเฉลี่ย 23 - 32 องศาเซลเซียส และมีอยู่ 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูหนาว (คล้ายภาคใต้ของประเทศไทย) มีฝนตกเฉลี่ย 1,700 - 2,970 มิลลิเมตร ตั้งแต่เกาะตองกาตาปูถึงเส้นศูนย์สูตร

ประเทศตองกามีพื้นที่ทั้งหมด 748 ตารางกิโลเมตร พื้นดิน 718 ตารางกิโลเมตร พื้นน้ำ 30 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่เป็นขนาดสี่เท่าของวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐอเมริกา มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล มีทรัพยากรที่สำคัญ คือปลาและดินอันอุดมสมบูรณ์ เขตสูงสุดอยู่ที่สถานที่ไม่มีชื่อบนเกาะเกา 1,033 เมตร สถานที่ต่ำสุด คือ มหาสมุทรแปซิฟิก 0 เมตร มีภัยธรรมชาติที่สำคัญ คือ ไซโคลน แผ่นดินไหว และ การประทุของภูเขาไฟ[4]

[แก้] สัตว์พื้นเมืองและสภาพทางนิเวศวิทยา

สัตว์พื้นเมืองที่เด่นชัดที่สุด คือนกมาเลา อาศัยอยู่บนเกาะนีอูอาโฟเอา ออกไข่แล้วกลบไว้ใต้ดิน ซึ่งในปัจจุบันมีในเกาะนี้ที่เดียวในโลก [ต้องการอ้างอิง] ซึ่งเหมือนกับที่อื่นในภูมิภาคนี้เนื่องจากภูมิภาคนี้ถูกตัดขาดจากภูมิภาคอื่น สัตว์ที่เด่นในโอเชียเนียอื่น ๆ เช่น จิงโจ้ หมีโคอาลา นกกระจอกเทศยักษ์ นกปักษาสวรรค์ นกกีวีเป็นต้น สัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในตองกา ได้แก่ นกชนิดต่าง ๆ หมู และสัตว์น้ำต่าง ๆ มากมาย รวมถึงมีแนวปะการังที่สวยงามด้วย

ตองกาเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อน เพราะฉะนั้นก็จะมีป่าดงดิบอันอุดมสมบูรณ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตามป่าดงดิบก็ยังมีขนาดเล็ก สืบเนื่องมาจากขนาดของเกาะ ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีพันธุ์ไม้แตกต่างกันไป แล้วแต่สภาพทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ดินฟ้าอากาศหรือแม้กระทั่งการอยู่ใกล้ชิกเกาะขนาดใหญ่ เป็นต้น

[แก้] เศรษฐกิจ

การท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ทะลทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของค่า GDP

ตองกาเป็นประเทศหนึ่งในแปซิฟิกใต้ที่มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจของตองกายังคงพึ่งพาสินค้าเกษตรเป็นหลัก สินค้าออกที่สำคัญและทำรายได้อันดับ 1 คือ ฟักทอง เนื้อมะพร้าวตากแห้ง สินค้าอื่น ๆ จากมะพร้าว วานิลลา และพืชประเภทรากไม้ต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ การท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2548 การส่งออกฟักทองลดลงกว่า 1,000 ตัน และเกษตรกรไม่ได้รับเงินค่าจ้างตรงตามเวลา ด้วยเหตุนี้ ผู้แทนการค้าตองกาจึงได้พยายามแสวงหาตลาดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเกาหลีใต้[5]

ตองกายังคงพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว และเงินจากแรงงานในต่างประเทศ (remittances) ซึ่งมีอัตราร้อยละ 20 ของ GDP ปัจจุบัน ประชากรชาวตองกากว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือที่สำคัญ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

ตองกาได้จัดตั้งธนาคารแห่งชาติชื่อว่า The Reserve Bank[6] โดยแยกหน้าที่จาก Bank of Tonga เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปดีขึ้นมาก ปัญหาด้านการเงิน คือ ชาวตองกาได้รับการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารน้อยมาก เนื่องจากมีกลไกการควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวด ประเทศที่มีความสำคัญทางการค้าของตองกา คือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งสินค้าออกที่ใหญ่ที่สุดของตองกา ส่วนสินค้าเข้าของ ตองกาส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกอาหารตองกาไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญ แต่มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลที่กว้างใหญ่ ซึ่งเหมาะแก่การประมงน้ำลึก อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2517 ตองกาได้พัฒนาโครงการสำรวจแหล่งน้ำมันในทะเล และในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย[1]

[แก้] สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน

ตองกาได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรเอกชน Oxfam ว่า ตองกาจะเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากข้อกำหนดในการเป็นสมาชิก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ[1]

[แก้] การคมนาคม สื่อสาร

สภาพนิเวศวิทยาอันสมบูรณ์ของตองกา

ตองกาประกอบด้วยสนามบิน 6 แห่ง มีทางหลวงยาวทั้งหมด 680 กิโลเมตร มีเรือขนส่งสินค้า 20 ลำ ท่าเรือที่สำคัญ คือ นูกูอะโลฟา และประชาชนมีโทรศัพท์ทั้งหมด 11,200 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 9,000 เครื่อง สถานีวิทยุ 3 แห่งและสถานีโทรทัศน์ 3 แห่ง[4]

[แก้] สถานการณ์ทางการคมนาคม สื่อสาร

บริษัทชอร์ไลน์โทรคมนาคมตองกา ซึ่งมีสมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูปูที่ 5 ทรงเป็นเจ้าของ ได้พยายามปรับปรุงระบบอินเทอร์เน็ตและดาวเทียม ให้ดียิ่งขึ้น

[แก้] ประชากร

ประชากรในตองกาประกอบด้วยชาวตองกา ร้อยละ 98 (โพลีนีเซียน) และอื่น ๆ อีกร้อยละ 2 ซึ่งประกอบด้วยชาวยุโรป และชาวจีน มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 25.37 ต่อ 1000 อัตราการตายอยู่ที่ 5.28 ต่อ 1000 และมีอัตราการอ่านออกเขียนได้ร้อยละ 98.9 ประชากรนับถือศาสนาคริสต์[4]

[แก้] สุขภาพและโภชนาการ

ชาวตองกาส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ส่งผลให้ร้อยละ 92 ของผู้ใหญ่ตองกาเป็นโรคอ้วนเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โดยคนชนบทมีอัตราความอ้วนน้อยกว่าคนเมือง เนื่องจากต้องปีนขึ้นเก็บมะพร้าวทุกวัน อาหารโปรดของชาวตองกา คือ หมูหันพื้นเมือง ซึ่งก็มีไขมันเยอะเช่นเดียวกัน สำหรับหมูหันนี้ไว้ใช้ในงานสำคัญ โดยจะเอาลูกหมูมาทำเป็นอาหาร

[แก้] วัฒนธรรม

การเต้นรำของชาวตองกา

ชาวโปลีนีเซียนรวมถึงตองกาถือว่าเป็นผู้ดีในกลุ่มชนล้าหลัง เนื่องจากมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ตองกามีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษาตองกา โดยมีประมาณหนึ่งแสนคนที่ใช้ภาษาตองกาเป็นภาษาหลัก นอกจากภาษาตองกาแล้ว ภาษาอังกฤษยังคงเป็นภาษาทางการของประเทศ ชาวตองกาเหมือนชาวโพลีนีเซียนทั่วไป คือ มีการเต้นรำของตัวเอง

[แก้] ความสัมพันธ์ทางการทูต

ตองกาพยายามที่จะสร้างสัมพันธ์ทางการทูตให้ได้มากที่สุด โดยปัจจุบันตองกามีสำนักงานผู้แทนทางการทูต 6 แห่ง คือ ลอนดอน ฮาวาย ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก ปักกิ่ง และซิดนีย์

[แก้] ความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในโอเชียเนีย

ตองกามีความร่วมมือทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกด้วยกัน เช่น ประเทศฟิจิ ประเทศซามัว ประเทศนาอูรู หมู่เกาะคุก ประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ โดยในปี พ.ศ. 2549 ตองกาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ Pacific Islands Forum ซึ่งเป็นองค์กรในภูมิภาคแปซิฟิกที่สำคัญที่สุด

[แก้] ความสัมพันธ์ทางการทูตกับนิวซีแลนด์

ตองกามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนิวซีแลนด์มาโดยตลอด เนื่องจากมีความผูกพันกันทางเชื้อชาติ ศาสนาและประวัติศาสตร์กับชนพื้นเมือง (ชาวเมารี) ส่งผลให้ตองกาได้รับอิทธิพลทางการเมืองและการปกครองจากนิวซีแลนด์เป็นอันมาก ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของตองกาหลายคนสำเร็จการศึกษาจากนิวซีแลนด์ และมีชาวตองกาจำนวนมากเข้าไปตั้งถิ่นฐานในนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังเป็นประเทศ ผู้บริจาครายใหญ่ของตองกา โดยเน้นให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาเป็นหลัก

[แก้] ความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติในเอเชีย

เดิมตองกาเป็นประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2515 ภายหลังที่ไต้หวันถูกขับออกจากสหประชาชาติแล้ว 1 ปี แต่ปัจจุบันตองกาได้เปลี่ยนมาเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนและยึดถือนโยบายจีนเดียว ในขณะที่หลายประเทศในแปซิฟิกใต้ ได้แก่ ประเทศปาเลา ประเทศตูวาลู ประเทศหมู่เกาะมาร์แชลล์ ประเทศคิริบาส หมู่เกาะโซโลมอน และประเทศนาอูรูยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน ตองกามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศบรูไน และประเทศไทย

[แก้] ความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย

[แก้] ความสัมพันธ์ทั่วไป
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งตองกา เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมารทรงเสด็จเยือนไทยในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ไทยกับตองกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2537 และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน มีเขตอาณาคลุมตองกา เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายนรชิต สิงหเสนี[1]

ตองกาให้ความเป็นมิตรและพยายามกระชับความสัมพันธ์กับไทย เนื่องจากไทยจะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่ก้าวหน้า มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่เคยเป็นอาณานิคมตะวันตกเช่นเดียวกันกับตองกา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ตองกา 2 ครั้ง คือ กรณีพายุไซโคลน Weka ปี พ.ศ. 2545 บริจาคเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกรณีพายุ Heta ปี พ.ศ. 2547 บริจาคเงิน 20,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ขณะที่ตองกาเป็นประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ประเทศเดียวที่บริจาคเงินช่วยเหลือไทยกรณีสึนามิจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด

[แก้] การค้าระหว่างไทย - ตองกา

การค้าระหว่างไทยและตองกายังมีปริมาณไม่มากนัก แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี พ.ศ. 2548 โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2547 ร้อยละ 219 โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังตองกาเกือบทั้งหมด โดยตองกานำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไทยนำเข้าสินค้าจากตองกามีมูลค่าเพียง 1,416 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รถยนต์และส่วนประกอบ

[แก้] การช่วยเหลือด้านวิชาการ

ความช่วยเหลือทางวิชาการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผู้แทนตองกาเข้ามารับการฝึกอบรมในไทย อย่างไรก็ตาม จากผลการหารือระหว่างเจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตา นายกรัฐมนตรี กับนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2548 ฝ่ายตองกาได้แสดงความสนใจที่จะเรียนรู้จากไทยในเรื่องการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยและสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) พร้อมให้การสนับสนุน โดยมีโครงการจะจัดการฝึกอบรมด้านประมงชายฝั่งให้แก่ตองกาและกลุ่มประเทศสมาชิก Pacific Islands Forum ในปี พ.ศ. 2549

[แก้] ความตกลงที่ทำกับไทย
  • อยู่ระหว่างรอการลงนามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ
[แก้] การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายตองกาเยือนไทย
เจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตา (ภาพกลาง) เคยเสด็จเยือนไทยเพื่อหารือเรื่องกิจการการบินพลเรือนระหว่างสองประเทศ
ฝ่ายไทยเยือนตองกา
  • ระดับพระราชวงศ์
  • ระดับรัฐบาล
    • ปี 2537 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำคณะเยือนปาปัวนิวกินี ฟิจิ ตองกา และนิวซีแลนด์ระหว่างวันที่ 9-21 สิงหาคม 2537 โดยในการเยือนตองการะหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม 2537 คณะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูปูที่ 4 และเยี่ยมคารวะคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น[1]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 กระทรวงการต่างประเทศ
  2. ^ 2.0 2.1 ประวัติศาสตร์ตองกา
  3. ^ ประวัติศาสตร์ตองกาบนเว็บไซต์รัฐบาล
  4. ^ 4.0 4.1 4.2 4.3 ข้อมูลประเทศตองกาโดยซีไอเอ
  5. ^ กระทรวงการคลัง ราชอาณาจักรตองกา
  6. ^ ธนาคารสำรองเงินแห่งชาติตองกา

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

คุณสามารถหาข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ ประเทศตองกา ได้โดยค้นหาจากโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย:
Wiktionary-logo-th.png หาความหมาย จากวิกิพจนานุกรม
Wikibooks-logo.svg หนังสือ จากวิกิตำรา
Wikiquote-logo.svg คำคม จากวิกิคำคม
Wikisource-logo.svg ข้อมูลต้นฉบับ จากวิกิซอร์ซ
Commons-logo.svg ภาพและสื่อ จากคอมมอนส์
Wikinews-logo.svg เนื้อหาข่าว จากวิกิข่าว
Wikiversity-logo-Snorky.svg แหล่งเรียนรู้ จากวิกิวิทยาลัย
ภาษาอื่น