เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Leg text2 03.jpg
เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต
พระบรมนามาภิไธย เจ้าบุญทวงศ์ ณ ลำปาง
พระปรมาภิไธย เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต
พระอิสริยยศ เจ้าผู้ครองนครลำปาง
ราชวงศ์ ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์
ครองราชย์ พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2465
ระยะครองราชย์ 25 ปี
รัชกาลก่อนหน้า เจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต
รัชกาลถัดไป เจ้าราชบุตร (เจ้าน้อยแก้วเมืองพรวน ณ ลำปาง)

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ( 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2400 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2465) [1]เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑๐ แห่ง "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)" (ครองราชย์ พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2465) ตลอดรัชสมัย เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ทรงดำรงพระองค์ไว้ซึ่งความมั่นคงสุจริตและความจงรักภักดีต่อ พระบรมราชวงศ์จักรี พระองค์ได้ทรงพัฒนานครลำปางและเมืองบริวารในด้านต่างๆ ให้ทันกับการพัฒนาในส่วนกลาง ได้ทรงประทานที่ดินและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างถาวรวัตถุในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการก่อสร้างสถานศึกษา ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อความผาสุกแก่ประชาชนลำปางอย่างแท้จริง

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต หรือ มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต สามันตวิชิตประเทศราช บริสัตยนารถทิพจักราธิวงศ์ ดำรงโยนวิไศย อภัยรัษฎารักษ์ อุดมศักดิ์สัตยาธิวางค์ ลำปางมหานัคราธิปไตย เจ้าผู้ครองนครลำปาง มีพระนามเดิมว่า เจ้าบุญทวงศ์ ณ ลำปาง ทรงราชสมภพเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๐ ทรงเป็นราชโอรสใน เจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต, เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๙ กับ แม่เจ้าฟองแก้วราชเทวี และทรงเป็นราชปนัดดา (หลานปู่) ใน เจ้าหลวงวรญาณรังษี, เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๖ กับ แม่เจ้า-ราชเทวี

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ทรงมีราชเชษฐา ราชภคินี ราชอนุชา และราชขนิษฐา ร่วมพระราชบิดา ๒๓ พระองค์ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

  • เจ้าหญิงหอม ณ ลำปาง
  • เจ้าน้อยคำแสน ณ ลำปาง
  • มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต, เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑๐
  • เจ้าน้อยกิ ณ ลำปาง
  • เจ้าราชบุตร ชวลิตวราวุธ ณ ลำปาง, เจ้าราชบุตรนครลำปาง - พระบิดาใน "เจ้าราชสัมพันธวงศ์ คำผาย สุยะราช, เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์นครลำปาง" ซึ่งสมรสกับ "เจ้าหญิงอุษาวดี ศีติสาร" ราชธิดาองค์ใหญ่ใน "เจ้าหลวงอินต๊ะชมภู, พระญาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา องค์ที่ ๔" เจ้านายราชวงศ์ "เชียงแสนเก่า"
  • เจ้าน้อยพึ่ง ณ ลำปาง
  • เจ้าน้อยเมือง ณ ลำปาง
  • เจ้าน้อยหม่อม ณ ลำปาง
  • เจ้าหญิงนวล ณ ลำปาง
  • เจ้าหญิงซุ่ย ณ ลำปาง
  • เจ้าหญิงหวัน ณ ลำปาง
  • เจ้าน้อยแก้ว ณ ลำปาง
  • เจ้าหญิงหยิ่น ณ ลำปาง
  • เจ้าไชยสงคราม น้อยโท่น ณ ลำปาง, เจ้าไชยสงครามนครลำปาง
  • เจ้าหญิงบัวเกษร ณ ลำปาง
  • เจ้าหญิงบัวเทพ ณ ลำปาง - พระอัยยิกา (เจ้ายาย) ใน "เจ้าอินทเดชสุวรรณบท ณ ลำพูน"
  • เจ้าหญิงแก้วมาลา ณ ลำปาง
  • เจ้าน้อยปั๋นแก้ว ณ ลำปาง
  • เจ้าหญิงฟอง ณ ลำปาง
  • เจ้าน้อยอ้น ณ ลำปาง
  • เจ้าอุปราช ทิพจักร ณ ลำปาง, เจ้าอุปราชนครลำปาง - พระบิดาใน "เจ้าเทพธำรงค์ ณ ลำปาง","เจ้าหญิงอัตถ์ ณ ลำปาง","เจ้าหญิงต่วน ณ ลำปาง"
  • เจ้าน้อยหมวก ณ ลำปาง
  • เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ ลำปาง

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้เสด็จขึ้นครองนครลำปาง ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ และเสด็จพิราลัยใน พ.ศ. ๒๔๖๕ รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร ๒๕ ปี สิริพระชนมายุ ๖๕ พรรษา

[แก้] ราชโอรส ราชธิดา

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ทรงมีราชโอรสและราชธิดา รวม ๑๓ พระองค์ อยู่ในราชตระกูล ณ ลำปาง มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

ใน แม่เจ้าเมืองชื่นราชเทวี - ราชธิดาใน "เจ้าหลวงวรญาณรังษี, เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๖" (มีราชธิดา ๕)

  • เจ้าหญิงสำเภาแก้ว ณ ลำปาง - สมรสกับ "เจ้าอุปราช ทิพจักร ณ ลำปาง, เจ้าอุปราชนครลำปาง""
  • เจ้าหญิงสำเภาคำ ณ ลำปาง - สมรสกับ "เจ้าราชบุตร น้อยแก้วเมืองปวน ณ ลำปาง, เจ้าราชบุตรนครลำปาง"
  • เจ้าหญิงดาวบิน ณ ลำปาง - สมรสกับ "เจ้าคำลือ ณ ลำปาง"
  • เจ้าหญิงอ้ม ณ ลำปาง - สมรสกับ "พันตรี หลวงไกรเทพสงคราม (แถม จารุจินดา) "

ใน หม่อมจิ๋น (มีราชธิดา ๑)

  • เจ้าหญิงจ๋อม ณ ลำปาง

ใน หม่อมช้อย (มีราชธิดา ๑)

  • เจ้าหญิงเนียม ณ ลำปาง

ใน หม่อมเมฆ (มีราชโอรส ๑)

ใน หม่อมเจียกใหญ่ (มีราชธิดา ๒)

  • เจ้าหญิงบุษมาลี ณ ลำปาง - (พิราลัยแต่เยาว์)
  • เจ้าหญิงบุษบง ณ ลำปาง - สมรสกับ "เจ้ามงคล ณ ลำปาง"

ใน หม่อมน้อย (มีราชธิดา ๑)

  • เจ้าหญิงอัมพร ณ ลำปาง

ใน หม่อมเจียกน้อย (มีราชโอรส ๑)

  • เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง - รับพระราชทานสืบทอด "เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) "

ใน หม่อมวาส (มีราชธิดา ๑)

  • เจ้าหญิงบุษบา ณ ลำปาง

[แก้] พระกรณียกิจสำคัญ

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันทรงคุณูปการต่อนครลำปางและประเทศชาติเป็นอเนกประการ มีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

  • ด้านการทหารและการป้องกันนคร

พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและวางรากฐานด้านการทหารให้แก่นครลำปาง ได้ทรงระดมชาวเมืองต่อสู้ป้องกันนครจากพวกเงี้ยวที่ก่อการจลาจล ยกกำลังเข้าตีนครลำปางเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ และสามารถปราบปรามเงี้ยวราบคาบ การที่ทรงระดมพลเมืองเป็นทหารเพื่อรบพุ่งทำสงครามดังกล่าว ทำให้เกิดมีกองทหารนครลำปางขึ้น และเพื่อความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของกิจการทหาร พระองค์ได้ประทานที่ดินส่วนพระองค์สร้างโรงทหาร โรงพยาบาลทหาร และค่ายทหาร

  • ด้านการศึกษา

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ทรงได้รับการศึกษาหนังสือไทยเหนือในสำนัก อภิไชย วัดเชียงมั่น นครลำปาง และหนังสือไทยกลางที่คุ้มหลวง เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียน พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาของประชาชนลำปางที่มีอยู่ในวัดนั้นไม่เพียงพอต่อการพัฒนานคร เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ทรงสนพระทัยติดตามความเคลื่อนไหวด้านการจัดการศึกษาของส่วนกลาง แล้วทรงนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของนครลำปาง ทรงนำการศึกษาแบบสอนภายในโรงเรียนเข้ามาแทนการศึกษาในวัดเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ณ สถานที่ตั้งโรงเรียนเทศบาล ๓ (บุญทวงศ์อนุกูล) ในปัจจุบัน พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนานครลำปาง พระองค์ได้สนับสนุนส่งเจ้านายบุตรหลานและประชาชนลำปาง ที่ทรงคัดเลือกว่ามีสติปัญญาความสามารถไปศึกษาต่อที่ ณ กรุงเทพมหานคร โดยให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็ได้กลับมาทำงานสร้างคุณประโยชน์ให้แก่นครลำปางและประเทศชาติหลายท่าน นอกจากนั้น พระองค์ยั่งได้ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินและอาคารของห้างเซ่งหลี สร้างโรงเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งแล้วประทานให้เป็นของรัฐ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ และทรงพระกรุณาเสด็จทรงเปิดโรงเรียนใหม่แห่งนี้เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน และพระราชทานนามว่า "โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย" เพื่อถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่ เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต

  • ด้านการศาสนา

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ทรงเคยเข้ารับการอุปสมบท ณ สำนักพระปัญญา วัดสวนดอก นครลำปาง พระองค์ทรงมีราชศรัทธาอย่างแรงกล้าในทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้ทรงพระราชทานพระอุปถัมภ์แก่วัดต่างๆ โดยในนครลำปางและเมืองบริวารอย่างทั่วถึง ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง อนึ่ง เพื่อให้พระสงฆ์ในจังหวัดลำปาง ได้มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องพระศาสนาดียิ่งขึ้น พระองค์ยังได้ทรงสนับสนุนส่งพระสงฆ์ให้เข้ารับศึกษาพระปริวัติธรรม ณ วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร อีกด้วย

  • ด้านการอุตสาหกรรมและการคมนาคม

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงเล็งเห็นว่าการอุตสาหกรรมต่อไปจักเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านเมือง ได้ทรงจัดตั้งโรงงานทอผ้าและโรงงานฟอกหนังขึ้นในนครลำปาง ซึ่งนับเป็น โรงงานฟอกหนังแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงส่งเสริมกิจการด้านการคมนาคม ทรงมีราชดำริให้มีการก่อสร้างปรับปรุงถนนต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงนครลำปางและเมืองบริวารใกล้เคียง รวมทั้ง ได้ประทานที่ดินส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารของประชาชน

[แก้] อ้างอิง

  • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา. (ครั้งที่ ๒) เชียงใหม่ :ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ, ๒๕๓๘.
  • สมหมาย เปรมจิตต์, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ (ฉบับสอบชำระ) . เชียงใหม่: มิ่งเมือง, ๒๕๔๐.
  • ศักดิ์ รัตนชัย. พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง (ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานกับเอกสารสืบค้น สรสว.ลำปาง) .
  • เจ้าวงศ์สัก ณ เชียงใหม่, คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่.
  • คณะทายาทสายสกุล เจ้าหลวงเมืองพะเยา, สถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก. ครบรอบ ๑๐๐ ปี แม่เจ้าทรายมูล (มหาวงศ์) ไชยเมือง และประวัติสายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยา พุทธศักราช ๒๓๘๗ - ๒๔๕๖. พะเยา :บ.ฮาซัน พริ้นติ้ง จก., ๒๕๔๖
  • คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1]

[แก้] ดูเพิ่ม

สมัยก่อนหน้า เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต สมัยถัดไป
พระเจ้านรนันทไชย 2leftarrow.png เจ้าผู้ครองนครลำปาง
(พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2465)
2rightarrow.png เจ้าราชบุตร (เจ้าน้อยแก้วเมืองพรวน ณ ลำปาง)