สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Prince Chitcharoen, Narisara Nuvadtivongs.jpg
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระนามเต็ม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มหามกุฏพงศ์นฤบดินทร์ ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ อัฐเมนทรราชอัยยกา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัตร์ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร
พระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
ฐานันดรศักดิ์ เจ้าฟ้า
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระนามเดิม พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าฟ้า" พระองค์เป็นต้นราชสกุล จิตรพงศ์

เนื้อหา

[แก้] พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย เมื่อวันอังคารเดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. 1225 ตรงกับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 และได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนารถโดยมีพระราชหัตเลขา ดังนี้[1]

"สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรชายที่ประสูตรจากหญิงแฉ่พรรณรายผู้มารดา ในวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุนเบญศกนั้นว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สิงหนาม ขอจงมีความเจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ สุวรรณหิรัญรัตนยศบริวารศฤงคารศักดานุภาพ ตระบะเดชพิเศษคุณสุนทรศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลพิบุลยผลทุกประการ เทอญ" เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชบิดาสวรรคต ทรงมีพระชันษาแค่ 5 ปี แต่ทรงจำถึงตอนหนึ่งว่า "สมเด็จพระราชบิดาทรงประทับนั่งที่เก้าอีที่หมุนได้ ทรงฉลองพระองค์สีแดงสด"

ในปี พ.ศ. 2428 พระองค์ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ[2] นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริว่า หม่อมเจ้าพรรณราย พระมารดาในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษนั้น นับเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษจึงมีพระอัยยาร่วมกับพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ ขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ พร้อมกันนี้ทรงสถาปนาพระเชษฐภคินีในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษขึ้นเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา ด้วย[3]

หลังจากที่พระองค์ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริเห็นควรที่จะสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศที่ "กรมหลวง" ได้ กอปรกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชมารดาในพระองค์ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2448[4]

เมื่อ พ.ศ. 2452 พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยโตขณะที่ยังทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ทรงขอ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ด้วยพระโรคที่พระองค์เป็นอยู่นั้นไม่เอื้ออำนวยให้พระองค์ทรงสามารถรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ได้ แต่พระองค์ก็ยังคงรับราชการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงออกแบบงานต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์ เช่น พระโกศพระบรมอัฐิและพระวิมานทองคำลงยาราชาวดีสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า[5]

"สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ มหามกุฏพงศ์นฤบดินทร ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ ปรเมนทรราชปิตุลา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัติ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร"

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานศิลปะและวิทยาการจนพระกำลังพระปัญญาเสื่อมลงทุกที ด้วยทรงพระชราด้วยโรคภัยเบียดเบียน คือ โรคพระหทัยโต หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคเส้นพระโลหิตแข็ง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 จึงสิ้นพระชนม์โดยสงบ ขณะมีพระชันษาได้ 83 ปี มีการจัดพิธีพระราชเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยใช้พระเมรุองค์เดียวกับพระเมรุมาศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

[แก้] พระกรณียกิจ

[แก้] ด้านราชการ

พระองค์ทรงเป็นเสนาบดีหลายกระทรวงทั้งกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวัง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร และพระองค์ยังได้รับการแต่งให้ให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการพระราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชวงศ์พระองค์ใดที่มีกิจที่ไม่ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาก็ให้ติดต่อกราบบังคมทูลต่อพระองค์แทน[6] นอกจากนี้ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยังต่างประเทศ พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476[7] จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระองค์จึงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

[แก้] ด้านศิลปกรรม

งานสถาปัตยกรรมที่โปรดทำมากคือ แบบพระเมรุ โดยตรัสว่า "เป็นงานที่ทำขึ้นใช้ชั่วคราวแล้วรื้อทิ้งไป เป็นโอกาสได้ทดลองใช้ปัญญาความคิดแผลงได้เต็มที่ จะผิดพลาดไปบ้างก็ไม่สู้กระไร ระวังเพียงอย่างเดียวคือเรื่องทุนเท่านั้น"

[แก้] ด้านสถาปัตยกรรม

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อแรกสร้าง
  • การออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2442
  • การออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ วันที่ 4 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 121(พ.ศ. 2445)หรือ ร.ศ. 121

งานด้านสถาปัตยกรรมเป็นงานที่พระองค์ทรงพิถีพิถันอย่างมาก เพราะตรัสว่า "ต้องระวังเพราะสร้างขึ้นก็เพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่ออยากจะรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็ใช่จะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดก็ต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สำหรับขายความอาย"

[แก้] ด้านภาพจิตรกรรม

ภาพเขียน
  • ภาพเขียนสีน้ำมันประกอบพระราชพงศาวดาร แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นภาพช้างทรงพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่ง ภาพเขียนรถพระอาทิตย์ที่เพดานพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (พระที่นั่งบรมพิมาน)
  • ภาพประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม
  • ภาพแบบพัดต่างๆ

ฯลฯ

งานออกแบบ

ออกแบบตรากระทรวงต่างๆ, อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1, องค์พระธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และทรงออกแบบพระเมรุมาศ และพระเมรุของพระบรมวงศ์หลายพระองค์

[แก้] ด้านวรรณกรรม

มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น โคลงประกอบภาพจิตรกรรมภาพพระราชพงศาวดาร, โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่องานฉลองพระนครครบรอบร้อยปี, ลายพระหัตถ์โต้ตอบประทานบุคคลต่างๆ เช่น จดหมายเวรโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลายพระหัตถ์ประทานความรู้ในลักษณะจดหมายโต้ตอบพระสารประเสริฐและพระยาอนุมานราชธน เรื่องภาษาและประเพณี ลายพระหัตถ์โต้ตอบเหล่านี้ เป็นเหมือนคลังความรู้สำหรับผู้สนใจใฝ่ศึกษาค้นคว้าทั่วไป

[แก้] ด้านดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์

ทรงสนพระทัยทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล โดยเฉพาะดนตรีไทยนั้นทรงฝึกฝนมาแต่พระเยาว์ ทรงถนัดเล่นปี่พาทย์และระนาดมากกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ

เพลงพระนิพนธ์
  1. เพลงสรรเสริญพระบารมี (คำร้อง)
  2. เพลงเขมรไทรโยค
  3. เพลงตับ เช่น ตับแม่ศรีทรงเครื่อง ตับเรื่องขอมดำดิน

[แก้] ด้านบทละคร

ทรงนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้หลายเรื่อง เช่น

  1. สังข์ทอง ตอนทิ้งพวงมาลัย ตีคลี และตอนถอดรูป
  2. คาวี ตอนเผาพระขรรค์ ชุบตัว และตอนหึง
  3. อิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช ไหว้พระ และตอนบวงสรวง
  4. รามเกียรติ์ ตอนศูรปนขาตีสีดา

[แก้] พระโอรส พระธิดา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีชายาดังนี้

[แก้] หม่อมราชวงศ์ปลื้ม ศิริวงศ์

หม่อมราชวงศ์ปลื้ม ศิริวงศ์ ธิดาในพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ มีพระธิดา 1 องค์คือ

[แก้] หม่อมมาลัย เศวตามร์

ต่อมาเมื่อหม่อมราชวงศ์ปลื้มถึงแก่กรรม ทรงได้หม่อมมาลัย เศวตามร์ เป็นชายา มีโอรส 2 องค์คือ

[แก้] หม่อมราชวงศ์โต งอนรถ

เมื่อหม่อมมาลัยถึงแก่กรรมแล้ว ทรงได้หม่อมราชวงศ์โต งอนรถ เป็นชายา มีโอรสธิดา 6 องค์ คือ

[แก้] พระเกียรติยศ

[แก้] พระราชอิสริยยศ

  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (28 เมษายน พ.ศ. 2406 - สิ้นรัชกาลที่ 4)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (ต้นรัชกาลที่ 5 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2428)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (10 มีนาคม พ.ศ. 2428 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2430)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (18 ธันวาคม พ.ศ. 2430 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448)
  • สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 - สิ้นรัชกาลที่ 5)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (ต้นรัชกาลที่ 6 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2488)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (31 ธันวาคม พ.ศ. 2488 - สิ้นพระชนม์)

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระองค์ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังนี้[8]

[แก้] การระลึก

วันที่ 28 เมษายนเป็นวันครบรอบวันประสูติของพระองค์ ทุกปีจะมีงาน "วันนริศ" ณ ตำหนักปลายเนิน คลองเตย มีการแสดงละคร การบรรเลงเพลงพระนิพนธ์ การตั้งแสดงงานฝีพระหัตถ์บางชิ้น และการมอบ "ทุนนริศรานุวัดติวงศ์" แก่นักศึกษาในสาขาวิชาศิลปะ

เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2506 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี พ.ศ. 2506 นับเป็นบุคคลไทยคนที่ 2 ที่ได้รับการยกย่องดังกล่าว[9]

[แก้] ราชตระกูล

พระราชตระกูลในสามรุ่นของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าขรัวเงิน
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า
กรมพระศรีสุดารักษ์
พระชนนี:
พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์
กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าจอมมารดาทรัพย์
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
หม่อมกิ่ม
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
จีนก๊วง แซ่จิ๋ว
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
คุณแตง

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, คาถาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดา, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2472
  2. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งกรม, เล่ม ๑, ตอน ๖๕, ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๘, หน้า ๕๖๗
  3. ^ ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งเจ้าฟ้ากรมขุน (พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัติยกัลยา และพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ), เล่ม 4, ตอน 37, 30 ธันวาคม พ.ศ. 2430, หน้า 293
  4. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนกรมและตั้งเจ้าพระยา, เล่ม ๒๒, ตอน ๓๔, ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๘, หน้า ๗๓๗
  5. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เลื่อนกรม ตั้งกรม ตั้งพระองค์เจ้า และตั้งเจ้าพระยา, เล่ม ๓๐, ตอน ก, ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๓๒๙
  6. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งผู้กำกับการพระราชวงศ์(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์), เล่ม ๔๔, ตอน ๐ ก, ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๒๓๘
  7. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พุทธศักราช ๒๔๗๖, เล่ม ๕๐, ตอน ๐ ก, ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖, หน้า ๘๓๘
  8. ^ ผู้บัญชาการทหารบก พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จากเว็บไซต์กองทัพบก
  9. ^ การเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ จากเว็บไซต์ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

[แก้] หนังสือ

  • ข้อมูลจากหนังสือ 100 ปีเพลงเขมรไทรโยค
  • Jeffy Finestone. 2542. สมุดพระรูป พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปรียนันทนา รังสิต,ม.ร.ว. โลมาโฮลดิ้ง
สมัยก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมัยถัดไป
พิทยลาภพฤฒิธาดา
(กรมขุน)
2leftarrow.png พระนามกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔
นริศรานุวัดติวงศ์
(กรมพระยา)

2rightarrow.png มรุพงศ์สิริพัฒน์
(กรมขุน)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า
กรมพระจักรพรรดิพงศ์
2leftarrow.png เสนาบดีกระทรวงพระคลัง
(21 มีนาคม พ.ศ. 2435 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2437)
2rightarrow.png พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสิริธัชสังกาศ


เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
(พุ่ม ศรีไชยันต์)
2leftarrow.png เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
(พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2442)
2rightarrow.png พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม


พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ 2leftarrow.png รั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
(27 มีนาคม พ.ศ. 2441 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2442)
2rightarrow.png พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม


สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้า
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
2leftarrow.png ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
(8 สิงหาคม พ.ศ. 2444 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453)
2rightarrow.png พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
ภาษาอื่น