บางกอกรีคอเดอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สยามจดหมายเหตุ
บางกอกรีคอเดอ
หน้าหนึ่งของหนังสือจดหมายเหตุ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2407

ประเภท หนังสือพิมพ์รายเดือน และรายปักษ์
รูปแบบ ข่าวทั่วไป
เจ้าของ แดน บีช บรัดเลย์

บรรณาธิการ
บรรณาธิการ แดน บีช บรัดเลย์
บุคคลสำคัญ
คอลัมนิสต์ หมอบรัดเลย์

ภาษาที่ใช้ Flag of ไทย ไทย
Flag of อังกฤษ อังกฤษ
ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2387 (รายเดือน)
พ.ศ. 2407 (รายปักษ์)
ฉบับสุดท้าย พ.ศ. 2388 (รายเดือน)
พ.ศ. 2411 (รายปักษ์)

สำนักงาน พระนครหลวงกรุงเทพ

บางกอกรีคอเดอ (The Bangkok Recorder ทับศัพท์แบบปัจจุบัน บางกอกรีคอร์เดอร์) หรือชื่อไทย หนังสือจดหมายเหตุ เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเล่มแรก ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2387-2388 และอีกครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2407-2411 เขียนและพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ในระยะแรกเริ่มออกฉบับรายเดือน ต่อมาเปลี่ยนเป็นรายปักษ์หรือรายครึ่งเดือน

[แก้] ประวัติ

หมอบรัดเลย์ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตกับรัชกาลที่ 3 เมื่อบรรดาอำมาตย์มุขมนตรีให้การสนับสนุนแล้ว จึงได้ออกหนังสือพิมพ์ขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก จนบางคนคิดว่า มันเป็นเพียงจดหมายเหตุธรรมดา ถึงกับมีคนเรียกว่า จดหมายเหตุอย่างสั้น[1] แต่ออกพิมพ์ได้ปีเดียวก็เลิกไป เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุน อันเนื่องมาจากการทำหนังสือพิมพ์แบบอเมริกัน ที่มีรูปแบบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่เนื่องจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ก็คือรัฐบาลนั่นเอง และเมื่อประสบปัญหาจากรัฐบาล ประกอบกับหมอมีปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับการจัดระบบเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทยและปัญหาครอบครัว จึงเลิกออกหนังสือพิมพ์ไประยะหนึ่ง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเปิดกว้างต่อการไหลบ่าของอารยธรรมตะวันตกมากขึ้น ทั้งยังทรงเคยเป็นสมาชิก บางกอกรีคอเดอ มาก่อน และเมื่อหมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์อีก ก็ทรงบอกรับเป็นสมาชิกอีก ครั้นได้พบว่าหมอบรัดเลย์เขียนบทความโจมตีพุทธศาสนาก็ทรงเขียนบทความตอบโต้ โดยมิทรงลงพระมหาปรมาภิไธย แต่คนทั่วไปก็ทราบดีกว่าบทความเหล่านั้นคือใคร[2] แต่เนื่องจากหมอบรัดเลย์ยกศาสนาของตนและประเทศของตนข่มคนไทย จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจกับคนไทยอย่างกว้างขวาง จึงทำให้การบอกรับสมาชิกไม่เพิ่มขึ้นทั้งสมาชิกเดิมก็ไม่จ่ายเงิน จึงยากที่จะยืนหยัดในสถานการณ์เช่นนี้

[แก้] รูปแบบ

หนังสือพิมพ์มีจัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ออกปักษ์ละ 2 ใบ มี 4 หน้า โดยฉบับภาษาไทยขนาด 6"x9" ฉบับภาษาอังกฤษจะมีขนาดใหญ่กว่าคือขนาด 12"x18" รูปแบบการจัดหน้าแบ่งออกเป็น 2 คอลัมน์ มีภาพประกอบคือภาพวาดขายปลีกใบละสลึงเฟื้อง ถ้าซื้อแบบพิมพ์เป็นเล่มรวมเมื่อปลายปีขายเล่มละ 5 บาท เล่มหนึ่งมี 26 ใบ[3]

เนื้อหามีลักษณะเป็นตำรา ข่าวทั้งต่างประเทศและในประเทศ ราคาสินค้า และเรื่องที่น่าสนใจอื่น ๆ[4] และมีการนำเสนอ เป็นการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่[5] จุดประสงค์ของหนังสือพิมพ์เล่มแรกฉบับนี้ หมอบรัดเลย์พยายามเน้นให้คนเห็นว่า "หนังสือพิมพ์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร หมอพยายามชี้ให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นมีคุณต่อบ้านเมืองเป็นอันมาก เป็นแสงสว่างของบ้านเมือง คนชั่วเท่านั้นที่กลัวหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวว่าหนังสือพิมพ์จะประจานความชั่วของตน"[6]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ สุกัญญา ตีระวนิช, หมอบรัดเลกับการหนังสือพิมพ์กับกรุงสยาม (กรุงเทพ : มติชน 2529) หน้า 40
  2. ^ สุกัญญา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 55
  3. ^ บางกอกรีคอเดอ ฉบับ 15 พฤษภาคม 2408
  4. ^ โฉมหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเมืองไทย
  5. ^ บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยเริ่มออกวางแผง
  6. ^ บางกอกรีคอเดอ ฉบับ 3 พฤศจิกายน 2408
ภาษาอื่น