คำนาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำนาม คือ คำที่ใช้แทนคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ และกิริยาอาการต่างๆ

[แก้] ชนิด

คำนามในภาษาไทยแบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ

  1. สามานยนาม หรือคำนามทั่วไป คือ คำนามสามัญที่ใช้เป็นชื่อทั่วไป หรือเป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไป ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น คน, รถ, หนังสือ, กล้วย เป็นต้น สามานยนามบางคำมีคำย่อยเพื่อบอกชนิดย่อยๆของสิ่งต่างๆ เรียกว่า สามานยนามย่อย เช่น คนไทย, รถจักรยาน, หนังสือแบบเรียน, กล้วยหอม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
    • ดอกไม้อยู่ในแจกัน
    • แมวชอบกินปลา
  2. วิสามานยนาม หรือคำนามชี้เฉพาะ คือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สถานที่ หรือเป็นคำเรียกบุคคล สถานที่เพื่อเจาะจงว่าเป็นคนไหน สิ่งใด เช่น ธรรมศาสตร์, วัดมหาธาตุ, รามเกียรติ์ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
    • นิดและน้อยเป็นพี่น้องกัน
    • อิเหนาได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละคร
  3. ลักษณนาม คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประกอบนามอื่น เพื่อบอกรูปร่าง ลักษณะ ขนาดหรือปริมาณของนามนั้นให้ชัดเจนขึ้น เช่น รูป, องค์, กระบอก เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
    • คน 6 คน นั่งรถ 2 คัน
    • ผ้า 20 ผืน เรียกว่า 1 กุลี
  4. สมุหนาม คือ คำนามบอกหมวดหมู่ของสามานยนาม และวิสามานยนามที่รวมกันมากๆ เช่น ฝูงผึ้ง, โขลงช้าง, กองทหาร เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
    • กองยุวกาชาดมาตั้งค่ายอยู่ที่นี่
    • พวกเราไปต้อนรับคณะรัฐมนตรี
  5. อาการนาม คือ คำเรียกสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีขนาด จะมีคำว่า "การ" และ "ความ" นำหน้า เช่น การกิน , การนอน , การเรียน , ความสวย , ความคิด , ความดี เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
    • การวิ่งเพื่อสุขภาพไม่ต้องใช้ความเร็ว
    • การเรียนช่วยให้มีความรู้

ข้อสังเกต คำว่า “การ” และ “ความ” ถ้านำหน้าคำชนิดอื่นที่ไม่ใช่คำกริยา หรือวิเศษณ์จะไม่นับว่าเป็นอาการนาม เช่น การรถไฟ, การประปา, ความแพ่ง เป็นต้น คำเหล่านี้จัดเป็นสามานยนาม

[แก้] หน้าที่

  • ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น
    • เด็กร้องเพลง
    • นกบิน
  • ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น
    • แมวกินปลา
    • ตำรวจจับผู้ร้าย
    • น้องทำการบ้าน
  • ทำหน้าที่เป็นส่วนขยายคำนามอื่น เช่น
    • สมศรีเป็นข้าราชการครู
    • นายสมศักดิ์ทนายความฟ้องนายปัญญาพ่อค้า
  • ทำหน้าที่ขยายคำกริยา เช่น
    • แม่ไปตลาด
    • น้องอยู่บ้าน
    • เธออ่านหนังสือเวลาเช้า
  • ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มของคำกริยาบางคำ เช่น
    • เขาเหมือนพ่อ
    • เธอคล้ายพี่
    • วนิดาเป็นครู
    • เขาเป็นนางสาวไทย
    • มานะสูงเท่ากับคุณพ่อ
  • ทำหน้าที่ตามหลังบุพบท เพื่อทำหน้าที่บอกสถานที่ หรือขยายกริยาให้มีเนื้อความบอกสถานที่ชัดเจนขึ้น เช่น
    • เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว
    • พ่อนอนบนเตียง
    • ปู่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล
  • ทำหน้าที่เป็นคำเรียกขาน เช่น
    • คุณครูคะหนูยังไม่เข้าใจเลขข้อนี้ค่ะ
    • คุณหมอลูกดิฉันจะหายป่วยไหม
    • นายช่างครับผมขอลากิจ 3 วัน