พยางค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พยางค์ หมายถึงหน่วยหนึ่งขององค์ประกอบในลำดับของเสียงที่ใช้สื่อสารด้วยคำพูด พยางค์โดยทั่วไปเกิดขึ้นจากแกนพยางค์ (syllable nucleus) ซึ่งมักจะเป็นเสียงสระ และอาจมีเสียงขึ้นต้นและเสียงลงท้ายเป็นเสียงพยัญชนะในพยางค์ พยางค์ถูกจัดว่าเป็นส่วนประกอบของคำในการศึกษาระบบเสียงในภาษา (phonology) ซึ่งมีอิทธิพลต่อจังหวะในภาษา ฉันทลักษณ์ ลักษณะคำประพันธ์ รูปแบบการเน้นเสียง เป็นต้น คำหนึ่งคำอาจประกอบขึ้นจากพยางค์เพียงพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้

การเขียนสัญลักษณ์แทนพยางค์เริ่มมีขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อนที่จะมีการใช้ตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรก สัญลักษณ์แทนพยางค์ในสมัยนั้นถูกบันทึกลงบนแผ่นจารึกเมื่อประมาณ 2,800 ปีก่อนคริสตกาลโดยชาวสุเมเรียน สิ่งนี้เป็นตัวผลักดันให้อักษรภาพที่เขียนกันมาแต่เดิมถูกเปลี่ยนเป็นการเขียนแทนพยางค์ ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของระบบการเขียน [1]

เนื้อหา

[แก้] โครงสร้างพยางค์

โครงสร้างพยางค์แบบต้นไม้

โครงสร้างโดยทั่วไปของพยางค์ (σ) ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ต่อไปนี้

ในบางทฤษฎีของการศึกษาระบบเสียงในภาษา โครงสร้างพยางค์เหล่านี้สามารถแสดงได้เป็นแผนผังต้นไม้ดังรูปทางขวามือ แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่ศึกษาในสาขานี้ทุกคนยอมรับว่าพยางค์มีโครงสร้างภายในเช่นนี้ ซึ่งในความเป็นจริงคือ ผู้ที่ศึกษายังเกิดความสงสัยในการมีอยู่ของพยางค์อันเป็นเอกลักษณ์ตัวหนึ่งของทฤษฎี

แกนพยางค์โดยทั่วไปเป็นเสียงสั่นรัว (sonorant) ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นเสียงสระในรูปแบบของสระเดี่ยว (monophthong) สระประสมสองเสียง (diphthong) หรือสระประสมสามเสียง (triphthong) แต่บางครั้งก็เกิดจากเสียงพยัญชนะสั่นรัวเช่น [l] หรือ [r] ได้ ต้นพยางค์คือเสียงหนึ่งเสียงหรือหลายเสียงที่เปล่งออกมาก่อนแกนพยางค์ (พยัญชนะต้น) และท้ายพยางค์ก็คือเสียงที่เปล่งออกมาหลังแกนพยางค์ (พยัญชนะสะกด) ส่วนจังหวะพยางค์มีความหมายครอบคลุมแกนพยางค์และท้ายพยางค์ ยกตัวอย่างคำพยางค์เดียวในภาษาไทยคือ งาน พยางค์นี้สามารถแบ่งออกเป็น คือต้นพยางค์, -า คือแกนพยางค์, คือท้ายพยางค์, และ -าน คือจังหวะพยางค์ พยางค์นี้จึงสามารถเขียนเป็นโครงสร้างอย่างง่ายว่าเป็น พยัญชนะ-สระ-พยัญชนะ (consonant-vowel-consonant) หรือย่อเป็น CVC

พยางค์ทุกพยางค์จำเป็นต้องมีแกนพยางค์ ต้นพยางค์นั้นปรากฏอยู่เป็นปกติทั่วไป และบางภาษากำหนดให้ต้องมีต้นพยางค์จึงจะเรียกว่าเป็นพยางค์ (หมายความว่า พยางค์ต้องเป็น CVC แต่โครงสร้าง VC นั้นไม่ใช่) พยางค์ที่ไม่มีเสียงท้ายพยางค์เรียกว่า พยางค์เปิด (open syllable) คล้ายการสะกดคำด้วยแม่ ก กา ในภาษาไทย เช่นโครงสร้าง V, CV, CCV เป็นต้น ในทางตรงข้าม พยางค์ที่มีเสียงท้ายพยางค์เรียกว่า พยางค์ปิด (closed syllable) หรือ พยางค์หยุด (checked syllable) เช่นโครงสร้าง VC, CVC, CVCC เป็นต้น ทุกภาษาอนุญาตให้มีพยางค์เปิด แต่สำหรับบางภาษาเช่นภาษาฮาวายไม่มีพยางค์ปิด (ไม่มีพยัญชนะสะกด)

พยางค์หนัก (heavy syllable) เป็นตัวอย่างหนึ่งของจังหวะพยางค์หรือแกนพยางค์ที่แตกแขนงจากแผนผังต้นไม้ออกไปอีก พยางค์หนักมีทั้งโครงสร้างพยางค์ VV (แกนพยางค์แตกแขนง) และ VC (จังหวะพยางค์แตกแขนง) ซึ่งในทางตรงข้าม โครงสร้าง V จะเป็น พยางค์เบา (light syllable) อย่างไรก็ตามในบางภาษาอาจแบ่งประเภทแตกต่างออกไป กล่าวคือ VV เป็นพยางค์หนักเท่านั้น ในขณะที่ VC กับ V เป็นพยางค์เบา ความแตกต่างระหว่างพยางค์หนักกับพยางค์เบามักเปรียบเทียบได้จากการเน้นเสียง (stress) ของพยางค์ ซึ่งพบได้ในภาษาที่ใช้อักษรละตินหรืออักษรอาหรับเป็นต้น ส่วนภาษาญี่ปุ่นได้อธิบายไว้ว่า พยางค์หนักหมายถึงพยางค์ที่มี 2 mora และพยางค์เบาหมายถึงพยางค์ที่มี 1 mora

ในบางภาษารวมทั้งภาษาอังกฤษ เสียงพยัญชนะเสียงหนึ่งอาจทำหน้าที่เป็นทั้งท้ายพยางค์ของพยางค์หน้าและเป็นต้นพยางค์ของพยางค์หลังในเวลาเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ภาวะพยางค์กำกวม (ambisyllabicity) ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง arrow [ˈærəʊ] เราไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นพยางค์ [ˈæ.rəʊ] หรือ [ˈær.əʊ] ได้เพราะเกิดความกำกวมในเสียง [r]

[แก้] คุณลักษณะทางฉันทลักษณ์

คุณลักษณะทางฉันทลักษณ์ (suprasegmental) คือคุณสมบัติที่ทำให้พยางค์ออกเสียงต่างไปจากปกติ ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มเสียงใหม่ที่ทำให้โครงสร้างพยางค์เปลี่ยนไป คุณลักษณะดังกล่าวประกอบด้วยการเน้นเสียง (stress) และวรรณยุกต์ (tone)

โครงสร้างพยางค์มักมีการเน้นเสียงอยู่บ่อยๆ ตัวอย่างเช่นในภาษาที่ใช้อักษรละติน น้ำหนักพยางค์ (syllable weight) โดยปกติคือตัวบ่งบอกการเน้นเสียงในพยางค์ พยางค์หนึ่งจะถือว่าเป็นพยางค์หนักเมื่อเข้าสู่เงื่อนไขอย่างน้อยหนึ่งข้อต่อไปนี้ ซึ่งแต่ละข้อถูกจัดว่ามี 2 mora

  • แกนพยางค์เป็นสระเสียงยาว
  • แกนพยางค์เป็นสระประสมสองเสียง
  • ท้ายพยางค์มีเสียงตั้งแต่หนึ่งเสียงขึ้นไป

บางครั้งความยาวพยางค์ (syllable length) ก็ถูกจัดว่าเป็นคุณลักษณะทางฉันทลักษณ์อีกอันหนึ่ง เช่นในภาษากลุ่มเจอร์มานิก เสียงสระจะยาวขึ้นก็ต่อเมื่อเสียงพยัญชนะสั้น และจะสั้นลงก็ต่อเมื่อเสียงพยัญชนะยาว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พยางค์อาจถูกวิเคราะห์ว่าเป็นการประกอบขึ้นจากหน่วยเสียง (phoneme) ที่สั้นและยาวแตกต่างกัน ซึ่งความยาวของเสียงพยัญชนะและเสียงสระแยกจากกันอย่างอิสระ ดังเช่นภาษาฟินแลนด์และภาษาญี่ปุ่น จึงไม่เป็นคุณลักษณะทางฉันทลักษณ์

สระคลาย (lax vowel) สามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะพยางค์ปิดในภาษากลุ่มเจอร์มานิกส่วนใหญ่ ดังนั้นเสียงสระนี้จึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพยางค์หยุด ตรงข้ามกับสระเกร็ง (tense vowel) เพราะเกิดขึ้นในพยางค์เปิด โดยทั้งสองกรณีไม่เกี่ยวข้องกับความยาวพยางค์

[แก้] ข้อกำหนดของการเรียงหน่วยเสียง

กฎเกณฑ์ของการเรียงหน่วยเสียง (phonotactics) เป็นตัวบ่งบอกว่าเสียงใดที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีในโครงสร้างพยางค์ ภาษาอังกฤษอนุญาตให้มีพยางค์ที่ซับซ้อนมากๆ ได้ บางพยางค์อาจมีต้นพยางค์สามเสียง (string, splash) หรือในบางโอกาสก็มีท้ายพยางค์สี่เสียง (prompts) เป็นต้น แต่ในภาษาอื่นหลายภาษาก็มีข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้น เช่น ภาษาไทยกำหนดให้มีต้นพยางค์มากที่สุดสองเสียงดังเห็นได้จากคำควบกล้ำ ส่วนภาษาญี่ปุ่นกำหนดให้เสียง ん /n/ เป็นเสียงท้ายพยางค์เท่านั้น และใช้พยัญชนะหลายตัวประกอบเข้าด้วยกันเพื่อแทนต้นพยางค์เพียงเสียงเดียว

ภาษาฮีบรู ภาษาอาหรับ และสำเนียงอื่นของภาษาเยอรมัน ได้กำหนดว่าพยางค์จะต้องมีเสียงแทนต้นพยางค์เสมอ ตัวอย่างเช่นคำว่า อิสราเอล, อะบราฮัม, โอมาร์, อาลี, อับดุลลาห์ พยางค์แรกของทุกคำจะต้องขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเสียงกักหรือเสียดสีในช่องเส้นเสียงหรือคอหอย ซึ่งเสียงกักในช่องเส้นเสียงคือเสียง อ /ʔ/ ในภาษาไทย

การเรียงหน่วยเสียง เป็นการศึกษาโครงสร้างพยางค์ในระดับรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสำรวจว่าพยางค์ในภาษาหนึ่งๆ สามารถจัดรูปแบบอย่างดีได้อย่างไร ส่วนในระดับโดยรวมเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาข้อกำหนดบนความเป็นไปได้ในการผสมผสานพยางค์เข้าด้วยกัน ตำแหน่งของการเกิดพยางค์ และการเรียงลำดับของคำที่เป็นไปได้ เรียกว่า การศึกษาการเรียงพยางค์ (syllabotactics)

[แก้] ภาษาไร้พยางค์

การเขียนพยางค์ให้ออกมาเป็นสัญกรณ์ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับภาษาที่อนุญาตให้มีเสียงพยัญชนะต่อเนื่องกันโดยไม่มีเสียงสระหรือเสียงสั่นรัวเลย เช่นภาษากลุ่มซาลิช (Salishan) กับภาษากลุ่มวาคาช (Wakashan) ในแถบชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของวลีที่มีแต่เสียงปิดกั้น (obstruent) ของ ภาษา Nuxálk ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มซาลิช [2]

[ɬχʷtɬʦxʷ] 'you spat on me'
[ʦ’ktskʷʦʼ] 'he arrived'
[xɬpʼχʷɬtɬpɬɬs] 'he had in his possession a bunchberry plant'
[sxs] 'seal blubber'

ในการสำรวจข้างต้นนี้ คำว่า [ʦ’ktskʷʦ’] อาจแบ่งออกได้เป็น 0, 2, 3, 5, หรือ 6 พยางค์ก็ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ใช้วิเคราะห์ วิธีหนึ่งคือการถือเอาว่าเสียงสระและเสียงพยัญชนะทุกตัวสามารถเป็นแกนพยางค์ได้ อีกวิธีหนึ่งก็ให้บางส่วนเป็นแกนพยางค์ และอีกวิธีหนึ่งก็เห็นว่าไม่มีพยางค์อยู่เลยเพราะไม่มีเสียงสระ

ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็มีเกิดขึ้นในภาษากลุ่มเบอร์เบอร์ (Berber) ในทวีปแอฟริกา [3] [4] และภาษากลุ่มมอญ-เขมร (Mon-Khmer) [5] หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษบางคำก็ไม่มีเสียงสระเช่นคำว่า shh (ให้เงียบ) และ psst (เสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ)

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Geoffrey Blainey, A Short History of the World, p.87, citing J.T. Hooker et al., Reading the Past: Ancient Writing from Cuneiform to the Alphabet, British Museum, 1993, Ch. 2
  2. ^ Bagemihl, Bruce (1991). "Syllable structure in Bella Coola". Linguistic Inquiry 22: 589–646 
  3. ^ Dell, F.; Elmedlaoui, M. (1985). "Syllabic consonants and syllabification in Imdlawn Tashlhiyt Berber". Journal of African Languages and Linguistics 7: 105-130  (Cited in Bagemihl 1991).
  4. ^ Dell, F.; Elmedlaoui, M. (1988). "Syllabic consonants in Berber: Some new evidence". Journal of African Languages and Linguistics 10: 1-17  (Cited in Bagemihl 1991).
  5. ^ Sloan, K. (1988). Bare-consonant reduplication: Implications for a prosodic theory of reduplication. In H. Borer (Ed.), Proceedings of the West Coast Conference on Formal Linguistics 7. Stanford, CA: Stanford Linguistics Association. (Cited in Bagemihl 1991).