ภาษาผู้ไท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาษาผู้ไท (เขียน ผู้ไทย หรือ ภูไท ก็มี) เป็นภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได มีผู้พูดจำนวนไม่น้อย กระจัดกระจายในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ลาว และเวียดนาม เข้าใจว่า ผู้พูดภาษาผู้ไทมีถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมอยู่ในเมือง แถง หรือ เดียนเบียนฟู ของเวียดนาม เรียกว่า ชาวไทดำ ในปัจจุบัน มีการจัดให้ภาษาผู้ไทเป็นกลุ่มย่อยของภาษาไทดำอีกทอดหนึ่ง

เนื้อหา

[แก้] ผู้พูดภาษาผู้ไท

ผู้พูดภาษาผู้ไทในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณจังหวัดภาคอีสานตอนบน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์, นครพนม, มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด และ สกลนคร นอกจากนี้ยังมีอีกเล็กน้อยในจังหวัดอุบลราชธานีและอุดรธานี โดย ในแต่ละท้องถิ่น ย่อมมีสำเนียงและคำศัพท์ที่แตกต่างกันไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษาผู้ไทแม้จะกระจายอยู่ในแถบอีสาน แต่สำเนียงและคำศัพท์นั้นแตกต่างกับภาษาไทยถิ่นอีสานโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามยังมีคำยืมจากภาษาถิ่นอีสานอยู่ในภาษาผู้ไทบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่นับว่ามาก ด้วยเหตุนี้ ชาวไทยที่พูดภาษาอีสานจึงไม่สามารถพูดหรือฟังภาษาผู้ไทอย่างเข้าใจโดยตลอด แต่ชาวผู้ไทส่วนใหญ่มักจะพูดภาษาอีสานได้

[แก้] ลักษณะของภาษา

ด้วยภาษาผู้ไทเป็นภาษาในตระกูลไท จึงมีลักษณะเด่นร่วมกับภาษาไทยด้วย นั่นคือ

  • เป็นภาษาคำโดด มักเป็นคำพยางค์เดียว
  • เป็นภาษามีวรรณยุกต์
  • โครงสร้างประโยคแบบเดียวกัน คือ "ประธาน กริยา กรรม" ไม่ผันรูปตามโครงสร้างประโยค

[แก้] หน่วยเสียงในภาษาผู้ไท

[แก้] หน่วยเสียงพยัญชนะ

ฐานกรณ์ของเสียง ริมฝีปากล่าง-ฟัน ริมฝีปาก โคนฟัน เพดานส่วนแข็ง เพดานส่วนอ่อน ช่วงคอ
เสียงหยุด (ไม่ก้อง) - /ป/ /ต/ /จ/ /ก/ /อ/
เสียงหยุด (ไม่ก้อง) - /พ/ /ท/ - /ค/ -
เสียงหยุด (ก้อง) - /บ/ /ด/ - - -
เสียงขึ้นจมูก - /ม/ /น/ /ญ/ /ง/ -
เสียงเสียดแทรก /ฟ/ /ส/ - - - /ห/
กึ่งสระ /ว/ - - /ย/ - -
ลอดข้างลิ้น - /ล/ - - - -

ในที่นี้ขออธิบายเฉพาะเสียงที่แตกต่างจากภาษาไทยมาตรฐาน ดังนี้

  • /ญ/ เป็นหน่วยเสียงพิเศษ ที่ไม่พบในภาษาไทยภาคกลาง แต่พบได้ในภาษาไทยถิ่นอีสาน เหนือ และใต้ (บางถิ่น) ในภาษาผู้ไท บางถิ่นผู้พูดใช้เสียง /ญ/ โดยตลอด บางถิ่นใช้ทั้งเสียง /ญ/ และ / ย/ โดยไม่แยกแยะคำศัพท์

[แก้] หน่วยเสียงสระ

ภาษาผู้ไทมีสระเดี่ยว 9 ตัว หรือ 18 ตัวหากนับสระเสียงยาวด้วย โดยทั่วไปมีลักษณะของเสียงคล้ายกับสระในภาษาไทยถิ่นอื่น (เพื่อความสะดวก ในที่นี้ใช้อักษร อ ประกอบสระ เพื่อให้เขียนง่าย)

สระสูง อิ, อี อึ, อือ อุ, อู
สระกลาง เอะ, เอ เออะ, เออ โอะ, โอ
สระต่ำ แอะ,แอ อะ,อา เอาะ, ออ

อนึ่ง ในภาษาผู้ไทมักไม่ใช้สระประสม นิยมใช้แต่สระเดี่ยวข้างบนนี้ ตัวอย่างคำที่ภาษาไทยกลางเป็นสระประสม แต่ภาษาผู้ไทใช้สระเดี่ยว

ภาษาไทยกลาง ภาษาผู้ไท
/หัว/ /โห/
/สวน/ /โสน/
/เสีย/ /เส/
/เขียน/ /เขน/
/เสือ/ /เสอ/
/มะเขือ/ /มะเขอ/

[แก้] หน่วยเสียงวรรณยุกต์

หน่วยเสียงวรรณยุกต์ในภาษาผู้ไท มีด้วยกัน 5 หน่วย

[แก้] พยางค์

พยางค์ในภาษาผู้ไทมักจะเป็นพยางค์อย่างง่าย ดังนี้

  • เมื่อประสมด้วยสระเสียงยาว พยางค์อาจประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ โดยจะมีพยัญชนะตัวสะกดหรือไม่ก็ได้
  • เมื่อมีสระเสียงสั้น พยางค์ประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และพยัญชนะตัวสะกด

[แก้] ลักษณะเด่นของภาษาผู้ไท

ลักษณะเด่นอื่นๆ ของภาษาผู้ไท มีดังนี้

1. เสียงท้ายคำถาม

  • เผอ (อะไร)
"แหม ล่ะ ไป๋ เหยม เผอ" (แม่จะไปเยี่ยมใคร)
  • ซิเล่อ (ที่ไหน) เช่น
"เพิ้น ล่ะ ไป๋ ซิ เล่อ" (เขาจะไปไหน)

2. สระประสมในภาษาไทยถิ่นอื่น มักเป็นสระเดี่ยวในภาษาผู้ไท

  • สระ เอีย เป็น เอ
กระเทียม - กะเท่ม
  • สระ เอือ เป็น เออ
น้ำเชื่อม - น้ำเซิ้ม
  • สระ อัว เป็น โอ
กล้วย - โก๊ย

3. นอกจากนี้ สระใอ ในภาษาไทกลาง เมื่อพูดในภาษาผู้ไท มักออกเสียงสระเออ ดังนี้

ใหม่ - เม่อ
ใส่ - เซ่อ

[แก้] อ้างอิง

  • วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. ภาษาผู้ไท. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ, 2520.