ภาษาอาหม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อาหม (Ahom)
พูดใน: รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย 
ภูมิภาค: เอเชียใต้
การสูญหาย: ภาษาตาย ปัจจุบันใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาของชาวอาหม
ตระกูลภาษา: ไท-กะได
 คำ-ไท
  บี-ไท
   ไท-เสก
    อาหม (Ahom) 
ระบบการเขียน: อักษรอาหม
รหัสภาษา
ISO 639-1: ไม่มี
ISO 639-2:
ISO 639-3: aho
สารานุกรมภาษา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมภาษา

ภาษาอาหม เป็นหนึ่งในกลุ่มภาษาย่อยไทพายัพ ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่ม ไท-กะได, คำ-ไท, บี-ไท, ไท-เสก. อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได ภาษาอาหมนั้นมีอักษร และถ้อยคำของตนใช้สื่อสารทั้งพูดและเขียนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวอาหมในปัจจุบันนั้นหันไปใช้ภาษาอัสสัม ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน แล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำที่บันทึกจารึกไว้ในคัมภีร์ในบทสวดในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ก็พบว่าชาวไทอาหมยังใช้ภาษาไทได้อย่างสมบูรณ์

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

พัฒนาการและการจัดจำแนกภาษายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บรรพบุรุษน่าจะเป็นภาษาไตดั้งเดิมเมื่อราว 2,000ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนแต่อาจจะเกี่ยวข้องกับตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ชาวอาหมเดิมอยู่ในมณฑลกวางสีและเวียดนามต่อมาได้อพยพเข้ามณฑลยูนนาน รัฐฉาน จนถึงลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในที่สุด

ชาวอาหมได้พัฒนาอาณาจักรของตนเองในช่วง พ.ศ. 1771 - 2386 ภาษาอาหมเป็นภาษาทางการของอาณาจักรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-21 จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยภาษาอัสสัมที่เป็นภาษากลุ่มอินโด-อารยัน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับวัฒนธรรมฮินดู

[แก้] ยุคเสื่อมของภาษาอาหม

ชาวอาหมไม่เคยคิดว่าตัวเองต่ำต้อย จนกระทั่งกษัตริย์อาหมยอมรับวัฒนธรรมฮินดู นำระบบวรรณะมาใช้ เพราะถูกพราหมณ์ยกยอ และนำพิธีกรรมต่างๆ มารองรับสถานะให้กษัตริย์มีฐานะที่สูงขึ้น เมื่อนำพิธีกรรมต่างๆมาใช้ ภาษาก็เปลี่ยนไปตามพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรม ทั้งที่ชาวอาหมแท้ๆนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และภาษาอัสสัมก็ครอบงำสำคม รวมไปถึงราชสำนักเพื่อเข้าถึงฮินดู จนลุกลามไปยังขุนนาง และราษฎรต่างๆ ครั้นตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อังกฤษก็ถอดกษัตริย์อาหมออก และให้อำนาจแก่พราหมณ์ และขุนนางฮินดูแทน ภาษาอาหมจึงใช้กันจำกัดลงเรื่อยๆ จนเป็นภาษาตายไม่มีใครใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มนักบวชเทวไท (Deotai) ซึ่งเป็นนักบวชตามความเชื่อลัทธิฟ้าหลวง แม้จะพยายามรักษาประเพณี พิธีกรรมต่างๆ แต่ก็ทำได้จำกัด และนักบวชก็ขาดคนพูดอาหมด้วย และไม่มีใครเข้าใจได้ชัดเจน

[แก้] ภาษาอาหมในปัจจุบัน

แม้ว่าภาษาอาหมจะมีการฟื้นฟูอย่างน้อย 3 ช่วงเวลา ช่วงที่ 1 ในสมัยพระเจ้าจักรธวัช สิงห์ในช่วงปี ค.ศ. 1663 -1663 ช่วงที่ 2 ในยุคหลังจากอังกฤษเข้าปกครองในรัฐอัสสัมราวปี ค.ศ. 1826 และช่วงที่ 3 ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการฟื้นฟูภาษาไท และตั้ง สมาคมวรรณกรรมไทตะวันออก (Eastern Tai Literary Association) ที่เมืองกูวาฮาติ โดยสมคมมุ่งมั่นปฏิบัติให้พัฒนาการเรียน เขียนอ่านภาษาอาหม พร้อมกันนี้ให้สนับสนุนให้ค้นคว้าศึกษาเอกสารโบราณของชาวอาหมอย่างจริงจัง การฟื้นฟูภาษาอาหมนั้นอาศัยสัทวิทยาของภาษาพี่น้อง เช่นภาษาไทอ่ายตน และภาษาไทพ่าเก

[แก้] ลักษณะของภาษาอาหม

ภาษาอาหม กับภาษาในศิลาจารึกสุโขทัยของไทย ต่างก็เป็นภาษาไทยุคเก่า ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกว่าภาษาถิ่นไทยในปัจจุบัน และในภาษาอาหมไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ คำที่ใช้พูดกับคนธรรมดาก็ใช้พูดกับกษัตริย์ได้ การเรียงประโยคเป็นแบบประธาน-กริยา-กรรม รากศัพท์เป็นคำเดี่ยว ไม่มีการผันคำกริยา ไม่มีกาล และไม่มีรูปพหูพจน์ของคำนาม แสดงเวลาด้วยกริยาช่วย

[แก้] โคลงกลอนอาหม

กลอนอาหมที่มีเรื่องเกี่ยวกับการสร้างโลก ซึ่งเป็นกลอนไทยที่มีจำนวนพยางค์เลขคี่เขียนแบบกลอนหัวเดียว ลงท้ายวรรคคู่ด้วยสระเสียงเดียวกัน เหมือนเพลงลำตัด หรือเพลงเรือ สรุปคือ กลอนหก และกลอนแปดของไทยเป็นลูกผสมระหว่างกลอนไทยที่มีจำนวนพยางค์เป็นเลขคี่ แต่ต่อมาใช้เลขคู่แบบปัฐยาวัตของอินเดีย และคำสวดของอาหม ก็คล้ายกับ แหล่ ของไทยด้วย

[แก้] ตัวอย่างคำอาหม

  • เกา = ฉัน(กู)
  • โปเกา = พ่อตา
  • ไป,ไปกะ = คำบอกลาไป
  • ไปคัน = ไปอย่างรวดเร็ว
  • ไป่ = ไผ่
  • เปล่า = ว่าง
  • เป่า = เป่าลม
  • มุง = เมือง
  • เจ้ = เมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ (ตรงกับคำว่า แจ้ ในคำเมือง เช่น แจ้ห่ม)
  • มู = ฤดู, อากาศ,เวลา
  • มูหนาว = ฤดูหนาว
  • มูเหนียว = เวลานี้, เดี๋ยวนี้
  • มะพุก = พรุ่งนี้
  • ไหม้ = เผา
  • ถ้า = คอย
  • ปินไหง่ = ฝุ่นละออง (ตรงกับคำว่า ไหง่ ในภาษาอีสาน ซึ่งปัจจุบันมีใช้แถบชนบท)
  • จี = จดจำ (ตรงกับคำว่า จือจำ ในภาษาอีสาน)
  • ถัก = เย็น, ถัก
  • เล็ง = วิ่ง
  • ญม = ยิ้ม
  • กำ = ข้อห้าม
  • อาย = เข้าอาย
  • อ้าย = พี่ชาย
  • อ้า = เปิดออก, เปิดเผยออก
  • อา = น้องของพ่อ
  • ที่ไฟ = ไฟ
  • บินหวัด = เป็นหวัด
  • บอร์ = ใหญ่, กว้าง
  • คนม้า = คนเลว คนชั่ว
  • งอนตา = คิ้ว
  • คิ้ว, เขียว = ฟัน
  • ม่านตา = แว่นตา
  • คีบตีน = รองเท้า
  • แรงไฟ = รถไฟ
  • โง = วัว
  • แรงโง = เกวียน
  • แรงน่อง = รถสามล้อ
  • ริก = เรียก
  • ด้ำ = ผีบ้านผีเรือน (เช่น ผีซ้ำ ด้ำพลอย)
  • มอยด้ำ = เนินดินฝังพระอัฐิกษัตริย์อาหม
  • หมอรู้หมอแสง = ปุโรหิต
  • หมอลิกหมอลาย = อาลักษณ์
  • เรือน = บ้าน
  • สว๋า = เสือ
  • หมากโม้ = หมาก
  • เบิว ปลู้ = พลู
  • ฝม = ผม

[แก้] คำนับจำนวน เวลา

ในการนับเลขอาหมโดยเฉพาะการนับทั้งหมด แต่มีสำเนียงเพี้ยนจากภาษาไทยไปบ้าง

  • เอ็ด = หนึ่ง
  • ฉอง = สอง
  • ฉาม = สาม
  • ฉี่ = สี่
  • ห่า = ห้า
  • หรุก = หก
  • จิด = เจ็ด
  • เป็ด = แปด
  • เก่า = เก้า
  • ฉิบ = สิบ

[แก้] คำทักทาย

  • เปอ่องเลเล = มีความหมายว่าจงเจริญ (ซึ่งมาจากภาษาพม่าซ้อนคำไทอาหมเดิม เนื่องจาก เป แปลว่า ชนะ รวมกับคำว่า อ่อง ซึ่งเป็นภาษาพม่าที่แปลว่า ชนะ เช่นเดียวกัน ส่วนคำว่า เล เป็นคำลงท้ายแบบเดียวกับหางเสียง ครับ, ค่ะ)
  • คุปต่าง = กราบไหว้(ในบทบูชาบรรพชน)
  • คุปต่าง ชมโหลง = ขอบคุณ

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  • บุญยงค์ เกศเทศ."คนไท"ในชมพูทวีป.กรุงเทพ:หลักพิมพ์. หน้า 80-81
  • บรรจบ พันธุเมธา. กาเลหม่านไต (2504)
  • ประเสริฐ ณ นคร. การสร้างโลกตามคติไทอาหม และความรู้จากไทอาหม
  • วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. ภาษาเชิงประวัติ:วิวัฒนาการภาษาไทย และภาษาอังกฤษ. หน้า 213-229
ภาษาอื่น