ภาษาไทยถิ่นใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาษาไทยถิ่นใต้
พูดใน: Flag of ไทย ประเทศไทย ภาคใต้
Flag of สหภาพพม่า ประเทศพม่า ภาคใต้
Flag of มาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย ภาคเหนือ
จำนวนผู้พูด: 5,000,000 คน
ตระกูลภาษา: ไท-กะได
 คำ-ไท
  บี-ไท
   ไท-แสก
    ไท
     ไทตะวันตกเฉียงใต้
      ไทใต้
       ภาษาไทยถิ่นใต้ 
ระบบการเขียน:
สถานะทางการ
ภาษาทางการใน: -
ผู้วางระเบียบ: -
รหัสภาษา
ISO 639-1: ไม่มี
ISO 639-2: -
ISO 639-3: sou
Indic script
บทความนี้มีอักษรในตระกูลอักษรพราหมีปรากฏอยู่ คุณอาจเห็นสัญลักษณ์อื่นแทนตัวอักษร หรือมองเห็นสระวางผิดตำแหน่ง หากคอมพิวเตอร์ของคุณไม่สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง
สารานุกรมภาษา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมภาษา

ภาษาไทยถิ่นใต้ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคใต้ของประเทศไทย นับแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงชายแดนประเทศมาเลเซียรวม 14 จังหวัดและบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกทั้งบางหมู่บ้านในรัฐกลันตัน รัฐปะลิส รัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) รัฐเประ และรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย บางหมู่บ้านในเขตตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่าด้วย ภาษาไทยถิ่นใต้มีเพียงภาษาพูดเท่านั้น ไม่มีตัวอักษรเขียนเฉพาะ

เนื้อหา

[แก้] สำเนียงย่อย

ภาษาไทยถิ่นใต้แยกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

[แก้] ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก

ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก ได้แก่ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดกันมากทางฝั่งตะวันออกของปักษ์ใต้ บริเวณจังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี (อำเภอโคกโพธิ์, อำเภอแม่ลาน, อำเภอหนองจิก และ อำเภอเมือง) ตรัง สตูล (และในรัฐปะลิส-หมู่บ้านควนขนุน บ้านตาน้ำ ,ในรัฐเคดาห์-บ้านทางควาย บ้านบาลิ่ง ) ภาษาไทยถิ่นใต้ที่ใช้ในกลุ่มนี้ จะมีลักษณะของภาษาที่คล้ายคลึงกัน (ตรัง และสตูล แม้จะตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก แต่สำเนียงภาษา ถือเป็นกลุ่มเดียวกับพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช คือ ออกเสียงตัวสะกด ก.ไก่ ได้ชัดเจน)

[แก้] ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก

ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี และชุมพร ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ จะมีลักษณะเด่นที่คล้ายคลึงกัน เช่นออกเสียงคำว่า แตก เป็น แตะ ดอกไม้ เป็น เดาะไม้ สามแยก เป็น สามแยะ ฯลฯ สำเนียงนครศรีธรรมราช กลุ่มฉวาง พิปูน ทุ่งใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาหลวง ก็อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนจังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้จะตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันออก แต่สำเนียงภาษาถือเป็นกลุ่มเดียวกับจังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต คือ ออกเสียงตัวสะกด ก.ไก่ ไม่ได้

การแบ่งเขตระหว่างพื้นที่ที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก (คำที่มีเสียงสระยาวสามารถออกเสียง ก. สะกดได้ชัด) กับพื้นที่ที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก (คำที่มีเสียงสระยาว ออกเสียง ก. สะกดไม่ได้) สามารถกำหนดแนวแบ่งเขตได้ เคร่าๆ ได้โดยลากเส้นแนวแบ่งเขตจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีฝั่งอ่าวไทย ลงไปทางใต้ โดยใช้แนวเขาหลวง(เทือกเขานครศรีธรรมราช) เป็นแนวแบ่งเขต ผ่านลงไปถึงจุดระหว่างอำเภอทุ่งสง และอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นวกไปทางทิศตะวันตกไปยังอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ จรดทะเลอันดามัน

[แก้] ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา

ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดสงขลา บางส่วนของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา โดยมีลักษณะที่เด่นคือ หางเสียงจะไม่ขาดห้วน แต่จะค่อยๆเบาเสียงลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวช่วยให้ภาษาสงขลาฟังแล้วไม่หยาบกระด้างอย่างสำเนียงใต้ถิ่นอื่น นอกจากนี้ยังคำที่ใช้บ่อยในสำเนียงนี้คือ คำว่า เบอะ หรือ กะเบอะ ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยมาตรฐานว่า เพราะว่า, ก็เพราะว่า เรียกเงินว่า เบี้ย ในขณะที่ถิ่นอื่นนิยมเรียกว่า ตางค์ และคำที่นิยมใช้อีกคำหนึ่ง คือ ไม่หอน ซึ่งมีความหมายว่า ไม่เคย เช่น ฉานไม่หอนไป เป็นต้น[1]

[แก้] ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห

ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห หรือ ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบ ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี(เฉพาะ อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี) รวมทั้งในเขตรัฐกลันตันของมาเลเซีย ในหมู่บ้านที่พูดภาษาไทย จะใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกหนึ่งภาษาคือภาษาถิ่นพิเทน ซึ่งพูดกันในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง และตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานีเท่านั้น

ในเขตจังหวัดนราธิวาส เนื่องมีคนในจังหวัดอื่นๆ มาอาศัยหรือทำงานในจังหวัดนราธิวาส จึงนำภาษาไทยถิ่นใต้ของแต่ละจังหวัดมาพูดกันในจังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยถิ่นใต้จากจังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช คนนราธิวาส จึงมีภาษาไทย 2 สำเนียง คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ สำเนียง เจ๊ะเห และสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียง เจะเห มักพูดกันในกลุ่มเครือญาติ หรือตามชนบทของนราธิวาส แต่ในเมืองมักจะพูดสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก

[แก้] ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงพิเทน

ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงพิเทน เป็นภาษาถิ่นย่อยของภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบที่ใช้อยู่ในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง และตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันคนในตำบลพิเทนพูดภาษาไทยถิ่นพิเทนน้อยลง ส่วนมากจะใช้ภาษามลายูปัตตานีในชีวิตประจำวัน ตามความนิยมของผู้ใช้ภาษาส่วนใหญ่ ผู้ที่สามารถใช้สำเนียงพิเทนได้ดีคือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อายุน้อยกว่านี้บางคนไม่ยอมพูดภาษาของตน หรือพูดได้ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยภาษาพิเทนมีการใช้คำยืมและคำที่ใช้ร่วมกันกับภาษามลายูปัตตานีถึงร้อยละ 97[2]

[แก้] ตัวอย่างคำศัพท์

[แก้] พืช ผัก ผลไม้

  • มะม่วงหิมพานต์ = กาหยู (เทียบอังกฤษ cashew) , กาหยี (ใช้มากในแถบ ภูเก็ต พังงา คำนี้เข้าใจว่าคนใต้ฝั่งตะวันตกจะรับมาจากฝรั่งโดยตรง ) , ยาร่วง, ย่าโห้ย, หัวครก (ใช้มากแถบพัทลุง สงขลา) , ม่วงเล็ดล่อ, ท้ายล่อ, และ ม่วงแตแหร (ใช้ในภาษาไทยถิ่นใต้ สำเนียงเจะเห )
  • ชมพู่ = ชมโพ่แก้ว, น้ำดอกไม้, ชมโพ่น้ำดอกไม้
  • ฝรั่ง = ชมโพ่ ยาหมู่ หย้ามู้ (คำนี้มาจาก jambu ในภาษามลายู )
  • ฟักทอง = น้ำเต้า
  • ฟัก = ขี้พร้า
  • ขมิ้น = ขี้หมิ้น
  • ตะไคร้ = ไคร
  • พริก = ดีปลี, โลกแผ็ด, ลูกเผ็ด
  • ข้าวโพด = คง (คำนี้มาจาก jagong ในภาษามลายู )
  • มะละกอ = ลอกอ กล้วยหลา
  • สับปะรด = หย่านัด (คำนี้ ใช้ทั่วไปทั้งภาคใต้ บางครั้งจะออกเสียงเป็นหย่าน-หัด; คำนี้เข้าใจว่าคนใต้รับมาจากฝรั่งโดยตรง โดยฝรั่ง รับมาจากภาษาอินเดียนแดงแถบบราซิล[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งเรียกพันธุ์ไม้ชนิดนี้ว่า อนานัส[ต้องการอ้างอิง] เมื่อถ่ายทอดเสียงมาถึงปักษ์ใต้ จึงกลายเป็น หย่านัด) มะ-หลิ (คำนี้ใช้มากในเขตจังหวัดพัทลุง อำเภอรัตภูมิ อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด ของจังหวัดสงขลา)
  • ดอกมะลิ = ดอกมะเละ (เสียง อิ แปลงเป็นเสียง เอะ)
  • แตงโม = แตงจีน
  • ตำลึง = ผักหมึง
  • รสสุคนธ์ = เถากะปด (ประจวบคีรีขันธ์), ย่านปด, ปดคาย
  • หม้อข้าวหม้อแกงลิง = หม้อลิง
  • ละมุด = ซ่าว้า (คำนี้ใช้เฉพาะในเขตสงขลา สตูล พัทลุง มาจาก sawa ในภาษามลายู) หม่าซี้กู๊ (ใช้เฉพาะเขต พังงา ตะกั่วป่า) มุดรั่ง (ใช้ในเขตนครศรีธรรมราชขึ้นไป)
  • ผลไม้ที่มีคำว่า "มะ" นำหน้า (บางคำ) จะเปลี่ยนเป็น "ลูก" เช่น มะม่วง-ลูกม่วง, มะนาว-ลูกนาว, มะขาม-ลูกขาม, มะเขือ-ลูกเขือ เป็นต้น
  • ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมักมีคำว่า "ส้ม" นำหน้า เช่น มะขาม-ส้มขาม, มะนาว-ส้มนาว เป็นต้น

[แก้] ทั่วไป

  • เป็นไงบ้าง/อย่างไรบ้าง = พรือมัง, พันพรือม, พันพรือมัง (สงขลา จะออกเสียงว่า ผรื่อ เช่น ว่าผรื่อ = ว่าอย่างไร)
  • ตอนนี้ ปัจจุบัน = หวางนี่ (คำนี้ใช้ ในภาษาถิ่นใต้ทั่วไป) , แหละนี่ (คำนี้จะใช้เฉพาะในเขตอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี)
  • โง่ = โม่, โบ่
  • วัว = ฮัว (มาจากคำว่า งัว ในภาษาเก่า เนื่องจากในสำเนียงใต้จะไม่มีเสียง ง. งู แต่จะใช้เสียง ฮ. นกฮูก แทน)
  • เจ้าชู้ = อ้อร้อ (จะใช้เฉพาะ กับผู้หญิง เช่น สาวคนนี้ อ้อร้อ จัง คำ ๆ นี้มีความหมายในแง่ลบ ใกล้เคียงกับคำว่า แรด ในภาษากรุงเทพ)
  • ทุกข์ ลำบาก = เสดสา มาจากภาษามลายู siksa (เช่น ปีนี้เสดสาจัง = ปีนี้ลำบากมาก)
  • กลับบ้าน = หลบบ้าน, หลบเริน
  • เยอะๆ หลายๆ = ลุย, จังหู, จังเสีย, กองเอ, คาเอ, จังแจ็ก, จังเสีย, จ้าน, กองลุย
  • ไปไหน มาไหนคนเดียว = มาแต่สวน
  • แฟน = แควน (ฟ จะเปลี่ยนเป็น คว เกือบทุกคำ) ,โม่เด็ก
  • ตะหลิว = เจียนฉี่ คำนี้แถบจังหวัดพัทลุงจะออกเสียงเป็น ฉ่อนฉี (ช้อนฉี)), แถบอำเภอฉวาง อำเภอพิปูน จะใช้คำว่า หวักผัด
  • ชะมด = มูสัง มาจากภาษามลายู musang
  • อร่อย = หรอย
  • อร่อยมาก = หรอยจังหู, หรอยพึด, หรอยอีตาย
  • ไม่ทราบ = ม่ารู่ม้าย (คำนี้ใช้ในเขต นครศรีธรรมราช และใกล้เคียง) ไม่โร่ (สำเนียงสงขลา เสียง อู จะแปลงเป็น เสียง โอ เช่น รู้ คนสงขลาจะพูดเป็น โร่, คู่ คนสงขลาจะพูดเป็น โค่, ต้นประดู่ = ต้นโด ฯลฯ )
  • ขี้เหร่, ไม่สวยไม่งาม = โมระ หรือ โบระ (ออกเสียงควบกล้ำ มากจาก buruk เทียบมลายูปัตตานี ฆอระ)
  • กังวล, เป็นห่วง = หวังเหวิด (คำนี้มักใช้ในภาษาไทยถิ่นใต้ตอนบน แต่โดยทั่วไปก็เข้าใจในความหมาย), มิมัง (ภาษาไทยถิ่นใต้ ในเขต จะนะ เทพา สะบ้าย้อย), วิมัง (ในสำเนียงตากใบ)
  • ศาลา = หลา
  • ภาชนะสำหรับตักน้ำในบ่อ = ถุ้ง, หมาตักน้ำ บางถิ่นเรียก ตีหมา หรือ ตีมา มาจาก timba ในภาษามลายู
  • รีบเร่ง ลนลาน = ลกลัก, ลกลก (สงขลา จะใช้คำว่า ลกลัก , นครศรีฯ จะใช้ว่า ลกลก )
  • อาการบ้าจี้ = ลาต้า
  • ขว้างออกไป = ลิว, ซัด
  • ซอมซ่อ = ม่อร็อง, หม็องแหม็ง
  • เก่าๆ,ขาดๆ = ร้าย,ร้ายๆ เช่น ผ้าร้าย หมายถึงผ้าเก่าๆ หรือผ้าขี้ริ้ว, สาดร้ายๆ หมายถึง เสื่อขาดๆ
  • โลภมาก = ตาล่อ, หาจก, ตาอยาก
  • โกรธ = หวิบ, หวี่
  • โกรธมาก = หวิบอย่างแรง , หวิบหูจี้
  • บ๊อง = เบร่อ, เหมฺร่อ ,เร่อ
  • ทำไม = ไซ ,ใส่ , ส่อ , ไตร่
  • อย่างไร = พันพรือ, พรือ, ผรื่อ
  • โกหก = ขี้หก, ขี้เท็จ
  • กระท่อม = หนำ, ขนำ, ก๋องซี (บ้านพักชั่วคราวซึ่งปลูกขึ้นอย่างง่ายๆ)มาจาก 公司 ในภาษาจีน
  • อีกแล้ว = หล่าว
  • กะละมัง = โคม, พุ้น
  • เลอะเทอะ = หลูหละ, ซอกปร็อก (มาจากคำว่า สกปรก แต่ออกเสียงสั้นๆ ห้วนๆ กลายเป็น สก-ปรก)
  • หกนองพื้น = เพรื่อ
  • ประจำ = อาโหญฺะ, โหญฺะ (เสียงนาสิก)
  • ทิ้ง = ทุ่ม
  • อาการขว้างสิ่งของลงบนพื้น = ฟัด (ภาษาไทยถิ่นใต้ดั้งเดิม ไม่มีเสียง ฟ. จะใช้ใช้เสียง ขวฺ หรือ ควฺ แทน "ฟัด"จึงออกเสียงเป็น ขวัด)
  • กัด = ขบ, ค็อบ
  • กัดแทะ โดยใช้ฟันหน้า = คล็อด เช่น คล็อดคง หมายถึง การกัดแทะฝักข้าวโพดต้ม โดยใช้ฟันหน้า(กัดกินในขณะที่ใช้มือหมุนฝักข้าวโพด)
  • กลิ่นฉุน = ฉ็อง (ตัวอย่าง "เหม็นฉ็องเยี่ยว" = เหม็นฉุนเยี่ยว, ฉ็องจ้าน หมายถึง ฉุนจัง)
  • ดื้อรั้น = ช็องด็อง
  • กินไม่หมด = แหญะ (ข้าวที่เหลือจากการกิน เรียกว่า ข้าวแหญะ)
  • เอาเงินไปแลก = แตกเบี้ย (แลกเงินเป็นแบงค์ย่อยสัก 100 บาท เรียกว่า แตกเบี้ยซักร้อยบาท)
  • สะใจดี = ได้แรงอก
  • เขียง = ดานเฉียง
  • นิ่งเสีย, นิ่งเดี๋ยวนี้ = แหน่งกึ๊บ (คำนี้ใช้ขู่เด็กขี้แยให้หยุดร้องไห้)
  • ผงชูรส = แป้งหวาน
  • บริเวณที่ลุ่ม มีน้ำแฉะ = โพระ หรือ พรุ (มาจาก baroh ในภาษามลายู)
  • กาแฟ = กาแคว, โกปี้ (มาจาก kopi ในภาษามลายู)
  • การแสดงความเคารพของทหาร ตำรวจ = ตะเบะ (มาจาก tabik ในภาษามลายู)
  • ก็เพราะว่า = เบ่อ ,เบอะ ,กะเบ่อ,กะเบอะ เป็นคำในภาษาสงขลาใช้นำหน้าคำที่ต้องการเน้น เช่น เบอะหมันบ้า ความหมายคือ ก็ไอ้คนนั้นมันบ้า หรือจะใช้ตามหลังคำที่ต้องการเน้นก็ได้ เช่น เสือกเอง เบอะ ความหมายคือ ก็อยากเสือกเอง คำว่า เบอะ นี้ในปัจจุบันเด็กใต้โดยเฉพาะในเขตอำเภอหาดใหญ่ สงขลาและใกล้เคียง จะใช้พูดจนติดปากเกือบทุกประโยคที่พูด จนบางครั้งนำมาพูดในภาษาไทยสำเนียงกลาง ซึ่งจะสร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้ฟังที่เป็นคนต่างถิ่น ต่างภาค
  • คาดว่า, น่าจะ, คงเป็นเช่นนั้น = ส่าหวา, สาว่า
  • เศษเหรียญ = ลูกกัก, ลูกเหรียญ, ลูกตาง
  • จะ = อิ, อี (เช่น จะใช้แล้วเร็วๆหน่อย เป็น อีใช้แล้วแขบๆหิ๊ด), ติ (เช่น อิไปไหน = จะไปไหน)
  • รีบ = แขบ
  • โดน(สัมผัสเบาๆ) = แท่ง ( แท่ง เข้าหีด หนึ่ง ร้องเหมือนถูกเชือดเลย = แตะเข้านิดหนึ่ง ร้องไห้เหมือนถูกเชือดเลย)
  • แอบ, หลบซ่อน = หยบ
  • กลับบ้าน = หลบเริน
  • รู้ความ = รู้สา
  • รู้สึก(รังเกียจ) = สา
  • กะปิ = เคย
  • น้ำพริก = น้ำชุบ
  • เอาอีกแล้ว = เอาแหล่วหลาว
  • ตะปู = เหล็กโคน

[แก้] สำนวน

  • ลอกอชายไฟ = ใช้พูดเพื่อตัดพ้อผู้ที่มองไม่เห็นคุณค่าของตน แต่พอผิดหวังกับคนที่หวังเอาไว้ จึงค่อยหันกลับมาเห็นความสำคัญทีหลัง
  • ช้างแล่นอย่ายุงหาง = อย่าขัดขวางผู้มีอำนาจ ("แล่น" หมายถึง วิ่ง, "ยุง" หมายถึง จับหรือดึง)
  • คุ้ยขอนหาแข็บ = มีความหมายเดียวกับ "ฟื้นฝอยหาตะเข็บ" ในภาษาไทยกลาง ซึ่งตามพจนานุกรม หมายถึง คุ้ยเขี่ยหาความที่สงบแล้วให้กลับเป็นเรื่องขึ้นมาอีก
  • อยู่ไม่รู้หวัน = ใช้ว่าคนที่เฉิ่ม ๆ หรือไม่ค่อยรู้เรื่อวรู้ราว มาจากอยู่ไม่รู้วันไม่รู้คืน ( ส่วนใหญ่จะพูดย่อ ๆ ว่า อยู่ไม่หวัน )
  • เหลี่ยมลอกอลิด = ใช้กับคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวกคล้ายๆกับมะละกอ ("ลอกอ" หมายถึงมะละกอ) ที่ถูกปอกเปลือก ("ลิด" หมายถึงปอกเปลือก) ซึ่งเมื่อปอกไปมากๆ จะเกิดเหลี่ยมมุมมากขึ้นเรื่อยๆจนนับไม่ถ้วน
  • ควัดด็องเปล่า = การกระทำอะไรซึ่งทำแล้วไม่เกิดผลอะไรต่อตนเองเลยแม้แต่น้อยเป็นการเสียแรงเปล่าๆ (เหมือนการฝัดข้าวด้วยกระด้งที่ไม่มีข้าวอยู่เลย "ด็อง" คือกระด้ง)
  • ทั้งกินทั้งขอ ทั้งคดห่อหลบเริน = การตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว ("คดห่อ"หมายถึงการนำข้าวใส่ภาชนะแล้วพาไปไหนมาไหน)เปรียบกับเมื่อบ้านไหนมีงานแล้วจะมีคนที่ทั้งกินส่วนที่เขาให้กิน แล้วยังไปขอเพิ่มและห่อกลับบ้านไปอีก

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ หมายเหตุเบื้องต้น กรณีศึกษาภาษาสงขลา บันทึกขนำริมทุ่งปลักเหม็ด
  2. ^ ฐานข้อมูลวิจัยจังหวัดชายแดนใต้ คำยืมภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีในภาษาไทยถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
Linguistics stub.svg ภาษาไทยถิ่นใต้ เป็นบทความเกี่ยวกับ ภาษา หรือ ตัวอักษร ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ ภาษาไทยถิ่นใต้ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ภาษา
ภาษาอื่น