สำเนียงโคราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก ภาษาไทยโคราช)

ภาษาไทยสำเนียงโคราช เป็นภาษาไทยกลุ่มหนึ่งที่ใช้พูดกันในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง เป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาไทยกลาง ที่ออกสำเนียงเหน่อ และมีคำศัพท์ร่วมกับภาษาไทยกลาง และรับคำมาใช้จากภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาลาว และภาษาเขมร

เนื้อหา

[แก้] ลักษณะทางสัทศาสตร์

ภาษาไทยสำเนียงโคราช เป็นภาษาไทยถิ่นกลาง คำศัพท์ทั่วไปตรงกับภาษาไทยถิ่นกลาง มีสำเนียงค่อนข้างเหน่อและห้วนสั้นแบบภาคกลาง แต่มีการผันคำต่ำ-สูงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างจากภาษาไทยถิ่นกลางบ้าง โดยมักใช้เสียงวรรณยุกต์เอก (เสียงต่ำ) แทนเสียงวรรณยุกต์โท (เสียงสูง) เช่น "โม่" แทน "โม้" หรือ "เสื่อ" แทน "เสื้อ" เป็นต้น นอกจากนี้ยังยืมคำในภาษาไทยถิ่นอีสานมาใช้ปะปนกันด้วยเล็กน้อย และเมื่อพูดจบประโยคจะลงท้ายด้วยคำว่า "เบิ้ง, เหว๋ย, ด๊อก"

[แก้] ต้นกำเนิด

เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของชาวไทโคราชอพยพมาจากอยุธยา และแถบจังหวัดชายทะเลตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง นครนายก เป็นต้น เข้ามาในบริเวณจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง และได้ผสมกลมกลืนกับกลุ่มคนพื้นเมืองเดิม ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น ไท-เสียม หรือไทสยามลุ่มน้ำมูล เกิดเป็นวัฒนธรรมไทโคราช เรียกตนเองว่า ไทโคราช ไทเบิ้ง หรือ ไทเดิ้ง

ต่อมาได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวลาว ชาวไทยอีสานและชาวเขมร และมีการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวลาว ชาวไทยอีสานและชาวเขมรเข้ามาทีหลัง ทำให้เกิดการวิวัฒนาการของภาษา โดนมีการยืมคำไทยอีสาน และคำเขมรปะปนเข้ามาใช้ เกิดเป็นคำไทโคราช ซึ่งแตกต่างจากภาษาไทยถิ่นอิสานโดยทั่วไป เพราะยังคงรักษารากศัพท์เดิมไว้คือภาษาไทยถิ่นกลางนั่นเอง

[แก้] การกระจายตัว

เป็นภาษาที่ใช้มากในจังหวัดนครราชสีมาเกือบทุกอำเภอ ยกเว้นบางอำเภอที่มีชาวไทยอีสานอยู่เป็นจำนวนมากกว่า เช่น อำเภอบัวใหญ่ อำเภอสูงเนิน อำเภอปักธงชัย เป็นตัน นอกจากนี้พบว่ามีการใช้ภาษาไทยสำเนียงโคราชในประชากรบางส่วนของจังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสระแก้ว อีกด้วย

[แก้] อ้างอิง

Linguistics stub.svg สำเนียงโคราช เป็นบทความเกี่ยวกับ ภาษา หรือ ตัวอักษร ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ สำเนียงโคราช ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ภาษา