คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 ที่ตั้งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการสนับสนุนให้ก่อตั้งในสมัยของอธิการบดี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ โดยทาบทาม ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพร โพธินาม เป็นประธานโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีแนวคิดให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นสถาบันที่เป็นเลิศทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ผลิตบัณฑิตและแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนที่มีคุณภาพ กอปรด้วยคุณธรรมและจริยธรรม สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการของท้องถิ่น ประเทศชาติ และนานาชาติและยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 10/2546 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 โดยดำเนินการในรูปแบบหน่วยงานนอกระบบราชการที่เน้นความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและพึ่งตนเองมากที่สุด และได้รับโอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพไว้ในคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2547 มีนิสิต 84 คน จำนวน 2 รุ่น และหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2549 ได้การรับรองจากแพทยสภา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2549 และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5 / 2549 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ ดำเนินการจัดการเรียนการสอน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2549) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2548) และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ศูนย์บริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะแพทยศาสตร์ ได้ดำเนินการเปิดให้บริการทางการแพทย์ เป็นครั้งแรก ณ ศูนย์บริการทางการแพทย์ (ที่ตั้งขามเรียง) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 และเปิดให้บริการ ณ ศูนย์บริการทางการแพทย์ (เขตพื้นที่ในเมือง) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 คณะแพทยศาสตร์ ยังได้เปิดศูนย์บริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยให้บริการด้านการหัตถบำบัดและรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร และส่งเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 และเปิดสถานผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550

[แก้] หลักสูตรการศึกษา

ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดทำการเรียนการสอนใน 3 หลักสูตร ดังต่อไปนี้

ปริญญาตรี
ปริญญาเอก

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.)

  • สาขาวิชาแพทยศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

[แก้] สีประจำหลักสูตร

  • หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) สีเขียว ( Permanent green middle )

รหัส 484 BS2OBL

  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สีเขียวไพล ( Permanent green light )

รหัส 483 BS2O สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

  • หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สีเขียวเข้ม ( Permanent green deep )

รหัส 482 BS2OBL สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

[แก้] สถาบันร่วมผลิตแพทย์

โรงพยาบาลที่ผลิตแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปี 4 - 6) มีทั้งสิ้น 2 โรงพยาบาล โดยได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก" ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมผลิตแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้

สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด กระทรวงสาธารณสุข

[แก้] อ้างอิง