มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
“ "สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี"
ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ นำมาซึ่งความสุข ”

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (อังกฤษ: Uttaradit Rajabhat University) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์" ในอดีตสถาบันแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาฝึกหัดครูของภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์, แพร่, น่าน, เชียงราย, ลำปาง และอุตรดิตถ์[4] ต่อมาภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อและฐานะมาตามลำดับจนเป็นที่รู้จักดีในชื่อ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ก่อนจะเลื่อนฐานะเป็นสถาบันราชภัฏ จนในปี พ.ศ. 2547 จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีรากฐานมาจากการสถาปนา "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์" ในปี พ.ศ. 2479 เปิดสอนครั้งแรกในหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ต่อมาปี พ.ศ. 2518 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์" ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518[5] เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต[6]

ในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "สถาบันราชภัฏ" เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังได้พระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ และเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ[7] เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์จึงมีชื่อเป็น "สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์"

ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ[8] และพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดยกฐานะสถาบันราชภัฏขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย โดยมีผลนับแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษา ยังผลให้สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์" นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จากทุกวิทยาเขต ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์คนปัจจุบันคือ ผศ.สิทธิชัย หาญสมบัติ และมีศาสตราจารย์ ดร. เกษม จันทร์แก้ว เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีพัฒนาการมาจากรากฐานของการก่อตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2479

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ในที่ดินราชพัสดุ ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ 42 ไร่เศษ มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์" เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ว.) และ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประชาบาล (ป.ป.) อีกระดับหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้เป็นชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูอุตรดิตถ์" เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2491 และ เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรครูมูล (ป.) เพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2492 จนถึงปี พ.ศ. 2498 จึงได้เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) และเลิกสอนหลักสูตรอื่น ๆ ที่สอนมาแต่เดิม จนกระทั่งวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ได้ยกฐานะเป็น "วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์" เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) และได้ขยายพื้นที่วิทยาลัย เพิ่มขึ้นเป็น 190 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา

ในปีต่อมา ได้มีการขยายปริมาณงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อจำนวนนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนในวิทยาลัยครูมากขึ้น และความต้องการครูมีมาก จนต้องเปิดสอนให้แก่บุคลลากรภายนอก (ภาคค่ำ) เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2512 และเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของต้นสังกัดต่างๆ ในปี พ.ศ. 2513

หลังจากที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ขึ้นแล้ว วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยครู ตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ทำให้วิทยาลัยครูมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาผลิตครูระดับ ป.กศ. และป.กศ.ชั้นสูง ตามหลักสูตรสภาการฝึกหัดครู และเปลี่ยน การจัดสอนภาคนอกเวลามาเป็นการสอนฝึกหัดครูต่อเนื่องแทน

ปี พ.ศ. 2521 เริ่มเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี (ค.บ.) เลิกผลิตครูในโครงการฝึกหัดครู ภาคต่อเนื่อง โดยที่สถาบัน ได้เล็งเห็นว่า ครูและบุคลลากร ทางการศึกษา ประจำการ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ และ น่าน ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบ ของสถาบัน ยังมีวุฒิ ต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นจำนวนมาก ประกอบกับต้นสังกัดของ ครูเหล่านี้ มีความต้องการ จะพัฒนาครูของตน ให้มี ความรู้และ สมรรถภาพสูงขึ้น สถาบันโดยความเห็นชอบ ของสภาฝึกหัดครู จึงได้จัดให้มีการอบรมครู และ บุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อคป.) ขึ้น เป็นรุ่นแรกใน ปี พ.ศ. 2522

ปี พ.ศ. 2524 ทางวิทยาลัยได้ขอจัดสรรที่ดิน ตำบลหมอนไม้ ประมาณ 400 ไร่ แต่ทางจังหวัดได้ขอจัดสรรให้หน่วยงานอื่นๆ ด้วย และส่วนหนึ่งได้จัดทำเป็นสนามกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ และได้แบ่งสรรที่ดินให้แก่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ สถาบันได้เข้าไปปักหลักเขตและวัดพื้นที่เรียบร้อย ในปี พ.ศ. 2530 มีเนื้อที่ 92 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ซึ่งวิทยาลัยได้พัฒนาที่ดินผืนนี้เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการเกษตร และเป็นศูนย์วิจัยค้นคว้าทางเกษตรและเทคโนโลยี

ปีการศึกษา 2526 ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิชาเอกเทคนิคการอาชีพ ระดับ ป.กศ. ชั้นสูง 5 สาขาวิชา ซึ่งนับว่าได้เริ่มขยายฐานทางวิชาการและวิชาชีพ ออกไปอีกก้าวหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2527 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 มีสาระสำคัญให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันศึกษาและวิจัยทางการสอนวิชาการต่างๆ และผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี ทำให้วิทยาลัยครูมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย จึงได้เปิดสอนวิชาการสาขาอื่นในระดับอนุปริญญาเพิ่มขึ้น ในปีการศึกษา 2528 เป็นปีแรก 4 สาขา ได้แก่ ออกแบบประยุกต์ศิลป์, พืชศาสตร์, ไฟฟ้า และนิเทศศาสตร์

ปี พ.ศ. 2529 ได้จัดการศึกษาสำหรับบุคลกรประจำการ (กศ.บป.) ขึ้นเป็นรุ่นแรก ในสาขาวิชาการศึกษาและสาขาวิชาการอื่น ทั้งระดับอนุปริญญาและระดับปริญญาตรี

ปี พ.ศ. 2530 ได้เปิดโรงเรียนสาธิตชั้นเด็กเล็กและชั้นอนุบาล ตามที่สภาฝึกหัดครูอนุมัติ และมีโครงการขยายเปิดชั้นประถมปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2531

ปี พ.ศ. 2533 วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า (NIDA) เพื่อเปิดสอนปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ ภาคพิเศษ เป็นรุ่นแรก ตามโครงการ NIDA-UTC และ ในปี พ.ศ. 2534 วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ ในการเปิดสอนภาคพิเศษ สำหรับสมาชิกหอการค้า เพื่อรับปริญญาทางบริหารธุรกิจ และยกมาตรฐานทางการค้าของจังหวัดอุตรดิตถ์ตามโครงการ EBD-UTC

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "สถาบันราชภัฎ" แทนวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์จึงมีฐานะเป็นส่วนราชการหนึ่งของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ การดำเนินงานของสถาบันขึ้นอยู่กับของข่ายที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฎ พ.ศ. 2537 โดยมีสภาสถาบันราชภัฎ และสภาประจำสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ดังกล่าวเป็นผู้กำหนด

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ซึ่งได้นำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป มีผลทำให้สถาบันราชภัฏทั่วประเทศได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏจนถึงปัจจุบัน[9]

ปัจจุบัน พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

[แก้] สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

  • ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย คือ รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นตรางา รูปไข่ กว้าง 5 เซนติเมตร สูง 6.7 เซนติเมตร รูปพระที่นั่งอัฏฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข ๙ รอบ ๆ มีรัศมี แปลความหมายว่า "ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน" ด้านบนของตรามีอักษรข้อความว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์" ด้านล่างของตรามีข้อความว่า "UTTARADIT RAJABHAT UNIVERSITY"[10] ตรานี้มี 5 สี มีความหมายดังนี้
ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ติดตั้งบนหน้าบันอาคารภายในมหาวิทยาลัย
  • ██ สีน้ำเงิน แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” อันแปลว่า นักปราชญ์แห่งพระราชา
  • ██ สีเขียว แทนค่าแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
  • ██ สีทอง แทนค่าความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
  • ██ สีส้ม แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • ██ สีขาว แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • สีประจำมหาวิทยาลัย คือ เขียว - เหลือง หมายถึง มหาวิทยาลัยอุดมศึกษาของท้องถิ่นที่พร้อมด้วยความสงบ ร่มเย็น ความมีระเบียบและสมานสามัคคีเหมาะที่จะเป็นสถานศึกษาหาความรู้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คุณธรรม
  • ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ "ต้นหางนกยูงฝรั่ง"

[แก้] รายนามผู้บริหารและอธิการบดี

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีผู้บริหารนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2479 ครั้งยังเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) นับได้ 73 ปี มีรายนามดังต่อไปนี้

ครูใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์
รายนามครูใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นายชอล์ค บัวผ่อง (รักษาการ) 1 สิงหาคม พ.ศ. 2479 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2479 [4]
2. นายต่วน รอดเที่ยง 21 สิงหาคม พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2483 [4]
3. นายพล พิกุลสวัสดิ์ พ.ศ. 2483 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 [4]
4. นายพิศาล ชัยเพ็ชร์ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2484 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 [4]
5. นายทองอินทร์ ปัณฑรานนท์ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 [4]
อาจารย์ใหญ่ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
รายนามอาจารย์ใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นายประกอบ สุวรรณพาณิชย์ (รักษาการ) 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 - 20 เมษายน พ.ศ. 2505 [4]
2. นายบุญเลิศ ศรีหงส์ 21 เมษายน พ.ศ. 2505 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 [4]
ผู้อำนวยการ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นายบุญเลิศ ศรีหงส์ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2514 (รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ)
14 มิถุนายน พ.ศ. 2514 - 30 กันยายน พ.ศ. 2515 (ผู้อำนวยการ)
[4]
2. นางสาวบุญเทียม แสงศิริ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 - 2 มกราคม พ.ศ. 2516 (รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ)
3 มกราคม พ.ศ. 2516 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2519 (ผู้อำนวยการ)
[4]
อธิการ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
รายนามอธิการ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นางสาวบุญเทียม แสงศิริ (รักษาการ) 2 สิงหาคม พ.ศ. 2519 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2519 [4]
2. นายมังกร ทองสุขดี (รักษาการ) 16 ธันวาคม พ.ศ. 2519 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2520 [4]
3. นายประชุม มุขดี 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 - ไม่ทราบ [4]
อธิการบดี สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
- - -
อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. ผศ.สิทธิชัย หาญสมบัติ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 - 6 มกราคม พ.ศ. 2552 (วาระที่ 1)

7 มกราคม พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน (วาระที่ 2)

[5]
[6]

[แก้] การศึกษา

[แก้] คณะในมหาวิทยาลัย

มุมมองจากอาคารภูมิราชภัฏด้านทิศเหนือ อาคารหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
อาคารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
  • คณะครุศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คณะวิทยาการจัดการ
  • คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
  • คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
  • คณะเกษตรศาสตร์

[แก้] วิทยาลัย

  • บัณฑิตวิทยาลัย
  • วิทยาลัยนานาชาติ

[แก้] สถาบัน/ศูนย์และหน่วยงานในมหาวิทยาลัย

  • สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • สถาบันวิจัยและพัฒนา
  • สำนักศิลปและวัฒนธรรม
  • Computer Center URU
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

[แก้] วิทยาเขต

[แก้] การวิจัย

[แก้] การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

[แก้] ระดับปริญญาตรี

[แก้] ระดับปริญญาโท

[แก้] ระดับปริญญาเอก

[แก้] พื้นที่มหาวิทยาลัย

[แก้] พื้นที่การศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่เลขที่ 27 ถนนอินใจมี ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ตลอดแนวรั้วด้านหน้าสถาบันซึ่งเป็นทิศเหนือ ติดกับถนนอินใจมี อันเป็นถนนเชื่อมระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอลับแล ทางด้านหลังซึ่งเป็นทิศใต้ติดต่อกับสถานีสื่อสารและโทรคมนาคมของกระทรวงคมนาคม ส่วนทางด้านทิศตะวันออก ติดต่อกับวิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์และสำนักงานแขวงการทางอุตรดิตถ์ อีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นแนวรั้วด้านทิศตะวันตก ตลอดแนวเป็นคลองชลประทาน หากรวมกับพื้นที่ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการเกษตร วิทยาเขตหมอนไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์จะมีพื้นที่ทั้งสิ้น 270 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา[11]

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ส่วนกลาง
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตหมอนไม้

[แก้] พื้นที่การศึกษาวิทยาเขตนอกจังหวัดอุตรดิตถ์

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตเมืองลอง จังหวัดแพร่
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตทุ่งศรีทอง จังหวัดน่าน
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ศูนย์การศึกษาอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

[แก้] โครงการพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในอนาคต

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตบึงทุ่งกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์ [12]

[แก้] สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย

[แก้] ชีวิตในมหาวิทยาลัย

[แก้] กิจกรรมและประเพณีของมหาวิทยาลัย

[แก้] การพักอาศัยของนักศึกษา

[แก้] พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

[แก้] การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, เล่ม ๑๒๖, ตอนพิเศษ ๒๘ ง, ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒, หน้า ๑๖
  2. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, เล่ม ๑๒๖, ตอนพิเศษ ๒๘ ง, ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒, หน้า ๒๒
  3. ^ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. (2552). เพลงประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  4. ^ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 มณเฑียร ดีแท้. (2523). มรดกทางวัฒนธรรมของชาวอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: วิเทศธุรกิจการพิมพ์. หน้า 220
  5. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘, เล่ม ๙๒, ตอน ๔๘ ก ฉบับพิเศษ, ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘, หน้า ๒๓
  6. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์, เล่ม ๙๓, ตอน ๑๕๐, ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙, หน้า ๖๑๕
  7. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๓๘ (ยกเลิกพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘ และบัญญัติขึ้นใหม่), เล่ม ๑๑๒, ตอน ๔ ก , ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑๑๒
  8. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๒๓ ก, ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑
  9. ^ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (2552). ประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  10. ^ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (2552). สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  11. ^ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. (2552). แผนที่สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  12. ^ http://plan.uru.ac.th/uru_toongkalo.html

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons

พิกัดภูมิศาสตร์: 17°37′58″N 100°05′35″E / 17.632737°N 100.093151°E / 17.632737; 100.093151

ภาษาอื่น