โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน)

Mahidon.gif
“ ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ
(คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา) ”

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย (ณ ปัจจุบันคือ พ.ศ. 2553) มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2534และเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมพ.ศ. 2543[1]

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

ป้ายทางเข้าโรงเรียน

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้จัดตั้งขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โดยในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากความขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีความคิดที่จะผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในทางสาขาวิชานี้ เพื่อป้อนให้กับประเทศ ทั้งนี้บุคลากรเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับพื้นฐานที่ดีก่อนที่จะมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

ในการนี้ทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อันเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญดีอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เพื่อสร้างนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษา และศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ รูปแบบดังกล่าวนี้ หากขยายนำไปใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็จะผลิตกำลังคนได้สอดคล้อง กับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาได้ร่วมลงนามในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยใช้พื้นที่ 35 ไร่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ให้กรมสามัญศึกษาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือสนับสนุนทางด้านวิชาการ รูปแบบการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบใดเพื่อให้เหมาะสมในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนรู้ และพฤติกรรมของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต

โรงเรียนได้เปิดทำการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระธรรมมหาธีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงให้ใช้บริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมของทางวัดเป็นสถานที่เรียนชั่วคราวไปจนกว่าอาคารเรียนของทางโรงเรียนในบริเวณของมหาวิทยาลัยจะเสร็จเรียบร้อยในช่วงนั้นทางวัดไร่ขิงได้ให้ความอนุเคราะห์โรงเรียนมาตลอด เริ่มตั้งแต่ให้ใช้บริเวณวัดทำการเรียนการสอน บริการเรื่องสาธารณูปโภค โดยไม่คิดมูลค่าให้ใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ของทางวัดทำการเรียนการสอน อนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ของวัดมาสอนวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งยังมอบเงินทุนส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุกๆ ปีและยังได้รับความอุปการะจากนายแพทย์บุญ วนาสิน ในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนเรื่อยมาได้จ้างครูต่างชาติมาสอนวิชาภาษาอังกฤษปีละ 2 คนทุกปี จัดสร้างหอพักนักเรียนชาย-หญิง ณ บริเวณโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศาลายา และมอบเงินทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุก ๆ ปี และในคราวที่อยู่ ณ วัดไร่ขิงนั้น ทางมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้อำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เรื่อยมา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ได้มีการลงนามร่วมกันอีกครั้งหนึ่งโดย นายบรรจง พงศ์ศาสตร์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาและ ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยเปลี่ยนแปลงมาให้ใช้พื้นที่ 25 ไร่ จำนวนระยะเวลา 30 ปี และตกลงให้ความร่วมมือสนับสนุนการเรียนการสอน รวมทั้งให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสมปีการศึกษา 2538 โรงเรียนได้ย้ายสถานที่เรียนจากวัดไร่ขิง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มายังที่ตั้งของโรงเรียน ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดลจนถึงปัจจุบัน

ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในสถานะองค์การมหาชน

ปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลมีนโยบายจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนาโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ที่มีลักษะพิเศษต่างจากโรงเรียนทั่วไป และได้มีพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีสถานภาพเป็นองค์การมหาชน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์

ปีพ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ในสมัย นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ผ่านการผลักดันของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยอาศัยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนนำร่องเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศอีกจำนวน 8 แห่งอีกต่อไป ผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ องค์การมหาชน คือ ดร. ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานในระบบองค์การมหาชนนี้ โรงเรียนได้รับการบริหารที่ยืดหยุ่นกว่าในระบบเดิมและได้รับงบประมาณที่มากขึ้น จึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันได้มีการขยายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ไปสู่กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งและจัดตั้งโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) อีก 5 แห่งโดยใช้หลักสูตรอ้างอิงจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะนำหลักสูตรไปดัดแปลงและปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของมหาวิทยาลัย และยังมีแผนจะจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกจำนวน 207 โรงเรียน

[แก้] เกียรติประวัติของโรงเรียน

[แก้] อุดมการณ์และเป้าหมายในการพัฒนานักเรียน

  • มีจิตวิญญาณของความเป็นนักวิจัย นักคิดค้น และนักพัฒนาที่มีคุณธรรมและจริยธรรม และรักการเรียนรู้
  • มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักใช้ความสามารถของตนเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยไม่เห็นแก่ตัว
  • มีจิตสำนึกในเกียรติภูมิของความเป็นคนไทย มีความรักชาติบ้านเมือง และต้องการที่จะรับใช้ตอบแทนชาติบ้านเมืองตามความสามารถของตน
  • มีสุขภาพพลานามัยที่ดี รู้จักดูแลตนเองให้เข้มแข็งสมบูรณ์ ทั้งกายวาจา และใจ
  • มีทักษะการเป็นผู้นำในการพัฒนาสังคม ในระดับประเทศในอนาคต

[แก้] หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรขึ้นใช้เป็นการเฉพาะกับนักเรียนของโรงเรียน มีการปรับปรุงหลักสูตรทุก 3 ปี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนรอบด้าน ทั้งพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา รายวิชาพื้นฐานครอบคลุมหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมให้หลากหลาย สอดคล้องกับศักยภาพ ความถนัดและความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคล มีการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน เพื่อมุ่งสร้างความเป็นพหุปัญญา สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ที่กว้างไกลของนักเรียน และ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งความรู้ ความคิด ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม

ปัจจุบันโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ใช้หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2552 ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 3 โดยปรับปรุงหลักสูตรให้มีความใกล้เคียงเนื้อหาของสอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้เพิ่มรายวิชาทักษะชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในหอพักและทำให้นักเรียนเติบโตเป็นบุคลากรที่มีความสามารถและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และเพิ่มรายวิชาสัมมนาวิทยาศาสตร์ รายวิชาธรรมชาติและการสืบเสาะอย่างวิทยาศาสตร์ (Nature of Science and Scientific Inquiry) และรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนากระบวนการคิด และกระบวนการสืบเสาะค้นหาองค์ความรู้ หาคำตอบของข้อสงสัย ของปัญหาที่อยากรู้ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Methods) เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักประดิษฐ์คิดค้นใช้ในกระบวนการทำงานของตนเอง รวมถึงการพัฒนาทักษะในการทำวิจัย (โครงงาน) อย่างครบวงจร และปลูกฝังจิตวิญญาณและความรู้ความสามารถในการเป็นนักคิดค้น นักวิจัยในภายภาคหน้า หลักสูตรนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางภาษาต่างประเทศ คือภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆอีก 5 ภาษา คือ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษารัสเซีย เพื่อสร้างความเป็นสากลให้เกิดขึ้นในบุคลากรของชาติในอนาคตและเพื่อยกระดับความเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก (World Class)

[แก้] อาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม บนพื้นที่ 25 ไร่ของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ภายในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ยังมีศูนย์วิทยบริการที่ทันสมัยมาก ศูนย์กีฬามาตรฐาน 4 ชั้น และห้องฉายภาพยนตร์ดาราศาสตร์เสมือนจริง 3 มิติ ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวในประเทศไทยที่มีห้องฉายภาพยนตร์ดาราศาสตร์เสมือนจริง 3 มิติ[2]

ศูนย์วิทยบริการ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ศูนย์วิทยบริการและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นแหล่งวิทยาการที่มีสื่อความรู้หลากหลายรูปแบบครบถ้วนทุกสาขาวิชา จัดบริการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ การค้นคว้าวิจัย จนถึงเวลา 22.00 น. ทุกวันในช่วงเปิดภาคเรียน ภายในมีให้บริหารหนังสือและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้โรงเรียนได้เดินสายสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงทุกอาคารภายในโรงเรียน มีจุดเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์มากกว่า 400 จุด นอกจากนั้นยังได้ติดตั้งระบบสัญญาณเครือข่ายไร้สาย (wireless) ทั่วบริเวณโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการศึกษาเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นักเรียนและครูอาจารย์สามารถใช้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนติดต่อสื่อสาร และสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีให้บริการในศูนย์วิทยบริการ ห้องเรียน และห้องทำงาน หรือสามารถเข้าถึงได้จากหอพัก ห้องอาหาร สนามกีฬา หรือที่อื่น ๆ ที่สัญญาณเครือข่ายกระจายไปถึง

ห้องฉายภาพเสมือนจริงดาราศาสตร์ 3 มิติ จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ The Centre for Astrophysics & Supercomputing, Swinburne University of Technology, Australia เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนดาราศาสตร์ที่จะช่วยจุดประกายเด็กและเยาวชน ให้เกิดความรักและสนใจในดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ช่วยในการเสริมสร้างจินตนาการให้สนใจศึกษาและค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งภาพยนตร์ดาราศาสตร์ 3 มิตินี้โรงเรียนอนุญาตให้ชุมชนภายนอกสามารถเข้ามาใช้ได้ โดยต้องนัดหมายล่วงหน้า หรือใช้บริการในวัน MWIT Science Fair ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีความยาวตั้งแต่ 9-19 นาที

ห้องปฏิบัติการ โรงเรียนมีห้องปฏิบัติการเฉพาะสาขาวิชาที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การค้นคว้า ทดลอง และฝึกปฏิบัติต่าง ๆ อันได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการภาษา ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการเขียนแบบ ห้องปฏิบัติการช่างกลโรงงาน ห้องปฏิบัติการเครื่องปั้นดินเผา และห้องปฏิบัติการทัศนศิลป์ เป็นต้น ในส่วนของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นั้นได้แบ่งออกเป็น 3 สาขาคือ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา นักเรียนที่ต้องการใช้บริการสามารถขอใช้บริการทั้งในและนอกเวลาได้ที่อาจารย์ของแต่ละสาขาวิชา

ศูนย์กีฬาและสนามกีฬากลางแจ้ง โรงเรียนมีสถานที่สำหรับเล่นกีฬาและออกกำลังกายหลากหลายประเภท ได้แก่ ฟุตบอล แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส สควอช บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เซปัคตะกร้อ ว่ายน้ำ ลีลาศ แอโรบิค ศิลปะการป้องกันตัว หรือออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ได้มาตรฐาน ศูนย์กีฬาและสนามกีฬากลางแจ้งเปิดให้บริการ ถึงเวลา 20.00 น. ทุกวัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน ครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างเต็ม

[แก้] กิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมอื่นๆในโรงเรียน

  • MWIT Sports Day: ทุกวันอังคาร โรงเรียนจะสนับสนุนให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย รวมทั้งยังมีการตรวจสุขภาพประจำปี การทดสอบสมรรถภาพ และโครงการ MWIT วัยใส ใส่ใจสุขภาพ เพื่อให้นักเรียนได้รับทราบถึงสุขภาพของตนเองและพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
  • คลินิกวิชาการ: จัดทุกวันจันทร์-ศุกร์ที่ศูนย์วิทยบริการ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้กับอาจารย์จากสาขาวิชาต่าง ๆ นอกเวลาเรียน
  • กิจกรรมฝึกงานในศูนย์วิจัยในช่วงปิดภาคเรียน: ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกงานและเรียนรู้กับนักวิจัยในสถานที่จริง
  • กิจกรรมแลกเปลี่ยนกับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์และโรงเรียนเครือข่ายในต่างประเทศ: สร้างประสบการณ์ในการใช้ภาษาต่างประเทศและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างแดน
  • กิจกรรม MWIT Science Fair: นิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานที่ตนเองทำต่อสาธารณชน
  • ค่าย Pre-MWIT/ค่าย @MWIT: ค่ายสำหรับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์รอบแรก มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และให้นักเรียนได้มาพบประสบการณ์จริงในโรงเรียน
  • กิจกรรมค่ายวิชาการ: ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน มีการทำ Miniproject และพักอาศัยในค่ายพักแรมตามธรรมชาติ
  • กิจกรรมค่ายบำเพ็ญประโยชน์: ส่งเสริมให้นักเรียนได้ช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดโอกาสเพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณในการพัฒนาประเทศ
  • กิจกรรมค่ายปฏิบัติธรรม: ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมในจิตใจของนักเรียน ให้นักเรียนได้ดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาและเป็นบุคลากรที่มีคุณธรรม นั่นคือนอกจากเก่งแล้วต้องดีด้วย
  • กิจกรรมบรรยายพิเศษ: โรงเรียนได้เชิญบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านต่างๆมาบรรยายเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเติมองค์ความรู้ใหม่ๆให้นักเรียนและให้ได้แนวคิดใหม่ๆในการทำโครงงานหรืองานวิจัยในอนาคต
  • กิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่: ให้นักเรียนได้ศึกษาดูงานตามสถานที่และศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม
  • กิจกรรมชุมนุม: มีชุมนุมกว่า 100 ชุมนุมให้นักเรียนได้เลือกเข้าตามความสนใจ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศิลปะ พลานามัย และอื่นๆ
  • กิจกรรมการบรรยายแนะแนวศึกษาต่อ: ให้ข้อมูลในการศึกษาต่อแก่นักเรียนโดยเชิญบุคลากรจากมหาวิทยาลัยต่างๆมาบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียน

และกิจกรรมอื่นๆอีกหลายรายการ

[แก้] ความหมายของชื่อโรงเรียน

  • มหิดลวิทยานุสรณ์ อ่านว่า มะ-หิ-ดน-วิด-ทะ-ยา-นุ-สอน
  • มหิดลวิทยานุสรณ์ หมายถึง โรงเรียนที่กอปรด้วยวิทยาการความรู้ทั้งมวลดำรงอยู่ด้วยความรำลึกถึงพระมหา กรุณาธิคุณอันล้นพ้นแห่งสมเด็จพระมหิดลธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

[แก้] สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

  • สัญลักษณ์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรตอนบนว่า "ปญญาย ปริสุชฌติ คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา" ตรงกลางวงกลมประกอบด้วยอักษร "ม" อยู่ภายใต้จักรตรี และพระมหาพิชัยมงกุฏและด้านล่างภายใต้วงกลมมีข้อความว่า "โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์" ตัวอักษร ม หมายถึง พระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย โดยทางโณงเรียนได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
  • หลวงพ่อวัดไร่ขิง ประดิษฐานที่หอพระ พระพุทธรูปประจำโรงเรียน
  • มาร์ชมหิดลวิทยานุสรณ์ คือเพลงประจำโรงเรียน
  • สีน้ำเงิน-เหลือง คือสีประจำโรงเรียน โดยสีน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ และสีเหลืองคือนักวิทยาศาสตร์
  • ต้นศรีตรัง (Jacaranda filicifolia (Anderson) D.Don) คือต้นไม้ประจำโรงเรียน

[แก้] เหตุการณ์สำคัญ

[แก้] ระดับชั้นที่เปิดสอน

ปัจจุบันโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 ม.5 และ ม.6) สายวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์

[แก้] สาขาวิชาและฝ่ายต่างๆ

[แก้] ภาพ

[แก้] คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน

คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มาจากการคัดเลือกเช่นเดียวกับองค์การมหาชนอื่น ๆ วาระหนึ่งยาว 4 ปี กรรมการแต่ละคนสามารถดำรงตำแหน่งได้มากที่สุด 2 วาระ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ชุดปัจจุบัน มีรายนามดังนี้

  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    • ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์
    • ศ.เกียรติคุณ นพ.ดร. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
    • ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์
    • ศ.ดร. ประสาท สืบค้า

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ http://www.mwit.ac.th/content_school/history.html ประวัติโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  2. ^ http://www.mwit.ac.th/~astronomy/ MWIT astronomy

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


School.svg โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นบทความเกี่ยวกับ สถานศึกษา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ
ภาษาอื่น