มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ตราประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา.jpg
“ สร้างคนดี คนเก่ง สู้งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (อังกฤษ: Rajamangala University of Technology Lanna) เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐ ได้รับการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขต ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยชื่อ "ราชมงคล" นั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2533 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระมหาพิชัยมงกุฎ" และ "พระราชลัญจกร" ประจำพระองค์ ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยมีการเรียนการสอนครอบคลุมสาขาวิชาในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรศาสตร์ บริหารธุรกิจ ศิลปศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมศาสตร์ มีนักศึกษาศึกษาอยู่ในคณะและวิทยาลัยต่าง ๆ รวมประมาณ 22,725 คน[1]

ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จะได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อคณาจารย์ นักศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจภาวะการมีงานทำของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา 2550 พบว่าบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีงานทำถึงร้อยละ 83.73 ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง[2]


เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา” และโอนวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรกรรม และวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดกรมอาชีวศึกษาเข้ามาสังกัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ราชมงคล” เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 (วันราชมงคล) พร้อมทั้งมีพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2532 ทำให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล"

ในระยะต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาต้องเป็นนิติบุคคล[3] ทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเริ่มมีแนวคิดในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยนิติบุคคล

กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548[4] ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผลให้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเกิดขึ้นใหม่ จำนวน 9 แห่ง เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประกอบด้วย วิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ วิทยาเขตน่าน วิทยาเขตตาก วิทยาเขตลำปาง วิทยาเขตพิษณุโลก วิทยาเขตเชียงราย และสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา แบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 2 กลุ่มภารกิจ คือ กลุ่มที่ 1 ดำเนินการตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยทางด้านการจัดการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วยงาน ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ และโครงการพิเศษหลักสูตรนานาชาติ (IBM)

กลุ่มที่ 2 ดำเนินการสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักงานอธิการบดี สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน สถาบันวิจัยและพัฒนา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

[แก้] รอยพระบาทยาตรา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในจังหวัดต่างๆ

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2530 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการเรียนการสอนของวิทยาเขตภาคพายัพ (เจ็ดยอด) จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการส่วนพระองค์

เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551

ครั้งที่ 2 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 เพื่อทรงทอดพระเนตรนิทรรศการภารกิจความก้าวหน้างานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีดีเด่น และภารกิจเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพันธุ์พืชต่างๆ ในแปลงวิจัยพืชศาสตร์ นิทรรศการการผลิตและการใช้ประโยชน์จากฟักทอง

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน จังหวัดน่าน ทรงเปิดศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงเปิดการประชุมวิชาการด้านสัตวศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนของจังหวัดน่าน

ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นครั้งที่ 4 ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อาทิ ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ โครงการฟักทองพันธุ์พระราชทาน "โอโตะ" ศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมทร.ล้านนา โครงการสาธิตกระบวนการผลิตแจกันศิลปกรรมเฉลิมพระเกียรติ และโครงการ Digitized Thailand Project

[แก้] สถานที่ตั้ง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีสำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่เลขที่ 128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานอธิการบดี ณ พื้นที่ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

[แก้] จุดเด่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นผู้นำการจัดการศึกษาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพกำลังคนสู่มาตรฐานสากลบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงการแข่งขันสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ สู้งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี โดยเปิดการเรียนการสอนใน 4 ระดับ มีหลักสูตรทั้งสิ้น 103 หลักสูตร แบ่งเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 29 หลักสูตร ปริญญาตรี 70 หลักสูตร และปริญญาโท 2 หลักสูตร[5]

[แก้] เอกลักษณ์ราชมงคลล้านนา

[แก้] ตราสัญลักษณ์

ราชมงคลสัญลักษณ์[6] เป็นตราวงกลมภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายในวงกลมประกอบด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ หมายถึง ปัญญาอันเป็นแสงสว่างในโลก ภายในดอกบัวบานเป็น รูปพระราชลัญจกร อันเป็นตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานนามให้ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล" ที่ปลายทั้งสองข้างประดับด้วยดอกไม้ทิพย์ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง แจ่มใส เบิกบาน

[แก้] สีประจำมหาวิทยาลัย

สีน้ำตาลทอง คือ สีกลางที่เกิดจากการรวมกันของสี มีคุณสมบัติเป็นกลาง สามารถอยู่รวมได้กับทุกสี และทำให้สีนั้นโดดเด่น สีน้ำตาลทอง จึงมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน ดังเช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม พร้อมที่จะเป็นฐานในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้าเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้สืบไป

[แก้] ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ต้นกาสะลอง (หรือต้นปีบ) เป็นต้นไม้ที่รู้จักกันแพร่หลายในถิ่นล้านนา เป็นไม้มงคลในความเชื่อของชาวล้านนา หากสถานที่แห่งใดปลูกต้นปีบไว้จะนำความเจริญรุ่งเรือง และเกียรติคุณมาสู่สถานที่นั้น

ดอกกาสะลอง เป็นดอกไม้สีขาว มีกลิ่นหอม ลำต้นแข็งแรงสูงโปร่ง มีช่อดอกโน้มลงต่ำ[7] แสดงออกถึงความบริสุทธิ์ คุณงามความดี กลิ่นหอมเปรียบประดุจชื่อเสียงและเกียรติคุณ ช่อดอกที่โน้มลงมาเปรียบเสมือนคุณลักษณะของบัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่จะไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนต่อไป

[แก้] หน่วยงานในมหาวิทยาลัย และคณะที่เปิดสอน

[แก้] เขตพื้นที่

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีเขตพื้นที่ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่[8]

[แก้] ภาคพายัพเชียงใหม่

ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่จัดการเรียนการสอนและบริการวิชาการ 4 แห่ง ได้แก่

ศาลาราชมงคล
  • พื้นที่เจ็ดลิน ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณ "เวียงเจ็ดลิน" บนเนื้อที่ 115 ไร่ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งชั่วคราวของสำนักงานอธิการบดี)
  • พื้นที่เจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (ข้างวัดเจ็ดยอด) มีเนื้อที่ 10 ไร่ เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนด้านศิลปกรรม ทัศนศิลป์
  • พื้นที่ดอยสะเก็ด ตั้งอยู่บริเวณโครงการก่อสร้างโรงเรียนประจำพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ (เดิม) ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน และสถาบันวิจัยและพัฒนา
  • พื้นที่จอมทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ 590 ไร่ จัดการเรียนการสอนด้านระบบสารสนเทศและคอมพิวเตอร์

[แก้] ตาก

เดิมคือ โรงเรียนช่างไม้ตาก เปิดทำการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2481 ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ปัจจุบันเปิดทำการสอนใน 2 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรี

[แก้] น่าน

อาคารอำนวยการ มทร.ล้านนา น่าน

เดิมคือ โรงเรียนเกษตรกรรมน่าน เปิดทำการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2481 ตั้งอยู่ที่ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน จัดการเรียนการสอนเน้นด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก

[แก้] ลำปาง

เดิมคือ โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง ตั้งอยู่ที่ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง บนเนื้อที่ 1,381 ไร่ (ใช้ร่วมกับสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง) จัดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรม เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ เกษตรแม่วัง

[แก้] เชียงราย

ตั้งอยู่ที่เขตนิคมแม่ลาว ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

[แก้] พิษณุโลก

เดิมคือ โรงเรียนเกษตรกรรมพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2496 ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก บนเนื้อที่ 572 ไร่ จัดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก เป็นที่รู้จักในนาม เกษตรบ้านกร่าง[9]

[แก้] คณะ วิทยาลัย

[แก้] หน่วยงานสนับสนุนการจัดการศึกษา

  • กองคลัง
  • กองกลาง
  • กองนโยบายและแผน
  • กองประชาสัมพันธ์
  • กองพัฒนาอาคารสถานที่
  • สำนักงานบริหารทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์
  • สำนักงานตรวจสอบภายใน

[10]

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร

[แก้] การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย

การเดินทางมาสู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (สำนักงานอธิการบดี) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะ สถาบัน วิทยาลัย และส่วนราชการต่างๆ ในสังกัดมหาวิทยาลัยฯ

หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ตามถนนเชียงใหม่-ลำปาง จนสิ้นสุดที่ทางแยกรินคำ จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายตามถนนห้วยแก้ว ประมาณ 3 กิโลเมตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตั้งอยู่ขวามือ ตรงข้ามกับสวนรุกขชาติห้วยแก้ว เยื้องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็กน้อย

สำหรับการเดินทางภายในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางได้ด้วยรถสี่ล้อแดง (รถสองแถว) รถแท๊กซี่ หรือรถโดยสารประจำทาง (อัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย) ดังนี้

รถสองแถว หรือที่รู้จักกันในชื่อ "รถแดง"
  • สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) เดินทางได้โดยรถสองแถว
  • สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (อาเขต) เดินทางได้โดยรถประจำทางสาย 11 (อาเขต-ไนท์ซาฟารี) ขึ้นรถที่สถานีขนส่งอาเขต-ลงที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ จากนั้นต่อสาย 12 (เวียงกุมกาม-สวนสัตว์เชียงใหม่) ขึ้นรถที่ข่วงประตูท่าแพ-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • สถานีรถไฟเชียงใหม่ โดยรถประจำทางสาย 13 (สถานีรถไฟ-ไนท์ซาฟารี) ขึ้นที่สถานีรถไฟเชียงใหม่-ลงที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ จากนั้นต่อสาย 12 (เวียงกุมกาม-สวนสัตว์) ขึ้นที่ข่วงประตูท่าแพ-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ โดยรถประจำทางสาย 11 (ไนท์ซาฟารี-อาเขต) ขึ้นที่ท่าอากาศยานฯ-ลงที่ตลาดสมเพชร จากนั้นต่อสาย 12 (เวียงกุมกาม-สวนสัตว์เชียงใหม่) ขึ้นที่ตลาดสมเพชร-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

[แก้] รายนามอธิการบดี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552[11]
15 สิงหาคม พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน[12]

[แก้] บุคคลที่มีชื่อเสียง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ดูบทความหลักที่ รายนามบุคคลจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

  1. นายจรัล มโนเพ็ชร นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม รางวัลพระสุวรรณหงส์ ศิลปินล้านนา (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  2. นายนพพล พิทักษ์โล่พานิช ดารานักแสดง ช่อง 7 สี (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  3. นายสมบัษร ถิระสาโรจน์ (ตือ) นักจัดงานแฟชั่น บันเทิงชั้นนำของเมืองไทย[13][14] (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  4. นายสุรพล เกียรติไชยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  5. นายพรชัย อรรถปรียางกูร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  6. นายถาวร เกียรติไชยากร สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  7. นายประศาสตร์ ทองปากน้ำ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย (วิทยาเขตพิษณุโลก)
  8. นายรุ่ง จันตาบุญ สถาปนิกผู้ออกแบบโรงแรมแมนดารินดาราเทวี และหอคำหลวง มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  9. นางสาวประดับเดือน ณ ลำพูน รองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวด MISS THAILAND WORLD 2004 (วิทยาเขตภาคพายัพ)

[แก้] ผลงานดีเด่น

  • จ้าวเหรียญทอง กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 3 สมัยซ้อน (2549 - 2551)
    มทร.ล้านนาครองถ้วยพระราชทานฯ 3 ปีซ้อน
  • บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีงานทำร้อยละ 83 มากเป็นอันดับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง
  • การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อยู่ในอันดับที่ 2,123 ของโลก อันดับที่ 55 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 28 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย [15] [16]

[แก้] ผลงานวิจัยที่โดดเด่น

[แก้] การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรี ดังนี้

  • ระบบ Admission กลาง โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-Net) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • ระบบโควต้า 17 จังหวัดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่า ของสถานศึกษาในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยจะรับสมัครในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม
  • ระบบโควต้าโครงการพิเศษ มหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการรับสมัครนักเรียนที่มีคุณสมบัติพิเศษเข้าศึกษาต่อเป็นโครงการพิเศษ อาทิเช่น โครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านกีฬา โครงการส่งเสริมเยาวชนด้านคุณธรรมจริยธรรม
  • ระบบรับตรง มหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการรับสมัครบุคคลที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฯ ในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ และดำเนินการสอบในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยผู้สมัครสามารถเลือกที่จะเข้าศึกษาในเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ทั้ง 6 แห่ง

[แก้] กิจกรรมนักศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นสถาบันที่เน้นการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ สู้งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี "ดีนำเก่ง" โดยมีการจัดกิจกรรมนักศึกษาครบทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านกีฬาและส่งเสริมสุขภาพ ด้านบำเพ็ญประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านนันทนาการ และด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ

ค่ายราชมงคลล้านนาอาสาร่วมใจ

ค่ายราชมงคลล้านนาอาสาร่วมใจ เป็นโครงการค่ายอาสาพัฒนา ที่องค์การนักศึกษาร่วมกับสโมสรนักศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละจังหวัด เพื่อให้นักศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ได้มีโอกาส เข้าร่วมกิจกรรมกับองค์การนักศึกษา โดยในปีแรก พ.ศ. 2548 จัดโครงการสร้างอาคารเรียนที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านสพผาหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาปี พ.ศ. 2549 จัดที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2552 ออกค่ายสร้างอาคารเรียนและระบบประปาหมู่บ้าน ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิราคานธี อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

สัมมนาองค์การนักศึกษา เป็นกิจกรรมเชิงวิชาการ จัดสัมมนาคณะกรรมการองค์การนักศึกษา เพื่อพัฒนาผู้นำนักศึกษาให้มีความพร้อมในการบริหารงาน ให้นักศึกษาซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสโมสรนักศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่ เข้าใจถึงระเบียบหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานสโมสรนักศึกษา

ราชมงคลล้านนา สืบสานวัฒนธรรม เป็นกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่จัดเป็นประจำทุกปีการศึกษา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างนักศึกษาทั้ง 6 เขตพื้นที่ โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ในปี พ.ศ. 2549 ที่จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2550 ที่จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2551 ที่จังหวัดเชียงราย และ พ.ศ. 2552 ที่จังหวัดพิษณุโลก

งานสืบสานวัฒนธรรม

กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นกีฬาที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาเขตพื้นที่ต่างๆ และเพื่อคัดเลือกนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในนามของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพของแต่ละเขตพื้นที่

กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย เป็นการแข่งขันกีฬาระดับประเทศของนักศึกษาจากทั้ง 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับเหรียญทองมากที่สุดติดต่อกันถึง 3 ปี (2550-2552)


[แก้] หน่วยงานของนักศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้กำหนดให้มีองค์กรของนักศึกษาในระดับต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงาน และการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา[20] ได้แก่

  • หน่วยดำเนินกิจกรรม
    • องค์การนักศึกษา เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย (ทั้ง 6 เขตพื้นที่) มีนายกสโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ จำนวน 6 คน เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกองค์การนักศึกษา เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • สโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับเขตพื้นที่ มีนายกสโมสรนักศึกษาคณะในเขตพื้นที่ และผู้แทนนักศึกษา เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • สโมสรนักศึกษาคณะ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับคณะในแต่ละเขตพื้นที่ มีผู้แทนนักศึกษาในคณะ เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาคณะ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • ชมรม เป็นหน่วยดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา โดยมีประธานชมรม เป็นผู้อำนวยการดำเนินงาน
  • หน่วยตรวจสอบ
    • สภานักศึกษามหาวิทยาลัย และสภานักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นตัวแทนรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของนักศึกษา ควบคุม ตรวจสอบการบริหารงานและการดำเนินงานขององค์กรนักศึกษา (องค์การนักศึกษา สโมสรนักศึกษา และชมรม) เป็นศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา

[แก้] พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ศาสตราจารย์สวาสดิ์ ไชยคุณา อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ผู้บุกเบิกสถาบันฯ อย่างแท้จริง ได้กล่าวถึงการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของสถาบันไว้ว่า

Cquote1.svg

ล้นเกล้าฯ พระปิยมหาราช ปลดปล่อยทาสให้เป็นไทยฉันใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงปลดปล่อยนักเรียนอาชีวศึกษาจากที่ถูกสังคมมองว่าเป็นเป็นนักเรียนชั้นสองให้เป็นไทฉันนั้น

Cquote2.svg
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

นับจากปีแรกที่ได้เริ่มสถาปนาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 และได้ดำเนินการเรียนการสอนผ่านพ้นอุปสรรคปัญหามานานานับประการเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงวันแห่งความสำเร็จวันแห่งภาคภูมิใจที่รอคอยก็มาถึง อีกหกปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระมหากรุณาธิการอย่างสูงสูด เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษารุ่นแรก

การที่บัณฑิตที่มาจากนักเรียนอาชีวศึกษาชั้นสอง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด มีโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกับพระหัตถ์พระองค์เอง ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร นำความปลื้มปิติยินดีมาสู่เหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา ผู้ปกครองบัณฑิต เป็นล้นพ้น และอีกสามครั้งคือ ในปี พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2531 เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสถาบันให้ใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลแล้วได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นครั้งแรกด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 2533 รวมแล้วได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยพระองค์เองถึง 4 ครั้ง และตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ก็ได้ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแด่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง เป็นประจำทุกปี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในวันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตความตอนหนึ่งว่า[21]

Cquote1.svg

ขอให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง ในอันที่จะใช้สื่อเทคโนโลยีให้เหมาะสม และให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ เพื่อให้บังเกิดผลเป็นประโยชน์เป็นความเจริญแก่ตนเองและส่วนรวมพร้อมทุกส่วน

Cquote2.svg

[แก้] เกร็ดข้อมูลทั่วไป

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เพื่อนสนิท (เนื้อหาที่กล่าวถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกือบทั้งหมด)

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ สถิติจำนวนนักศึกษา ประจำภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2552
  2. ^ ภาวะการมีงานทำ ปีการศึกษา 2550 ของ มทร.
  3. ^ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอน 74ก ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2542
  4. ^ .พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอน 6ก ลงวันที่ 18 มกราคม 2548
  5. ^ หลักสูตรที่เปิดสอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  6. ^ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ว่าด้วยตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. 2548
  7. ^ http://www.saunmitpranee.com/catalog.php?category=38
  8. ^ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. 2549
  9. ^ งานบ้านกร่างคืนรัง 55 ปี
  10. ^ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. 2550
  11. ^ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 ราย
  12. ^ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  13. ^ http://women.sanook.com/work/worklife/life_06311.php
  14. ^ ชีวิตมีแต่สุขของ ตือ-สมบัษร ใน “สุริวิภา”
  15. ^ Webometrice
  16. ^ http://center.rmutl.ac.th/council_rmutl/Report19.pdf
  17. ^ http://center.rmutl.ac.th/council_rmutl/Report20.pdf
  18. ^ รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 20
  19. ^ "พันธุ์ข้าวลูกผสม"
  20. ^ http://sormutl.rmutl.ac.th/rmutl.pdf
  21. ^ พระราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิต วันที่ 15 ธันวาคม 2552

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
คณะ

บริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรวิศวกรรมศาสตร์ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ

ตราประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา.jpg
เขตพื้นที่

ส่วนกลางตากน่านลำปางเชียงรายภาคพายัพเชียงใหม่พิษณุโลก

อื่นๆ

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตรสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนสถาบันวิจัยและพัฒนา