มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (อังกฤษ: Sukhothai Thammathirat Open University) เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแบบไม่จำกัดรับ (มหาวิทยาลัยเปิด) หนึ่งในสองแห่งของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยเปิด โดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล แห่งเดียวในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชน มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ดำเนินการดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ชื่อ "มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช" ตามพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์ นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ กรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พุทธศักราช 2521 มหาวิทยาลัยจึงกำหนดวันที่ 5 กันยายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย [2]

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีแบบมหาวิทยาลัยเปิด โดย รับนักศึกษาไม่จำกัดจำนวน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดการศึกษาถึงระดับดุษฎีบัณฑิตในบางสาขาวิชา[3] โดยมีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาเหมือนมหาวิทยาลัยปิดทั่วไป[4]

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไม่มีชั้นเรียนตามปรกติเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป โดยดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจากเอกสารชุดวิชาจากสื่อสารสนเทศต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดไว้ให้นักศึกษา เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

ในอดีต ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจนถึงปัจจุบัน

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีแบบ "มหาวิทยาลัยเปิด" กล่าวคือรับนักศึกษาไม่จำกัดจำนวน โดยมหาวิทยาลัยไม่มีชั้นเรียนตามปรกติเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ซึ่งดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล จัดการเรียนการเรียนการสอนโดยเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจากเอกสารชุดวิชาจากสื่อสารสนเทศต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดไว้ให้นักศึกษา เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

[แก้] แนวคิดของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเปิดในประเทศไทย

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเปิด เป็นความพยายามของรัฐบาลในการที่จะขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนให้มากที่สุด แนวคิดนี้ได้เคยนำมาใช้แล้วในประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ได้จัดการศึกษาระบบ "ตลาดวิชา" โดยไม่จำกัดรับนักศึกษา เป็นครั้งแรก แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบมหาวิทยาลัยปิด (จำกัดการรับนักศึกษา) เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อมาปี พ.ศ. 2514 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงจัดการศึกษาโดยอาศัยชั้นเรียนเป็นหลัก ทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงประสบปัญหาในด้านอาคารสถานที่เรียนเป็นอันมาก ทำให้ไม่สามารถขยายให้เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุกปีได้ ทางรัฐบาลเล็งเห็นว่าหากรัฐบาลให้การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดการศึกษาให้เพียงพอกับความต้องการของผู้เรียนแล้วจะทำให้ภาครัฐต้องรับผิดชอบภาระด้านงบประมาณมากขึ้นอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แก่ประชาชน ให้กว้างขวางที่สุด โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชขึ้น โดยดำเนินการในระบบมหาวิทยาลัยเปิด จัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด โดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล แห่งเดียวในประเทศไทย[5]

[แก้] การสถาปนามหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตามพระนามทรงกรมของ "สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" (รัชกาลที่ ๗) โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรับสร้อยพระนามทรงกรมของรัชกาลที่ ๗ เล็กน้อย (ภาพ:หนังสือแจ้งพระราชทานนามมหาวิทยาลัยฯ ยังทบวงมหาวิทยาลัย)

มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช" ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์ นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๒๑[6] มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ วันที่ 5 กันยายน ของทุกปีเป็น วันสถาปนามหาวิทยาลัย

[แก้] อธิการบดีคนแรก

ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดแรก[7] รวมทั้งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีคนแรก

[แก้] การเปิดดำเนินการการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

สาขาวิชาที่เปิดสอน 3 สาขาวิชาแรกของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คือ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ (ภาพ:ห้องประชุมอาคารวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)

หลังจากได้ใช้เวลาเตรียมการด้านต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมที่จะเปิดสอนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2523[8] สาขาวิชาที่เปิดสอน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ[9] โดยมี ผู้สนใจลงทะเบียนเรียน จำนวน 82,037 คน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 มหาวิทยาลัยได้ขยายการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นในสาขาวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ ปีการศึกษา 2526 มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนสาขาวิชารัฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2527 เปิดสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ในปีการศึกษา 2538 มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในปี พ.ศ. 2544 ได้เปิดสอนสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เพิ่มขึ้นอีกสาขาวิชาหนึ่ง รวมเป็น 12 สาขาวิชา

[แก้] ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (รุ่นแรก)

ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงมีอำนาจให้ปริญญาบัตร และประกาศนียบัตรที่มีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่น ๆ ทุกประการ

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก ณ อาคารใหม่สวนอัมพร เมื่อวันที่ 26 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2527 โดยเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรุ่นแรก (ประจำปีการศึกษา 2525) ซึ่งในปีนั้นมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 9,594 คน จาก 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ [10]

ในอดีต ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนถึงปัจจุบัน นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อย่างหาที่สุดมิได้

[แก้] สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

[แก้] ตราประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์เรียงกันบนบันไดแก้ว ได้แก่ "พระแสงศรพรหมาศาสตร์" "พระแสงอัคนิวาต" "และพระแสงศรพลายวาต" ประดิษฐานอยู่ภายใต้ พระมหามงกุฏ นำมาประกอบกับส่วนยอดของ "เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย และมีข้อความ "มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช" อยู่ในแถบริ้วเบื้องล่าง เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย[11]

[แก้] เสื้อครุยของมหาวิทยาลัย

เสื้อครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเป็นเสื้อคลุม ผ้าโปร่งสีขาว ผ่าอกตลอดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน มีแถบสีทองทาบทับด้วยแถบทองบริเวณอกเสื้อทั้งสองข้างมีวงกลมสีทอง กลางวงมีตรามหาวิทยาลัย ปริญญาตรี มี 1 วง ปริญญาโทมี 2 วง ปริญญาเอก มี 3 วง[12]

[แก้] ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปลูกต้นปาริชาตต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

มหาวิทยาลัยกำหนดให้ ต้นปาริชาตหรือต้นทองหลางลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีใบเป็นสีเขียวและเส้นใบเป็นสีทอง ตรงกับสีเขียว-ทองซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย

[แก้] สีประจำมหาวิทยาลัย

"สีเขียว - ทอง" เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย

  • ██ สีทอง เป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล

[แก้] รายนามอธิการบดี

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีอธิการบดีมาแล้ว 5 คน ดังรายนามต่อไปนี้


รายนามอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

7 มกราคม พ.ศ. 2522 - 7 มกราคม พ.ศ. 2526 (วาระที่ 1)
7 มกราคม พ.ศ. 2526 - 6 มกราคม พ.ศ. 2530 (วาระที่ 2)
7 มกราคม พ.ศ. 2530 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 (วาระที่ 3)

[1]

[2]
[3]

2. ศาสตราจารย์ ดร.เอี่ยม ฉายางาม

19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534(วาระที่ 1)
20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538(วาระที่ 2)
20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2543(วาระที่ 3)

[4]
[5]
[6]

3. รองศาสตราจารย์ ดร.ทองอินทร์ วงศ์โสธร

22 มีนาคม พ.ศ. 2543 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547

[7]
4. ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา เวสารัชช์

1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551

[8]

5. รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์

30 มิถุนายน พ.ศ. 2551 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

[9]

[แก้] อาคารที่สำคัญในมหาวิทยาลัย

อาคารทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในมหาวิทยาลัย
  • อาคารพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นอาคารสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งได้ประยุกต์สถาปัตยกรรมไทยสมัยสุโขทัยมาใช้ในการออกแบบก่อสร้าง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบ การจัดวางอาคารนั้นตั้งอยู่กึ่งกลางของอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก จัดเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในมหาวิทยาลัย[13]
  • หอพระ ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว ตัวอาคารหอพระออกแบบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ โดยตัวอาคารมีเอกลักษณ์สะท้อนรูปลักษณะศิลปสุโขทัย อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย ตัวอาคารสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2551 การจัดวางอาคารนั้นตั้งอยู่บริเวณมุมด้านเหนือของอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษกใกล้กับถนนหลักภายในมหาวิทยาลัย ตัวอาคารยกพื้นสูงจากระดับปรกติ จึงทำให้มีความโดดเด่นสะดุดตา[15]

[แก้] สาขาวิชาที่เปิดสอน

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดทำการเรียนการสอนทั้งในระดับประกาศนียบัตร, ปริญญาบัณฑิต, ประกาศนียบัตรบัณฑิต, และปริญญามหาบัณฑิต กระจายไปตามสาขาวิชาต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีสาขาวิชาทั้งหมด 13 สาขาวิชาดังนี้

[แก้] ศูนย์วิทยพัฒนา

อาคารวิชาการ 3 (ตึกด้านขวามือ) สถานที่ตั้งที่ทำการสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ศูนย์วิทยพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัย โดยเริ่มเปิดศูนย์วิทยพัฒนามหาวิทยาลัยฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2534

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีศูนย์วิทยพัฒนาทั้งสิ้น 10 ศูนย์ กระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ครบทุกภาคของประเทศไทย ดังนี้[16]


[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เล่ม ๑๒๕, ตอนพิเศษ ๑๒๓ ง, ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑๗
  2. ^ ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  3. ^ การรับสมัครนักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  4. ^ ลักษณะการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาในระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  5. ^ ความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยตลาดวิชากับมหาวิทยาลัยเปิด เว็บไซด์วิชาการ.คอม
  6. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๒๑, เล่ม ๙๕, ตอน ๙๙, ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑, หน้า ๑
  7. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เล่ม ๙๕, ตอน ๑๒๕, ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑, ฉบับพิเศษ หน้า ๑
  8. ^ จดหมายเหตุบอกเล่า เรื่อง การเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก, โครงการเผยแพร่สารสนเทศจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  9. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การจัดตั้งสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เล่ม ๙๖, ตอน ๒๘, ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๑๑๗
  10. ^ จดหมายเหตุบอกเล่า ตอน พิธีพระราชทานปริญญาบัตร, โครงการเผยแพร่สารสนเทศจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  11. ^ นายพิชัย วาศนาส่ง เป็นผู้ออกแบบตราประจำมหาวิทยาลัย
  12. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๒๔, เล่ม ๙๘, ตอน ๑๘๐, ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔, หน้า ๗
  13. ^ ทำเนียบศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรม) พ.ศ. ๒๕๓๗
  14. ^ สถานที่พระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  15. ^ 30 ปี แห่งการสถาปนา มสธ. สร้างหอพระ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปี, ไทยพีอาร์ ดอตเน็ต, 2008-07-3. เรียกข้อมูลวันที่ 2008-09-20
  16. ^ สำนักวิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°54′36″N 100°32′13″E / 13.909876°N 100.537037°E / 13.909876; 100.537037

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สาขาวิชา

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี · ศิลปศาสตร์ · ศึกษาศาสตร์ · วิทยาการจัดการ · นิติศาสตร์ · เศรษฐศาสตร์ · วิทยาศาสตร์สุขภาพ · มนุษยนิเวศศาสตร์ · รัฐศาสตร์ · เกษตรและสหกรณ์ · นิเทศศาสตร์ · วิศวกรรมศาสตร์ · พยาบาลศาสตร์

STOU.jpg
ศูนย์วิทยพัฒนา

ลำปาง · สุโขทัย · นครสวรรค์ · อุดรธานี · อุบลราชธานี · นครนายก · เพชรบุรี · จันทบุรี · นครศรีธรรมราช · ยะลา

ภาษาอื่น