สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์
สัญลักษณ์ประจำสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์
“ If Life is Design! ”

สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ได้รับการประพันธ์ชื่อ "ชนาพัฒน์" โดย พระเทพเจติยาจารย์ ซึ่งหมายถึง พัฒนาประชาชน เพื่อให้ดำรงสถานะแห่งการเป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาประชาชนชาวไทย

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ หรือ ซีไอดีไอชนาพัฒน์ (Chanapatana International Design Institute: CIDI) เดิมชื่อ "สถาบันชนาพัฒน์" ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ตามดำริของพระเทพเจติยาจารย์ หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสถาบันนานาชาติด้านการออกแบบ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก สถาบันออกแบบชั้นนำจาก เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างทั้งสองสถาบัน ในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และเริ่มการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2544 มีจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 35 คน

ดำริเริ่มแรกในการสร้างสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์แห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากพระญาณวิริยาจารย์ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของคนไทย และต้องการที่จะพัฒนาและสนับสนุนคนไทยให้มีความสามารถทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศไทยของเรามีทั้งมันสมอง มีทั้งสติและมีทั้งปัญญา มีทั้งทรัพยากร มีทั้งโอกาสหลายๆ โอกาส ทำไมไม่ใช้โอกาสเหล่านี้พัฒนาให้เข้าขั้นหรือถึงขั้น อันนี้มิใช่จะดูถูกคนไทย เพราะคนไทยเรารักสงบและมีความสงบสุข แม้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ประเทศไทยก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมากเกินไป ก็ได้รับความสงบสุขตลอดมาและประเทศไทยมีปัญญาชนที่มีสมองที่ปราดเปรื่อง ยังแต่ว่าจะทำอย่างไรจะหาเครื่องช่วยสนับสนุนความปราดเปรื่องอันนี้ให้บรรลุจุดหมายได้ เพราะศักยภาพคนไทยพัฒนาได้ไม่แพ้ใคร” ความคิดนี้สืบเนื่องมาจากช่วงเวลาที่ประเทศไทยในขณะนั้นประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลอยตัว ประชาชนชาวไทยประสบกับความเดือดร้อน เกิดปัญหาว่างงาน จึงทำให้พระเทพเจติยาจารย์เกิดความห่วงใย แม้ในฐานะแห่งพระภิกษุรูปหนึ่ง ตามที่ได้ดำริว่า “อาตมามีความเป็นห่วงใยประเทศชาติ คือ ประเทศไทยไม่น้อยหน้าไปกว่าท่านอื่นๆ ที่ห่วงใยประเทศไทย แม้ว่าอาตมาเองจะเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งก็มีหน้าที่พระสงฆ์ ที่จะต้องสวดมนต์ภาวนา สอนสมาธิและวิปัสสนา แต่ว่าพระสงฆ์อย่างที่อาตมาเป็นพระสงฆ์อยู่ในขณะนี้ อาตมามาคำนึงถึงว่า อาตมาเป็นพระสงฆ์ อาตมาก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งก็มีสิทธิที่จะรักประเทศชาติ เช่นเดี่ยวกับคนอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นอาตมาก็มองไปโดยรอบว่า ส่วนใดของประเทศไทยที่ขาดตกบกพร่องบ้าง หรือว่ามีอะไรที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าก็คอยจับตามองและคอยช่วยเหลือมาตลอด”

ด้วยดำริดังกล่าวนี้ พระเทพเจติยาจารย์ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาคนไทย โดยได้กำหนดให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด คือ ให้มีการเรียนรู้จากผู้ที่เป็นยอดอยู่แล้วในสาขานั้น ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าประเทศอิตาลีคือผู้นำด้านการออกแบบของโลก โดยท่านได้อรรถาธิบายแนวทางดังกล่าวนี้ไว้ ดังนี้ “ถ้าเราจะดันทุรังไม่ฟังเสียงของชาวโลก มุ่งมั่นทำผลงานของเราเรื่อยไปก็ย่อมได้ แต่จะต้องใช้เวลาอันยาวนานเปรียบดังคนไม่มีชื่อเสียงในสังคมโลก กว่าจะสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับหรือเด่นดังขึ้นมามิใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีใครชื่อเสียงโด่งดังในสังคมโลก เขาจะทำอะไรก็เป็นที่สนใจของชาวโลกเกิดค่านิยมชมชอบ เป็นที่ยอมรับในสังคม ใครๆ ได้อยู่ใกล้ก็พลอยมีชื่อเสียงโด่งดังไปด้วย เพราะฉะนั้น อาตมาต้องการให้คนไทยมีชื่อเสียงในเรื่องการออกแบบต่างๆ และไม่ต้องไปเรียนที่ประเทศอิตาลีให้เสียงเงินทองมากมาย”

และเพื่อให้โอกาสทางการศึกษานี้เปิดกว้างที่สุดสำหรับคนไทย จึงไม่คิดแต่เพียงการมอบทุนการศึกษาให้กับผู้ที่สนใจไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี แต่พระเทพเจติยาจารย์ได้ทำให้ในสิ่งที่เรียกว่า “หาคนอิตาลีมาฝึกความปราดเปรื่องของคนไทยได้ โดยไม่ต้องไปประเทศอิตาลี” คือการตกลงร่วมมือกับสถาบันออกแบบชั้นนำที่ตั้งอยู่ ณ กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งจากการที่หลวงพ่อได้ไปสัมผัสสถาบันแห่งนี้ พบว่า “มีนักศึกษามาเรียนกันทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น, จีน, ไทย, เยอรมัน, อังกฤษ, ฮอลแลนด์, สวีเดน, ฟินแลนด์ คนเหล่านี้เค้ามีความภูมิใจที่ได้มาเรียนที่สถาบันแห่งนี้ ทุกคนยอมรับ มิหนำซ้ำรัฐบาลของฟินแลนด์, ยูเครน, สวีเดนให้ทุนกับนักศึกษามาเรียนที่นี่ด้วย” ในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 จึงได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อให้มีการเรียนการสอน ณ วัดธรรมมงคล ภายใต้หลักสูตรและคณาจารย์ของสถาบันจากอิตาลีทั้งหมด การดำเนินการครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการจัดการศึกษาด้านการออกแบบโดยความร่วมมือกับสถาบันต่างชาติ ดังจะเห็นได้ว่ามีสถาบันอื่นๆ ดำเนินการในรูปแบบเดียวกันนี้อีกมากมายในช่วงเวลาต่อมา

การปฐมนิเทศนักศึกษารุ่นที่ 1 มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ ห้องประชุมวัดธรรมมงคล นักศึกษาในรุ่นที่ 1 นี้ทั้งหมด 35 คน โดยแต่เดิมมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอิตาลี นักศึกษาจึงจะต้องไปศึกษาหลักสูตรภาษาอิตาลีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียก่อน จึงจะมาเริ่มศึกษาหลักสูตรการออกแบบ และมีการเรียนการสอนใน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรการออกแบบตกแต่งภายใน หลักสูตรออกแบบแฟชั่น และหลักสูตรออกแบบเครื่องหนัง ภายหลังเมื่อมีการรับสมัครนักศึกษารุ่นต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับสังคมไทยมากขึ้น จึงมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ และหลักสูตรออกแบบแฟชั่น

[แก้] สัญลักษณ์ประจำสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์

สัญลักษณ์อักษรย่อและรูปเรขาคณิต
  • อักษรย่อ CIDI เป็นตัวแทนของ Chanapatana International Design Institute ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
    • พระเทพเจติยาจารย์ ผู้ก่อตั้ง
    • นักศึกษาและศิษย์เก่าของสถาบัน
    • คณาจารย์ชาวต่างประเทศ
    • อาสาสมัคร
  • รูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม เป็น รูปทรงพื้นฐานในเราขาคณิต แทนค่า พื้นฐานแห่งการออกแบบ
  • สีน้ำเงิน แทนค่า การพัฒนาประชาชนชาวไทยอย่างมีคุณธรรม
  • สีส้ม แทนค่า ความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ

[แก้] หลักสูตร

[แก้] ความร่วมมือทางวิชาการ

การดำเนินการของสถาบันได้รับการพัฒนาและมีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง สถาบันมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้วทั้งหมดจำนวน 4 รุ่น โดย 3 รุ่นแรกนั้นมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา 20, 27 และ 29 คนตามลำดับ สำหรับรุ่นที่ 4 สถาบันได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีผู้สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2549 มากกว่า 70 คน สำหรับการพัฒนาด้านวิชาการ สถาบันได้มีการทำความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันของรัฐหลายแห่ง อาทิ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ,มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตลอดจน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2547 สถาบันได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อให้นักศึกษาที่จบการศึกษาหลักสูตรออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์จากสถาบัน สามารถไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้ อันนับว่าเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการที่สำคัญยิ่งของสถาบันด้วย

[แก้] ความสำเร็จ

ผลงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่พิสูจน์คุณภาพการจัดการศึกษาของสถาบันคือ การที่นักศึกษาของสถาบันได้รับรางวัลด้านการออกแบบระดับประเทศจากการประกวดในรายการต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ของร้านภูฟ้า, รางวัลจากการประกวดผลิตภัณฑ์นานาชาติ (โคมไฟ) ในงาน Echi di Luce 03 ประเทศอิตาลี, รางวัลจากการประกวดเฟอร์นิเจอร์ในรายการ Gruppo Sintesi's 2nd Shapping up intelligence ประเทศอิตาลี, รางวัลจากการประกวด Made Jeans Be Me, Cotton Design Challenge 2007, รางวัลจากการประกวดโครงการ Men Intrend Young Creative Bag & Shoes Design Contest โดยสมาคมเครื่องหนังไทย และเดอะ มอลล์ กรุ๊ป, รางวัลจากการประกวด Yamaha Young Designer Contest 2008, รางวัลจากการประกวด Thailand Wedding Designer Award 2004, รางวัลจากการประกวด Leather Goods Designing Contest 2004 จัดโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ผลงานของนักศึกษายังได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงในงานสำคัญขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ งานแชนแนลวีไทยแลนด์ มิวสิควิดีโอ อวอร์ด, งานแม่แห่งแผ่นดิน 77 พรรษามหาราชินี, งานรัตนะแห่งแผ่นดิน 54 พรรษา เจ้าฟ้าในดวงใจ, งาน Bangkok International Fashion Week ภายใต้แบรนด์ Cotton Chitralada by CIDI ร่วมกับร้านจิตรลดา ทั้งนี้ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับประเทศของรัฐบาลด้วย อาทิ โครงการ Bangkok Fashion Week 2005 และ 2006 และ งาน ASEAN Tourism Forum 2007 ที่ประเทศสิงคโปร์

ความคิดริเริ่มของพระเทพเจติยาจารย์ในการสร้างสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์นั้น มิเพียงแต่จะได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ ภายในประเทศเท่านั้น ในวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายนพ.ศ. 2549 รัฐบาลแห่งประเทศสาธารณรัฐอิตาลีโดยเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย ได้ทำพิธีถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Star of Italian Solidarity ชั้น Knight แด่พระเทพเจติยาจารย์ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแห่งผลงานที่ได้สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศอิตาลีอย่างดียิ่ง

และจนถึงปัจจุบัน สถาบันได้ดำรงปณิธานอันแน่วแน่ในการสร้างนักออกแบบไทย ให้สามารถพัฒนาฝีมือการออกแบบให้มีความทัดเทียมและสามารถแข่งขันกับชาวต่างชาติได้ รวมไปถึงการมุ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้สินค้าแบรนด์ ไทยมีการออกแบบไม่แพ้สินค้าจากต่างประเทศ ในปัจจุบันสถาบันเปิดทำการสอน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ และ หลักสูตรออกแบบแฟชั่น

[แก้] นิทรรศการศิลปนิพนธ์ประจำปี

ทุกปีสถาบันจะมีการจัดงานศิลปนิพนธ์ประจำปีในรูปแบบนิทรรศการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำผลงานแสดงสู่สายตาบุคคลภายนอกและผู้ที่สนใจทั่วไป ในแต่ละปีจะมีการกำหนดแนวคิดหลักของงานให้สอดคล้องกับรุ่นของนักศึกษา อาทิ

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น