คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะเภสัชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สัญลักษณ์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.png

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย โดยถือกำเนิดจาก "โรงเรียนแพทย์ปรุงยา"[1] ตามดำริของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย[2]

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมเป็นแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับการพัฒนาหลักสูตรขึ้นเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ย้ายสังกัดหลายครั้ง ซึ่งภายหลังได้กลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้อาคารเภสัชศาสตร์ ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะศิลปกรรมศาสตร์) เป็นที่ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้ย้ายอาคารมาทำการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณสยามสแควร์ ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์[2]

ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยในระดับปริญญาตรีได้เปิดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ทั้ง 2 หลักสูตรใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 7 ภาควิชา และยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ-ชิบะ, โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต คณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น[3]

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

ด้านหน้าอาคารเภสัชศาสตร์

การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของไทยในแบบตะวันตก เริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระดำริของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถซึ่งประทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยในขณะนั้น ถึงเรื่องการตั้งโรงเรียนปรุงยาขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร จึงได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย" ด้วยพระดำริให้มีการศึกษาเภสัชศาสตร์อย่างเป็นระบบ จึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม โดยประกาศเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เรื่อง "ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันก่อตั้งวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย และถือเป็นวันกำเนิดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย[2]

การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์เริ่มต้นการสอนในโรงเรียนราชแพทยาลัยในแผนกปรุงยา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ปรุงยา โดยมีนักเรียนจบการศึกษาในรุ่นแรก 4 คน ต่อมาได้มีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น กระะทรวงธรรมการจึงได้ประกาศให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้ามาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์จึงได้ยกระดับขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษา[2] และได้มีพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 กำหนดจัดตั้งแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ และเปลี่ยนวุฒิเป็น "ประกาศนียบัตรเภสัชกรรม (ป.ภ.)" เทียบเท่าอนุปริญญา โดยให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งด้วย

การปรับปรุงการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ดำเนินอย่างสืบเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2479 ได้ยกระดับหลักสูตรเป็น "อนุปริญญาเภสัชศาสตร์" ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทางเภสัชศาสตร์อย่างกว้างขวาง และนำเอาวิชาทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาบรรจุในหลักสูตรดังกล่าวโดยเริ่มใช้ในปีการศึกษาต่อมา และมีการแบ่งแผนกวิชาต่างๆ ขึ้นตามกฎหมาย แม้กระนั้นการศึกษาเภสัชศาสตร์ก็ไม่ได้รับความสนใจต่อผู้เข้าการศึกษามากนัก จนกระทั่ง เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482[2] และได้จัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้นอย่างเต็มรูปแบบโดยยกระดับหลักสูตรเภสัชกรรมศาสตร์จนถึงระดับปริญญา (หลักสูตร 4 ปี) และจัดสร้างอาคารเรียนถาวรของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)[4]

ต่อมาเมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2485 จึงได้โอนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ใช้บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนกระทั่งวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 ได้มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล จึงย้ายกลับเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515[5]

ในปี พ.ศ. 2525 คณะเภสัชศาสตร์ได้ย้ายอาคารเรียนไปยังบริเวณสยามสแควร์ ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดโครงการเภสัชกรคู่สัญญาโดยใช้ทุนเป็นเวลา 2 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2527[6] โดยคณะเภสัชศาสตร์ยังคงปรับปรุงการศึกษาอย่างสืบเนื่องโดยในปี พ.ศ. 2532 ได้เปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต 3 สาขา ในปีถัดมาได้ปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตเป็นลักษณะกึ่งเฉพาะทาง 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาลและเภสัชกรรมคลินิก, สาขาเทคโนโลยีการผลิตยา, สาขาวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์, สาขาเภสัชกรรมชุมชนและบริหารเภสัชกิจ และสาขาเภสัชสาธารณสุข และมีการจัดสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการแห่งใหม่เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาเภสัชศาสตร์ในสยามประเทศครบ 80 ปีโดยใช้ชื่อ "อาคาร 80 ปีเภสัชศาสตร์" ในปี พ.ศ. 2536

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สมุนไพร วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544

นอกจากการพัฒนาด้านการเรียนการสอนและอาคารสถานที่นั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้รวบรวมเภสัชภัณฑ์, เครื่องยา และเภสัชวัตถุโบราณซึ่งสั่งสมมาแต่ครั้งก่อตั้งคณะจัดสร้างเป็น "พิพิธภัณฑ์สมุนไพร" ขึ้น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมกับเปิดอาคารโอสถศาลาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2544[7] และได้มีการจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ให้มีความแน่นแฟ้น รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมคณะฯ พร้อมทั้งกิจกรรมวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย[8]

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้หลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิตฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552 โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ และหลักสูตรเภสัชศาสตบัณฑิต สาขาบริบาลทางเภสัชกรรม โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 6 ปี[9] มีการพัฒนาผลงานวิจัยทางเภสัชกรรมโดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร ณ อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งได้ทำพิธีเปิดเมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี[10] และยังมีโครงการต่างๆ อาทิ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "โอสถศาลา" ศูนย์คอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ ศูนย์เภสัชสารสนเทศ ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางเภสัชอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยและพัฒนาสมุนไพรและเครื่องเทศ รายการคลินิก FM 101.5 วิทยุจุฬาฯ ศูนย์ผลิตสื่อประสมคอมพิวเตอร์ ศูนย์สื่อสารการเรียนรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดและระบบคอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ตาม "ปรัชญาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม"[11]

[แก้] สัญลักษณ์ประจำคณะ

  • งูศักดิ์สิทธิ์พันถ้วยยาไฮเกีย เป็นสัญลักษณ์วิชาชีพเภสัชกรรมของกรีก โดยมีที่มาจากเทพีไฮเกีย เทพีแห่งสุขอนามัยและความสะอาด สัญลักษณ์ดังกล่าวได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระเกี้ยวประดับเหนือถ้วย
  • กระถินณรงค์ ต้นไม้ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสถานที่ปลูกบริเวณป้ายคณะ
  • สีเขียวมะกอก เป็นสีประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นสีประจำคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ และยังเป็นสีประจำของวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย
  • เพลงศักดิ์ศรีเภสัช เป็นเพลงประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้] การเรียนการสอน

[แก้] หลักสูตรการศึกษา

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนใน 3 ระดับการศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ระบบทวิภาคคือ แบ่งปีการศึกษาหนึ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ได้แก่ ภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย โดยแบ่งเป็น 2 สาขา อันประกอบด้วย สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรมและสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ทั้งสองสาขาใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี แบ่งเป็นการศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไปและวิชาพื้นฐานวิชาชีพเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และการศึกษาวิชาเฉพาะวิชาชีพเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง ในสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมเป็นการเน้นด้านการดูแลผู้ป่วยในกระบวนการใช้ยา และในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์สามารถเลือกวิชาเฉพาะของสาขาใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาเภสัชกรรมและเทคโนโลยี, สาขาค้นพบและพัฒนายา และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ซึ่งทั้งสองหลักสูตรได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและสภามหาวิทยาลัยแล้ว[12][13][14] และต้องใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาเป็นเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะเวลา 2 ปี[15]

นอกจากการจัดการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตนั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้จัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาโดยใช้ระยะเวลาศึกษาทั่วไป 2 ปี แบ่งเป็นหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต, หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรดุษฎีบันฑิต ทั้งนี้ยังมีการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติในสาขาเทคโนโลยีเภสัชกรรม และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร

ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 ปี

หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

  • สาขาวิชาเภสัชกรรม
  • สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก
  • สาขาวิชาเภสัชอุตสาหกรรม
  • สาขาวิชาเภสัชเคมี
  • สาขาวิชาอาหารเคมีและโภชนศาสตร์การแพทย์
  • สาขาวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาเภสัชเวท
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยา
  • สาขาวิชาสรีรวิทยา
  • สาขาวิชาเภสัชวิทยา
  • สาขาชีวเวชเคมี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ)

หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

  • สาขาวิชาเภสัชกรรม
  • สาขาวิชาการบริบาล

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาเภสัชเคมีและ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ชีวภาพ
  • สาขาวิชาชีวเวชเคมี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาเภสัชเวททางเภสัชกรรม (นานาชาติ)

[แก้] การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ทั้งสิ้น 4 โครงการ ดังต่อไปนี้

  • โครงการรับผ่านระบบแอดมิสชัน ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ช่วงชั้นที่ 4) ทั่วไปที่ผ่านการสอบในระบบแอดมิสชัน
  • โครงการรับตรงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้คะแนนสอบแอดมิสชันในการเลือกคณะได้ 4 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[16]
  • โครงการพัฒนากีฬาชาติ ตามนโยบายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนานักกีฬาของชาติให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ โดยเปิดรับผ่านการสมัครโครงการพัฒนากีฬาชาติตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [17]
  • โครงการจุฬาฯ ชนบท เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่พักอาศัยในต่างจังหวัด โดยนิสิตในโครงการนี้จะได้รับเงินอุดหนุนค่าการศึกษาตลอดการศึกษา[18]

[แก้] ภาควิชา

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี 7 ภาควิชา[19] ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ "The 8th NRCT-JSPS Joint Seminar"

[แก้] การวิจัย

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยทางเภสัชกรรม โดยมีผลงานการตีพิมพ์เชิงวิชาการเกี่ยวกับเภสัชกรรมและเภสัชวิทยาได้อันดับที่ 2 ของคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย[20] และจัดสร้างอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งทำพิธีเปิดในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกรบวนการวิจัยทางยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบัน ยาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการนำเข้าสูง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดตั้งอาคารนี้เพื่อเป็นอาคารวิจัยทางเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร เพื่อลดอัตราการนำเข้ายาจากต่างประเทศ[21]

นอกจากนี้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนงานวิจัยของคณาจารย์เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ทางเภสัชกรรมและอุตสาหกรรมยา โดยจัดตั้งหน่วยงานวิจัยและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางดังต่อไปนี้[15]

  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพร
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ชีวภาพจากทะเล
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยชีวการแพทย์วินิจฉัย
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็ง
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยการศึกษาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งยา
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยทางประสาทสรีรวิทยาและประสาทเภสัชวิทยา
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยศูนย์ปฏิบัติการเภสัชจลนศาสตร์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยทางพฤกษเคมีของสมุนไพรที่เลือกสรรจากการใช้ในชุมชนท้องถิ่น
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชศาสตร์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยได้รับสัมผัสจากสารพิษไอระเหย
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยประสาทเภสัชวิทยาของสารสกัดจากพืช
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยอาหารทางการแพทย์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบนำส่งยาและเครื่องสำอาง
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพยา
  • ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ

[แก้] อันดับของคณะ

จากผลการรายงาน 50 อันดับของคณะทางสาขาชีวการแพทย์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยประเมินคุณภาพของการเรียนการสอนและงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 23 และเป็นอันดับที่ 1 ในคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหมด[22][23][24]

[แก้] ความร่วมมือระดับนานาชาติ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ-ชิบะ โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต คณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี เป็นต้น โครงการเชิญคณาจารย์และวิทยากรจากต่างประเทศ ร่วมบรรยายและสัมมนา[25]

[แก้] สถานที่ภายในคณะ

พื้นที่การศึกษาและวิจัย 
ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ดังนี้
  • อาคารเภสัชศาสตร์ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เป็นอาคารรูปตัวเอช (H) จำนวน 4 ชั้น เป็นอาคารแรกของคณะฯ ในบริเวณสยามสแควร์ เป็นที่ตั้งของสำนักเลขานุการคณะฯ และสำนักงานภายในคณะฯ รวมถึงที่ตั้งของห้องพักอาจารย์ตามภาควิชา และห้องปฏิบัติการรายภาควิชา แต่เดิม อาคารนี้ได้รับการออกแบบเป็นรูปตัวอี (E) ซ้อนกัน แต่งบประมาณในขณะนั้นมีจำกัด จึงได้ดัดแปลงแปลนบางส่วน ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอในเวลาต่อมา
  • อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ เป็นอาคารสูง 8 ชั้น เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการทางเภสัชกรรมขนาดใหญ่ ห้องบรรยายรวม และหอประชุมตั้ว ลพานุกรม อาคารหลังนี้ได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากสำนักงบประมาณแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามความประสงค์ของคณะฯ ซึ่งไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่อาคารเดิมคับแคบ ต้องแบ่งนิสิตออกเป็นหลายกลุ่ม ไม่สะดวกต่อการทำการเรียนการสอน นอกจากนี้ อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ ได้นำครุภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนอีกด้วย
  • อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ เป็นอาคารสูง 10 ชั้น เป็นที่ตั้งของหอประชุม และห้องปฏิบัติการทางเภสัชกรรมและเคมี รวมถึงสำนักงานภาควิชาต่างๆด้วย อาคารหลังนี้ได้เริ่มต้นการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 และในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้
  • สวนพฤกษศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณริมรั้วคณะฯ ฝั่งสยามสแควร์ ภายในมีการปลูกพืชสมุนไพรสำหรับการวิจัยยา และคิดค้นตำรายาสมุนไพรใหม่ๆ
พื้นที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ 
ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ดังนี้
  • อาคารโอสถศาลา เป็นร้านยามาตรฐานสำหรับให้นิสิตเภสัชศาสตร์ได้ฝึกจ่ายยาในร้านยาจริง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544
  • อาคารโอสถศาลาเดิม การบริการโอสถศาลาของคณะฯ ได้ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2529 เพื่อเป็นสถานฝึกงานแก่นิสิตภาควิชาเภสัชกรรมคลินิกถึงวิธีการบริการผู้ป่วยด้านยา ปัจจุบันอาคารดังกล่าวได้ปรับปรุงใช้เป็นห้องประชุมและสันทนาการของคณะฯ[26]
พื้นที่นันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ
  • สนามบาสเกตบอล ตั้งอยู่บริเวณหลังอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ สำหรับให้นิสิตเภสัชศาสตร์ได้ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมอื่นๆ
  • ลาน Rx เป็นลานกว้างภายในอาคารเภสัชศาสตร์ ภายในมีการปลูกพืชสมุนไพรทั่วไป บริเวณกลางลานเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำพุ และสัญลักษณ์ Rx อันเป็นสัญลักษณ์ของวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร 
เป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมสมุนไพรท้องถิ่นในประเทศไทยไว้ รวมทั้งวิวัฒนาการเภสัชกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ได้รวบรวมไว้ และได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จเข้าเยี่ยมชมเป็นพระองค์แรก พร้อมทั้งคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย[27]

[แก้] การเดินทาง

นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมารถเดินทางได้หลายเส้นทาง

[แก้] บุคคล

[แก้] รายนามหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์และคณบดี

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

หัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามหัวหน้าแผนกฯ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2487
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
2. เรือโทศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ดร.อวย เกตุสิงห์ พ.ศ. 2487 - พ.ศ. 2489
3. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.จำลอง สุวคนธ์ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2500
4. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.ชลอ โสฬสจินดา พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2509
5. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.ไฉน สัมพันธารักษ์ พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2515
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
6. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.วิเชียร จีรวงศ์ พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2517
7. นาวาเอกศาสตราจารย์เภสัชกร พิสิทธิ์ สุทธิอารมณ์ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2521
8. รองศาสตราจารย์เภสัชกรบุญอรรถ สายศร พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2532
9. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.ภาวิช ทองโรจน์ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2536
10. รองศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2545
11. รองศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.บุญยงค์ ตันติสิระ พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2548
12. รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.พรเพ็ญ เปรมโยธิน พ.ศ. 2548 - 30 กันยายน พ.ศ. 2552
13. รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน

[แก้] นิสิตเก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้] กิจกรรมและประเพณีของคณะ

กิจกรรมของทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานส่วนกลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดขึ้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

[แก้] งานรับน้องใหม่

  • วันแรกพบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU First Date เป็นวันแรกของนิสิตใหม่ที่ได้เข้าทำกิจกรรมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนี้ได้จัดขึ้นเพื่อทดแทนงาน ณ สถานที่ประกาศผลเอนทรานซ์ในระบบเก่า งานนี้จัดขึ้นโดยองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสโมสรนิสิตและคณะกรรมการคณะต่างๆ ทุกคณะ จัดขึ้น ณ บริเวณลานหลังพระบรมรูป 2 รัชกาล ช่วงหลังประกาศผลแอดมิสชันของทุกปี
  • สู่รั้วกระถินณรงค์ จะจัดขึ้นภายหลังการสอบสัมภาษณ์ของนิสิตใหม่ งานนี้เปรียบเสมือนงานแรกพบของคณะฯ เป็นกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นภายในคณะฯ สำหรับนิสิตใหม่ งานนี้จัดขึ้น โดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี
  • แรกพบ สนภท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย) จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นงานที่นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศมาพบปะกัน เพื่อทำความรู้จัก และสานสัมพันธ์ร่วมกัน จัดขึ้นโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยจัดขึ้น ณ บริเวณคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงาน โดยเวียนไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปีการศึกษาล่าสุด งานนี้ได้จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • รับน้องคณะฯ จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของนิสิตใหม่ด้วยกันเอง และกับรุ่นพี่ภายในคณะฯ
  • กิจกรรมห้องเชียร์ จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม - ต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นกิจกรรมส่งเสริมความสามัคคีนิสิตใหม่ โดยฝึกการร้องเพลงประจำคณะฯ เพลงมหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้นภายในบริเวณของคณะฯ

[แก้] กิจกรรมกีฬา

  • กีฬาเฟรชชี่ เป็นงานสำหรับนิสิตใหม่ทุกคณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์นิสิตภายในมหาวิทยาลัย
  • กระถินณรงค์คัพ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์นิสิตภายในคณะในแต่ละชั้นปี เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของนิสิตแต่ละชั้นปี และบุคลาการในคณะฯ
  • กีฬาเภสัชสัมพันธ์ จัดขึ้นโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยเจ้าภาพหมุนเวียนสลับกันไปในแต่ละสถาบัน
  • กีฬาสีภายในคณะฯ เป็นกิจกรรมแข่งขันกีฬาพื้นบ้านของนิสิต บุคลากร ครู-อาจารย์ภายในคณะฯ จัดขึ้นโดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี
  • กีฬา 5 หมอ เป็นการแข่งขันกีฬาร่วมกันของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ณ ศูนย์กีฬาในร่มแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้] กิจกรรมวิชาการ

  • สัปดาห์เภสัชกรรม เป็นกิจกรรมเผยแพร่บทบาทของเภสัชกรในสังคมปัจจุบัน รวมทั้งให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับสุขอนามัยและยาแก่ประชาชนทั่วไป จัดขึ้น ณ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา ในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
  • จุฬาฯ วิชาการ เป็นกิจกรรมให้ความรู้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ถึงบทบาทและหน้าที่ของเภสัชกร และวิชาชีพเภสัชกรรม จัดขึ้นโดยองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี
  • ค่ายอยากเป็นเภสัชกร เป็นกิจกรรมเผยแพร่ความรู้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้เข้าค่ายเป็นเวลา 2 วัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ แขนงวิชา และการปฏิบัติการทางเภสัชกรรมจริง จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคมของทุกปี

[แก้] กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

  • พิธีไหว้ครู เป็นกิจกรรมที่นิสิตเภสัชศาสตร์จัดขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของครู-อาจารย์ที่อบรมสั่งสอน ให้ความรู้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร พิธีการมอบทุนการศึกษาแก่นิสิต การมอบประกาศนียบัตรนิสิตดีเด่น นิสิตที่ทำกิจกรรมดีเด่น นิสิตที่มีผลการเรียนดีเด่น โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
  • งานลอยกระทงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นกิจกรรมที่มีชื่อเสียงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นบริเวณสนามฟุตบอลหน้าลานพระบรมรูป 2 รัชกาล โดยนิสิตทุกคณะร่วมกันจัดขบวนแห่นางนพมาศ และลอยกระทงร่วมกัน ณ บ่อน้ำหน้าพระบรมรูป 2 รัชกาล โดยจัดขึ้นในวันลอยกระทงของทุกปี

[แก้] กิจกรรมสานสัมพันธ์ภายในคณะ

  • งานคืนถิ่นกระถินณรงค์ จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีกับนิสิตที่จบการศึกษาเภสัชศาสตร์ โดยสโมสรนิสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
  • งานแฟร์เวลล์ จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีและอำลานิสิตชั้นปีที่ 5 ที่จะสำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ ในงานประกอบไปด้วยการแสดงของนิสิตชั้นปีที่ 1 - 4 และการเลี้ยงอาหารแก่รุ่นพี่
  • งานบายบายเฟรชชี่ จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม เป็นกิจกรรมส่งท้ายของนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่จะทำกิจกรรมร่วมกันในฐานะเป็นเฟรชชี่ จัดขึ้นโดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • งานส่งพี่ข้ามฟาก เป็นกิจกรรมที่นิสิตชั้นปีที่ 1 ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อขอบคุณรุ่นพี่ปี 2 ที่ดูแลมาโดยตลอดปีการศึกษา โดยถือเป็นประเพณีที่นิสิตชั้นปีที่ 2 จะไม่ได้ศึกษาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท หรือ จุฬาใหญ่

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ประวัติคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  2. ^ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 หนังสือ "กระถินณรงค์'44"
  3. ^ แนะนำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  4. ^ รายงานวิจัยบุคคลสำคัญทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  5. ^ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515 เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  6. ^ ทางเลือกโครงการเภสัชกรคู่สัญญา : ผลกระทบด้านกำลังคนเภสัชกร วารสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (หน้า 80 - 92) เมษายน - มิถุนายน 2543
  7. ^ พิพิธภัณฑ์สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  8. ^ ประกาศนายทะเบียนสมาคม กรุงเทพมหานคร เรื่องจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2548 เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  9. ^ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  10. ^ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  11. ^ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยสนับสนุนการศึกษาและวิจัย เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  12. ^ ประกาศสภาเภสัชกรรม เรื่อง สถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ที่สภาเภสัชกรรมรับรอง เรียกข้อมูลวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553
  13. ^ หลักสูตรปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
  14. ^ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
  15. ^ 15.0 15.1 หน่วยทะเบียนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เอกสารแนะนำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  16. ^ ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ด้วยวิธีการรับตรง (แบบปกติ) พ.ศ. ๒๕๕๓ เรียกข้อมูลวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553
  17. ^ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : โครงการพัฒนากีฬาชาติ เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  18. ^ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : โครงการจุฬาชนบท เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  19. ^ ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานในคณะเภสัชศาสตร์ พ.ศ. 2551
  20. ^ ผลงานวิจัยมากที่สุดประจำปี พ.ศ. 2551 เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  21. ^ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มุ่งสร้างมาตรฐานนวัตกรรมยาเชิงพาณิชย์ เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  22. ^ จัดอันดับคุณภาพคณะชีวการแพทย์ 50 อันดับแรก เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  23. ^ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 50 อันดับคณะชีวการแพทย์ เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  24. ^ เปิด 50 อันดับสาขาด้าย "วิจัย-สอน" เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  25. ^ แนะนำคณะฯ เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  26. ^ หน่วยงานสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนโอสถศาลา เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  27. ^ ประวัติพิพิธภัณฑ์สมุนไพร เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′37″N 100°31′53″E / 13.743588°N 100.531455°E / 13.743588; 100.531455