คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
Siriraj.gif
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นับได้ว่าเป็นคณะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนแพทยากร และพัฒนามาจนกระทั่งเป็น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีอายุ 120 ปีแล้ว มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 115 รุ่น สำหรับนักศึกษาแพทย์ปีการศึกษา 2553 นี้ นับเป็นรุ่นที่ 121

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

วิชาการแพทย์ไทยแต่เดิมพัฒนาจากการใช้ยาสมุนไพร เมื่อชาวบ้านคนใดเจ็บป่วยก็พากันไปรักษากับหมอยาตำราหลวงตามแบบแผนอย่างไทย กระทั่งมีคณะมิชชันนารีจากต่างชาติที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับวิทยาการทางการแพทย์แผนตะวันตกในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เกิดรูปแบบการรักษาพยาบาลแบบใหม่ขึ้นในสยามประเทศ

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงพยาบาล เพื่อจัดระเบียบและยกระดับมาตรฐานการแพทย์และการสาธารณสุขในสยามให้สมกับเป็นประเทศที่รุ่งเรือง พระองค์ทรงจัดตั้งคณะกรรมการ (คอมมิตตี-Committee) ชุดหนึ่ง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น 9 ท่าน คือ

  1. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก
  2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
  3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
  4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
  5. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
  6. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์
  7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี
  8. เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี
  9. ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์

เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาล คณะกรรมการชุดนี้ได้กราบทูลขอแบ่งพื้นที่พระราชวังบวรสถานพิมุขด้านใต้อันเป็นพื้นที่หลวงร้างฟากธนบุรี เพื่อเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาล และซื้อที่ริมข้างเหนือโรงเรียนของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพื่อทำท่าขึ้นโรงพยาบาล และให้ชื่อว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” เป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกในสยาม

ลุปี พ.ศ. 2430 ขณะกำลังก่อสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิด ยังความโศกเศร้าพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เป็นล้นพ้น จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเกื้อกูลโรงพยาบาลเพื่อเป็นพระราชกุศล เมื่อเสร็จสิ้นงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้พระราชทานไม้ที่ใช้สร้างพระเมรุมาศจำนวน 15 หลังมาเป็นวัสดุสำหรับปลูกสร้างโรงพยาบาล ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในส่วนของเจ้าฟ้าศิริราชฯ จำนวน 700 ชั่ง (56,000 บาท) เป็นค่าก่อสร้างอีกด้วย ดังปรากฏพระราชปรารภของพระองค์ในพระราชหัตถเลขาถึงคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ลงวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิ์ศก จุลศักราช 1250 ความตอนหนึ่งว่า

"...ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้าย ลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาเจ็บไข้ เห็นแต่ว่าลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ ยังได้ความทุกขเวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชนุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาล ทำความเห็นมายื่น เห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึงได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์แก่คนที่ได้ความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้ เป็นต้นทุน..."


พระเมรุ 5 ยอด สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวง

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันกำเนิดโรงพยาบาล และพระราชทานนามใหม่แก่โรงพยาบาลว่า “โรงศิริราชพยาบาล” สังกัดกรมพยาบาลอันมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นอธิบดี

เมื่อตั้งโรงพยาบาล ความลำบากประการแรกที่ต้องพบคือการสรรหาแพทย์ประจำโรงพยาบาล ในชั้นแรกคณะกรรมการได้เชิญหมอหลวงที่มีชื่อเสียงมารับตำแหน่งกินเงินเดือน ซึ่งก็ได้พระประสิทธิวิทยา (หนู – ภายหลังได้เป็น พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง) มาเป็นแพทย์ใหญ่ พร้อมกับลูกศิษย์อีก 2 คนเป็นแพทย์รอง

ในคราวนั้น คณะกรรมการเห็นว่าการจะหาแพทย์เพิ่มเติมนั้นยากเต็มที เพราะบรรดาหมอที่มีชื่อเสียงในขณะนี้ออกจะถือตัว ไม่ยอมเข้าร่วมกับโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จึงได้กราบบังคมทูลให้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์และจะได้เพิ่มเติมวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดตามแนวตะวันตกให้แก่แพทย์ไทยด้วย โดยตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าโรงพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2432 และเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 รับสมัครนักเรียนอายุ 18 ปีเข้าศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม มีดอกเตอร์ยอร์ช แมกฟาแลนด์ (หมอเมฆฟ้าลั่น - ภายหลังได้เป็น อำมาตย์เอก ศาสตราจารย์พระอาจวิทยาคม) เป็นครูสอน กระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 จึงได้เปิด “โรงเรียนแพทยากร” ขึ้นอย่างเป็นทางการตามพระบรมราชโองการ และเจริญรุ่งเรืองมาจนได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย” ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443

ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมชนกนาถ ในโอกาสนี้ได้ทรงรวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็น 1 ใน 4 คณะแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต่อมาได้เปลี่ยนนามตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2461 เป็น “คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล

ในปี พ.ศ. 2464 รัฐบาลบาลสยาม (กัดฟันมันสยาม-Government of Siam) ได้เริ่มเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller) ในชั้นแรกได้ติดต่อผ่านทางเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการเจรจาเพื่อปรับปรุงและขยายการศึกษาแพทยศาสตร์ของสยามให้ถึงระดับปริญญา นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ดำรงตำแหน่งมหาอำมาตย์ตรี อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างตึกในโรงพยาบาลศิริราชหลายหลัง และยังได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทย สำหรับไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์ต่อไป (ดังเช่น นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เป็นต้น)

นับได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อศิริราชและการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยเป็นนานาอเนกประการ ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาล และถวายพระราชสมัญญาว่า “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” เพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ปรากฏตราบชั่วนิรันดร์สมัย

ถึงรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (ขีตะสังขะ) ได้ดำเนินนโยบายจัดระเบียบการบริหาราชการแผ่นดินใหม่ และได้รวมเอาคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกสัตวแพทยศาสตร์ และแผนกเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะย้ายมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2502 ระหว่างนี้ได้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาย้ายไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ต่อมาย้ายไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามใหม่แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ว่า “ มหาวิทยาลัยมหิดล ” ทางคณะฯจึงได้ถือโอกาสนี้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” โดยในระหว่างนี้ได้ช่วยเหลือในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตามลำดับ

ปี พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวน 30 ไร่ รวมเป็น 107 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์

[แก้] ภาควิชาและหน่วยงาน

[แก้] ภาควิชา

[แก้] สถาน

  • สำนักงานศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
  • สถานส่งเสริมการวิจัย
  • สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
  • สถานวิทยามะเร็งศิริราช
  • สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์


[แก้] หลักสูตร

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณทิต

หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาสรีรวิทยาการแพทย์
  • สาขาวิชาเภสัชวิทยา
  • สาขาวิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยาการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาชีวเคมี (หลักสูตรนานาชาติ)

[แก้] โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′24″N 100°29′11″E / 13.756633°N 100.48645°E / 13.756633; 100.48645

ภาษาอื่น