มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์ ”

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ของประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง] ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2510 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 จึงถือว่าวันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันสงขลานครินทร์

ในระยะแรกของการก่อตั้ง ได้รับนักศึกษาเข้าศึกษาครั้งแรกในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้อาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นสถานที่ศึกษา และปีต่อมา พ.ศ. 2511 ก็เริ่มย้ายนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์มาเรียนที่วิทยาเขตปัตตานี ในปี พ.ศ. 2514 ย้ายนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์มาเรียนที่วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยาเขตที่ใหญ่ที่สุด พ.ศ. 2520 เปิดวิทยาเขตภูเก็ต พ.ศ. 2533 เปิดวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และ พ.ศ. 2534 เปิดวิทยาเขตตรัง

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง "วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์" เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "มหาวิทยาลัยภาคใต้" ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พ.อ.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22 กันยายน ของทุกปีเป็น "วันสงขลานครินทร์"

ไฟล์:ม.อ.หาดใหญ่.jpg
ทิวทัศน์โดยรอบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ในปี พ.ศ. 2510 มหาวิทยาลัยที่จังหวัดปัตตานีก่อสร้างเสร็จในบางส่วนแล้วนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และคณะ ได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้าง พบว่า บริเวณดังกล่าวไม่เหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้น จึงมีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยที่จังหวัดปัตตานีนั้นควรใช้เป็นอาคารของคณะศึกษาศาสตร์ และคณะทางศิลปศาสตร์ และได้ย้ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปตั้งที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ต่อมา วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้น[1] มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันสถาปนามหาวิทยาลัย"

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้เปิดคณะวิชาต่าง ๆ 25 คณะ โดยเปิดสอนสาขาวิชาการต่างๆ จำนวน 236 สาขา เป็นการศึกษาระดับปริญญาเอกและเทียบเท่า 20 สาขา หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง 9 สาขา ปริญญาโท 86 สาขา ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 สาขา และปริญญาตรี (4-6 ปี) 121 สาขา

[แก้] สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้] รายนามอธิการบดี

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) นับได้ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีอธิการบดีมาแล้ว 10 คน ดังรายนามต่อไปนี้

อธิการบดี
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ฯพณฯ พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เมษายน พ.ศ. 2510 - มีนาคม พ.ศ. 2512
2. ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข มีนาคม พ.ศ. 2512 - กรกฎาคม พ.ศ. 2514
3. ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง กรกฎาคม พ.ศ. 2514 - กรกฎาคม พ.ศ. 2516
4. ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย กรกฎาคม พ.ศ. 2516 - กรกฎาคม พ.ศ. 2518
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์ กรกฎาคม พ.ศ. 2518 - กรกฎาคม พ.ศ. 2522 (วาระที่ 1)
กรกฎาคม พ.ศ. 2528 - พฤษภาคม พ.ศ. 2534 (วาระที่ 2)
6. ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ กรกฎาคม พ.ศ. 2522 - มิถุนายน พ.ศ. 2528
7. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์ มิถุนายน พ.ศ. 2534 - พฤษภาคม พ.ศ. 2540
8. รองศาสตราจารย์ ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ มิถุนายน พ.ศ. 2540 - พฤษภาคม พ.ศ. 2543
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2543 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2549
10. รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน

[แก้] วิทยาเขต

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภาคใต้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีเจตนาที่จะเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต ในปัจจุบัน ประกอบด้วย วิทยาเขต 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตสุราษฎ์ธานี วิทยาเขตภูเก็ต และเขตการศึกษาตรัง

[แก้] วิทยาเขตหาดใหญ่

[แก้] วิทยาเขตปัตตานี

[แก้] วิทยาเขตตรัง

[แก้] วิทยาเขตภูเก็ต

[แก้] วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

[แก้] สถาบันสมทบ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัย [2][3] ดังนี้

  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี

[แก้] การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

โดยวิธีรับตรง โครงการพิเศษ และร่วมสอบคัดเลือกกับสำนักงานการอุดมศึกษา

[แก้] อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 200 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของทวีปเอเชีย โดยอยู่ในลำดับที่ 109 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2552 กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยของไทย

[แก้] วันสำคัญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

[แก้] วันสถาปนามหาวิทยาลัย

วันที่ 12 มีนาคม 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอน 24 โดยเรียกว่า “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2511” และวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีผลบังคับใช้ ดังนั้น มหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยถือว่าวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้าย “วันสถาปนามหาวิทยาลัย”

[แก้] วันสงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กำหนดให้วันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยคือวัน “สงขลานครินทร์” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดช ในการพระราชทานชื่อแก่มหาวิทยาลัยภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2510 ว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทอดทูนเกียรติของสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ทรงมีมหากรุณาธิคุณแด่การศึกษาแพทย์และการพยาบาลของไทย

[แก้] วันมหิดล

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กำหนดให้วันที่ 24 กันยายนของทุกปีเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยเรียกว่า “วันมหิดล” เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ โดยมหาวิทยาลัยร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชนจะจัดให้มีกิจกรรมวางพวงมาลา หน้าพระบรมรูป ฯ ในทุกวิทยาเขต เพื่อเฉลิมพระเกียรติและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรม "วันถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก ในการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน เพิ่มอีกหนึ่งกิจกรรมด้วย

[แก้] วันรูสะมิแล

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เริ่มดำเนินการก่อตั้งที่ตำบลรูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2509 โดยในเวลาดังกล่าวมหาวิทยาลัยมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาในปี 2510 มหาวิทยาลัย ได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะแรก และในปี 2511 ก็เปิดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ โดยอาศัยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ทำการเช่นเดียวกัน เมื่อการก่อสร้างอาคารที่ปัตตานีแล้วเสร็จเป็นบางส่วนในภาคการศึกษาที่ 2 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยก็ได้ย้ายมาอยู่ที่วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี พร้อมกันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2511 ดังนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายนของทุกปีจึงเรียกว่าวัน “รูสะมิแล” ซึ่งมีความหมายว่า “สนเก้าต้น” ตามชื่อตำบลที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเพื่อระลึกถึงการมาอยู่ที่ตำบลรูสะมิแลวันแรก

[แก้] พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดให้มีขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ ลานตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จนถึงปีพุทธศักราช 2530 หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร และในปีพุทธศักราช 2539 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร เดิมจัดให้มีขึ้นที่หอประชุมวิทยาเขตปัตตานี และห้องทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สลับกันปีเว้นปี แต่หลังจากปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาได้จัดขึ้นที่วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญาบัตรแต่บัณฑิตกิตติมศักดิ์ และบัณฑิตจากทุกวิทยาเขต โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นไป บัณฑิตจะรับพระราชทานปริญญาบัตร ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

[แก้] บุคคลที่มีชื่อเสียง

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

[แก้] การออกนอกระบบเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น