สมเด็จพระมหินทราธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระมหินทราธิราช
พระบรมนามาภิไธย พระมหินทร์
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระมหินทราธิราช
ราชวงศ์ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๑๑ - ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๑๑๒
ระยะครองราชย์ ๑ ปี
รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

สมเด็จพระมหินทราธิราช พระนามเดิม พระมหินทร์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระสุริโยทัย เสด็จพระราชสมภพ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๘๒ มีพระเชษฐาคือ พระราเมศวร ผู้เป็นพระมหาอุปราช มีพระเชษฐภคินีคือ พระบรมดิลก และพระขนิษฐาสองพระองค์คือ พระสวัสดิราช (พระวิสุทธิกษัตรีย์) กับพระเทพกษัตรี

[แก้] พระราชประวัติและราชการสงคราม

สมเด็จพระมหินทราธิราช ในภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2550) รับบทโดย สันติสุข พรหมศิริ

หลังสงครามกับพม่าเมืองหงสาวดีที่เรียกว่าสงครามช้างเผือก ยุติลงในปี พ.ศ. ๒๑๐๗ พระมหินทร์ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชต่อจากพระราเมศวร ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเสด็จออกผนวช สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแห่งเมืองพิษณุโลกที่ไปยอมอ่อนน้อมต่อหงสาวดี จึงสมคบกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างร่วมกันตีพิษณุโลกแต่ไม่สำเร็จ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๑๑ สมเด็จพระมหินทราธิราชรั้งราชการไม่ไหว ได้ทูลขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาบวช แล้วขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งเพื่อเป็นจอมทัพเตรียมรับศึกหงสาวดี โดยพระเจ้าบุเรงนอง ได้ยกกองทัพเจ็ดกองทัพ มาทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาโดยมีทัพพระมหาธรรมราชาร่วมด้วย กองทัพหงสาวดียกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แล้วเข้าตีหัวเมืองทางเหนือ เพื่อตัดกำลังไม่ให้ส่งกองทัพเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงได้เข้าปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้

ในระหว่างการศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างถูกปิดล้อมกรุงอยู่ สมเด็จพระมหินทราธิราช จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา ทัพหงสาวดีล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ห้าเดือน ยังไม่สามารถตีหักเข้าไปได้ พระเจ้าบุเรงนองจึงออกอุบายเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทราธิราช ยอมเป็นไมตรี โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอตัวพระยาราม ผู้มีความสามารถรับผิดชอบการรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง สมเด็จพระมหินทราธิราช ทรงยินยอมมอบตัวพระยารามแก่พม่า แต่ทางพระเจ้าบุเรงนองกลับตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามข้อตกลง และเร่งยกกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหนักขึ้น

ขณะนั้นใกล้ฤดูน้ำหลาก แต่พม่าก็ยังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงได้เกลี้ยกล่อมให้พระยาจักรีซึ่งทางหงสาวดีขอตัวไปพร้อมกับ พระราเมศวรในสงครามกับพม่าครั้งก่อน เข้าเป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหินทราธิราช ทรงเห็นว่าพระยาจักรีเคยเป็นแม่ทัพ ที่มีความสามารถในการศึกกับพม่าครั้งก่อน จึงทรงโปรดให้เป็นผู้จัดการป้องกันพระนคร ทัพพม่าจึงตีหักเข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๑๑๒ หลังจากล้อมพระนครไว้ถึงเก้าเดือน

พม่าเข้ายึดทรัพย์สิน และกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสมเด็จพระมหินทราธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางน้อยใหญ่ ก็ได้นำไปกรุงหงสาวดีด้วย และพระเจ้าบุเรงนองได้ทรงตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชปกครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของหงสาวดีต่อไป

สมเด็จพระมหินทราธิราช ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างทาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๒ พระชนมายุได้สามสิบพรรษา ครองราชย์ได้ ๑ ปี (บางพงศาวดารกล่าวว่า ทรงกระทำการขุ่นเคืองแก่พระเจ้าบุเรงนอง จึงถูกสำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำที่เมืองสระถุง)

[แก้] ดูเพิ่ม

สมัยก่อนหน้า สมเด็จพระมหินทราธิราช สมัยถัดไป
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
2leftarrow.png พระมหากษัตริย์ไทย
อาณาจักรอยุธยา

(๒๑๑๑ - ๒๑๑๒)
2rightarrow.png สมเด็จพระมหาธรรมราชา
ราชวงศ์สุโขทัย
ภาษาอื่น