มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
SWUlogo2.gif
“ การศึกษาคือความเจริญงอกงาม
Education is Growth ”

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อังกฤษ: Srinakharinwirot University) พัฒนาจาก โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2492 และต่อมาพัฒนาเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2497 และพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ พ.ศ. 2517

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

เมื่อปี พ.ศ. 2492 ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ผลักดันให้มีการสถาปนา “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลิตวิชาชีพครูซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนเป็นจำนวนมากในขณะนั้น นับว่าเป็นการเริ่มต้นการศึกษาในระดับวุฒิประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา และประกาศนียบัตรครูมัธยมศึกษา โดยมีหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง

ต่อมา พ.ศ. 2496 ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ก่อตั้ง "วิทยาลัยวิชาการศึกษา " (College of Education) ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านการศึกษาให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผนมากขึ้น พร้อมทั้งได้เปิดการเรียนการสอนครอบครุมทั้งในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต โดยมี ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะวิชาการศึกษา หลังจากนั้น จึงได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในระยะนี้ได้มีการตั้งโรงเรียนสาธิต (Demonstration School) เพื่อให้เป็นแปลงทดลองค้นคว้า ในระบบการศึกษาพื้นฐานสมัยใหม่

วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ" เมื่อ พ.ศ. 2517[1] โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการในรูปวิทยาเขตเป็นเวลา 16 ปี วิทยาเขตจึงเริ่มแยกออกไปเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ ดังนี้

หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขยายพื้นที่ไปที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยไม่ได้มีการบริหารจัดการแบบวิทยาเขตแต่อย่างใด

[แก้] สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

  • ชื่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความหมายว่า "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร" "วิโรฒ" มาจากคำว่า "วิโรฒ" ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความงอกงามหรือเจริญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) มีชื่อย่อ ว่า "มศว" (ไม่มีจุด) เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Srinakharinwirot University"

  • ตราสัญลักษณ์

ได้มาจากกราฟที่เขียนแทนสมการทางคณิตศาสตร์ Y = ex หมายถึง การเพิ่มหรือการงอกงาม ซึ่งตรงกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า การศึกษาคือความเจริญงอกงาม (สิกขา วิรุฬ หิ สมปตตา)

  • สีประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ สีเทา - แดง
สีเทา คือ สีของสมอง หมายถึง ความคิดหรือสติปัญญา
สีแดง คือ สีของเลือด หมายถึง ความกล้าหาญ

สีเทาแดง จึงหมายถึง มีความกล้าหาญที่จะคิด และมีความคิดอย่างกล้าหาญ

  • ปรัชญามหาวิทยาลัย การศึกษาคือความเจริญงอกงาม (Education is Growth) เจริญงอกงามด้วยอารยวัฒิ 5 ประการ ดังนี้
1.งอกงามด้วยปรัชญา
2.งอกงามด้วยศีล
3.งอกงามด้วยสุตะ
4.งอกงามด้วยจาคะ
5.งอกงามด้วยปัญญา
  • อัตลักษณ์นิสิต มศว มี 8 ประการดังนี้
1.คิดเป็น ทำเป็น
2.หนักเอาเบาสู้
3.รู้กาลเทศะ
4.เปี่ยมจิตสำนึกสาธารณะ
5.มีทักษะสื่อสาร
6.อ่อนน้อมถ่อมตน
7.งามด้วยบุคลิก
8.พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์

[แก้] วันสำคัญของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

  • วันศรีนครินทรวิโรฒ

วันที่ 28 เมษายน 2492 เป็นวันที่กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ที่ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร

วันที่ 28 เมษายน จึงเป็นวันมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และชาวศรีนครินทรวิโรฒ ควรจะรำลึกถึงปูชนียบุคคลที่สำคัญ 2 ท่าน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งสถานศึกษาแห่งนี้ คือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ดำเนินการซื้อที่ดิน วางผัง บุกเบิกงาน และอีกท่านหนึ่ง ที่ได้ดำเนินการบริหารการศึกษา ได้ดำเนินการบริหารการศึกษาแห่งนี้คู่กันตลอดมาก็คือ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง
  • วันสาโรช บัวศรี

วันที่ 16 กันยายน 2497 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 71 ตอนที่ 61) ถือเป็นวันยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา และเป็นวันที่ตรงกับวันเกิดของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรีด้วย

เพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ ดร. สาโรช บัวศรี จึงเรียกวันที่ 16 กันยายน เป็นวันสาโรช บัวศรี

  • วันสุดใจ เหล่าสุนทร

วันที่ 29 มิถุนายน 2517 เป็นวันยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ตามราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2517 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 112 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 29 มิถุนายน 2517 มหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร และเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร จึงเรียกวันที่ 29 มิถุนายน เป็น วันสุดใจ เหล่าสุนทร

[แก้] ทำเนียบผู้บริหารและอธิการบดี

โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร
รายนามผู้บริหาร วาระการดำรงตำแหน่ง
1. หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ 21 เมษายน พ.ศ. 2492 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2496
2. ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี 1 เมษายน พ.ศ. 2496 - 30 กันยายน พ.ศ. 2496
วิทยาลัยวิชาการศึกษา
2. ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี (ผู้อำนวยการ) 1 ตุลาคม พ.ศ. 2496 - 29 กันยายน พ.ศ. 2497
2. ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี (อธิการบดี) 1 เมษายน พ.ศ. 2496 - 30 กันยายน พ.ศ. 2496
3. ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล 30 กันยายน พ.ศ. 2497 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2499 (รักษาการ)
4. ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร 2 มกราคม พ.ศ. 2512 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517
มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ
4. ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 - 25 มกราคม พ.ศ. 2522
5. ศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร 26 มกราคม พ.ศ. 2522 - 25 มกราคม พ.ศ. 2526
6. รองศาสตราจารย์ ดร.ทรงศักดิ์ ศรีกาฬสินธุ์ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2530
7. รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี เมืองนาโพธิ์ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2536
8. รองศาสตราจารย์ ดร.พจน์ สะเพียรชัย 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2540
9. รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณทา พรหมบุญ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2540 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2546
10. ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน

[แก้] อาคารและสถานที่

  • มศว ประสานมิตร
  • มศว องครักษ์

[แก้] คณะ/สำนักวิชา/วิทยาลัย

[แก้] สถาบัน/ศูนย์และหน่วยงานในมหาวิทยาลัย

[แก้] สถานที่ตั้งมี 2 แห่ง คือ

[แก้] มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

114 ซอยสุขุมวิท 23
เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ 0-2664-1000,0-2649-5000
โทรสาร 0-2258-0311

[แก้] มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์

107 หมู่ที่ 6 ถนนรังสิต-นครนายก คลอง 16
อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 26120
โทรศัพท์ 0-2664-1000
โทรสาร 0-3732-2616

[แก้] งานเทา-งามสัมพันธ์

กิจกรรมเทา-งามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่างๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยนเรศวร แม้ว่าวิทยาเขตต่างๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จึงมีปณิธานที่จะร่วมมือกันในภารกิจอันควรแก่มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี “เทา” ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า “งาม” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น “เทา-งามสัมพันธ์” ในปี 2538 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็น เจ้าภาพโดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีร่วมเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้านคือด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการ

วัตถุประสงค์

  • เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเทา-งามสัมพันธ์ ได้ร่วมกันในภารกิจในด้านต่าง ๆ ตามข้อตกลงความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม
  • เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเทา-งามสัมพันธ์ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านงานวิชาการและวิจัย
  • เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเทา-งามสัมพันธ์ ได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และทำกิจกรรมร่วมกันทั้งกิจกรรมด้านวิชาการและด้านกิจการนิสิต
  • เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเทา-งามสัมพันธ์ โดยเฉพาะนิสิตได้มีโอกาสทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมในการ ออกค่ายนิสิตเทา-งามสัมพันธ์

[แก้] ศิษย์เก่า

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2529 ด้วยแต้มเฉลี่ย 3.86

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗, เล่ม ๙๑, ตอน ๑๑๒ ก ฉบับพิเศษ, ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗, หน้า ๑

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น