อาทิตย์ กำลังเอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก (31 สิงหาคม พ.ศ. 2468 -) อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย เป็นบุตร ร้อยตรี พิณ และนางสาคร กำลังเอก สมรสกับท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก (3 กุมภาพันธ์ 2474 - 11 มีนาคม 2526) [1]

เนื้อหา

[แก้] การศึกษา

สำเร็จชั้นประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนพรหมวิทยามูล สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยม 6 จาก โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน พ.ศ. 2484 และเข้าศึกษาโรงเรียนเตรียมทหารบก รุ่นที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2487 - 2491 รุ่นเดียวกับ พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ พลเอกบรรจบ บุนนาค และพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ [2]

[แก้] ตำแหน่งทางการทหาร และการเมือง

พลเอกอาทิตย์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2525 สืบต่อจาก พลเอกประยุทธ จารุมณี ที่เกษียณอายุราชการ จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2526 สืบต่อจากพลเอกสายหยุด เกิดผล โดยดำรงตำแหน่งทั้งสองควบคู่กัน

ขณะนั้นตรงกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลังโดยนายสมหมาย ฮุนตระกูลได้มีการลดค่าเงินบาท เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ถึง 14.8% จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ พลเอกอาทิตย์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง [3] ทำให้เกิดความบาดหมาง และนำมาซึ่งการไม่ต่ออายุราชการของพลเอกอาทิตย์ และการปลดพลเอกอาทิตย์ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก อย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 และแต่งตั้งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งแทน [4]

หลังจากเกษียณราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกอาทิตย์ได้เข้ามาเล่นการเมือง โดยได้ก่อตั้งพรรคปวงชนชาวไทย สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ [note 1] แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ ก็ถูกจี้จับตัวโดยคณะ รสช. นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ขณะกำลังเดินทางไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 [4]

ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคปวงชนชาวไทยของพลเอกอาทิตย์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคชาติพัฒนา โดยมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นหัวหน้าพรรค

[แก้] เชิงอรรถ

  1. ^ ในขณะนั้นเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาล กับคณะนายทหารทั้งสามเหล่าทัพ ซึ่งนำโดย จปร.รุ่น 5 พลเอกชาติชายจึงแต่งตั้งพลเอกอาทิตย์เข้ามาเป็น รมช.กลาโหม เพื่อคานอำนาจ โดยมีข่าวลือว่า พลเอกอาทิตย์จะปลดนายทหาร จปร.5 ออกจากตำแหน่งทั้งหมด กลุ่มนายทหารจึงชิงก่อการรัฐประหารเสียก่อน

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ แด่เธอผู้เป็นที่รัก พลเอกอาทิตย์ นิตยสารผู้จัดการ, กันยายน 2527
  2. ^ เสถียร จันทิมาธร. เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร, อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงา เปรม ติณสูลานนท์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. 306 หน้า. ISBN 974-323-825-5
  3. ^ วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ออลบุ๊คส์, 2549. ISBN 974-94-5539-8
  4. ^ 4.0 4.1 กองบรรณาธิการมติชน. 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน พ.ศ. 2521-2549. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2549. 424 หน้า. ISBN 974-323-889-1


Nuvola apps agent.svg อาทิตย์ กำลังเอก เป็นบทความเกี่ยวกับ ทหาร การทหาร หรืออาวุธ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อาทิตย์ กำลังเอก ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:การทหาร