เกษม สุวรรณกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล
เกษม สุวรรณกุล

ดำรงตำแหน่ง
10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 – 22 กันยายน พ.ศ. 2535
นายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน
สมัยก่อนหน้า นายทวิช กลิ่นประทุม
สมัยถัดไป นายสุเทพ อัตถากร

เกิด 1 มีนาคม พ.ศ. 2473 (อายุ 80 ปี)
จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศไทย Flag of ไทย
ศาสนา พุทธ

ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2473 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สำเร็จปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2494 (รุ่นที่ 1) โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของรุ่น เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี 2495 จากการชักชวนของท่านศาสตราจารย์ เกษม อุทยานิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ในขณะนั้น หลังจากเป็นอาจารย์ได้เพียงปีเศษ สามารถสอบชิงทุนฟูลไบรท์ ไปศึกษาต่อวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาโทกลับมาสอนหนังสือได้เพียงปีเศษก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับทุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อทำปริญญาเอกต่อที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

[แก้] การทำงาน

ภายหลังได้รับปริญญาเอกทางการบริหารและการปกครองแล้วจึงกลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่คณะรัฐศาสตร์อีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการนักบริหารสำนักงานเลขาธิการ จุฬาฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง การปฏิบัติหน้าที่มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยในปี 2513 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จนถึงปี 2517 ต่อมาในปี 2520 ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำรงตำแหน่งอีก 4 สมัย จนถึงปี 2531 รวมระยะเวลาที่เป็นอธิการบดีทั้งสิ้น 11 ปีเศษ ซึ่งในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์หลายประการ อาทิเช่น การผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 ขึ้นแทนพระราชบัญญัติฉบับเดิมซึ่งใช้มากว่า 30 ปีแล้ว การก่อตั้งศูนย์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2522 การก่อตั้งสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2524 การจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในปี 2526 และการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมวัฒนาธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2538 เป็นต้น

นอกจากการเป็นอาจารย์และปฏิบัติงานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ยังได้รับความไว้วางใจจากหลายฝ่ายให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่สำคัญๆ มาโดยตลอด อาทิ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ. 2517) รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย 6 สมัย รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2535 ในสมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เลขาธิการสภากาชาดไทย (พ.ศ. 2532-2534) ประธานกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) วุฒิสมาชิก (พ.ศ. 2526-2531) นายกสภามหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง และยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

แม้ปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ยังมีบทบาทสำคัญในการทำคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการได้รับพระบรมราชโอกาสโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยต่างๆ 8 มหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นประธานกรรมการ กรรมการและที่ปรึกษาให้แก่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคเอกชนอีกหลายแห่ง อาทิ ประธานกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) (กฎหมายการศึกษา) ประธาน อ.ก.พ.พัฒนาข้าราชการ กรรมการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ประธานกรรมการโครงการคนไทยตัวอย่างของมูลนิธิธารน้ำใจ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ ดร.วิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ เป็นต้น

ผลจากการประกอบคุณงามความดีเป็นอเนกอนันต์ดังกล่าว ทำให้ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ อันนำความปลื้มปิติยินดีมาสู่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ยังได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม (ด้านการศึกษา) จากคณะกรรมการคัดเลือกและเผยแพร่ผลงานดีเด่นของชาติ อันเนื่องมาจากที่ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ความขยันหมั่นเพียรตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ท่านเกี่ยวข้องกับการบริหารอุดมศึกษา แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมจนเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยกย่องอย่างสูงในวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ได้สร้างความเจริญก้าวหน้า และความเป็นปึกแผ่นทางการศึกษาเป็นอเนกประการ

[แก้] อ้างอิง