เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ)
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) (30 ตุลาคม พ.ศ. 2428 - 25 กันยายน พ.ศ. 2519) ขุนนาง 5 แผ่นดิน อดีตประธานศาลฎีกา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีหลายกระทรวง เคยดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ประธานองคมนตรี เจ้าพระยาคนสุดท้ายของประเทศไทย

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เกิดวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2428 ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดที่บ้านพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มารดาของท่านคือ ท่านเชื้อ ธิดาของหลวงอุปการโกศากร (เวท วัชราภัย) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน เป็นพี่ชาย พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ สมรสกับ ท่านผู้หญิงน้อม (พหลโยธิน) มีบุตรธิดา 9 คน

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายในสำนักเกรย์อิน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในพระอุปถัมภ์ของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หลังจากรับราชการในกระทรวงยุติธรรม ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระจินดาภิรมย์ราชสภาบดี และต่อมาเป็น มหาอำมาตย์โท พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี เมื่อปี พ.ศ. 2459 โดยดำรงตำแหน่งเป็น ประธานศาลฎีกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 พระยาจินดาภิรมย์ฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ ขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม นับเป็นขุนนางชั้นสูงระดับ "เจ้าพระยา" คนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ มีบทบาทในคณะรัฐมนตรีหลายคณะ โดยดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการคลัง ภายหลังพ้นภารกิจทางการเมืองแล้ว ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และเคยดำรงตำแหน่ง ประธานองคมนตรี ในรัชกาลปัจจุบัน

นอกจากได้รับราชการและทำงานด้านการเมือง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศยังมีความสำคัญกับวงการประกันชีวิตของไทย โดยเมื่อ ปี พ.ศ. 2489 ได้เป็นผู้ก่อตั้ง และประธานคนแรก ของ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทย ที่ก่อตั้ง และบริหารงานโดยคนไทย และยังคงดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2519 สิริอายุได้ 90 ปี 11 เดือน 8 วัน หลังจากรับราชการทั้ง ด้านตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ และองคมนตรี รวมทั้งสิ้นถึง 72 ปี

เนื้อหา

[แก้] ประวัติการศึกษา

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
  • เรียนหนังสือแบบเรียนหลวงชุดมูลบทบรรพกิจ ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จบเล่มพิศาลการันต์ จากครูขวด ที่เมืองสงขลา จากนั้นได้อพยพจากสงขลา มาพำนักในกรุงเทพมหานคร
  • ปี พ.ศ. 2435 ได้เข้าศึกษาที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ เลขประจำตัว (อสช 771) จนจบชั้นสูงสุดสายวิชาสามัญ โดยได้คะแนนสอบเป็นที่ 1
  • หลังจากนั้นท่านได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
  • สมัครเข้าเป็นล่ามฝึกหัดใน กรมกองหมาย ซึ่งไม่มีเงินเดือนหรือรายได้ใด ๆ แต่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ภาษาอังกฤษ
  • ปี พ.ศ. 2448 สอบเป็น เนติบัณฑิตสยาม ได้เมื่ออายุเพียง 20 ปี 1 เดือน และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการประจำ ในกรมกองหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษ
  • ปี พ.ศ. 2449 ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 โดยใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี ไปเปลี่ยนเรือโดยสารที่สิงคโปร์ กระทรวงยุติธรรมจึงได้ขอพระบรมราชานุญาตให้นายจิตรร่วมกระบวนเสด็จไปประเทศอังกฤษ
  • สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ โดยใช้เวลาศึกษาวิชากฎหมายที่ สำนักเกรย์อิน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง และตลอดระยะเวลาที่ศึกษา ได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับวิชากฎหมายอีกด้วย

[แก้] ประวัติการทำงาน

เมื่อนายจิตรสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษแล้วได้เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากรเป็นเสนาบดี ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้พิพากษาศาลแพ่ง และ 3 เดือนต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงจินดาภิรมย์ และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ

  • ปี พ.ศ. 2455 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ว่าที่อธิบดีกองหมาย กองล้มละลาย และหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เป็นคนไทยคนแรกจากเดิมที่เป็นชาวต่างประเทศ
  • ปี พ.ศ. 2456 ได้รับแต่งตั้งเป็น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2456 และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระจินดาภิรมย์ราชสภาบดี
  • ปี พ.ศ. 2459 ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี
  • ปี พ.ศ. 2460 เป็นผู้พิพากษาศาลทรัพย์เชลย และเป็นเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา
  • ปี พ.ศ. 2461 ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ปี พ.ศ. 2464 ได้รับแต่งตั้งเป็น ตุลาการแห่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ของ สันติบาตชาติ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
    • เป็นประธานผู้ชี้ขาดในการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างสะพานพระราม 6 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ปี พ.ศ. 2465 เป็นกรรมการศาลฎีกา (พ.ศ. 2465 - 2468)
    • เป็นผู้แทนสภากาชาดสยาม ในการประชุม สภากาชาดนานาประเทศ ครั้งที่ 1 ในบูรพาทิศ
  • ปี พ.ศ. 2466 เป็น กรรมการกรมร่างกฎหมาย
  • ปี พ.ศ. 2467 เป็น นายกกรรมการเนติบัณฑิตยสภา
  • ปี พ.ศ. 2470 เป็น อธิบดีศาลฎีกา
  • ปี พ.ศ. 2471 ดำรงตำแหน่งเป็น เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
  • ปี พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น "เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ" ดำรงศักดินา 10000
  • ปี พ.ศ. 2476 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2476 - 2477)
  • ปี พ.ศ. 2477 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 และได้รับเลือกเป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2477 – 2479 )
  • ปี พ.ศ. 2480 เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ครั้งแรก
  • ปี พ.ศ. 2481 เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • ปี พ.ศ. 2487 เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 2
  • ปี พ.ศ. 2489 เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 3
  • ปี พ.ศ. 2490 เป็น สมาชิกวุฒิสภา และประธานวุฒิสภา (พ.ศ. 2490 – 2494)
  • ปี พ.ศ. 2491 เป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้รับเลือกเป็น ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2491 – 2592) ได้จัดทำ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาดีที่สุดฉบับหนึ่ง และต่อมาถูกล้มเลิกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำรัฐประหารและนำฉบับ พ.ศ. 2475 กลับมาใช้
  • ปี พ.ศ. 2492 เป็น ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง และเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยตำแหน่ง (พ.ศ. 2492 – 2494)
  • ปี พ.ศ. 2495 ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น องคมนตรี (8 เมษายน 2495 - 25 กันยายน พ.ศ. 2519)
  • ปี พ.ศ. 2506 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานองคมนตรี (27 พฤษภาคม 2506-8 มิถุนายน 2506 , 9 กรกฎาคม 2506-14 กรกฎาคม 2506)

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ

"เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ" (จิตร ณ สงขลา) มีสมญาจารึกในหิรัญบัฎว่า

"เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ สมันตเนตรนิศุทธยุตติธรรมธร วิสดรนีติศาสตรราชประเพณี วิเชียรคีรีสัลลีวงศวัยวฑฒน์ บรมกษัตรสุนทรมหาสวามิภักดิ์ สุขุมลักษณ์สุจริตาร์ชวาศรัย ศรีรัตนตรัยสรณาภิรดี อภัยพีรยปรากรมพาหุ"

[แก้] ผลงานทางวิชาการ

  • คำอธิบายกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท
  • คำอธิบายกฎหมายลักษณะพิจารณาคำพยานหลักฐาน
  • คำอธิบายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และวิธีพิจารณาความแพ่ง
  • คำอธิบายกฎหมายล้มละลาย
  • คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

[แก้] อ้างอิง