เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ

ร้อยตำรวจโทเชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดราชบุรี

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ที่จังหวัดราชบุรี ร.ต.ท.เชาวรินจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโท สาขาพัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ร.ต.ท.เชาวรินก่อนจะมาเล่นการเมืองนั้น เดิมเคยเป็นนายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ร.ต.ท.เชาวรินเป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างนายชวน หลีกภัย ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นผู้ที่บอกให้นายชวนหลบหนีไปจากการตามล่าของผู้ชุมนุม แต่นายชวนไม่หนี[1]

ร.ต.ท.เชาวรินมีฉายาว่า "สากกระเบือ" อันเนื่องมาจากครั้งหนึ่งเคยนำสากกระเบือเข้าสภาฯ[2] และ "โกโบริน" อันเนื่องมาจากความเชื่อส่วนตัวที่เชื่อว่า ภายในถ้ำลิเจีย อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีขุมทรัพย์โดยเฉพาะทองคำจำนวนมากที่ทหารญี่ปุ่นนำมาซ่อนไว้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้เจ้าตัวจะพยายามขุดค้นหาและออกข่าวหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เจอ จนเคยเป็นข่าวโด่งดังมาแล้วครั้งหนึ่งถึงเรื่องพันธบัตร กระนั้น ร.ต.ท.เชาวรินก็ยังยืนยันว่า เป็นความเชื่อส่วนตัว[3]

ร.ต.ท.เชาวรินเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์, พ.ศ. 2526 สังกัดพรรคชาติไทยและอยู่กับพรรคชาติไทยมาตลอดจนถึง พ.ศ. 2544, พ.ศ. 2529, พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2538 โดยใน พ.ศ. 2538 ร.ต.ท.เชาวรินได้รับการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย หลังจากนั้น ร.ต.ท.เชาวรินตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในจังหวัดราชบุรี และได้รับเลือก หลังจากนั้นมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549

ร.ต.ท.เชาวรินจึงลงรับเลือกตั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ก่อนที่พรรคจะถูกยุบและย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย โดย ร.ต.ท.เชาวรินเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อีกด้วย ซึ่งการอภิปรายในครั้งนั้น ร.ต.ท.เชาวรินได้นำวีซีดีภาพการฆ่าตัดศีรษะทหารไทยในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มาฉายระหว่างการอภิปรายด้วย ซึ่งหลายฝ่ายได้ออกมาประณามในกรณีนี้[4]

ร.ต.ท.เชาวรินเคยไม่ได้รับการเลือกตั้งครั้งหนึ่งจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย โดยแพ้ให้กับนางประไพพรรณ เส็งประเสริฐ จากพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้แล้ว ร.ต.ท.เชาวรินยังเป็นผู้ที่ชื่นชอบการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ โดยเฉพาะเครื่องแบบที่ต้องติดตราประดับหรือแถบสีต่างๆ

[แก้] ประวัติการทำงาน

  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2526
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2529
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2535/1
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2535/2
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2538
  • เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 พุทธศักราช 2529
  • ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พุทธศักราช 2529
  • โฆษกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2531
  • ผู้ช่วยเลขาธิการประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พุทธศักราช 2532
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2538 – 2539
  • สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดราชบุรี 2543 - 2549
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พุทธศักราช 2551

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • มหาวชิรมงกุฎ พุทธศักราช 2537
  • มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก พุทธศักราช 2538

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น