อุทัย พิมพ์ใจชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อุทัย พิมพ์ใจชน

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีต ส.ส. จังหวัดชลบุรี หลายสมัย

[แก้] ประวัติ

นายอุทัย พิมพ์ใจชน เกิดวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2481 ที่จังหวัดชลบุรี เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ยึดอำนาจตัวเอง นายอุทัย พิมพ์ใจชน พร้อมด้วย ส.ส. อีก 2 คน คือนายอนันต์ ภักดิ์ประไพและนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏ ถือเป็นท้าทายอำนาจของผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา แต่แล้วศาลได้ตีความ และทำให้ทั้งสามคนตกเป็นจำเลย และถูกจำคุก

ในปี พ.ศ. 2522 เมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พ้นวาระและประกาศวางมือการเมือง นายอุทัยได้ลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป กับ นายชวน หลีกภัย เพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเดียวกับ และ พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่าย โดยนายอุทัยได้รับการสนับสนุนจาก นายธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตเลขาธิการพรรค ด้วยความเป็นคนชลบุรีด้วยกัน ปรากฏว่า ที่ประชุมพรรคได้เลือก พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป หลังจากนั้นไม่นาน นายอุทัยก็ได้ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเองทั้งพรรคก้าวหน้า และพรรคเอกภาพ

นายอุทัย มีข่าวให้สังคมฮือฮาในปี พ.ศ. 2537 ขณะดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อถูกติวเตอร์คนหนึ่ง ปาถุงอุจจาระ ใส่ขณะแถลงข่าว หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น นายอุทัย ไม่ได้ดำเนินคดี หรือตอบโต้ใด ๆ กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งส่งผลดีกับภาพลักษณ์ของนายอุทัย ในฐานะเป็นผู้มีอาวุโส ที่ไม่ใช้อำนาจกับผู้ด้อยอำนาจกว่า

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 นายอุทัยได้รับเลือกให้เป็น ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ในปี พ.ศ. 2544 เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง นายอุทัยก็ได้ย้ายตัวเองเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร ต่อมาในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ท้องสนามหลวง นายอุทัยได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ต่อมาในการเลือกตั้งวุฒิสภาชิกเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 นายอุทัยก็ได้ลงรับสมัครในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง

ก่อนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นายอุทัยเป็นบุคคลหนึ่ง ที่แสดงความเห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

[แก้] ประวัติทางการเมือง

  • พ.ศ. 2512 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์
  • พ.ศ. 2518
    • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์
    • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
  • พ.ศ. 2519
    • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์
    • ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา
  • พ.ศ. 2526
    • ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคก้าวหน้า
    • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวหน้า
  • พ.ศ. 2526-2529 ประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • พ.ศ. 2529 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวหน้า
  • พ.ศ. 2531 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวหน้า
  • พ.ศ. 2533–2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • พ.ศ. 2535 หัวหน้าพรรคเอกภาพ
  • พ.ศ. 2535 (มีนาคม) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคเอกภาพ
  • พ.ศ. 2535 (กันยายน) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี พรรคเอกภาพ
  • พ.ศ. 2535–2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • พ.ศ. 2540 ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
  • พ.ศ. 2544-48 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์