ระพี สาคริก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทย

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก (4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 - ) ราษฎรอาวุโส นักวิจัย นักวิชาการเกษตรผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์

เนื้อหา

[แก้] ชีวิตเมื่อเยาว์วัยและการศึกษา

ศาสตราจารย์ระพี สาคริกเกิดที่วรจักร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนโตของขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตริยสมุห (เนื่อง สาคริก) และคุณแม่สนิท ภมรสูตร เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนสามเสนวิทยาคาร และจากนั้นได้ย้ายโรงเรียนอีกหลายแห่ง ตั้งแต่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรหรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน จนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ และได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการถึง 2 ใบจากนั้น จึงได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ต่อมาสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2486) ซึ่งเปิดสอนระดับเตรียมมหาวิทยาลัยที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ (แม่โจ้รุ่น 7) โดยศึกษาในคณะเกษตร ศาสตราจารย์ระพี สาคริกได้เลือกศึกษาด้านกสิกรรมและสัตวบาล สาขาปฐพีวิทยาระดับปริญญาตรีและได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อ พ.ศ. 2490

[แก้] การทำงาน

ศาสตราจารย์ระพี สาคริกได้รับการทาบทามจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่กรุงเทพฯ ให้เข้าเป็นอาจารย์ประจำ แต่เนื่องจากความชอบทำงานค้นคว้าภาคสนามจึงเลือกไปทำงานที่สถานีทดลองกสิกรรมที่แม่โจ้ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์ผักและยาสูบ ในขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาค้นคว้าด้าน "กล้วยไม้" ไปด้วยด้วยทุนส่วนตัว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกิจวัตรในชีวิตของท่านทีได้อุทิศให้กับงานค้นคว้าวิจัยด้านกล้วยไม้ตลอดมาจนได้รับการยอมรับจากวงการกล้วยไม้ของโลกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญมากที่สุดผู้หนึ่ง เมื่อทำงานวิจัยได้ 2 ปี จึงกลับเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลงานการค้นคว้าและส่งเสริมกล้วยไม้ทั้งในด้านการปรับปรุงพันุธุ์ ขยายพันธุ์ตลอดจนด้านธุรกิจการส่งออก ทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกด้านเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ด้วยเหตูนี้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริกจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2511) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดด้านวิชาการ นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (พ.ศ. 2513) อีกด้วย

ศาสตราจารย์ระพี สาคริกเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญอีกมากมาย ปัจจุบัน แม้จะเกษียณอายุราชการนานแล้วก็ตาม ศาสตราจารย์ระพี สาคริกก็ยังได้รับความเคารพยกย่องเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย

[แก้] ชีวิตครอบครัว

ศาสตราจารย์ระพี สาคริกในวัยชราที่สงบสุข

ศาสตราจารย์ระพี สาคริกสมรสกับคุณกัลยา มนตริวัตร (บุตรีขุนพิชัยมนตรี หัวหน้าเสรีไทยสายกาญจนบุรีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) มีบุตร 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน

เมื่อ พ.ศ. 2533 ศาสตราจารย์ระพี สาคริกได้ลาออกจากตำแหน่งประจำต่างๆ ที่ท่านดำรงทั้งภาคราชการ กึ่งราชการและภาคเอกชน เพื่อหันมาใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่าย เหลือเพียงการเป็นที่ปรึกษาให้วิทยาทานด้วยการบรรยาย สัมมนา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาชนบทและเยาวชนที่เน้นด้านคุณธรรมและจริยธรรม

[แก้] อ้างอิง

  • ประภาภัทร นิยม หอมทวนลม -The Language Of Orchids, A Treasure of Wisdom & Inspiration. กรุงเทพฯ:ลิปส์ พับบลิชชิง, 2549.
  • ระพี สาคริก 80 ปี ศาสตราจารย์ระพี สาคริก, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะเกษตร, 2545.
  • http://www.rapee.org รวบรวมผลงาน บทความ หนังสือ กล้วยไม้ ของศาสตราจารย์ ระพี สาคริก สามารถอ่านออนไลน์และดาวน์โหลดได้ เช่น อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ, มองปัญหาไทย ผ่านไวตาทิพย์, หลักในการใช้ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้และต้นไม้ทั่วๆไป, หายนภัยการเกษตรไทย, สู่แดนมนุษยกินคน, รายงานการศึกษาการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้, การดูลักษณะกล้วยไม้สกุลแวนด้า ฯลฯ

alive}}