เสนาะ เทียนทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นายเสนาะ เทียนทอง

นายเสนาะ เทียนทอง (1 เมษายน พ.ศ. 2477 —) หัวหน้าพรรคประชาราช ผู้นำ ส.ส.กลุ่มวังน้ำเย็น จบการศึกษาขั้นสูงสุด ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเสนาะมีชื่อที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า "ป๋าเหนาะ"

นายเสนาะ ได้รับฉายาหลายฉายา เช่น " เจ้าพ่อวังน้ำเย็น " และ " ผู้จัดการรัฐบาล " มีบทบาทสนับสนุน หัวหน้าพรรคการเมืองขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี มาแล้วถึง 3 คน คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

สิ่งที่น่าจดจำอีกประการเกี่ยวกับนายเสนาะ คือขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ยาม้า" ยาเสพติด ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักใน ประเทศไทย ไปเป็น "ยาบ้า" และยังคงใช้เป็นชื่อเรียกยาเสพติด ชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

นายเสนาะ เทียนทอง มีภรรยาคือนางอุไรวรรณ เทียนทอง มีบุตรชายด้วยกัน 4 คนคือ บอย-สรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.จังหวัดสระแก้ว, โอ๋-สุรศักดิ์ เทียนทอง รับราชการตำรวจ , อุ้ม-สุรเกียรติ เทียนทอง เป็นประธานบริษัท เคเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป และคนสุดท้อง อ๊อบ-สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร เขต 4 อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไทยเบฟเวอเรจ (เบียร์ช้าง) และมี บุตรสาว 1 คน เป็นคนก่อนสุดท้องคือ บี-สิริวัลย์ เทียนทอง

นอกจากนี้นายเสนาะมีน้องชายคนสุดท้องคือ นายพิเชษฐ์ เทียนทอง ที่มีบุตรคือ นายฐานิสร์ เทียนทอง และ นางสาวตรีนุช เทียนทอง เป็นส.ส. จังหวัดสระแก้วทั้งคู่ และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดสระแก้ว เขต 1 พร้อมกับ นายสรวงศ์ เทียนทอง ลูกชายคนโตของนายเสนาะ เทียนทอง

[แก้] ประวัติการทำงานการเมือง

นายเสนาะ เทียนทอง เริ่มงานการเมืองครั้งแรกกับพรรคชาติไทย เมื่อปี พ.ศ. 2518 และลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี และสระแก้ว (เมื่อ สระแก้ว แยกออกมาเป็นจังหวัดใหม่) ต่อมานายเสนาะเริ่มมีบทบาทในพรรคมากขึ้น ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทย ขณะที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมานายบรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2538

นายเสนาะ ลาออกจากพรรคชาติไทย เมื่อ พ.ศ. 2539 หลังจากนายบรรหาร ศิลปอาชา ประกาศยุบสภา เข้าร่วมพรรคความหวังใหม่ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ส่งให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายเสนาะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา นายเสนาะ ได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และสนับสนุนให้ พตท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย และไม่รับตำแหน่งทางการเมือง โดยให้นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยา รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลในโควตากลุ่มวังน้ำเย็น

ในระยะหลัง นายเสนาะถูกลดบทบาทความสำคัญในพรรค สร้างความไม่พอใจ จนกระทั่งในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นการสรรหา ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2548 นายเสนาะได้อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อย่างรุนแรง

นายเสนาะลาออกจากพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 หลังจากที่ พตท. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภา และได้ขึ้นเวทีในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง จากนั้นนายเสนาะได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า พรรคประชาราช โดยในช่วงแรกของการตั้งพรรคนั้น นายเสนาะจะเป็นหัวหน้าพรรค โดยนโยบายหลักของพรรคที่ประกาศคือ "เพื่อปฏิรูปการเมือง และล้มล้างระบอบทักษิณ"

ภูมิหลังที่ถูกกล่าวขวัญมาก คือ กรณีเสนอวิธีแก้ปัญหาเรื่องส่วยตำรวจทางหลวง โดยให้แก้กฎหมายเพิ่มน้ำหนักบรรทุกสูงสุดของรถบรรทุก จาก 21 ตัน เป็น 28 ตัน และกรณีแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียกแอมเฟตามีน จาก ยาม้า เป็น ยาบ้า


[แก้] การยึดทรัพย์

ในการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ปรากฏว่านายเสนาะ เป็น 1 ใน 10 นักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์ในครั้งนี้จำนวนกว่า 62.68 ล้านบาท [1]

[แก้] ประวัติการทำงาน

  • 2519  : สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
  • 2523  : ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • 2529  : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • 2531-2533 : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • 2535  : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
  • 2538  : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • 2539  : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสระแก้ว 10 สมัย
  • 2540  : นายกสภาประจำสถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Crystal Clear app Login Manager.png เสนาะ เทียนทอง เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ เสนาะ เทียนทอง ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ