โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ
บดินทรเดชา


2nmrbd.JPG
“ ลูกบดินทรเป็นผู้ประพฤติดี และมีความรู้ ”

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เป็นโรงเรียนในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในกลุ่มโรงเรียน 9 นวมินทราชินูทิศ และเป็นโรงเรียนในเครือบดินทรเดชา แห่งที่ 3 เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม พ.ศ. 2534 กรมสามัญศึกษาได้พิจารณาดำเนินการรับที่ดินไว้จัดตั้งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2535 กรมสามัญศึกษาได้มอบหมายให้โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ประสานงานจัดตั้งโรงเรียนในโครงการ 1 ใน 9 โรงเรียน โดยใช้ที่ดินบริจาคของคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ในซอยลาดพร้าว 69 จำนวน 5 ไร่ และใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๓"[1]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 โดยเป็นโรงเรียน 1 ใน 9 โรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมมายุ 60 พรรษา ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถว่า "นวมินทราชินูทิศ" และโดยที่กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้อยู่ในความดูแลของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในระยะเริ่มแรก กระทรวงศึกษาธิการจึงให้เติมต่อท้ายชื่อ ว่า "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา" และได้รับมอบหมายให้คุณหญิงลักขณา แสงสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในขณะนั้นเป็นผู้ประสานการจัดตั้งและดูแล โดยมีนายอมรรัตน์ ปิ่นเงิน เป็นผู้บริหารคนแรก[2]

ปัจจุบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ มีผู้บริหารสถานศึกษามาแล้ว 5 คน เปิดทำการสอนช่วงชั้นที่ 3 - 4 (ม.1 - 6) จำนวน 68 ห้องเรียน แบ่งเป็นห้องเรียนธรรมดาจำนวน 60 ห้องเรียน และห้องเรียนโครงการ Extra – curricula English Program จำนวน 8 ห้องเรียน แผนการเรียน วิทย์-คณิต, ภาษา (ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส), เน้นคณิตศาสตร์ และไม่เน้นคณิตศาสตร์ จำนวนนักเรียน 3,138 คน และครูอาจารย์ 134 คน (ปีการศึกษา 2550) [3]

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

อาคาร 9 ชั้น ภาพถ่ายขณะจัดงานทำบุญตักบาตรในโรงเรียน

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เป็น 1 ใน 9 แห่งของกลุ่มโรงเรียน 9 นวมินทราชินูทิศ ซึ่งสถาปนาขึ้นเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้สถาปนาโรงเรียนในโครงการเฉลิมพระเกียรติขึ้นจำนวน 9 แห่ง โดยโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 บนพื้นที่ 5 ไร่ บริเวณซอยลาดพร้าว 69 ซึ่งได้รับการบริจาคจากคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ (ปัจจุบัน โรงเรียนได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 15 ไร่) การก่อตั้งโรงเรียนในระยะแรกนั้น กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ประสานงานการจัดตั้งโรงเรียน ดังนั้น จึงใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 3"[1] ต่อมา เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า "นวมินทราชินูทิศ" แล้ว จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา"

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เปิดทำการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2535 เป็นปีแรก ในระยะเริ่มแรกนั้น ใช้สถานที่ของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)ในการดำเนินการสอน จนกระทั่ง ปีการศึกษา 2538 จึงได้จัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 4 พร้อมทั้งย้ายการเรียนการสอนมาที่โรงเรียนทั้งหมด

ในสมัยนางภรภัทร สิทธิวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ได้มีการกำหนดระบบประกันคุณภาพการศึกษาและมีการพัฒนาโรงเรียนอย่างมากในทุก ๆ ด้าน อาทิ ขยายโรงอาหาร ขยายห้องศูนย์คอมพิวเตอร์ ปรับปรุงสวน สร้างลานกีฬา หอประชุมบริเวณดาดฟ้า เป็นต้น ปัจจุบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ[2][4] ทำการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1 - 6 พร้อมด้วยนักเรียนในโครงการภาษาอังกฤษ นักเรียนในโครงการความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ โดยมีการประกันคุณภาพเพื่อดำเนินการเป็นไปตามระบบสากล

[แก้] ความหมายของชื่อโรงเรียน

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ พร้อมกันนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ว่า "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ"[5] และเนื่องจากในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียนนั้น กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ประสานงานการจัดตั้งโรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศแห่งนี้ จึงลงท้ายชื่อโรงเรียนว่า "บดินทรเดชา" โดยความหมายของชื่อโรงเรียนนั้น สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน[5] ได้แก่

  • นวมินทราชินูทิศ ซึ่งเกิดจากการสนธิของคำต่าง ๆ ดังนี้
นวม แปลว่า ลำดับที่เก้า
อินทร์ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่
ราชินี แปลว่า พระมเหสี
อุทิศ แปลว่า ทำเพื่อ หรือ สละให้อย่างเจาะจง

ดังนั้น นาม "นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา" จึงมีความหมายว่า โรงเรียนสาขาบดินทรเดชา ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อถวายแด่พระราชินีแห่งพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9

[แก้] สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

มงกุฎขัตติยราชนารี เครื่องหมายประจำโรงเรียน
  • มงกุฎขัตติยราชนารี คือ พระมหาพิชัยมงกุฏประดับพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. ถือเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้นำมงกุฎขัตติยราชนารีมาใช้เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน[1]
  • พระพุทธพรนวมินทรราชินีถวาย เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งเป็นปางประจำพระชนมวารของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีขนาดสูง 1.80 เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ เรือนธรรมกาญจนาภิเษก พระพุทธรูปองค์นี้หล่อขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี ณ โบสถ์วัดรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมทั้งทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตร และประทานพระธาตุ 5 องค์เพื่อบรรจุลงพระเกตุเมาฬี หลังจากนั้น ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 พระองค์ได้ถวายนามพระพุทธรูปประจำโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ว่า "พระพุทธพรนวมินทรราชินีถวาย" อันมีความหมายว่า "พระพุทธพรถวายสมเด็จพระบรมราชินีที่ 9"[6]
  • เพลงมาร์ชนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เป็นเพลงประจำโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ประพันธ์ขึ้นโดย นางสาวกมลทิพย์ เศวตมาลย์ และเรียบเรียงทำนองโดย นายประยงค์ ชื่นเย็น[7]
  • เก้ากัลปพฤกษ์ คือ ต้นกัลปพฤกษ์จำนวน 9 ต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน ปลูกขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2537 โดยมีคุณหญิงลักขณา แสงสนิท ผู้ก่อตั้งโรงเรียน, นายสิทธิรักษ์ จันทร์สว่าง (ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2), นายอมรรัตน์ ปิ่นเงิน (ผู้อำนวยการโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา), ตัวแทนคณาจารย์, ตัวแทนผู้ปกครอง, ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.3, ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.2, ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.1 และตัวแทนชุมชน เป็นผู้ปลูกกัลปพฤกษ์ทั้ง 9 ต้น[6]
  • สีน้ำเงิน-ฟ้า เป็นสีประจำโรงเรียน โดยสีน้ำเงินนั้นเป็นสีประจำโรงเรียนในเครือบดินทรเดชา และสีฟ้าเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

[แก้] รายนามผู้บริหารโรงเรียน

รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
นายอมรรัตน์ ปิ่นเงิน 27 ตุลาคม พ.ศ. 2535 - 4 มกราคม พ.ศ. 2541
นายปลองยุทธ์ อินทพันธ์ 5 มกราคม พ.ศ. 2541 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2545
นางภรภัทร สิทธิวงศ์ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2545 - 30 กันยายน พ.ศ. 2548
นายจำลอง เชยอักษร 24 มกราคม พ.ศ. 2549 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
นายโชว์นันต์ มารุตวงศ์ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน

[แก้] อาคารและสถานที่ภายในบริเวณโรงเรียน

[แก้] อาคารต่าง ๆ

อาคาร 9 ชั้น ถ่ายจากอัฒจรรย์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ปัจจุบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา มีอาคารภายในโรงเรียนทั้งสิ้น 3 อาคาร ได้แก่

  1. อาคาร 9 ชั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ชั้น ใช้เป็นอาคารเรียน ห้องพักคณาจารย์ ห้องสมุด ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น สำนักงานผู้อำนวยการ สหกรณ์ร้านค้า นอกจากนี้ บริเวณดาดฟ้าของอาคารยังใช้เป็นสนามกีฬาในร่มและหอประชุมขนาดกลางด้วย
  2. อาคารอเนกประสงค์ 4 ชั้น เป็นที่ตั้งของโรงอาหาร ห้องเรียนที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ เช่น ห้องศิลปะ ห้องดนตรีไทย ห้องอุตสาหกรรม ห้องงานบ้าน และเป็นที่ตั้งของหอประชุม
  3. เรือนธรรมกาญจนาภิเษก เป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธพรนวมินทรราชินีถวาย" รวมทั้ง รูปเหมือน "เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)" และ รูปเหมือนคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ ผู้บริจาคที่ดิน นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานกลุ่มบริหารงานบุคคล

[แก้] ลานกิจกรรมกีฬา

สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ลานกิจกรรมกีฬาของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นสนามฟุตบอล และมีอัฒจรรย์ขนาดเล็ก
  2. สนามกีฬาในร่ม ประกอบด้วย สนามวอลเล่ย์บอลจำนวน 2 สนามและสนามบาสเก็ตบอลจำนวน 2 สนาม
  3. สนามกีฬาในร่มเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นลานกีฬาในร่มตั้งอยู่ที่ชั้นดาดฟ้าของอาคาร 9 ชั้น ประกอบด้วย สนามแบตมินตันจำนวน 4 สนามและโต๊ะปิงปอง

[แก้] สวนพักผ่อนหย่อนใจ

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา มีสวนพักผ่อนหย่อนใจให้กับนักเรียนภายในสถานศึกษา ได้แก่

  1. สวนพฤกษศาสตร์และธรณีวิทยา ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างอาคาร 9 ชั้น ประกอบด้วย น้ำพุและสวนธรณีวิทยา ซึ่งรวบรวมหินชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทยมาจัดแสดงไว้ รวมทั้ง จัดแสดงฟอสซิลของไดโนเสาร์กินเนื้ออีกด้วย
  2. ห้องสมุดสวนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังห้องสมุดโรงเรียน ประกอบด้วย ศาลาบดินทรดำรง อยู่กลางสวนให้นักเรียนได้อ่านหนังสือท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังจัดแสดงสมุนไพรพื้นบ้านไทย พร้อมป้ายบรรยายลักษณะพืชพันธุ์ให้นักเรียนได้ศึกษาอีกด้วย

[แก้] การเดินทาง

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา มีประตูทางเข้าออก 3 เส้นทาง [8] การเดินทางมายังโรงเรียนสามารถเดินทางมาได้ ดังนี้

  1. ประตูลาดพร้าว 69 (ประตูหลักของโรงเรียน) รถโดยสารประจำทางที่ผ่านทางเข้าซอย ของ ขสมก. ได้แก่ สาย 96, 502, 514, 145, 137, 73 ก, 178, 529 และอื่น ๆ [9]
  2. ประตูลาดพร้าว 63 (ประตูด้านหลังอาคาร 9 ชั้น) ใช้เส้นทางเดียวกันกับประตูลาดพร้าว 69
  3. ประตูจักกริช 3 (ทางออกสู่ถนนนาคนิวาส) รถโดยสารประจำทางที่ผ่านทางเข้าซอย ได้แก่ สาย 156 [10]

[แก้] มาตรฐานคุณภาพ

[แก้] มาตรฐานคุณภาพภายนอก

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้รับการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. รอบแรก เมื่อวันที่ 14-16 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้เรียน ด้านผู้บริหาร และด้านครู โดยทางโรงเรียนได้รับการประเมินคุณภาพในระดับดีทั้ง 3 ด้าน[3]

[แก้] ชีวิตในโรงเรียน

ภาพจากงานกัลปพฤกษ์เกมส์ครั้งที่ 7 ณ สนามกีฬาโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) [11]

หลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ใกล้เคียงกับโรงเรียนอื่นๆ คือ ในช่วงชั้นที่ 3 แบ่งเป็น 3 ปี (ม.1 - 3) นักเรียนจะเลือกเรียนสาระเพิ่มเติมในแต่ะปี เมื่อรวมกับสาระพื้นฐานแล้วประมาณ 1,000 - 1,200 ชั่วโมงในแต่ละปีการศึกษา หรือ 3,000 - 3,600 ชั่วโมงใน 3 ปีการศึกษา และช่วงชั้นที่ 4 แบ่งเป็น 3 ปี (ม.4 - 6) มีชั่วโมงเรียนทั้งปีเท่ากับ 1,200 ชั่วโมงขึ้นไป หรือไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมงใน 3 ปีการศึกษา [3] ในด้านกิจกรรม โรงเรียนได้จัดกิจกรรมอื่นๆ ทั้งกิจกรรมกีฬา-ดนตรี, กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์, กิจกรรมส่งเสริมทางด้านศาสนา อาทิ กิจกรรมนำนักเรียนไปปฏิบัติธรรมที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก[12] อีกด้วย

[แก้] กิจกรรมภายในโรงเรียน

[แก้] ชมรม และชุมนุม

ชมรม และชุมนุม ในโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนภายในโรงเรียน สร้างความรู้จัก พบปะกันมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกชมรมได้ตามความสนใจของนักเรียน ไม่จำกัดชั้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนจัดกิจกรรมชุมนุมการสอนดนตรี วิชาศิลปะ นาฏศิลป์ และกีฬา ในชั่วโมงชุมนุมหลังเลิกเรียนทุกวัน [13]

[แก้] กีฬา

มหกรรมกีฬา 5 บดินทร ครั้งที่ 3 16 ธันวาคม 2548 ณ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา

นอกจากการเรียนกีฬาภายในชั่วโมงเรียนแล้ว โรงเรียนยังฝึกให้นักเรียนมึความรับผิดชอบ โดยจัดกิจกรรมกีฬากัลปพฤกษ์เกมส์[12] เป็นกีฬาสีภายในโรงเรียน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 คณะสีอันประกอบด้วย มิ่งมหามงกุฎ, ดุจขวัญขัตติยะ, เดชะนวราช, นฤนาถนารี, มนัสวีร์บดินทร [14] ในกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม ฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะ สร้างความสามัคคีกลมเกลียวภายในโรงเรียน นอกจากนี้ ยังเป็นการคัดเลือกตัวแทนเพื่อแข่งขันใน มหกรรมกีฬา 5 บดินทรอีกด้วย

[แก้] กิจกรรมด้านศาสนา

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของโรงเรียนได้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรทุกวันศุกร์ ในวันสำคัญทางศาสนา และเทศกาลวันสำคัญต่างๆ โดยให้นักเรียนระดับชั้นต่างๆ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการตักบาตร และนี้ยังมีกิจกรรมถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์, กิจกรรมบ้านวัดโรงเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อฝึกนักเรียนปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, จัดกิจกรรมนำนักเรียนไปบรรพชาสามเณรฤดูร้อนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม [12]

โครงการปลูกรากแก้วของแผ่นดิน โดยให้นักเรียนแต่ละห้องหมุนเวียนกันฟังธรรมจากพระอาจารย์วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และเรียนรู้กิจกรรมทางศาสนา [3] ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นสู่กิจกรรมรากแก้วมาตุภูมิ ซึ่งมีการฝึกการรู้จักอดออมเพื่อส่วนรวมอีกด้วย [15]

[แก้] ธนาคารโรงเรียน

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา และธนาคารออมสิน จัดตั้งขึ้นธนาคารโรงเรียนขึ้นเพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักออมเงิน โดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการรับฝาก-ถอนเอง โดยดำเนินการในช่วงพักกลางวัน ทำให้นักเรียนที่ทำหน้าที่คณะกรรมการ ได้รู้จักกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ [3] โดยเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน (31 มกราคม 2549) มียอดบัญชีกว่า 1,376 บัญชี [16]

[แก้] กิจกรรมส่งเสริมให้รู้คุณค่าทรัพยากร

โดยจัดโครงการห้องเรียนสีเขียว ซึ่งร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, โครงการพลังงานหารสอง เพื่อรณรงค์ให้นักเรียนใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า [17]

[แก้] คนดีศรีบดินทร

ตามปรัชญาของโรงเรียน "ลูกบดินทรเป็นผู้ประพฤติดีและมีความรู้" จึงเน้นการให้โอกาส ให้ความดูแลใกล้ชิด และประกาศเกียรติคุณ โดยฝ่ายปกครองเริ่มจากกำหนดให้มี "ธนาคารความดี" เพื่อบันทึกของนักเรียนไว้ และเพื่อให้นักเรียนทำดียิ่งขึ้น จึงจัดโครงการ "คนดีศรีบดินทร" เพื่อการค้นหาคัดเลือกคนดี ดุจเพชรเจียรนัย ให้เป็นคนที่ทรงคุณค่าของสังคม และปรากาศเกียรติคุณในวันเกียรติยศแห่งคนดี (ทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์)[6] ต่อมาคณะกรรมการฝ่ายกิจการนักเรียนของโรงเรียนในเครือบดินทรเดชาร่วมจัดขึ้นในแต่ละโรงเรียน คนดีศรีบดินทร คือ การประกาศเกียรติคุณเชิดชูคุณความงามความดีของนักเรียนให้ปรากฏ [18] โดยส่งเสริมให้เป็นคนดีในประเภทต่างๆตามคุณลักษณะของนักเรียนแต่ละคน [17] พร้อมลำดับดังนี้

  1. คนดีศรีบดินทร
  2. คนดีที่สมควรยกย่อง
  3. คนดีที่สมควรเป็นแบบอย่าง
  4. คนดีที่มีความสามารถด้านต่างๆ [19]

การพิจารณา ผู้ที่ได้คัดเลือกคนดีศรีบดินทรได้มาจากการเสนอชื่อโดยนักเรียนเสนอเอง เพื่อนนักเรียน ครู-อาจารย์ ทุกคนในโรงเรียน ตลอดจนคนงาน แม่ค้าในโรงเรียนที่เห็นความดีงามส่งข้อมูลเสนออาจารย์ที่ปรึกษา และนักเรียนทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับชั้นนั้นๆ ระดับละ 5 คน แล้วจึงส่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมาสัมภาษณ์ และดูผลงาน (Portfolio) โดยคณะกรรมการฝ่ายปกครองรอบสุดท้าย [20]

[แก้] กิจกรรมสาธารณประโยชน์

จัดกิจกรรมนักเรียนไปบำเพ็ญปลูกป่าชายเลน ที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้นักเรียนฝึกการเรียนรู้และปฏิบัติธรรม [21] ,นำนักเรียนไปพัฒนาท้องถิ่นโดยการสำรวจสิ่งแวดล้อม ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนโดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการในปีการศึกษา 2548 [3], กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแม่น้ำน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ตามโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2549 [22]

[แก้] กิจกรรมระหว่างโรงเรียน

[แก้] มหกรรมกีฬา 6 บดินทร

เป็นกิจกรรมกีฬาที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างโรงเรียนในเครือบดินทรเดชา โดยหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา 5 บดินทรครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ [23]

[แก้] เดินเทิดพระเกียรติ

กลุ่มโรงเรียน 9 นวมินทราชินูทิศ จัดกิจกรรมเดินเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ณ บริเวณพุทธมณฑล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยนายพีรพันธุ์ พาลสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ให้เกียรติเป็นประธาน [24]

[แก้] วันสำคัญที่เกี่ยวกับโรงเรียน

สดุดีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
วันเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 
ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันอสัญกรรมของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)[25] สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว [26]ในวันนี้ ตัวแทนนักเรียนจากระดับชั้นต่าง ๆ ตัวแทนคณะกรรมการนักเรียน ตัวแทนครู-ผู้ปกครอง จะวางพวงหรีดแสดงความกตัญญู และมีการเชิญรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จำลอง พร้อมขบวนธงโรงเรียน ขบวนธงคณะสีอีกด้วย ซึ่งจัดพิธีลานหน้าอาคารเรียนหลังกิจกรรมเคารพธงชาติ เพื่อแสดงถึงความกตัญญู และสดุดีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)[27]
วันกตัญญูคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ 
ตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคม ของทุกปี[28] เป็นงานแสดงความกตัญญูของลูกนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ต่อคุณย่าพัฒน์ ผู้บริจาคที่ดิน 5 ไร่ในซอยทำเนียบ (ลาดพร้าว 69) ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ต่อมาคือโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา)[29] โดยในวันนี้ นักเรียนทั้งหมดจะเข้าร่วมพิธีลานหน้าอาคารเรียน เชิญรูปหล่อคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ ในพิธีนี้อีกด้วย พร้อมอ่านบทสดุดีคุณย่าพัฒน์ที่ประพันธ์ขึ้น[28] ตัวแทนนักเรียนวางพวงมาลาเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ [30]
การแสดงดนตรีของนักเรียนในงานวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนครบ 10 ปี "ทศวรรษ เกียรติประวัติ นวมินทรฯ บดินทรเดชา"
วันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียน 
ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม [31] ของทุกปี ในวันนี้มีกิจกรรมต่างๆมากมาย ซึ่งส่วนมากมาจากผลงานของนักเรียน อาทิ การแสดงดนตรีไทย ของนักเรียนชมรมดนตรีไทย การจัดนิทรรศการทางวิชาการ การแสดงดนตรีของนักเรียนวงสตริงของโรงเรียน[32] รวมถึงการเทศน์มหาชาติ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี และในวาระครบรอบ 15 ปีโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา โรงเรียนได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในงานที่มีชื่อว่า "นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ปริทัสน์ บณรษวรรษ วรมงคล"[1] เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 รวมทั้งมีงานเทศน์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์ราชัน และร่วมพิธีเททองหล่อรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู้หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา[33]

[แก้] เกียรติประวัติ

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา มุ่งส่งเสริมนักเรียน บุคคลากร และเพิ่มศักยภาพของโรงเรียน จนได้รับคัดเลือกรับรางวัลโรงเรียนดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2539 ของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ,ได้รับเกียรติบัตร "ร้านอาหารสะอาดในสถาบันการศึกษา" จากกรมอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เมื่อ 8 ธันวาคม 2542, ได้รับยกย่องว่าเป็นโรงเรียนสีขาว จากกรมสามัญศึกษา,ได้รับการรับรองการบริหารงานระบบคุณภาพ ISO 9002 จากสำนักรับรองคุณภาพ (สรร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้น[6] นอกจากนี้ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้รับคัดเลือกจากท่านรัฐมนตรีสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้เป็นตัวแทนประเทศ ในการจัดแสดงโขนตอนยกรบ และระบำสี่ภาคมีดนตรีไทยร่วมบรรเลงเพลงประกอบ เพื่อแสดงที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เนื่องในโอกาสการประชุมนานาชาติ เรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 15 [34]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 หนังสือที่ระลึก 15 ปี "นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ปริทัศน์ บัณรสวรรษ วรมงคล"
  2. ^ 2.0 2.1 ประวัติโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
  3. ^ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปีการศึกษา 2550 สืบค้นวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552
  4. ^ ศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  5. ^ 5.0 5.1 ที่มาของสถาบัน
  6. ^ 6.0 6.1 6.2 6.3 หนังสือที่ระลึก 10 ปี นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา "เพชรแห่งทศวรรษ"
  7. ^ เทปสถาบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ชุด Cheer Nawaminthrachituthit Bodindecha
  8. ^ คู่มือผู้ปกครองและนักเรียน ปีการศึกษา 2545 หน้า 80
  9. ^ ขสมก. สายรถ
  10. ^ ขสมก. สายรถ 156
  11. ^ สารทำเนียบทอง ปีที่ 4 ฉบับที่ 12 หน้า 20 - 21
  12. ^ 12.0 12.1 12.2 รายงานประจำปีการศึกษา 2546 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้าที่ 19
  13. ^ รายงานประจำปีการศึกษา 2546 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้าที่ 24
  14. ^ ประวัติโรงเรียน
  15. ^ สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนธันวาคม 2549
  16. ^ ผลการดำเนินงานธนาคารโรงเรียน
  17. ^ 17.0 17.1 รายงานประจำปี 2546 หน้า 20
  18. ^ หนังสือคนดีศรีบดินทร หน้า 45
  19. ^ หนังสือที่ระลึก 10 ปีโรงเรียน "เพชรแห่งศตวรรษ"
  20. ^ หนังสือที่ระลึก 10 ปีโรงเรียน "เพชรแห่งศตวรรษ"
  21. ^ สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนมีนาคม 2549
  22. ^ สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549
  23. ^ สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 หน้า 3
  24. ^ สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 หน้า 6
  25. ^ หนังสือคนดีศรีบดินทร หน้า 17
  26. ^ สารทำเนียบทอง รายงานประจำปี 2545 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้า 14
  27. ^ สารทำเนียบทอง ปีที่ 4 ฉบับที่ 11 หน้าที่ 2
  28. ^ 28.0 28.1 สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 หน้า 6
  29. ^ สารทำเนียบทอง รายงานประจำปี 2545 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้า 15
  30. ^ สารทำเนียบทอง ปีที่ 5 ฉบับที่ 14 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 หน้า 37
  31. ^ คู่มือผู้ปกครองและนักเรียน ปีการศึกษา 2545
  32. ^ สารทำเนียบทอง ปีที่ 5 ฉบับที่ 14 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 หน้า 23
  33. ^ ข่าวประชาสัมพันธ์ เรียกวันที่ 4 มกราคม 2550
  34. ^ สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 หน้า 3

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°47′32″N 100°36′21″E / 13.792292°N 100.605853°E / 13.792292; 100.605853



ภาษาอื่น