ไชยา สะสมทรัพย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไชยา สะสมทรัพย์ และนางจุไร สะสมทรัพย์ ภริยา

ไชยา สะสมทรัพย์ (18 กันยายน พ.ศ. 2495 - ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายไชยา เป็นชาวอำเภอเมืองนครปฐม จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ จบชั้นอุดมศึกษาจาก โรงเรียนเทคโนโลยีนครปฐม สาขาอนุปริญญาการตลาด [1] เริ่มทำงานการเมืองจากการเมืองท้องถิ่น แล้วเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเอกภาพ [2] เมื่อ พ.ศ. 2538-2539 ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 และพรรคพลังประชาชน พ.ศ. 2551 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่าง พ.ศ. 2543-2544 [3] นายไชยา สะสมทรัพย์ มีพี่น้องที่เล่นการเมืองสังกัดพรรคพลังประชาชน คือนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และไชยยศ สะสมทรัพย์ พี่ชาย และนายอนุชา สะสมทรัพย์ น้องชาย ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 ตระกูลสะสมทรัพย์ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ค้าวัสดุก่อสร้าง [4] และบริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ทำธุรกิจรับเหมาขนขยะจากโรงงานกำจัดขยะของกรุงเทพมหานครที่โรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม และสถานีขนถ่ายมูลฝอยท่าแร้ง เขตสายไหม ไปฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 [5]

ด้านรสนิยมส่วนตัว ในวัยรุ่น นายไชยา สะสมทรัพย์ ชื่นชอบการขับรถเร็ว มีรถยนต์สปอร์ตหลายคัน ทั้งยี่ห้อ เมอร์เซเดส-เบนซ์, อัลฟาโรเมโอ, ซีตรอง, ปอร์เช [6] และสะสมพระเครื่อง

ชีวิตส่วนตัว นายไชยา สมรสกับ นางจุไร สะสมทรัพย์ (ธุวนลิน) [7] น้องสาว ร.ต.อ.นายแพทย์มานัส ธุวนลิน อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีต ส.ส. นครปฐม และผู้สมัคร ส.ว. ปี พ.ศ. 2548

ในช่วงต้นของการที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายไชยาได้ประกาศการทำงานว่าจะทบทวนนโยบายการเข้าถึงยาหรือการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ และมีการโยกย้ายข้าราชการที่เป็นหัวแรงในการทำ C.L ยา ทำให้ถูกกล่าวหาว่าโยกย้ายข้าราชไม่เป็นธรรม(C.L.) ซึ่งทั้งสองกรณีนำมาสู่การล่ารายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่น สภาผู้แทนราษฎร ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

นายไชยาไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนางจุไร สะสมทรัพย์ ภรรยา ถือหุ้นในบริษัททรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น มูลค่า 2.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด อันเป็นการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตร 269 กำหนดให้ต้องแจ้งต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ว่าประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการถือครองหุ้นดังกล่าวภายใน 30 วัน นับจากการเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

กรณีดังกล่าวทำให้ประธานวุฒิสภามีหนังสือลงวันที่ 21 เมษายน 2551 ส่งคำร้องของนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภาและคณะ รวม 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 269 หรือไม่ ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายไชยา สะสมทรัพย์ มีเจตนาปิดบังบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของภรรยา ฝ่าฝืนและกระทำการอันต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตั้งแต่ 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง[8]

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น