ปวีณา หงสกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นางปวีณา หงสกุล
ปวีณา หงสกุล

ดำรงตำแหน่ง
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2543
นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย

ดำรงตำแหน่ง
30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 – 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เกิด 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 (อายุ 60 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สังกัดพรรค ไทยรักไทย (2547 - 2549)
ชาติพัฒนา (2539 - 2547)
ประชากรไทย (2531 - 2539)
ศาสนา พุทธ

ปวีณา หงสกุล (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2492) เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของ น.อ. (พิเศษ) เพิ่ม หงสกุล และนางเกยูร หงสกุล (เสียชีวิตแล้ว) เป็นนักการเมืองสตรี ที่มีบทบาทโดดเด่น ในการดูแลด้านสิทธิสตรี มาอย่างยาวนาน นางปวีณามีบุตรคือ นายษุภมน หุตะสิงห์ ลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นได้เป็น ส.ก. เขตสายไหม เขต 1 เมื่อปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้มีน้องชายคือ นายฉมาดล หงสกุล ที่เป็น ส.ก. เขตสายไหม เขต 2 และ เอกภาพ หงสกุล เป็นประธานสภาเขตสายไหม อีกด้วย

นางปวีณามีชื่อเล่นว่า "ปิ๊ก" เป็นน้องสาวของ อาภัสรา หงสกุล ผู้เป็น นางงามจักรวาล ชาวไทยคนแรก

เนื้อหา

[แก้] การศึกษา :

  • มัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีวรนาถ บางเขน
  • สำเร็จไฮสกูลจากปีนัง ประเทศมาเลเซีย
  • คหกรรมศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาการครอบครัวและเด็ก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
  • ศึกษาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ประกาศนียบัตรชั้นสูง สถาบันพระปกเกล้า รัฐสภารุ่นที่ 1
  • ปริญญาตรี จาก BLISS COLLEGE สหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ปริญญาโท ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้] ประวัติการทำงาน :

เริ่มต้นการทำงานที่ ลุค อีสต์ แม็กกาซีน เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นเวลา10 ปี จนได้เป็นผู้จัดการธนาคาร สาขาลาดพร้าว แล้วลาออกมาเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโรงแรมโซฟิเทล หัวหิน ก่อนจะเข้าสู่วงการเมืองในสังกัด พรรคประชากรไทย ของนายสมัคร สุนทรเวช และต่อมาย้ายไปอยู่พรรคชาติพัฒนา

[แก้] ทางดำรงตำแหน่งทางการเมือง :

  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531
  • ลงสมัคร ส.ส. กทม. เขต 12 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ไม่ได้รับเลือก
  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต12 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535
  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 12 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538
  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายสมัคร สุนทรเวช) 1 สิงหาคม 2538
  • โฆษกพรรคประชากรไทย และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 9 กรกฎาคม 2539
  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 12 พรรคชาติพัฒนา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 (ลาออกเมื่อ 6 มิ.ย.2543)
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม 5 ตุลาคม 2541 (พ้นตำแหน่ง 9 ก.ค.2542)
  • รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9 กรกฎาคม2542 (ลาออกเมื่อ 6 มิ.ย. 2543)
  • รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา 5 เมษายน 2543
  • ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2543 แต่ไม่ได้รับเลือก
  • เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา 15 มีนาคม 2546
  • ส.ส.บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ พรรคชาติพัฒนา 6 มกราคม 2544
  • ลาออกจากพรรคชาติพัฒนาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2547
  • ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2547 ในนามผู้สมัครอิสระ แต่ไม่ได้รับเลือก
  • ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 15 พรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548
  • ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 15 พรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 (โมฆะ)

[แก้] เส้นทางทางการเมือง :

นางปวีณา เคยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ในสังกัดพรรคชาติพัฒนา ได้เบอร์ 5 ไม่ได้รับการเลือกตั้งและไม่ได้เป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งด้วย กับอีกครั้งคือ ในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ได้เบอร์ 7 อันเป็นเบอร์เก่าของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่า ฯ คนก่อน ในการหาเสียงคราวนี้นางปวีณาใช้สีชมพูเป็นสีประจำตัว ซึ่งมีความหมายถึงความอ่อนหวานของผู้หญิง แต่ นางปวีณาต้องพบกับคู่แข่งคนสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก่อนการลงคะแนน ความนิยมของทั้งคู่คี่สูสีกันมาก จนกระทั่งผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่านายอภิรักษ์มีคะแนนชนะนางปวีณาไปประมาณ 3 แสนคะแนน

หลังจากนี้ นางปวีณาได้เข้าสังกัดกับทางพรรคไทยรักไทย อันเนื่องจากพรรคชาติพัฒนาได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 นางปวีณาได้ลงเลือกตั้งในเขตสายไหมและได้รับการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างคู่แข่งขันอย่างมาก เนื่องจากมีฐานเสียงอยู่บริเวณนี้

ปัจจุบัน นางปวีณา หงสกุล ได้เข้าสังกัดพรรคชาติไทย แต่ยังไม่อาจดำเนินการทางการเมืองได้เพราะเป็นหนึ่งใน 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคดียุบพรรค

นางปวีณามีภาพลักษณ์ที่ทุกคนรู้จักดี คือ เป็นผู้ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาผู้หญิงและเยาวชน โดยมีมูลนิธิปวีณา หงสกุล เป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมักจะมีผลงานปรากฏตามสื่อมวลชนเป็นระยะ ๆ ซึ่งบทบาทในด้านนี้ของนางปวีณาโดดเด่นมาก จนได้รับการขนานนามว่า "แม่พระ"

ในกลางปี พ.ศ. 2552 ได้ออกมาเปิดเผยกับสังคมว่าป่วยเป็นมะเร็งทรวงอกมานานกว่า 5 ปี โดยที่ไม่มีใครทราบนอกจากคนในครอบครัว โดยได้ต่อสู้กับโรคนี้มาโดยตลอด จนเกือบหายเป็นปกติในปัจจุบัน

[แก้] การดำรงตำแหน่งอื่นๆ :

  • อนุกรรมการแก้ไขปัญหาโสเภณีเด็กของกรรมาธิการเยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานคณะอนุกรรมการเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร
  • โฆษกกรรมาธิการเยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น