หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก หลวงศุภชลาศัย)
หลวงศุภชลาศัย

นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ร.น. (22 มกราคม พ.ศ. 2438 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508) มีชื่อจริงว่า บุง ศุภชลาศัย รองผู้บัญชาการทหารเรือ อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2481

หลวงศุภชลาศัย เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2438 ณ ตำบลถนนพระอาทิตย์ อำเภอชนะสงคราม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรนายเบี้ยวและนางพ่วง เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดชนะสงคราม, โรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนวัดราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) จนจบชั้นมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2454 และสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายเรือ เรียนเก่งถึงขั้นได้รับเกียรตินิยมของสถาบัน

บุง ศุภชลาศัย เริ่มต้นชีวิตราชการทหารเรือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2461 ประจำการบนเรือรบหลวง "สุครีพครองเมือง" ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากกองทัพเรือ คือรองผู้บัญชาการทหารเรือ ต่อมาในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนากรมใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เพื่อจัดการงานด้านพลศึกษาของชาติ มี อำมาตย์เอกพระยาประมวลวิชาพูล (วงษ์ บุญ-หลง) รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดี จนกระทั่ง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา คนแรกอย่างเป็นทางการ

หลวงศุภชลาศัย เป็นผู้วางรากฐานการพลศึกษาและกีฬานักเรียนเมืองไทยหลายประการ อาทิ การบรรจุหลักสูตรวิชาพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาทั่วประเทศ และสิ่งสำคัญ สำหรับชาวพลศึกษา คือการกำหนดสัญญลักษณ์ วงกลมห่วง 3 สี ประดิษฐานอยู่ใต้รูปพระพลบดี ซึ่งห่วงสีขาวแทนพุทธิศึกษา, ห่วงสีเหลืองแทนจริยศึกษา และห่วงสีเขียวแทนพลศึกษา โดยความหมายแห่งนัย คือบุคคลจะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และก่อประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริงจะต้องมีความสมดุลระหว่าง ความรู้ ความประพฤติและพลานามัย ดังเช่นห่วงทั้ง 3 วง ที่วางทับกันอย่างมีเอกภาพ

หลวงศุภชลาศัย ได้ส่งเสริมการแข่งขันกีฬานักเรียนของกรมพลศึกษา จัดให้มีการมอบเสื้อสามารถแก่นักกีฬาที่มีความยอดเยี่ยมทุกประเภท ก่อนจัดแข่งขันกีฬาประชาชนทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก และใน พ.ศ. 2479 จึงย้ายสนามแข่งขันกีฬานักเรียนประจำปี จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไปทำการแข่งขัน ณ สนามหลวง

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 กรมพลศึกษา ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน เนื้อที่ 114 ไร่ 1 งาน 25.12 ตารางวา ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินเซอร์ ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ และได้ดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้การจัดสร้างสนามกีฬา ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน (National Stadium) และโรงเรียนพลศึกษากลาง เริ่มงานตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484

ในขณะที่สนามกรีฑาสถานยังสร้างไม่เสร็จ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการแข่งขันกีฬาประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2481 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถาน เป็นครั้งแรก

เมื่อ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบัน นิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2487 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลวงศุภชลาศัย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 กรมพลศึกษา ได้ยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น บุคคลพลศึกษาของชาติ สาขาการบริหารการพลศึกษา

หลวงศุภชลาศัย เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นผู้ที่รับหน้าที่อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล นิวัติยังพระนคร

รวมทั้งเคยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ด้วย

หลวงศุภชลาศัย สมรสกับ สวาสดิ์ หุวนันท์ และ หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร [1]

[แก้] อ้างอิง

  • จิรัฏฐ์ จันทะเสน, ประวัติหลวงศุภชลาศัย
  1. ^ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล. จดหมายถึงหญิงใหญ่ (ฉบับชำระใหม่). กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, 2551. ISBN 978-974-16-6535-8