วีระชัย วีระเมธีกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล
วีระชัย วีระเมธีกุล

อยู่ในวาระ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
20 ธันวาคม พ.ศ. 2551
นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สมัยก่อนหน้า สุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุทิน คลังแสง

เกิด 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 (อายุ 42 ปี)
กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ศาสนา พุทธ

วีระชัย วีระเมธีกุล เป็นนักการเมืองชาวไทย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

"ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล" เกิดวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 เป็นบุตรของนายสุชัย วีระเมธีกุล กับนางสุมาลี วีระเมธีกุล จบการศึกษา BSBA จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2528 ปีถัดมา(พ.ศ. 2529) จบการศึกษา MBA จากมหาวิทยาลัยคลาร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2537 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก บัญชีดุษฎีบัณฑิต จาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้] การทำงาน

[แก้] การรับราชการ

หลังจบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านบัญชีดุษฎีบัณฑิต ดร.วีระชัยได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานในปี พ.ศ. 2533 โดยเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในขณะเดียวกันก็ยังได้รับเกียรติ เชิญให้เข้าเป็นอาจารย์สอนพิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิเช่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้] ภาคธุรกิจเอกชน

ดร.วีระชัย รับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่เพียง 4 ปี ก็ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2537 เพื่อเข้าไปทำงานในภาคเอกชน ประกอบกับเป็นเวลาเดียวกันที่นายสุชัย วีระเมธีกุล บิดาของเขา ซึ่งเป็นนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศจีน ได้รับการชักชวนให้ไปร่วมลงทุนในกิจการธนาคาร และสถาบันการเงินในช่วงที่ประเทศจีนกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านเศรษฐกิจ ที่จีนมุ่งหวังจะปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้น ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล จึงเข้าไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ในธนาคาร TM International ตามลำดับ และสุดท้ายมาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคาร Business Development Bank

[แก้] ทำงานทางการเมือง

จากนั้นในปี พ.ศ. 2543 ดร.วีระชัย ได้เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยการเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2544

[แก้] เริ่มเข้าวงการ

ดร.วีระชัย เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี พ.ศ. 2543 โดยการเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย ในฐานะตัวแทนของผู้สนับสนุนพรรคคนสำคัญคนหนึ่งและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วนในกรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2544 มีโอกาสได้ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2546 เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน และเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ

[แก้] สมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

เนื่องจาก ดร.วีระชัย เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทย จึงได้รับความไว้วางใจและสนับสนุนจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ แต่บทบาทการทำงานของวีระชัย ในกระทรวงต่างๆ ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งจะเป็นการทำงานเบื้องหลัง ทั้งงานวิชาการ ให้คำปรึกษา การประสานงาน และการบริหารภายใน จึงมิได้โดดเด่นเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนมากนัก แต่ก็เป็นที่ไว้วางใจของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ทำงานด้วยอย่างมาก เช่น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ถึงขั้นมอบหมายงานสำคัญให้ดำเนินการอยู่เสมอ

[แก้] สมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธิ์ จุลานนท์

เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดร. วีระชัย จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของผู้คน และคณะรัฐมนตรีผู้ร่วมงานในรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นอันมาก เนื่องจากวีระชัยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่กล่าวกันว่าเพียงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่มีอาวุโสน้อย แต่กลับมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือรัฐมนตรีหลายๆ คน จนบางครั้งมีเสียงร่ำลือว่าก่อให้เกิดความอึดอัดลำบากใจในการทำงานของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลบางคนเป็นอันมาก

[แก้] การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในคณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ 1 โดยดูแลงานด้านเศรษฐกิจกับการบริหารจัดการ มีหน้าที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ คือ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกับสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [1]

[แก้] ตำแหน่งสำคัญต่างๆ

  • รองประธานกรรมการธนาคาร Business Development Bank ประเทศจีน
  • พ.ศ. 2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ กทม.
  • พ.ศ. 2544 และพ.ศ. 2546 รองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน
  • พ.ศ. 2544 และพ.ศ. 2546 รองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น