มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
mfu
“ สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ ”

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้มีการจัดสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นและใช้พระราชสมัญญา "แม่ฟ้าหลวง" เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนโดยเน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ประกอบด้วย 9 สำนักวิชา[2] ระดับอนุปริญญา 1 หลักสูตร ปริญญาตรี 28 หลักสูตร ปริญญาโท 5 หลักสูตร 11 สาขา ปริญญาเอก 8 หลักสูตร

หนังสือพิมพ์ไทมส์ในส่วนของ Higher Education Supplement ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2548[ต้องการอ้างอิง] และยังได้รับการลงคะแนนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในประเทศไทย[3]

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

ปี 2534 – 2536 ประชาชนชาวเชียงรายได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นในจังหวัด มีการระดมความคิดเห็นการจัดการประชุมสัมมนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายปี 2536-2545 ขึ้นเป็นฉบับแรก ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชน โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 3 ทิศทางด้วยกัน หนึ่งในสามทิศทางนั้น คือ “การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งไม่เฉพาะจังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดจนประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย

ปี 2537 มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการหารูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปได้ในขณะนั้นว่าน่าจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย หรือจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เป็นต้น

ทางเข้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

18 กรกฎาคม 2538 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต คณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนเชียงรายที่ทรงใช้เป็นพระตำหนักและ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น นำความเจริญมายังจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงและเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย

4 มีนาคม 2539 นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวังและสนับสนุนที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ประสานงานนำคณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอเหตุผลและความจำเป็นที่ขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นได้ไปพบนายบุญชู ตรีทอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งปลัดและรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว

5 มีนาคม 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของรัฐบาลและประชาชนที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งของจังหวัดเชียงราย

27 เมษายน 2539 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิเคราะห์เกี่ยวกับการยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้วสรุปว่ามีความเป็นไปได้ พร้อมทั้งได้ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน ระบบบริหาร และระบบวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตามลำดับ ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยต่อคณะรัฐมนตรี

20 สิงหาคม 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง ต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา

13 กุมภาพันธ์ 2540 คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาลในสมัยที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ โดยไม่ยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัย

18 กันยายน 2540 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างและดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งเพื่อดำเนินการต่างๆ ให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อดำเนินการได้ตามความเหมาะสม สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนั้น คณะกรรมการจังหวัดเชียงรายได้จัดเตรียมไว้ 3 แห่งคือ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย บริเวณจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว และบริเวณดอยโตน อำเภอเวียงชัย ซึ่งต่อมานายมนตรี ด่านไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณดอยแง่ม และจอมหมอกแก้ว เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันนักศึกษาและประชาชนจังหวัดเชียงรายก็ได้มีการชุมนุมเรียกร้อง ณ บริเวณโรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นโดยเร็วและได้ขอคำยืนยันจากรัฐบาล ซึ่งนายมนตรี ด่านไพบูลย์ และรองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ได้ให้คำยืนยันว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ภายใน ปี 2542

29 กรกฎาคม 2540 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย ได้มีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณดอยแง่ม จำนวน 4,997 ไร่ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขณะเดียวกันคณะกรรมการของจังหวัดเชียงรายร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดเชียงราย ได้รณรงค์หาทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าทำถนนเข้ามหาวิทยาลัย และเพื่อชดเชยค่าที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่ในบริเวณนั้นด้วย

26 มีนาคม 2541 ชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด นับหมื่นคน ได้ร่วมกันนำมีด พร้า จอบ เสียม และเครื่องจักรมาบุกเบิกทางเข้ามหาวิทยาลัยบริเวณดอยแง่มเป็นปฐมฤกษ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณมหาวิทยาลัย ในโอกาสวันสำคัญต่างๆ หลายครั้ง การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้คืบหน้าเป็นลำดับ

25 กันยายน 2541 มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น และรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2539 และในปี 2541 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณไร่ม่อนดินแดง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 700 ไร่ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกแห่งหนึ่งด้วย การจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่ทำการถาวร ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย ในปีงบประมาณ 2542 เป็นต้นมา

มิถุนายน 2542 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย โดยเปิดรับ 2 สาขา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร

3 กุมภาพันธ์ 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พิธีเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย ยังความปลื้มปิติสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

6 พฤษภาคม 2547 โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนแม่บทกายภาพระยะที่ 1 ตั้งแต่พระราชบัญญัติประกาศใช้ จวบจนปี พ.ศ. 2547 ของการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงปฏิบัติภารกิจเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยตลอดไป

[แก้] สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

[แก้] ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย ส.ว. ประกอบเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีเลข ๘ และเลข ๙ ประกอบอยู่ด้วย โดยมีความหมายถึง ทรงเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 และได้อัญเชิญฉัตร 7 ชั้นมาเป็นเครื่องหมายประกอบพระเกียรติยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีดอกลำดวนและใบไม้ประดับอันแสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะสนองพระราชปณิธานปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่หยุดยั้ง

[แก้] ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย

  • ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกหอมนวล (ลำดวน)
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melodorum fruticosum Lour[4]

[แก้] สีประจำมหาวิทยาลัย

  • แดง หมายถึง องค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • ทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัยอย่างไม่มีขอบเขต

[แก้] เพลงประจำมหาวิทยาลัย

  • มาร์ชมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • ปฏิญญาแม่ฟ้าหลวง
  • สายใยแดงทอง
  • โอ้ลานดาว
  • ลาแดนลำดวน
  • มาร์ช มฟล.
  • พี่รับน้อง
  • ม.แม่ฟ้า
  • ลานดาว
  • มฟล.รื่นเริง
  • รำวงสัมพันธ์ที่ลานดาว
  • แดนสวรรค์ ม.แม่ฟ้า


[แก้] ทำเนียบอธิการบดี

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
คนที่ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2548
2 ตุลาคม พ.ศ. 2548 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552
2. รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เทอด เทศประทีป 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน


[แก้] การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ดังนั้นผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาควรมีความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

[แก้] อันดับมหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[5] โดยในภาพรวมด้านการวิจัยนั้น มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 26 ของประเทศไทย[6] และภาพรวมในด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12[7] ของประเทศ

[แก้] พื้นที่มหาวิทยาลัย

[แก้] พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

วัตถุประสงค์ของการจัดสร้างเนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระราชปณิธาณอันแน่วแน่ที่จะ " ปลูกป่า สร้างคน[8] " เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาสรวมทั้งการธำรง ไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชิติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน รัฐบาลจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นในจังหวัดเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป

[แก้] ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร

เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2542 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เดินทางไปเยี่ยมเยือนและแสวงหาความร่วมมือด้านการศึกษากับรัฐบาลประเทศจีน และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน

ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ คณะรัฐบาลประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลประเทศจีนจัดตั้ง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบรอบ 100 ปี ในปี พุทธศักราช 2543

รัฐบาลจีนได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยินดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และยังสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนการสอนพร้อมหนังสือตำรา เอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้ในการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างมีประสิทธิภาพ

ระหว่างวันที่ 7 ถึง 27 สิงหาคม พุทธศักราช 2543 รัฐบาลจีนได้ส่งคณะศึกษา และสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนจากสถาบัน China Southwest Architectural Design and Research Institute เพื่อให้มาทำการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งหัวหน้าคณะที่มาดำเนินการเรื่องนี้ คือนายเฉิน ไค เม่ย (Mr. Chen Kai Mei) และคณะ ได้มาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง ประมาณ 20 วัน เพื่อสำรวจพื้นที่และออกแบบอาคาร

การก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ได้ยึดเอาศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบ ซูโจว เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยมีกำแพงล้อมรอบตัวอาคารทั้งหมดสี่ด้าน ภายในประกอบด้วยสวนหิน และสระบัว ศาลาดูปลา ที่สร้างตามแบบดั้งเดิมของจีน การก่อสร้างศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนแห่งนี้ ได้นำเอาวัสดุการก่อสร้างที่สำคัญบางส่วนมาจากประเทศจีน เช่น ปูนปั้นมังกร หลังคา ครอบเชิงชาย สิงโตคู่ บัวเสา ตลอดจนรูปแบบศิลปะแบบจีน ประตูวงพระจันทร์ หน้าต่างหกเหลี่ยม ประตูและหน้าต่างลวดลายจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2543

พิธีเปิดการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2544 โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย พิธีมอบอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้รับมอบจากเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พุทธศักราช 2546 เพื่อทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และทอดพระเนตรความก้าวหน้าของศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน

พระราชทานลายพระหัตถ์พระนามาภิไธยภาษาจีน พระราชทานไว้ให้แก่ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน นับเป็นสิ่งพระราชทานที่ทรงคุณค่ายิ่ง ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนว่า “ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร ” ตามหนังสือที่ รล 008/2300 ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2546 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และประชาชนทั่วไปเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

[แก้] พื้นที่การศึกษา

กลุ่มอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแบ่งเป็น 2 ส่วน[9] คือ ส่วนอาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ อาคารS1 ,S2, S3, S4, S5 และอาคารS6 และส่วนอาคารเรียน ได้แก่ อาคารC1 อาคารC2 อาคารC3 อาคารE1และอาคารE2

[แก้] Main Auditorium

หอประชุมสมเด็จย่า หรืออาคารC4 เป็นห้องประชุมขนาด 2500 ที่นั้ง ใช้เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตร[10] แก่ผู้สำเร็จการศึกษา การแสดงนิทรรศการต่างๆ และยังใช้เป็นสถานที่ในการจัด In Honor of 175 years US-Thai Friendship[11] อีกด้วย

[แก้] ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เป็นสถานที่จำหน่วยหนังสือและเครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีสินค้าให้เลือกมากมาย อาธิ ของชำร่วยที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ โปรสการ์ดที่เป็นรูปอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น


[แก้] บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

  • คุณจารุณี สุขสวัสดิ์ หรือ คุณจารุณี เดส์แน็ช ดารานักแสดง : สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง)[12]

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


ภาษาอื่น