สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระบรมราชชนกในชุดกองทัพเรือ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระนามเต็ม สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชชนก
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[1][2] (พระราชสมภพ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ - ทิวงคต ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒) ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนก ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ พระอัฐมรามาธิบดินทรและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนโดยทั่วไปมักคุ้นเคยกับพระนามว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์"หรือ"พระราชบิดา"และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า "เจ้าฟ้าทหารเรือ"และ"พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล"

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๗ ใน สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น ๓ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ตามปฏิทินเก่า, ถ้านับตามปฏิทินสากล ต้องเป็น พ.ศ. ๒๔๓๕) มีพระนามเต็มว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดล อดุลยเดชนเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรสิริสวัสดิ์ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐลักษณะวิจิตรพิสิฏฐบุรุษย์ ชนุดมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร"

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ประทับอยู่กับสมเด็จพระราชชนนีในพระบรมมหาราชวัง โดยมีกรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ์ ทรงเป็นผู้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด พระพี่เลี้ยง คือ หม่อมเจ้ากุสุมา เกษมสันต์พระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก ต้องเสวย น้ำมันตับปลาเป็นประจำ พระกระยาหารที่ทรงโปรดมาก คือ ปลากุเลากับส้มโอฉีก ส่วนเครื่องหวานทรงโปรดอ้อยควั่นแช่น้ำดอกไม้สด สมเด็จพระบรมราชชนกได้รับการถวายพระอักษรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มากที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู) เป็นพระอาจารย์ภาษาไทยคนแรก ทรงมีพระสหายสนิท คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในส่วนพระราชจริยาวัตรนั้น ไม่ทรงถือพระองค์และทรงมี น้ำพระทัยเมตตากรุณา ต่อบรรดาประชาราษฎร์มาแต่ยังทรงพระเยาว์

[แก้] พระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัตร

พระรูปในพระราชพิธีโสกันต์ (วันฟังสวด) เมื่อพระชันษา ๑๓ พรรษา

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราช พิธีมหามงคลโสกันต์ มีการสมโภช ๗ วัน ๗ คืน ตั้งแต่ วันที่ ๒๔ ถึง ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังโสกันต์แล้ว

"เป็นพระราชประเพณีโบราณมา ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เมื่อทรงพระชันษาเจริญขึ้น สมควรกาลแล้ว ก็พระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนาม ตามควรที่ตั้งอยู่ในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ บางพระ องค์ โปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงพระเกียรติยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงศักดินาเต็มตามพระราชกำหนด เป็นธรรมเนียมสืบ มา ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายมหิดลทรงพระเจริญวัย สมควรได้รับพระสุพรรณบัตร เฉลิมพระนามตามขัตติยราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีตามอย่างที่เคยมีมาแต่ก่อน ให้สถาปนาสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดล อดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรสิริสวัสดิ์ ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติ ประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิฏฐบุรุษย์ ชนุดมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์ มุสิกนาม ให้ทรงศักดินา 40,000 ตามพระราชกำหนด อย่างสมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม ในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์

[แก้] ขณะทรงศึกษา

ในเบื้องต้น ทรงศึกษาอักษรสมัย ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ และเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม หลังจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยนักเรียนทุนหลวงในสมัยนั้นหลายพระองค์และหลายคนด้วยกัน และเข้าศึกษาในโรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้นปอตสดัม และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงโกรสลิชเตอร์เฟลเด้ในประเทศเยอรมนี ทรงสอบได้เป็นแฟนริคช์ (Fähnrich) ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ คือ นักเรียนทำการ ได้คะแนนดีมาก โดยทรงเขียน และแต่งเรียงความได้อย่างดี ไม่ต้องสอบปากเปล่า นักเรียนที่เข้าสอบในครั้งนั้นมีถึง ๔๐๐ คนเศษ มีผู้ทำแต้มเสมอพระองค์เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งนับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุดเช่นนี้[3]

แล้วทรงเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บวร์ก เมือร์วิค (Marineschule Flensburg Mürwik)ประเทศเยอรมนี ทรงเข้าเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น ๒๔๕๕ (CREW 1912) เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ และทรงได้ออกแบบเรือดำน้ำประกวดจนได้รับรางวัล และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงได้รับยศนายเรือตรี ทั้งในกองทัพเรือแห่งเยอรมัน และแห่งราชนาวีสยาม

[แก้] ทรงผนวช

ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ หลังจากพิธีโสกันต์ได้ ๑ ปี สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงผนวชเป็น สามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) ซึ่งการนี้มีการสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ระหว่างทรงผนวชประทับที่ "ตำหนักทรงพรต" ทรงลาผนวช เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.

[แก้] เสด็จศึกษาในต่างประเทศ

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้พระราชโอรส ๓ พระองค์ ที่ทรงอยู่ในวัยที่สมควรและทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ยุโรป ดังที่เคยทรงปฏิบัติมากับพระราชโอรสที่ทรงแข็งแรงพอ ในครั้งนี้พระราชโอรส ทั้ง ๓ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธฯ กรมขุน นครราชสีมา สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อดุลยเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑารุชธราดิลกฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทรา ไชย ได้เสด็จออกจากกรุงเทพ ฯ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ (ค.ศ. ๑๙๐๕) ถึงลอนดอนวันที่ ๑๑ มิถุนายน ปีเดียวกัน สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จไปประทับกับครอบครัวนายคอลเชสเตอร์วิมส์ ในเมืองเล็ก ๆ เพื่อให้ภาษาอังกฤษ และความรู้อื่น ๆ ดีขึ้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (ค.ศ.๑๙๐๖) ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์เป็นเวลาปีครึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ.๑๙๐๗) ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบกที่เมืองปอตสดัม ประเทศเยอรมณี ทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์ม ได้จัดนายร้อยเอกเอ็กเป็นพระอภิบาล เมื่อทรงจบหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยชั้นต้นแล้ว เสด็จเข้าโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงที่ โกรสลิชเตอร์เฟลเด้ (Gross Lichterfelde) ทรงศึกษาโรงเรียนนี้ ๒ ปี ในปีสุดท้ายทรงมีพระประสงค์จะเปลี่ยนเหล่าทัพไปศึกษาวิชาทหารเรือแทนที่จะเป็นทหารบก พระเจ้าไกเซอร์ทรงอนุญาตด้วยเงื่อนไขว่า ต้องทรงสอบวิชาทหารบกได้ก่อน ซึ่งก็ทรงทำได้อย่างดี สมเด็จพระบรมราชชนก ได้เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนนายเรือที่ Imperial German Naval College ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ทรงสอบได้เป็นที่ ๑ และในปีสุดท้ายของการศึกษา ทรงชนะการประกวดการออกแบบเรือดำน้ำ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) ทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน และได้รับพระราชทานยศจากเมืองไทยเป็นนายเรือตรีแห่งราชนาวีไทย เมื่อพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ทรงรับราชการในกองทัพเรือเยอรมันเป็นเวลา ๓ ปี

[แก้] เสด็จนิวัติกลับประเทศ

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ (ค.ศ.๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชชนกทรงลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เนื่องจากการอุบัติสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘

หลังจากทรงศึกษาวิธีบริหารราชการจาก และระเบียบราชการทหารเรือ จากกรมเสนาธิการทหารเรือ ประมาณ ๔ เดือนแล้ว ก็ทรงย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกตำรากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ (ค.ศ. ๑๙๑๖) สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง และ ผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ทรงพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนแพทย์อยู่ในฐานะล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้นทรงตกลงพระทัยที่จะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่ก็ต้องประสบปัญหาว่าหาผู้ที่มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงพยายามชักชวนผู้รู้มาร่วมงาน พร้อมทั้งได้ขอร้องให้กระทรวงธรรมการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ให้ช่วยจัดอาจารย์ในวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยาและศัลยกรรมมา

หลังจากนั้นสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนก ให้ทรงหันมาสนพระทัยการแพทย์ และสาธารณสุข ที่พระองค์ทรงได้เคยศึกษามา โดยพระองค์ทรงออกอุบายเชิญสมเด็จพ่อเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำ ไปตามคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย พอถึงปากคลองบางกอกน้อย จึงทูลเชิญขอให้ทรงแวะที่ศิริราชพยาบาล และเมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้ ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคาจาก มีที่ไม่พอรับคนไข้ มีคนไข้นั่งรอนอนรออยู่ตามโคนไม้ และขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงทราบถึงความยากลำบากและขาดแคลนของศิริราช ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงกราบทูลวิงวอนให้สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเข้ามาช่วยจัดการการศึกษาแพทย์ โดยมีสาเหตุดังนี้

  • เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าทรงเข้ามาจัดการเรื่องนี้จะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานมากขึ้น
  • สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงมีรายได้สูงเพียงพอที่จะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ
  • ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า ทรงทำจริงไม่ย่อท้อ จะทำให้กิจการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

และในที่สุดพระองค์ก็ทรงตกลงพระทัยที่จะทรงช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยจะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะ เพื่อจะให้งานได้ผลจริงๆ และได้ดี

[แก้] ทรงศึกษาต่อ

สมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น พระองค์ทรงได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน ๒ ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา ๒ คน คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และนางลิปิธรรม ศรีพยัตต์

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง ๒ ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ และทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า

เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฏรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ พระองค์ทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา เช่าอะพาร์ทเม็น ซึ่งมีเพียง ๔ ห้อง และมีคนใช้เพียงคนเดียว นับเป็นที่ชื่นชมของชาวอเมริกามาก ดังที่ได้เห็นจากบทความของ ดร. เอลลิส ว่า

ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่งที่ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า "มิสเตอร์มหิดล สงขลา" ใน เวลาที่ประทับอยู่ในประเทศที่ไม่มีเจ้านาย พระองค์ท่านก็ไม่ใช่เจ้านาย เราถือว่าการที่วางพระองค์เช่นนี้ เป็นการให้เกียรติยศอันแท้จริงแก่ประเทศของเราและสมกับพระลักษณะของการเป็นเจ้านายที่แท้จริง

ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขชั้นปีที่ ๓ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จกลับมาร่วมงาน ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระบรมราชชนกได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

[แก้] ยุโรป

เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงสำเร็จการศึกษา และได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข ดังนั้นพระองค์พร้อมพระชายาจึงเสด็จยุโรปประทับที่เมืองเอดินเบอร์ก สก็อตแลนด์ ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับ มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งบรรลุผลสำเร็จให้กับรัฐบาลไทย ถึงแม้จะมีการเจรจากันหลายครั้งก็ตาม

การเสด็จสหราชอาณาจักรครั้งนี้ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ แต่เนื่องจากมีอุปสรรค ได้ประชวรด้วยโรคของพระวักกะ (ระบบปอด) ประกอบกับที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ไม่เหมาะกับโรค ดังนั้นพระบรมราชชนกจึงต้องเสด็จนิวัติกลับพระนคร เพราะมีพระราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และรับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จพระบรมราชชนกพร้อมพระชายาและพระธิดาเสด็จยุโรป เพื่อไปศึกษาเรื่องแพทย์ต่อ โดยได้ทรงเลือกวิชากุมารเวชศาสตร์ และพระองค์ก็ได้ทรงเสด็จกลับเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

[แก้] เสด็จกลับ

พระราชกรณียกิจประการแรก เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็คือ พระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษา ๑๐ ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์

สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมีความเห็นว่า นักเรียนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะได้ศึกษาเพียงเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้นเท่านั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่ออีก ๑ ปี เพื่อจะให้ได้รับความรู้และความชำนาญโรคของประเทศไทย แต่ทางการก็มิอาจทำได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ดังนั้นพระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากจะทรงทำงานในโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่

[แก้] ที่เมืองเชียงใหม่

สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จถึงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงประทับกับครอบครัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลขณะนั้น ดร. อี.ซี. คอร์ท เป็นตึกเล็ก และทรงมีมหาดเล็กเพียงคนเดียว

พระบรมราชชนกทรงมีความเอาใจ่ใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า หมอเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมราชชนกได้ประทับ ทีเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธี ถวายพระเพลิง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังจากนั้นทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากทรงประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม พร้อมด้วยพระมารดา โดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย

และเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เวลา ๑๖.๔๕ น. พระบรมราชชนกก็ได้เสด็จทิวงคตด้วยโรคพระอาการบวมน้ำที่พระปับผาสะ (ปอด) พระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา หลังจากทรงทนทรมานอยู่ได้ ๓ เดือนครึ่ง

[แก้] พระนามและราชสกุลมหิดล

ตราประจำราชสกุลมหิดล เดิมเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนก

พระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั้น สามารถพบได้ ๒ แบบ ได้แก่ มหิดลอดุลเดช และ มหิดลอดุลยเดช โดยเมื่อแรกเริ่มนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระนามแก่พระองค์ในการสมโภชเดือนว่า "มหิดลอดุลเดช"[4] ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาได้ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏขึ้น พร้อมกันนี้ พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ "กรมขุนสงขลานครินทร์" โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรในครั้งนี้ ว่า "มหิดลอดุลยเดช"

หลังจากนั้น เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระนามกรมของพระองค์ขึ้นเป็น "กรมหลวงสงขลานครินทร์" และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระนามของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏจึงกลับมาใช้ว่า "มหิดลอดุลเดช" อีกครั้ง

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาว่า "สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" และในสมัยปัจจุบันการเขียนพระนามของพระองค์ก็นิยมเขียนว่า "มหิดลอดุลยเดช"[5]

ส่วนนามสกุลนั้น เมื่อพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศนั้น พระองค์ใช้พระนามว่า Mr. Mahidol Songkla ส่วนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใช้พระนามว่า Mrs. Sonkla ดังนั้น พระโอรสและพระธิดาของพระองค์จึงใช้นามสกุลว่า "สงขลา"[5]

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ชั้น ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายพระโลหิตจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกให้ใช้ราชสกุลว่า "มหิดล" จนถึงปัจจุบัน[6]

[แก้] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก ๒๐ ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน ๔ ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัด ตั้งฐานทัพเรือและสถานี ทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ ทางด้านการแพทย์ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์โดยแท้ กล่าวคือทรงพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกต่างๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช ในด้านการสาธารณสุขทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ทรงศึกษามา ทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล และเคยทรงปรารภว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า ทรงพระราชทานทุน ๑ แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน ทรงพระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ และทรงพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี

[แก้] พระเกียรติยศ

[แก้] พระอิสริยยศ

  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ ลักษณวิจิตรพิสิฐบุรุษ ชนุตมรัตน์พัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร[4]
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณเบญจพรศิริสวัสดิ ขัติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ ลักษณวิจิตรพิสิฐบุรุษย์ ชนุตมรัตน์พัฒนศักดิ อรรควรราชกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์[7] (๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓)
  • สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘)
  • สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘-๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒)
  • สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรสิริสวัสดิ ขัตติยวโรภโตสุชาต คุณสังกาศเกียรติประกฤษฏ์ ลักษณวิจิตรพิสิฐบุรุษ ชนุดมรัตนพัฒนศักดิ อัครวรราชนรินทรเชษฐาธิบดี กรมหลวงสงขลานครินทร์[8] (๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒-๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗)
  • สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์[9] (๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗-๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓)
  • สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓-ปัจจุบัน) ทรงพระฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้าในพระบรมราชวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์[10]

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[11]

[แก้] สถานที่อันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย

การแพทย์ และการสาธารณสุข
สถาบันการศึกษา
อื่น ๆ

[แก้] พันธุ์สัตว์ประเภทเดียวในโลกอันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย

[แก้] ราชตระกูล

พระราชตระกูลในสามรุ่นของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนก
พระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์
กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
พระชนนีน้อย
พระชนนี:
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
(เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
หลวงอาสาสำแดง (แตง)
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ท้าวสุจริตธำรง (นาค)

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (พระยศ จอมพลเรือ ถวายแด่ นายนาวาเอก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก), เล่ม ๑๑๕, ตอน ๔ ข, ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑
  2. ^ กองทัพเรือได้ขอพระราชทานพระยศจอมพลเรือแด่สมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2541 [1]
  3. ^ นาวิกศาสตร์ ปีที่ ๘๕ เล่มที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕
  4. ^ 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ, เล่ม ๘, ตอน ๔๕, ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๔, หน้า ๔๐๖
  5. ^ 5.0 5.1 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา, เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์, ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549, 450 หน้า, ISBN 974-7047-55-1
  6. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานนามสกุลสำหรับเชื้อพระวงศ์พระบรมราชวงศ์ชั้น ๕, เล่ม ๔๖, ตอน ๐ ก, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๒๑
  7. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช, เล่ม ๒๐, ตอน ๔๑, ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖, หน้า ๗๐๘
  8. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เลื่อนพระนามกรม สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง, เล่ม ๔๖, ตอน ๐ก, ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๑๙๘
  9. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง ถวายพระนามพระอัยยิกา พระราชบิดา และพระราชชนนี,เล่ม ๕๑๙ ตอน ๐ ก, ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗, หน้า ๑๔๐๙
  10. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนก และ สมเด็จพระบรมราชชนนี, เล่ม ๘๗, ตอน ๕๒, ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓, ฉบับพิเศษ หน้า ๑
  11. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม ๔๖, ตอน ง, ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๒๑๔๓
  12. ^ http://www.fishbase.org/Summary/SpeciesSummary.php?id=7240
  • ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก 25352)จัดทำโดยคณะกรรมการฝ่ายจัดพิมพ์หนังสืองานฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
  • ศุภกฤต โสภิกุล.(2552).เอกสารประกอบการบรรยายการจัดตั้งเครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสถาน ภาคตะวันออก (โครงการนำร่องการจัดทำเขตอนุรักษ์ปลาบู่มหิดลในแหลมสิงห์). ราชบัณฑิตยสถาน.กรุงเทพมหานคร.

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น