เขมรแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงแดงรูปค้อนเคียวของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (ต่อมาคือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย)

[[ไฟล์:กระโหลกเหยื่อเขมรแดง.jpg|thumb|ส่วนหนึ่งของกะโหลกศีรษะของเหยื่อที่เสียชีวิตจากการกระทำของเขมรแดง]] เขมรแดง (เขมร : ខ្មែរក្រហម; แขฺมรกฺรหม ; อ่านว่า คแมร์กรอฮอม /ฝรั่งเศสและอังกฤษ : Khmer Rouge[1]) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย” (Armée nationale du Kampuchéa démocratique) คือ กองกำลังลัทธิคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่เคยปกครองราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2522

เขมรแดงถือเป็นตัวแทนความสำเร็จเชิงอำนาจของพรรคการเมืองลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ที่ต่อมาได้พัฒนาไปเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา” (Parti communiste du Kampuchéa – PCK) และ “พรรคกัมพูชาประชาธิปไตย” (Parti du Kampuchéa démocratique)

รูปแบบการปกครองของเขมรแดงมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง "สังคมใหม่" โดยใช้รากฐานทางอุดมการณ์ที่เรียกว่า "อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ" (idéologie de révolution totale) ที่มีการรักษาเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ เป็นตัวขับเคลื่อน[2]

สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่น ๆ มาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท เพื่อจำแนกประชาชนที่ถือว่าเป็น "ศัตรูทางชนชั้น" ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา หรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะในด้านต่าง ๆ ออกมาเพื่อขจัดทิ้ง[3] การกระทำดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยาก เป็นจำนวนประมาณ 850,000 ถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนของประชาชนที่เสียชีวิตต่อจำนวนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดในขณะนั้น (ประมาณ 7.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2518) ถือได้ว่าระบอบการปกครองของเขมรแดงเป็นหนึ่งในระบอบที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

หลังจากที่เขมรแดงปกครองกัมพูชาเป็นระยะเวลา 4 ปี ในปี พ.ศ. 2522 อำนาจการปกครองของเขมรแดงก็สิ้นสุดลง เนื่องจากการบุกยึดกัมพูชาของกองกำลังจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการเคลื่อนไหวแบบต่อต้านของเขมรแดง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันตกของกัมพูชา ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในราชอาณาจักรไทย ก็ยังคงดำเนินต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 90 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 พล พต หัวหน้าขบวนการในขณะนั้น ก็ยุติการทำงานของเขมรแดงลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ

พล พต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีสังหารหมู่ประชาชนในช่วงที่เขมรแดงยังมีอำนาจอยู่แต่อย่างใด[4] เช่นเดียวกันกับตา ม็อก อดีตผู้บัญชาการเขมรแดง ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการควบคุมตัวจากรัฐบาลกัมพูชาเพื่อรอพิจารณาคดี[5] ปัจจุบัน มีเพียงคัง เค็ก เอียว (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ดุช”) อดีตหัวหน้าค่ายกักกันตวล สเลง และนวน เจีย อดีตสมาชิกระดับผู้นำ เท่านั้นที่ถูกนำตัวมาพิจารณาโทษจากศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีของอดีตกลุ่มผู้นำเขมรแดงโดยเฉพาะ[6][7][8] โดยได้เริ่มการพิจารณาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป

เนื้อหา

[แก้] ต้นกำเนิด

[แก้] กัมพูชาฝ่ายซ้าย

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 โฮจิมินห์ได้ประกาศจัดตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม" (Parti communiste vietnamien หรือ Việt Nam Cộng Sản Đảng) ขึ้น ด้วยการรวมเอาพรรคการเมืองลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม จากเมืองตองแกง อันนัม และเทนินห์ (โคชินไชนา) จำนวน 3 กลุ่ม เข้าไว้ด้วยกัน แต่ต่อมาไม่นาน ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามก็ถูกเปลี่ยนเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน" (Parti communiste indochinois – PCI)[9][10] และได้รับเอากลุ่มปฏิวัติคอมมิวนิสต์จากกัมพูชาและลาวเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย ในช่วงแรก สมาชิกในพรรคส่วนใหญ่ยังเป็นชาวเวียดนาม จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ชาวกัมพูชาจึงเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลที่สมาชิกชาวกัมพูชามีต่อการเคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนและการพัฒนาภายในกัมพูชานั้น ยังอยู่ในระดับต่ำ

ในช่วงที่กัมพูชากำลังทำสงครามเรียกร้องเอกราชกับฝรั่งเศส กองกำลังเวียดมินห์ จากเวียดนาม ก็เริ่มเข้ามาสนับสนุนให้เกิด “การต่อสู้เพื่อปลดปล่อย” ขึ้นในกัมพูชา พร้อมกันนั้น รัฐบาลพลเรือนที่ปกครองราชอาณาจักรไทยช่วงปี พ.ศ. 24892490 ก็มีนโยบายสนับสนุนกองกำลัง “เขมรอิสระ” (Khmer Issarak) ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ให้ปฏิบัติการตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และพื้นที่ใต้การยึดครองของไทยในขณะนั้น ซึ่งได้แก่ เสียมราฐและพระตะบอง ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 (25 ปีก่อนที่กองกำลังเขมรแดงจะบุกยึดกรุงพนมเปญ) กลุ่มเขมรอิสระได้จัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติเป็นครั้งแรก ในวันที่ 17 เมษายน ผลจากการประชุมครั้งนั้น นำไปสู่การก่อตั้ง “กลุ่มอิสระสามัคคี” (United Issarak Front) โดยมีผู้นำกลุ่มคือซัน ง็อก มินห์ ร่วมกับกลุ่มแกนนำที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนเชื้อสายเขมร เมื่อเวลาผ่านไป กองกำลังเขมรอิสระภายใต้การควบคุมของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็เติบโตมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2495 เขมรอิสระ ซึ่งปฏิบัติการร่วมกับขบวนการเวียดมินห์ ก็สามารถครองพื้นที่ได้ประมาณหนึ่งในหกของกัมพูชา และขยายอาณาเขตคลอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศได้ ในอีก 2 ปีต่อมา ในช่วงที่มีการประชุมนานาชาติที่เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส[11]

ในปี พ.ศ. 2494 หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนยุบตัวลง ก็ได้มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เอกเทศขึ้น 3 พรรค ได้แก่ พรรคกรรมกรเวียดนาม (parti des travailleurs du Viêt Nam) ในเวียดนาม พรรคลาวอิสระ (Lao Itsala) ในลาว และพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร (Parti révolutionnaire du peuple du Kampuchea – PRPK) ในกัมพูชา โดยพรรคที่ถือว่ามีบทบาทในการเคลื่อนไหวมากที่สุดคือพรรคกรรมกรเวียดนาม

พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรถือเป็นต้นกำเนิดของขบวนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ผู้นำของพรรค คือ ซัน ง็อก มินห์ และ เตา สมุธ ในช่วงแรกสมาชิกของพรรคส่วนใหญ่คือคนเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา ส่วนชาวกัมพูชาพื้นถิ่นจริง ๆ ที่เข้าร่วมกับพรรคมีจำนวนค่อนข้างน้อย พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรได้ปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังเขมรอิสระอื่น ๆ เข้าควบคุมพื้นที่ชนบทของประเทศได้อย่างกว้างขวาง แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ สามารถเรียกร้องเอกราชของกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสได้สำเร็จ พระองค์ก็ใช้เวทีการประชุมว่าด้วยปัญหาอินโดจีน ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2497เมืองเจนีวา ต่อต้านข้อเรียกร้องของขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งที่ประชุมเองก็รับรองเอกราชของกัมพูชาภายใต้การนำของพระองค์ และไม่รับรองสถานะและกำหนดเขตที่ตั้งของฐานที่มั่นฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้เช่นกัน จากมติการประชุมดังกล่าว ส่งผลให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ รวมถึงพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร สูญเสียบทบาททางการเมืองในกัมพูชา และต้องลี้ภัยไปอาศัยในเวียดนามเหนือตามข้อตกลงเจนีวา จำนวนผู้ลี้ภัยในขณะนั้นมีประมาณ 2,000 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีซัน ง็อก มินห์ รวมอยู่ด้วย[12]

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2497 ขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ยังอาศัยอยู่ในกัมพูชาได้จัดตั้งพรรคการเมืองถูกกฎหมาย โดยใช้ชื่อพรรคว่า “กรมประชาชน” (Krom Pracheachon) หรือ “กลุ่มประชาชน” เพื่อลงเลือกตั้งสภาในปี พ.ศ. 2498 ซึ่งผลปรากฏว่า พรรคประชาชนได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งครั้งนั้นเพียงร้อยละ 3.5 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ ส่วนพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดคือ พรรคสังคมราษฎร์นิยม (Sangkum Reastr Niyum) หรือ "กลุ่มสังคม” ของเจ้าสีหนุ [13]

หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง สมาชิกของพรรคประชาชนก็โดนกลุ่มของเจ้าสีหนุกดดันและตามจับกุมจนต้องหลบหนีไปอยู่ใต้ดิน เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปไตยที่โดนเจ้าสีหนุกดดันจนต้องสลายตัวไปก่อนหน้านั้น เนื่องจากพระองค์กล่าวหาว่าพรรคเป็นอันตรายต่อนโยบายของพระองค์[14] การหลบหนีของพรรคประชาชนในครั้งนั้น ส่งผลให้พรรคไม่ได้ลงเลือกตั้งครั้งต่อมา ในปี พ.ศ. 2505 ในช่วงนี้เอง ที่เจ้าสีหนุเริ่มเรียกกลุ่มฝ่ายซ้ายที่แฝงอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยชื่อว่า “เขมรแดง”[15]

ช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรได้แบ่งคณะกรรมการพรรคเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการฝ่ายเมือง นำโดยเตา สมุธ และคณะกรรมการฝ่ายชนบท นำโดยเซียว เฮง ถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเหมือนกัน แต่เป้าประสงค์ของแต่ละฝ่ายนั้นต่างกัน ฝ่ายเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ มองว่าการที่เจ้าสีหนุ ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางและไม่ได้รับความไว้วางใจจากสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น[16] จะทำให้เกิดประโยชน์ในการต่อสู้เพื่อ “ปลดปล่อย” เวียดนามใต้ และมีแนวโน้มว่าพระองค์จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายเป็นแบบฝ่ายซ้ายแทน ส่วนฝ่ายชนบท ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังที่ในท้องที่ชนบทต่าง ๆ กลับสนับสนุนในมีการต่อสู้เพื่อล้มล้าง “ระบบขุนนาง” ของเจ้าสีหนุโดยเร็วที่สุด

ในปี พ.ศ. 2502 เซียว เฮง ได้ละทิ้งรัฐบาล และให้อำนาจแก่กองกำลังรักษาความปลอดภัยเพื่อเข้าทำลายโครงสร้างของพรรคฝ่ายชนบทให้มากกว่าร้อยละ 90 ของทั้งหมด จากการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2503 จำนวนกองกำลังคอมมิวนิสต์ในกรุงพนมเปญและเมืองอื่น ๆ ของกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้เขตอำนาจของเตา สมุธ เป็นส่วนใหญ่ เหลืออยู่ไม่กี่ร้อยคน

[แก้] กลุ่มปัญญาชนปารีส

ซาลอธ ซาร์ (พล พต)
เอียง ซารี
เขียว สัมพัน (ซ้าย) ถ่ายคู่กับเจ้าสีหนุ (ขวา)
ซอน เซน

กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) คือ กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้มาศึกษาต่อในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ของตนเองขึ้น ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่แผ่นดินเกิดและเป็นกำลังสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กลุ่มเขมรแดง ในการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลลอน นอล ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

ปัญญาชนคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้แก่[17]

  • เขียว สัมพัน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2474 ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยศรีสวัสดิ์เช่นกัน มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างมาก คู่แข่งทางพรสวรรค์ของเขา คือ ฮู ยวน นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มปัญญาชนปารีสอีกคนหนึ่ง ฮู ยวน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2473 ศึกษาต่อทางด้านเศรษศาสตร์และกฎหมายในฝรั่งเศส ทั้งเขียว สัมพันธ์ และฮู ยวน ต่างสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสเหมือนกัน
  • และ ฮู นิม เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2475 เดินทางไปศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมายในฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพนมเปญ เขามีความสนใจในเรื่องบทบาทการเงินของกัมพูชาที่ถูกภายนอกครอบงำ
  • นอกจากสมาชิกที่เป็นผู้ชายแล้ว ในกลุ่มปัญญาชนปารีสยังมีสมาชิกผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางการสมรสกับสมาชิกฝ่ายชายอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เขียว พอนนารี ภรรยาของซาลอธ ซาร์ เขียว ธิริธ ภรรยาของเอียง ซารี หรือยุน ยาต ภรรยาของซอน เซน สมาชิกหญิงเหล่านี้ต่างก็มีบทบาทสำคัญในระบอบการปกครองกัมพูชาประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของเขมรแดง แทบทั้งสิ้น

สาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้เชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ มีแนวโน้มมาจากบริบททางการเมืองโลกในขณะนั้น ที่การเคลื่อนไหวตามแนวทางคอมมิวนิสต์กำลังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น การยืนหยัดต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาต่อฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคม การได้รับชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเกาหลี หรือการเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความไม่เสมอภาคทางชนชั้นและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่นักศึกษาบางคนประสบในอดีต ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน ดังเช่นกรณีปัญหาครอบครัวของเขียว พอนนารี และเขียว ธิริธ ที่บิดาของเธอทั้งสองหนีตามเจ้าหญิงแห่งกัมพูชาไปอยู่จังหวัดพระตะบอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิ้งให้มารดาของพวกเธอทำหน้าที่ดูแลครอบครัวเพียงผู้เดียว กรณีดังกล่าวนี้ เดวิด พี. แชนด์เลอร์ นักประวัติศาสตร์และนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวว่า อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้พวกเธอมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชนชั้นเจ้าของกัมพูชา จนนำไปสู่การต่อต้านก็เป็นได้[18]

ขณะที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส กลุ่มปัญญาชนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสศึกษาสำนักคิด/ลัทธิทางด้านสังคมศาสตร์หลาย ๆ แขนง เช่น ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม และลัทธิอาณานิคมใหม่ เป็นต้น[19] พร้อมกันนั้น พวกเขายังได้ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์เอาไว้หลายระดับ นับตั้งแต่การรวมกลุ่มการเมืองย่อย ๆ ในหมู่นักศึกษา ที่เรียกกันว่า “วงมาร์กซิสต์” เพื่อนำงานเขียนแนวอุดมการณ์มาร์กซิสต์มาถกเถียงกัน[20] จนถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย และยังรวมไปถึงการเป็นตัวแทนสมาคมนักศึกษาเขมรในกรุงปารีส เข้าร่วมการประชุมเยาวชนนานาชาติ ณ เบอร์ลินตะวันออก ที่ซึ่งพวกเขาได้พบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และได้เรียนรู้วิธีการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา และการก่อตั้งพรรคปฏิวัติประชาชนเขมรเป็นครั้งแรก[21]

นอกจากนั้น พวกเขายังพยายามขยายอุดมการณ์ของกลุ่มให้ครอบคลุมทั้งสมาคมนักศึกษาเขมร ซึ่งเป็นแหล่งรวมปัญญาชนชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ในปารีส ด้วยการล้มล้างอิทธิพลของผู้นำนักศึกษาแนวอนุรักษ์นิยม[22]และเปลี่ยนให้กลายเป็นองค์กรสำหรับนักชาตินิยมและนักสังคมนิยมแทน

หลังจากที่เจ้าสีหนุกระทำรัฐประหาร ประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2495[23] กลุ่มปัญญาชนปารีสก็เคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำดังกล่าว ด้วยการออกแถลงการณ์วันที่ 6 กรกฎาคม ประณามการกระทำของพระองค์และเรียกร้องให้พระองค์สละราชสมบัติ[24] พร้อมกันนั้น ซาลอธ ซาร์ ยังได้เขียนบทความชื่อ “ราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย?” (Monarchy or Democracy?) ลงในนิตยสารสำหรับนักศึกษาชาวกัมพูชา ฉบับพิเศษ เพื่อวิพากษ์การกระทำของเจ้าสีหนุอีกด้วย จากการกระทำเหล่านี้ ส่งผลให้พวกเขาโดนระงับทุนการศึกษา[25] และทางการฝรั่งเศสยังออกคำสั่งปิดสมาคมนักศึกษาเขมรในปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2499 ฮู ยวน และเขียว สัมพันธ์ ได้ช่วยกันก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “สหภาพนักศึกษาเขมร” (Khmer Students' Union) ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มนักศึกษาในวงมาร์กซิสเช่นเดิม

[แก้] เส้นทางสู่อำนาจ

[แก้] กลับกัมพูชา

หลังจากที่กลุ่มปัญญาชนปารีสเดินทางกลับสู่กัมพูชา สมาชิกในกลุ่มต่างก็แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและกิจกรรมต่าง ๆ ซาลอธ ซาร์ (กลับมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2496) เดินทางออกจากกรุงพนมเปญเพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังเขมรอิสระในพื้นที่ใกล้จังหวัดกัมปงสปือ และขบวนการเวียดมินห์ในพื้นที่ชนบทของจังหวัดกัมปงจาม[26] เอียง ซารี ประกอบอาชีพครูประจำภาควิชาการเมืองและปรัชญาที่วิทยาลัยศรีสวัสดิ์และวิทยาลัยกัมพูบต เช่นเดียวกับฮู ยวน[27] และเขียว สัมพัน (กลับมาในปี พ.ศ. 2502) ประกอบอาชีพอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพนมเปญ และผลิตหนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อ “ล็อบแซร์วาเตอร์[28] ซึ่งได้รับความนิยมจากวงนักวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ ในพนมเปญ

หลังจากที่ดำเนินการผลิตมาได้ 1 ปี กิจการหนังสือพิมพ์ของเขียว สัมพัน พร้อมกับหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายฉบับอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ในกัมพูชาขณะนั้น ก็ถูกหน่วยรักษาความมั่นคงของรัฐบาลเจ้าสีหนุปิด ส่วนตัวเขียว สัมพัน เองก็ถูกนำไปประจารต่อสาธารณชนโดยการเฆี่ยนตี จับเปลื้องผ้า และถ่ายรูปเก็บไว้ หลังจากนั้นจึงถูกนำตัวไปควบคุมพร้อมกับสมาชิกขบวนการฝ่ายซ้ายอีก 17 คน[29] แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขียว สัมพัน ก็ได้รับการปล่อยตัว และร่วมมือกับเจ้าสีหนุต่อต้านกิจกรรมของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามใต้

ทั้งเขียว สัมพัน ฮู ยวน และฮู นิม ต่างก็เป็นปัญญาชนแนวสังคมนิยมที่เจ้าสีหนุเชิญให้เข้ามาร่วมรัฐบาลสังคมราษฎร์ของพระองค์ด้วย โดยฮู ยวน ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรม ฮู นิม ได้รับตำแหน่งสำคัญในสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา[30] และเขียว สัมพัน ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ[31]

การได้ประกอบอาชีพเป็นครู/อาจารย์ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวง และได้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาล ทำให้สมาชิกกลุ่มปัญญาชนปารีสบางคนสามารถแทรกซึมแนวคิดคอมมิวนิสต์เข้าไปยังหมู่ชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง และฐานมวลชนในเขตเลือกตั้งของตนได้[32]

[แก้] การประชุมสมัชชาพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร และการเปลี่ยนแปลง

สถานีรถไฟกรุงพนมเปญ สถานที่ที่เคยใช้จัดประชุมสมัชชาพรรคปฏิวัติประชาชนเขมรอย่างลับ ๆ

วันที่ 30 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2503 พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรได้จัดการประชุมสมัชชาพรรคขึ้นอย่างลับ ๆ ในห้องว่าง ณ สถานีรถไฟกรุงพนมเปญ โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการนำประเด็นที่ว่า พรรคควรจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรหรือเลือกเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าสีหนุ มาถกเถียงกันด้วย หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง ที่ประชุมได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็นชื่อ “พรรคแรงงานแห่งกัมพูชา” โดยแต่งตั้งเตา สมุธ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และนวน เจีย ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ นอกจากนั้นซาลอธ ซาร์ และเอียง ซารี ก็เข้าร่วมเป็นแกนนำของพรรคนี้ด้วย[33]

การหายตัวไปอย่างลึกลับของเตา สมุธ (สันนิษฐานกันว่าถูกสังหาร) ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทำให้พรรคตกอยู่ใต้การควบคุมของซาลอธ ซาร์ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งต่อมาซาลอธ ซาร์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางของพรรคชุดใหม่ ในการประชุมสมัชชาพรรครอบพิเศษ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2506 โดยมีนวน เจีย และเอียง ซารี ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ และมีโซ พิม กับวอน เวต เป็นแกนนำของพรรค[34] หลังจากนั้นมา ซาลอธ ซาร์ และสหายปัญญาชนปารีสของเขา ก็สามารถควบคุมศูนย์กลางของพรรคได้ทั้งหมด ส่วนกลุ่มสมาชิกเก่าแก่ที่สนับสนุนนโยบายเป็นกลางของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเวียดนาม นั้น ก็ถูกลดอำนาจในพรรคลง

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2506 ซาลอธ ซาร์ กับสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรคส่วนใหญ่ ได้ทยอยเดินทางออกจากกรุงพนมเปญ เพื่อไปสร้างกองกำลังกบฏของตนเองขึ้นในบริเวณชายแดนของจังหวัดกำปงจามกับประเทศเวียดนาม[35] ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ก่อนหน้านั้นไม่นาน เจ้าสีหนุได้รณรงค์ต่อต้านฝ่ายซ้าย และประกาศรายชื่อบุคคล 34 คนที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลของพระองค์ ซึ่งในจำนวนนั้น มีชื่อของซาลอธ ซาร์ กับครูฝ่ายซ้ายอีกหลายคนติดอยู่ด้วย เจ้าสีหนุได้เรียกตัวบุคคลในรายชื่อเหล่านี้มาพบ เพื่อให้พวกเขาเข้าร่วมกับรัฐบาลของพระองค์ และปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ ทุกคนที่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจะถูกติดตามด้วยตำรวจของพระองค์ตลอด 24 ชั่วโมง มีเพียงซาลอธ ซาร์ และเอียง ซารี เท่านั้น ที่ไม่ถูกติดตาม และสามารถหลบหนีออกมาจากกรุงพนมเปญได้[36]

[แก้] การล่มสลายของรัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐ และการขึ้นสู่อำนาจของเขมรแดง

ระหว่างปี พ.ศ. 25082509 ซาลอธ ซาร์ และเพื่อนร่วมงานของเขา ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เวียดนามเหนือ พวกเขาได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ทั้งที่เป็นชาวเวียดนามและชาวกัมพูชาที่อพยพเข้าไปอยู่ในเวียดนามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ซึ่งยังอาจได้รับการฝึกฝนทางการเมืองบางด้านจากที่นั่น[37] ส่วนในจีน พวกเขาได้ไปแสดงจุดยืนของพรรคและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง หรือหลิว เสาฉี เป็นต้น[38] (ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นพันธมิตรกับเจ้าสีหนุ แต่ทางการจีนก็ปิดข่าวการเดินทางมาเยือนของกลุ่มคอมมิวนิสต์กัมพูชาในครั้งนั้นไม่ให้พระองค์ทราบ)

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 พรรคแรงงานแห่งกัมพูชาได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างลับ ๆ เป็น "พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา" (Communist Party of Kampuchea – CPK) ซึ่งในช่วงปลายปีเดียวกัน ศูนย์บัญชาการของพรรคก็ต้องถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดรัตนคีรี เนื่องจากฐานที่มั่นเดิมถูกจู่โจมโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกา[38]

ในปีต่อมา ด้วยความช่วยเหลือทางด้านอาวุธและที่พักจากฝ่ายเวียดนามเหนือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่ประกอบด้วยกลุ่ม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเขมรแดง (กลุ่มปัญญาชนปารีส) กลุ่มเขมรเวียดมินห์ และกลุ่มเขมรคอมมิวนิสต์[39] ก็เริ่มใช้กำลังต่อต้านรัฐบาลเจ้าสีหนุ โดยเริ่มจากการโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายพระองค์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือก่อน ขณะเดียวกัน บรรดานักศึกษาและครูในเมืองจำนวนมากก็รู้สึกไม่พอใจกับวิธีการปกครองของเจ้าสีหนุ และหันมาศรัทธาต่อความสำเร็จจากการต่อสู้ทางการเมืองในจีน (การปฏิวัติวัฒนธรรม) และฝรั่งเศส (การลุกฮือเดือนพฤษภาคม 1968) ว่าเป็นขบวนการทางเลือกที่ควรจะมาแทนการปกครองแบบเจ้าสีหนุ[40]

อดีตนายกรัฐมนตรีลอน นอล ผู้ร่วมก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเจ้าสีหนุ
เจ้าสีสุวัตถิ์ สิริมาตะ ผู้ร่วมก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเจ้าสีหนุ

ต่อมา หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจเจ้าสีหนุในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 โดยเจ้าสีสุวัตถิ์ สิริมาตะ ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าสีหนุ และลอน นอล นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น กลุ่มพลังฝ่ายขวา หรือฝ่ายสาธารณรัฐเขมร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ก็สามารถเข้ากุมอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาได้แทบทั้งหมด พวกเขาได้ร่วมมือกับกองทัพอเมริกากดดันและปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตชนบทอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ภายในช่วงเวลา 4 ปีของการดำรงอำนาจ รัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐก็ต้องเผชิญปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพกัมพูชา เวียดนามใต้ และอเมริกา กับกองทัพเวียดนามเหนือในกัมพูชา ปัญหาการขาดประสิทธิภาพของกองทัพ ปัญหาการขาดผู้นำที่เข้มแข็ง และปัญหาการทุจริตในกลุ่มนายทหารฝ่ายสาธารณรัฐเอง เป็นต้น ตรงกันข้ามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ถึงแม้ว่าจะถูกกดดันโดยภาวะสงคราม แต่ก็ยังเป็นฝ่ายที่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในกัมพูชาได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล[41] และหลังจากที่เจ้าสีหนุเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา (Royal Government of National Union of Kampuchea – GRUNK)[42] เพื่อต่อต้านลอน นอล และเจ้าศรีสวัสดิ์ ความนิยมในเขตชนบทที่มีต่อพระองค์ก็เพิ่มมากขึ้น จนเป็นผลให้การขยายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเป็นไปอย่างง่ายดาย

ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2515 ถึงต้นปี พ.ศ. 2516 กองกำลังคอมมิวนิสต์เริ่มทดลองนำโครงการนารวมและระบบสหกรณ์รวมมาใช้กับประชาชนในเขตยึดครองของตนเอง และเริ่มมีข่าวลือว่า หลังจากที่พวกเขายึดหมู่บ้านหรือเมืองได้แล้ว พวกเขาจะบังคับให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่นั้นเข้าไปอยู่ในป่าแทนการจับเป็นเชลย[43]

ต้นปี พ.ศ. 2518 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้วางระเบิดตัดเส้นทางชายฝั่งแม่น้ำที่ใช้ลำเลียงอาหารและอาวุธเข้าสู่กรุงพนมเปญ[44] และนำกำลังปิดล้อมเมืองหลวงเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเตรียมการบุกยึด ในที่สุด หลังจากการหลบหนีออกจากกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีลอน นอล ในเดือนมีนาคมของปีเดียวกัน และความพยายามของสหรัฐอเมริกา ที่จะนำฝ่ายคอมมิวนิสต์มาเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ไม่เป็นผล กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่นำโดยกลุ่มเขมรแดงของซาลอธ ซาร์ ก็เข้าบุกยึดกรุงพนมเปญ ในเช้าตรู่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ของชาวกัมพูชา (เหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เลือกวันนี้เป็นวันบุกยึด เพราะต้องการให้ปีใหม่ปีนั้นเป็นปีเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของกัมพูชาใหม่ทั้งหมด)[45]

[แก้] กัมพูชายุคเขมรแดง

[แก้] กัมพูชาประชาธิปไตย

ธงชาติกัมพูชาประชาธิปไตย
ภาพสมาชิกระดับผู้นำของเขมรแดง - พล พต หรือซาลอธ ซาร์ หัวหน้าขบวนการ ยืนอยู่ตำแหน่งซ้ายมือสุด (ภาพนี้ถูกแสดงในพิพิธภัณฑ์ตวล สเลง)

หลังจากที่บุกยึดกรุงพนมเปญและสาธารณรัฐกัมพูชาได้สำเร็จ เขมรแดงได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของกัมพูชาให้เป็นระบอบสังคมนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคณะผู้ปกครองหลักคือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย[46] และมีกลุ่มผู้ปกครองสูงสุดที่เรียกตนเองว่า "อังการเลอ" (Angkar Loeu) หรือ "องค์การจัดตั้งระดับสูง" ซึ่งชื่อ "อังการเลอ" นี้ ถูกนำมาใช้เพื่ออำพรางตนเองจากการรับรู้ของชาวกัมพูชารวมไปถึงสมาชิกระดับล่างของพรรค[47]

ในเดือนมกราคม 2519 เขมรแดงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับใหม่ ภายในนั้นได้มีการบัญญัติชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาว่า "กัมพูชาประชาธิปไตย" (Democratic Kampuchea)[47] แทนชื่อ "สาธารณรัฐกัมพูชา"

ศูนย์กลางอำนาจของกัมพูชาในขณะนั้นอยู่ที่ "พล พต" หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าซาลอธ ซาร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2519 โดยมีเอียง ซารี ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการต่างประเทศ วอน เวต ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ และซอน เซน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการกลาโหม[48]

สมาชิกของพรรคส่วนใหญ่ ได้แก่ กองกำลังติดอาวุธทั้งชายและหญิงจากครอบครัวชาวนาในชนบทอันห่างไกล ซึ่งทั้งยากจนและขาดโอกาสในการศึกษา[49] โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เจ็บปวดและโกรธแค้นจากการที่ต้องสูญเสียบ้าน การงาน และครอบครัวเพราะระเบิดของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมือง[50]

สถาบันหลักทางการเมืองของกัมพูชาประชาธิปไตย คือ “สภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา” (Kampuchean People’s Representative Assembly) ที่ประกอบด้วย 1) ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างลับ ๆ ทุก 5 ปี (ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนั้น) 2) ฝ่ายบริหาร ที่มาจากการคัดเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อสภา และ 3) ฝ่ายตุลาการ ที่ทำหน้าที่โดยศาลประชาชน นอกจากนั้นยังมี “สภาเปรสิเดียม” ที่ประกอบด้วยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี 2 คน ที่ได้รับการคัดเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนเช่นเดียวกับฝ่ายบริหาร เพื่อทำหน้าที่ตัวแทนของรัฐทั้งในและต่างประเทศ[51]

ภารกิจต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารจะอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลในคณะกรรมาธิการประจำ (กรมการเมือง) ซึ่งเป็นองค์กรหลักภายในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ในขณะที่คณะกรรมการของพรรคจะมีหน้าที่ควบคุมทุกระดับของการจัดตั้ง นับตั้งแต่กลุ่มที่ประกอบด้วยครอบครัว 10 ครอบครัว กระทรวง สำนักงานของรัฐ และเขตการปกครองต่าง ๆ ของกัมพูชา[52]

ในแต่ละเขตการปกครองจะมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาประจำอยู่ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจทั้งในด้านการเมืองและการทหารในเขตพื้นที่ของตน และรอรับคำสั่งจากศูนย์กลางพรรคเพื่อนำไปตีความและประยุกต์ใช้อีกครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละท้องที่[53]

[แก้] นโยบายและอุดมการณ์

นโยบายของเขมรแดงก็คือ ลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวตะวันตกสร้างไว้ และเขมรจะเจริญได้ต้องอยู่แบบชนบท นั่นคือ ไม่มีเมืองใหญ่ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีการใช้ระบบเงินตรา และไม่มีการศึกษาให้กับประชาชน

[แก้] การดำเนินการ

หลังจากที่เขมรแดงขึ้นมามีอำนาจแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือ ประกาศให้ชาวเขมรทุกคนทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เงินทอง หรือแม้แต่คนที่ตัวเองรักทั้งหลาย เพื่อมาทำงานให้กับคอมมูน คอมมูนคือหน่วยย่อยของเขมรแดง มีคอมมูนละ 10,000 คน หน้าที่ที่คนในค่ายต้องทำทุกวันคือทำงานเกี่ยวกับการเกษตรทั้งหมด ตามแต่ที่คอมมูนใดจะสั่งลงมา แต่ทุกคอมมูนเหมือนกันหมดคือทำงานโดยใช้แรงงานคนทั้งหมดโดยไม่มีเครื่องมือใดๆช่วยทุ่นแรง และต้องทำงานเป็นเวลา 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 9 วันติดใครทำงานช้าหรืออิดๆออดๆจะถูกลงโทษอย่างหนัก ส่วนวันที่ 10 ต้องมานั่งฟังพวกเขมรแดงอบรมเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์

[แก้] ศัตรู

[แก้] ผลกระทบ ข้อจำกัด และปัญหา จากการดำเนินการของเขมรแดง

[แก้] ความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและการล่มสลาย

เมื่อเขมรแดงได้ครองอำนาจในกรุงพนมเปญ ทางเขมรแดงได้ติดต่อกับเวียดนามเหนือตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 เพื่อแก้ไขปัญหาพรมแดนและการยอมรับกัมพูชาในฐานะประเทศเอกราช เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถือว่าเขมรแดงเป็นเพียงสาขาหนึ่งของตนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งเดียวในอินโดจีน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเวียดนามไม่สามารถตกลงกับเขมรแดงได้ เพราะเวียดนามไม่ยอมถอนทหารออกจากบริเวณที่เขมรแดงถือว่าล้ำเข้ามาในดินแดนของกัมพูชา แลไม่ยอมรับแนวเบรวิเญ่ ที่ใช้แบ่งเขตน่านน้ำของทั้งสองประเทศ แนวนี้กำหนดโดย จูลส์ เบรวิเญ่ ข้าหลวงใหญ่แห่งสหพันธรัฐอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. 2482 ทั้งที่ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้กับสมเด็จพระนโรดม สีหนุได้เคยตกลงกันให้ใช้แนวเบรวิเญ่เป็นแนวพรมแดนระหว่างกันตั้งแต่ พ.ศ. 2509

ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศรุนแรงขึ้นอีกใน พ.ศ. 2519 เมื่อทางเวียดนามได้ประกาศรวมชาติอินโดจีน และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับลาวเพื่อให้เขมรแดงทำตาม ในที่สุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2520 กองทัพเขมรแดงได้บุกโจมตีหมู่บ้านตินห์เบียว ในจังหวัดอันยางของเวียดนาม เวียดนามโต้ตอบด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกัมพูชา เขมรแดงจึงบุกโจมตีจังหวัดไตบินห์และจังหวัดฮาเตียนเป็นการโต้ตอบในเดือนกันยายน ทำให้เวียดนามเคลื่อนทัพเข้ายึดครองกรุงพนมเปญ เขมรแดงจึงหมดอำนาจ[54]

สมเด็จเฮง สัมรินประธานสภาปฏิวัติประชาชนกัมพูชา ได้ทำการรัฐประหารยึดรัฐบาลพล พตแล้วสถาปนาใหม่ว่าสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาแล้วให้เจ้าสีหนุมาปกครองราชอาณาจักรกัมพูชา

[แก้] การพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดง

แล้วในปีพ.ศ. 2550นายเอียง ซารีและนางเขียว ธิริธภรรยา ได้โดนจำคุกที่ศาลนานาชาติกรุงพนมเปญโดยตามคำสั่งของสมเด็จ ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีและส่วนนั้นยังไม่มีผู้รายงานมาดำเนินคดี มีเพียงเหลือแต่เขียว สัมพัน อายุ 75 ปี และคัง เค็ค เอียว หรือ สหายดุช อดีตหัวหน้าเรีอนจำตวนสเลง แค่เหลือเพียงเท่านั้น ที่จะดำเนินคดีล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ชื่อ Khmer Rouge มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่า ชาวเขมรสีแดง (Red Khmer) ได้รับการบัญญัติโดย พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ แต่ขบวนการคอมมิวนิสต์ของกัมพูชาไม่เคยเรียกตนเองด้วยชื่อนี้ ดู David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot, revised edition. (Chiang Mai: Silkworm Books, 2000.) P. 214.
  2. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. รัฐกับสังคมกัมพูชา (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.) หน้า 11
  3. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 12
  4. ^Pol Pot Dead.” BBC News (April 16, 1998.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  5. ^“ตาม็อก” อดีตผู้นำเขมรแดงสิ้นชีพ.” The Krungthep turakij web site (21 กรกฎาคม 2549.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  6. ^ศาลกัมพูชาตั้งข้อหาอดีตหัวหน้าคุกเขมรแดงก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ.” Manager Online (1 สิงหาคม 2550.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  7. ^The Khmer Rouge trials: Better Late Than Never.” Economist.com (August 2, 2007.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
  8. ^ "จับ "นวน เจีย" เบอร์ 2 เขมรแดงขึ้นศาล." หนังสือพิมพ์มติชน (20 กันยายน 2550, ปีที่ 30, ฉบับที่ 10785.) หน้า 21.
  9. ^ ศรีประภา เพชรมีศรี. “การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม,” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น, สีดา สอนศรี บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.) หน้า 337
  10. ^ การเปลี่ยนชื่อจาก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เป็น พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน นั้น นรนิติ เศรษฐบุตร ได้ให้เหตุผลว่า องค์การคอมมิวนิสต์สากล (Comintern) เห็นว่าถ้าใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามแล้ว แนวร่วมคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาและลาวจะตีตนออกห่างได้ ดู นรนิติ เศรษฐบุตร. อุดมการณ์หรือผลประโยชน์ : การขัดกันระหว่างรัสเซียกับจีน และญวนกับเขมร (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา.) หน้า 13
  11. ^ เดวิด แชนด์เลอร์, พรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ วงเดือน นาราสัจจ์ แปล. ประวัติศาสตร์กัมพูชา, พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรณาธิการแปล (กรุงเทพฯ : มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.) หน้า 284
  12. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. "การเมืองในกัมพูชา," เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น, สีดา สอนศรี บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.) หน้า 379, 381 – 382
  13. ^ ผลการเลือกตั้งสภาในปี พ.ศ. 2498 พรรคสังคมราษฎร์นิยมได้รับคะแนนร้อยละ 83 และที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติทุกที่นั่ง รองลงมา คือ พรรคประชาธิปไตย ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 13 และอันดับสุดท้ายคือพรรคประชาชนที่ได้กล่าวไปแล้วในเนื้อความ ดู ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 384
  14. ^ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 300
  15. ^ ชื่อ “เขมรแดง” มีที่มาจากการที่เจ้าสีหนุได้แบ่งกัมพูชาเป็นสี 3 สี เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมือง 3 กลุ่ม ได้แก่ “เขมรแดง” เป็นตัวแทนกลุ่มที่มีความคิดเห็นรุนแรง “เขมรน้ำเงิน” เป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งหมายถึงตัวเจ้าสีหนุเอง และ “เขมรขาว” เป็นตัวแทนของกลุ่มที่ไม่ยอมรับกลุ่มใดเลย ดู เดวิด แชนด์เลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 309
  16. ^ สาเหตุที่ทำให้เจ้าสีหนุเลือกที่จะดำเนินนโยบายแบบเป็นกลาง เป็นผลมาจากพระองค์ผิดหวังกับท่าทีของกลุ่มประเทศตะวันตกที่มีต่อกัมพูชา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เอาใจใส่แต่ไทยและเวียดนามใต้ โดยไม่สนใจผลประโยชน์ของกัมพูชา และไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่พระองค์ต้องการเอกราชกลับคืนสู่กัมพูชา ในขณะเดียวกัน จีนกับสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ กลับแสดงท่าทีที่เป็นมิตรและให้กำลังใจแก่พระองค์มากกว่า จึงทำให้พระองค์หันมาสนับสนุนนโยบายเป็นกลางและการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และคิดว่ากัมพูชาควรถ่วงดุลอำนาจกับอเมริกาโดยเป็นมิตรกับฝ่ายตรงข้ามของอเมริกาแทน ดู เสาวรส ณ บางช้าง. “เขมร : นโรดมสีหนุ วีรชนแห่งเขมร,” วีรชนเอเชีย : Asian Heroes, สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค, 2545.) หน้า 52 – 53
  17. ^ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ (กรุงเทพฯ : สัญญาพับลิเคชั่น, 2536.) หน้า 168, 170 – 173.
  18. ^ David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. Pp. 25, 32.
  19. ^The beginning of the Khmer Rouge Army...: The Rising of the Khmer Students' Association.” Khmer_Rouge.
  20. ^ ปิแอร์ โบรเชิซ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้กล่าวถึง “วงมาร์กซิสต์” ว่าเป็น กิจกรรมคอมมิวนิสต์ “วงนอก” เนื่องจากกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มกิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบและตรวจสอบจากพรรค (ซึ่งก็ถือว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมกลุ่มหนึ่งของพรรคเอง) แต่สามารถให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าร่วมได้ ดู David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. P. 33.
  21. ^ David P. Chandler. Ibid. Pp. 28, 34.
  22. ^ David P. Chandler. Ibid. P. 35.
  23. ^ เจ้าสีหนุเรียกการรัฐประหารครั้งนั้นว่า “สงครามศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์เพื่อเอกราช” (The Royal Crusade for Independence) โดยพระองค์ได้ให้เหตุผลว่า ทำไปเพื่อดำเนินการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2498 ดู ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา,” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 380
  24. ^ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 289 – 290
  25. ^ David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. Pp. 37 – 38.
  26. ^ David P. Chandler. The Tragedy of Cambodian History: Politics, War, and Revolution since 1945 (Chiang Mai: Silkworm Books, 1999.) P. 66.
  27. ^ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 171.
  28. ^ หนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมที่ตีพิมพ์ในกัมพูชาขณะนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายตรายี่ห้อ เช่น ประชาชน มิตรภาพ หรือเอกภาพ เป็นต้น ดู ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา,” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 386.
  29. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 386 – 387.
  30. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 386.
  31. ^ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 172.
  32. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา,” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 385 – 386.
  33. ^ Margaret Slocomb. The People’s Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot (Chiang Mai: Silkworm Books, 2003.) Pp. 8 – 9.
  34. ^ Margaret Slocomb. Ibid. Pp. 9 – 10.
  35. ^ บริเวณดังกล่าวนี้ ถือเป็นพื้นที่หลักของฐานที่มั่นลับฝ่ายเวียดนาม ดู Margaret Slocomb. Ibid. P. 10.
  36. ^ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 311.
  37. ^ เดวิด แชนด์เลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 318.
  38. ^ 38.0 38.1 Margaret Slocomb. The People's Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot. P. 11.
  39. ^ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 167.
  40. ^ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 319.
  41. ^ ช่วงปลายปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลของสาธารณรัฐกัมพูชาสามารถควบคุมกรุงพนมเปญ บางส่วนของจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือของประเทศ "ถ้าไม่อยู่ในมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็เป็นที่ที่ไม่ปลอดภัยในทางการปกครอง" ดู เดวิด แชนเลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 326.
  42. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. "การเมืองในกัมพูชา," เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นยุคสงครามเย็น. หน้า 394.
  43. ^ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 327.
  44. ^ ขณะนั้น กรุงพนมเปญเต็มไปด้วยชาวชนบทผู้ลี้ภัยจากการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบบี-52 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งปฏิบัติการในเขตชนบทเป็นเวลา 200 วัน ในปี พ.ศ. 2516 ดู Margaret Slocomb. The People's Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot. Pp. 17 – 18.
  45. ^ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 327 – 328.
  46. ^ เบญจาภา ไกรฤกษ์, ม.ร.ว. เนาขแมร์, ประยงค์ คงเมือง บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.) หน้า 193.
  47. ^ 47.0 47.1 ธีระ นุชเปี่ยม. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542.) หน้า 93.
  48. ^ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 178.
  49. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา,” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 397 – 398.
  50. ^ Jonathan Glover. Humanity: A Moral History of the Twentieth Century (Yale Nota Bene, 2001.) P. 301.
  51. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา. หน้า 93 – 94.
  52. ^ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 96.
  53. ^ East and Southeast Asia: A Multidisciplinary Survey. Colin Mackerras, eds. (Colorado: Lynne Rienner Publishers, 1995.) P. 589.
  54. ^ เขียว สัมพัน. ประวัติศาสตร์กัมพูชากับจุดยืนที่ผ่านมาของข้าพเจ้า. อภิญญา ตะวันออก, แปล. กทม. มติชน.2549

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons

[แก้] ข้อมูลทั่วไป

[แก้] ข้อมูลเกี่ยวกับศาลพิเศษและการพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดง