ราชาธิปไตย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ราชาธิปไตย (อังกฤษ: monarchy) เป็นรูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ (สมเด็จพระราชาธิบดี, สมเด็จพระราชินีนาถ, สมเด็จพระจักรพรรดิ, สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถ, เจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมาร, เจ้าฟ้าหญิงมกุฎราชกุมารี ฯลฯ) ทรงเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งได้อำนาจปกครองโดยการสืบราชสมบัติ ลักษณะที่ทำให้ระบอบราชาธิปไตยแตกต่างจากระบอบสาธารณรัฐคือ พระมหากษัตริย์ทรงครองแผ่นดินเป็นประมุขตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนในสาธารณรัฐ ประมุขของรัฐ (ซึ่งมักเรียกว่าประธานาธิบดี) โดยปกติแล้วมีที่มาจากการเลือกตั้ง และทำหน้าที่อยู่ในช่วงในเวลาที่แน่นอน เช่น 4 ปี 6 ปี เป็นต้น

โดยทั่วไป กษัตริย์มักจะครองตำแหน่งของพระองค์ตลอดชีวิต และสืบราชสันตติวงศ์ ให้กับรัชทายาทเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ในระบอบสาธารณรัฐ ประมุขของรัฐมักจะมาจากการเลือกตั้งและมีกำหนดวาระ แต่ประมุขบางรัฐก็อาจจะครองตำแหน่งตลอดชีวิต หลังจากที่พระองค์สละราชย์แล้วก็จะต้องมีการเลือกตั้งผู้ที่จะทำหน้าที่สืบทอดตำแหน่ง ปัจจุบันมีราชวงศ์ 31 ราชวงศ์ครอบครองดินแดนทั้งหมด 45 ดินแดนในโลก

คำว่าราชาธิปไตยนั้นอาจหมายถึงกลุ่มคน (โดยเฉพาะราชวงศ์) และองค์กรที่รวมตัวกันเป็นสถาบันกษัตริย์ ทุกวันนี้ อำนาจของกษัตริย์นั้นแตกต่างกันไปตามประเทศ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น กษัตริย์ดำรงตำแหน่งประมุข และศูนย์รวมจิตใจ แต่อำนาจสูงสุด (อำนาจอธิปไตย) นั้นจะอยู่ที่ประชาชน (ปรมิตตาญาสิทธิราชย์) กษัตริย์มักจะทำหน้าที่ในงานพิธีต่างๆ กษัตริย์หลายพระองค์ถูกสถาปนาขึ้นตามจารีตประเพณีหรือตามประมวลกฎหมายเพื่อไม่ให้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง ในบางประเทศกษัตริย์อาจมีอำนาจอยู่บ้าง แต่ก็ถูกจำกัดไว้ด้วยความเห็นของประชาชนหรือบรรทัดฐานของกษัตริย์คนก่อน ในบางประเทศกษัตริย์มีอำนาจเต็มสูงสุด (สมบูรณาญาสิทธิราช)

ราชาธิปไตยเป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งสืบทอดมาจากระบบการปกครองแบบมีหัวหน้าเผ่า ในอดีต บางประเทศเชื่อว่ากษัตริย์ได้สิทธิอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าให้มาปกครองประเทศตามความปรารถนาของพระเจ้า หรือบางประเทศอาจเชื่อว่ากษัตริย์มาจากพระเจ้า ที่มาของกษัตริย์อาจมาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งอาจเลือกโดยคณะบุคคลที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่นในรัฐเผ่าเยอรมัน หรือโดยคนกลุ่มเล็กๆ เช่น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในอดีต มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรืออาจจะมาจากการสืบทอดอำนาจ หรืออาจมาจากการแย่งชิงบัลลังก์ หรืออาจจะเกิดจากหลายๆ วิธีรวมกัน) ในปัจจุบันนี้ ระบอบราชาธิปไตยอาจถูกยกเลิกได้หากไม่ได้รับการยอมรับว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

ตั้งแต่ ค.ศ. 1800 ระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ได้ถูกยกเลิกเรื่องจากการแบ่งแยกหรือการรวมดินแดนหรือการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ประเทศที่ยังใช้ใช้ราชาธิปไตยอยู่ในปัจจุบันมักจะเป็นประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีประเทศบางประเทศที่ยังใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น บรูไน โอมาน กาตาร์ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สวาซิแลนด์ และ นครรัฐวาติกัน

[แก้] ประเภทของราชาธิปไตย

ราชาธิปไตย คือ การที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ แบ่งออกตามขอบเขต พระราชอำนาจเป็น

  1. สมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute monarchy) กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของรัฐและการบริหาร
  2. ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (Limited monarchy) กษัตริย์เป็นประมุขที่มีอำนาจจำกัด เช่น ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) ซึ่งพระราชอำนาจจะจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

[แก้] การล่มสลายของราชาธิปไตย

ดูบทความหลักที่ ราชาธิปไตยที่ถูกล้มล้าง

ราชาธิปไตยอาจถึงจุดจบได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น อาจจะมีการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์เกิดขึ้น หรืออย่างในอิตาลีหรือกรีซ ประชาชนลงประชามติตั้งสาธารณรัฐทำให้ราชาธิปไตยถึงจุดสิ้นสุด ในบางกรณี เช่นในอังกฤษและสเปน ราชาธิปไตยถูกโค่นล้มลงหรือได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในภายหลัง หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ประกาศสละราชสมบัติ ชาวฝรั่งเศสได้ฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงขึ้นมาใหม่หลังจากถูกสาธารณรัฐของนโปเลียนยกเลิกไป

     ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ     เครือจักรภพแห่งชาติ     กึ่งราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ     สมบูรณาญาสิทธิราชย์     ราชาธิไตยขนาดย่อย

[แก้] ดูเพิ่ม