ปัน กีมุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก บัน คี มูน)
ปัน กีมุน

ปัน กีมุน เกาหลี: 반기문, ฮันจา: 潘基文, MC: Ban Gi-mun, MR: Pan Ki-mun (IPA : [pɑn gi mun]) (เกิด 13 มิถุนายน ค.ศ. 1944) เลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 8 ต่อจากนายโคฟี อันนันโดยได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550

ปัน กีมุนเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้มาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2547

เนื้อหา

[แก้] การศึกษา

นายปันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซลใน ปีพ.ศ. 2513 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี พ.ศ. 2528

[แก้] ประวัติ

นายปันสมรสกับนางยู ซูน แท็ก และมีลูกชาย 1 คน กับลูกสาว 2 คน ถึงแม้จะเป็นชาวเกาหลีใต้โดยกำเนิด แต่นายปันก็มีความคล่องแคล่วในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนมัธยมในทศวรรษที่ 60 นายปันชนะเลิศการแข่งขันภาษาอังกฤษซึ่งจัดขึ้นโดยสภากาชาดอเมริกัน ทำให้เขาได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและเข้าพบ จอห์น เอฟ. เคนเนดี อีกด้วย เขาระบุว่าตนเองเป็นคริสตศาสนิกชนซึ่งไม่ได้เข้ารีตนิกายใดๆ

[แก้] การสมัครเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. 2549 นายปันประกาศที่จะสมัครเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากนายโคฟี อันนันที่จะหมดวาระเมื่อสิ้นปีพ.ศ. 2549 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชาวเกาหลีใต้ลงชิงตำแหน่ง โดยนายปันได้คะแนนนำเป็นอันดับหนึ่งทุกครั้งในการลงคะแนนหยั่งเสียงทั้ง 4 หนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีการจัดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม,[1] 14 กันยายน,[2] 28 กันยายน[3] และ 2 ตุลาคม[4]

จากผลการลงคะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายปันได้รับเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 14 เสียงโดยไม่มีผู้คัดค้านเลยแม้แต่เสียงเดียว และอีก 1 เสียงซึ่ง "ไม่ลงคะแนน" นอกจากนั้น เขายังไม่ถูกคัดค้านโดยใช้วีโต้คัดค้านเลย ในขณะที่ผู้ลงสมัครที่เหลืออีก 5 คนนั้นถูกลงคะแนนคัดค้านโดยแต่ละชาติสมาชิกถาวร 5 ชาติ-ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา-อย่างน้อย 1 เสียง[5] หลังจากการลงคะแนนเสียง นายชาชิ ธารูร์ ตัวแทนจากประเทศอินเดียซึ่งได้รับคะแนนเป็นอันดับสองได้ขอถอนตัวออกจากการคัดเลือกไปและกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเขารู้สึก"มั่นใจว่านายปันจะชนะ" ขณะที่ผู้แทนถาวรของจีนต่อสหประชาชาติกล่าวว่า "ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดจากการหยั่งเสียงในวันนี้ว่าท่านรัฐมนตรีบัน คี มูนจะเป็นผู้ลงสมัครซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแนะนำแก่สมัชชาใหญ่"[6]

ในวันที่ 9 ตุลาคม คณะมนตรีความมั่นคงได้เลือกให้นายปันเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม สมาชิกสมัชชาใหญ่ทั้ง 192 ชาติก็มีมติแต่งตั้งให้นายปันเป็นว่าที่เลขาธิการสหประชาชาติ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Ban takes 1st Straw Poll. UNSG.org (2006-07-24). สืบค้นวันที่ 2006-09-28
  2. ^ Ban firms up lead in second Straw Poll. UNSG.org (2006-09-14). สืบค้นวันที่ 2006-09-28
  3. ^ Ban slips but holds, Vike Freiberga pushes into third. UNSG.org (2006-09-28). สืบค้นวันที่ 2006-09-28
  4. ^ Ban Ki-moon wins. UNSG.org (2006-10-02). สืบค้นวันที่ 2006-10-02
  5. ^ Ban vows to reform U.N. if given top job. [1] (2006-10-03). สืบค้นวันที่ 2006-10-09
  6. ^ http://webcast.un.org/ramgen/sc/so061002pm3.rm
สมัยก่อนหน้า ปัน กีมุน สมัยถัดไป
โคฟี อันนัน 2leftarrow.png เลขาธิการสหประชาชาติ
(2549-ปัจจุบัน)
2rightarrow.png ยังอยู่ในตำแหน่ง