ทักษิณ ชินวัตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณฯ ในการประชุมผู้นำ ณ อาคารเพนตากอน สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 2005


ดำรงตำแหน่ง
17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 19 กันยายน พ.ศ. 2549
สมัยก่อนหน้า ชวน หลีกภัย
สมัยถัดไป พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ดำรงตำแหน่ง
14 มิถุนายน พ.ศ. 2544 – 9 ตุลาคม พ.ศ. 2544
นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
สมัยก่อนหน้า นพ.เกษม วัฒนชัย
สมัยถัดไป สุวิทย์ คุณกิตติ

ดำรงตำแหน่ง
25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 – 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย
สมัยก่อนหน้า น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ
สมัยถัดไป นพ.กระแส ชนะวงศ์

เกิด 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 (อายุ 60 ปี)
Flag of ไทย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
สังกัดพรรค พรรคพลังธรรม (พ.ศ. 2537)
พรรคไทยรักไทย (พ.ศ. 2541)
สมรสกับ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (พ.ศ. 2523-2551)
ศาสนา พุทธ
ลายมือชื่อ Thai-PM-thaksin signature.png

พันตำรวจโท ด็อกเตอร์ ทักษิณ ชินวัตร (ชื่อจีน: 丘達新 Qiū Dáxīn; 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 – ) นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 เป็นนักธุรกิจด้านการโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[1] อดีตเคยรับราชการตำรวจ อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544พ.ศ. 2549 แต่พ้นจากตำแหน่งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เคยเป็นเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี นับเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันถือสัญชาติไทย นิคารากัว[2][3] และมอนเตเนโกร[4] และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ในปี พ.ศ. 2537 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เข้าสู่การเมืองโดยสังกัดพรรคพลังธรรม ต่อมาจึงได้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2541 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ. 2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา เขาจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรกและดำรงตำแหน่งจนครบวาระสี่ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และจากผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี พ.ศ. 2548 ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์[5][6]

สำหรับผลการทำงานทางการเมือง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้รับความชื่นชมในฐานะที่ทำให้ประเทศไทยสามารถใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดเดิม[7] และมีโครงการประชานิยมต่าง ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ถูกโจมตีจากประชาชนบางกลุ่มว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีผลประโยชน์ทับซ้อนหลายอย่าง รวมทั้งการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในปัจจุบันเขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[8] และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี จากคดี "ที่ดินรัชดา"[9] เขาจึงได้หลบหนีคดีไปยังต่างประเทศ ทำให้เขาได้รับความเห็นใจจากกลุ่มผู้สนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มผู้ต่อต้าน ทรัพย์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ถูกอายัดในประเทศไทยกว่า 76,000 ล้านบาท เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ[10][11] ก่อนที่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ทรัพย์ดังกล่าวราว 46,000 ล้านบาท ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน

เนื้อหา

ประวัติก่อนเข้าสู่การเมือง

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 10 คนของนายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร (ธิดาในเจ้าหญิงจันทร์ทิพย์ (ณเชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์) สมัยอยู่ร้านกาแฟ ในเวลาว่าง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มักจะช่วยบิดาโม่กาแฟ และขายโอเลี้ยง ตอนบิดาทำสวนส้ม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มักจะช่วยมารดาตัดส้มแพ็คลงเข่งอย่างสม่ำเสมอจนชำนาญ นอกจากนั้น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังรับหน้าที่ขายกล้วยไม้จากสวนของบิดาด้วย[12] เมื่ออายุได้ 16 ปี ได้ช่วยบิดาดำเนินการโรงภาพยนตร์ของครอบครัว[13]

ใน พ.ศ. 2523 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ สมรสกับ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หลังลาออกจากราชการตำรวจ[14] และมีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่

  1. นายพานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค)
  2. นางสาวพินทองทา ชินวัตร (เอม) ศึกษาต่อประเทศอังกฤษ
  3. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (อิ้ง) ศึกษาต่อประเทศอังกฤษ

การศึกษา

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จบการศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512) และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของรุ่น[15] มีฉายาที่ได้รับจากสื่อมวลชนว่า “แม้ว” เนื่องจากเป็นฉายาที่เพื่อนร่วมรุ่น โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ตั้งให้

ต่อมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยได้รับทุน ก.พ. ศึกษาต่อสาขากระบวนการยุติธรรม ทีมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในสาขาเดียวกัน ที่ มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต ได้รับปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิตในปี พ.ศ. 2521

ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตร์ตราจารย์พิเศษ แห่งมหาวิทยาลัยทากุโชกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550[16]

ลำดับการศึกษา

การรับราชการและธุรกิจ

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เริ่มทำงาน โดยเป็นหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามลำดับ

ในปี พ.ศ. 2523 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ควบคู่ไปกับการรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม กิจการโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่กลับประสบความล้มเหลว เป็นหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท ในระหว่างนั้นจึงได้ลาออกจากราชการ[19]

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เคยเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยมักเป็นการนำภาพยนตร์ที่เคยได้รับความนิยมกลับมาสร้างใหม่ แต่ส่วนมากไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้[20][21] เช่น ไทรโศก (2524 สร้างครั้งแรกโดย วิจิตร คุณาวุฒิ พ.ศ. 2510) รักครั้งแรก (2524 สร้างครั้งแรกโดย ล้อต๊อก พ.ศ. 2517) โนรี (2525 สร้างครั้งแรกโดย พันคำ พ.ศ. 2510) รจนายอดรัก (2526 สร้างครั้งแรกโดย ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง พ.ศ. 2515) [22]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ก่อตั้ง บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด (ชื่อเดิม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ (ICSI) นำไปสู่การชำระหนี้สินในช่วงแรกของการทำธุรกิจ และประสบผลสำเร็จทางธุรกิจในที่สุด บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจ วิทยุติดตามตัว ให้บริการเครื่อง คอมพิวเตอร์แก่สำนักงานต่างๆ เป็นบริษัทผู้นำคอมพิวเตอร์เข้ามาในประเทศไทยเป็นยุคแรกๆ ผู้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทยเป็นรายแรก ให้กำเนิดดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย ได้ขยายกิจการไปสู่การให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต เครือข่ายการสื่อสารและการโทรคมนาคมครบวงจร ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2533 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย [23] ในยุคปัจจุบันมีนาย นายบุญคลี ปลั่งศิริเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร)

เข้าสู่การเมือง

ในปี พ.ศ. 2537 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการ และ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยได้โอนหุ้นให้ คุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ นางสาวพินทองทา นางสาวแพทองธาร และ คนรับใช้ คนสนิทถือแทน[24]

จากนั้นไม่นาน ก็เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัย รัฐบาล นายชวน หลีกภัย และ ในปีต่อมา (พ.ศ. 2538) ได้เข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ต่อจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัย รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัย รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ก่อตั้ง พรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนในที่สุดได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[25]

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีสมัยแรก

ในช่วงแรกที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช.ได้มีมติว่า บัญชีทรัพย์สินที่แจ้งเป็นเท็จ [26] ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติพิพากษา ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ให้ยกคำร้องดังกล่าว ในจำนวนเสียงข้างมากนี้ มี 4 ท่านมีความเห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ไม่ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใต้ข้อบังคับดังกล่าว [27]

ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มีฉายาต่างๆ ที่ได้รับ ทั้งจากสื่อมวลชน และกลุ่มผู้ต่อต้าน โดยหลังการหลุดพ้นคดีซุกหุ้นครั้งที่ 1 แล้ว ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "เศรษฐีเหลิงลม" โดยเป็นเปรียบเทียบกับตัวตนของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เอง ที่ถูกมองว่า มีบุคลิกมั่นใจในตนเองสูง จนกลายเป็นเหลิงไป นอกจากนี้แล้ว ยังมีฉายาอื่นๆ อีก เช่น "เทวดา", "นายทาส" เป็นต้น [28]

นอกจากนี้ ยังถูกกล่าวหาประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน จากตำแหน่งทางการเมือง[29] อาจเอื้อผลประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีของอิตาลี

รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในสมัยแรก ดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร, โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกโฆษณาโครงการต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้ไปดำเนินการตามนโยบาย ผ่านสื่อของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มเกษตรกร และประชาชนในชนบททั่วไปอย่างมาก หากแต่มีเสียงวิจารณ์[ต้องการอ้างอิง]จากหลายฝ่ายว่า เป็นการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2546 ได้มีนโยบายทำสงครามปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างรุนแรง ระยะเวลา 3 เดือน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการฆ่าตัดตอนผู้กระทำความผิด เพื่อไม่ให้สืบสวนไปถึงผู้บงการรายใหญ่ และยังเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้พิสูจน์ตัวเองในศาล ทั้งยังเห็นว่า มีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมจำนวนหนึ่ง ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

นโยบายอื่นๆ ในด้านสังคม ได้แก่ การปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของรัฐบาล โดยนำรายได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่ง ไปเป็นทุนการศึกษา สำหรับเยาวชนที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่ผ่านสอบคัดเลือกในระดับอำเภอ เพื่อส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ตามสาขาที่นักเรียนทุนต้องการ โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนแก่ราชการ ทั้งยังสามารถลดปัญหาจากการค้าหวยเถื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ในส่วนอื่นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ว่านำไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นก็มิได้เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว และยังมีโครงการ แท็กซี่เอื้ออาทร โดยคิดค่าเช่ารถในราคาประหยัด เพื่อสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย แต่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการลักลอบเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจเช่าแท๊กซี่ได้อย่างเสรี เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ที่ดำเนินธุรกิจให้เช่าแท๊กซี่ในกรุงเทพมหานคร เป็นผลให้เกิดปริมาณรถแท๊กซี่บนท้องถนนมากเกินความจำเป็น

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มักถูกฝ่ายต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์ว่า มักใช้อำนาจสนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติและบุคคลใกล้ชิด เช่น การสนับสนุนให้ได้รับตำแหน่งสำคัญ อย่างการผลักดันให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้ได้รับตำแหน่งสำคัญอย่าง ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในเวลาต่อมา รวมถึง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน รวมถึงการใช้อำนาจต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชินคอร์ป เช่น ลดค่าภาษีสัมปทานโทรคมนาคม ให้กับบริษัทเอไอเอส ลดค่าสัมปทานเช่าคลื่นความถี่ ให้กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น แต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์หลักฐานต่อสาธารณะชน[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งมักจะเป็นข้ออ้างของฝ่ายตรงข้าม[ต้องการอ้างอิง]

นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จากผลการเลือกตั้ง เมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ด้วยคะแนนเสียงอันเป็นประวัติศาสตร์กว่า 19 ล้านเสียง[30][31] โดยได้ตำแหน่ง ส.ส.ในสภา จำนวน 376 ที่นั่ง แม้ในช่วงนั้น ฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีเรื่องการคอรัปชัน และการซื้อเสียง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ กลับได้เพียง 96 ที่นั่ง โดยคะแนนเสียงหลักของพรรคไทยรักไทย มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยในกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย ได้ถึง 32 ที่นั่ง จาก 37 เขตเลือกตั้ง จากนโยบายเมกะโปรเจกต์ สร้างรถไฟฟ้า 7 สาย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเพียง 4 ที่นั่ง ในส่วนภาคใต้ ซึ่งประชาชนมีความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น โดย พรรคไทยรักไทยได้มาเพียง 1 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 1 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ถึง 52 ที่นั่ง

จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมัยที่สองนี้ เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง จากประชาชนทั่วทุกภาค ทั้งในเมืองและชนบท จึงเป็นรัฐบาลชุดแรก ในประวัติศาสตร์ไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มาจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร[32] ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้การเมืองไทย มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเข้าสู่ระบบสองพรรค[33]

การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ กับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในการประชุมเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2003 ที่ประเทศไทย
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พบกันในฐานะมิตรสหายครั้งสมัยเรียนมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต

รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณได้มีการดำเนินโครงการในด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่หลายโครงการ เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป), กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ชาวบ้านนำไปลงทุนทำงานสร้างรายได้

รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ได้สำเร็จ และดำเนินงานที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการชดใช้หนี้สินที่รัฐบาลมีต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนหมดภายใน 2 ปี การเพิ่มอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จากร้อยละ 2.1 ในปี พ.ศ. 2544 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 6.7 ในปี พ.ศ. 2547 การทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพิ่มจาก 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2547 เพิ่มเป็น 5.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2548 การเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน การเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย และการลดหนี้สาธารณะ จาก 57% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี พ.ศ. 2544 เหลือ 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2549[34][35]

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มีการดำเนินนโยบายหวยบนดิน มีจุดประสงค์เพื่อนำ หวยใต้ดิน ซึ่งผิดกฎหมาย มาผ่านกระบวนการทางกฎหมายและปรับปรุงให้เป็นของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นการกวาดล้างเจ้ามือหวยใต้ดิน และนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ โดยการนำรายได้จากส่วนนี้มาเป็นมีจุดประสงค์เพื่อนำ หวยใต้ดิน ซึ่งผิดกฎหมาย มาผ่านกระบวนการทางกฎหมายและปรับปรุงให้เป็นของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นการกวาดล้างเจ้ามือหวยใต้ดิน และนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ประกาศสงครามกับยาเสพติด

รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ดำเนินการประกาศสงครามกับยาเสพติดขั้นเด็ดขาด ในช่วงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จึงไม่ค่อยมีการระบาดของยาเสพติด เพราะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดตั้งแต่ผู้ซื้อจนถึงผู้ผลิต

ในช่วง 3 เดือนแรกมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกฆ่าตัดตอนเสียชีวิตมากถึง 2,275 ราย[36] ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ได้มีการทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้ายาเสพติด ควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ดำเนินสกัดกั้นและตามแนวชายแดน โดยปรากฏผลที่สำคัญ คือ การจับกุมผู้ผลิตและผู้ค้ารายสำคัญได้ 2,858 ราย จับกุมผู้ค้ารายย่อยได้ 20,171 ราย และยึดของกลางได้ถึง 39,963,483 เม็ด[37]

การดำเนินงานระหว่างประเทศ

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ดำเนินการการเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน, ประเทศออสเตรเลีย, ประเทศบาห์เรน, ประเทศอินเดีย, และสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการรบกับประเทศอิรัก และได้ส่งทหารไทยจำนวน 423 นายออกรบในครั้งนี้ โดยมีทหารไทยเสียชีวิตจำนวน 2 นาย

พ.ต.ท.ทักษิณ สนับสนุนให้ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ แทนนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆที่นายสุรินทร์เป็นที่ยอมรับอย่างมากจากนานาชาติ และนายสุรเกียรติ์ก็โดนต่อต้านจากบรรดานักการทูตไทยด้วย

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

หลังจากที่มีการดำเนินการต่างๆมากกว่า 30 ปี รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ดำเนินการก่อสร้าง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนจนเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้บริการ โดยเป็น 1 ในท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้ รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังได้มีโครงการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร เพื่อสร้างเมืองใหม่ ในบริเวณท่าอากาศยาน แต่เกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ทำให้โครงการถูกล้มเลิกไป

การดำเนินการด้านอื่นๆ

การเว้นวรรคและลาราชการ

วันที่ 4 เมษายน เวลา 20.30 น. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า แม้พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง 2 เมษายน แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ และปรองดองในชาติ แต่ยังจำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จะแล้วเสร็จ แต่เมื่อยังคงมีกระแสต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรฯ การที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาราชการ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน

ในระหว่างลาราชการ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เดินทางเยือน และพบปะหารือ เป็นการส่วนตัว กับผู้นำหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน และ ฮ่องกง ตั้งแต่ วันที่ 24 ถึง 30 เมษายน

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้ตัดสินให้ การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เมษายน เป็นโฆฆะ หลังจากนั้นศาลได้ตัดสินจำคุกและตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร เป็นเวลา 10 ปี ทำให้ทั้งสามคนจึงพ้นจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง

ความเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549

ในวันที่ 19 กันยายน เวลาประมาณ 21.00 น. คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมการประชุมสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเตรียมเสนอชื่อ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ

การรัฐประหารครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและทำกิจกรรมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ยับยั้งและเซ็นเซอร์สื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และควบคุมตัวสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน ได้แก่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นต้น

ลาออกจากพรรคไทยรักไทย

หลังการรัฐประหารไม่นาน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ซึ่งขณะนั้น พำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ส่งจดหมายถึงพรรคไทยรักไทย เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และทางพรรคก็ได้มีมติให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการแทนในตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปก่อน

นับแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ นายนพดล ปัทมะ เป็นทนายความส่วนตัว เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนทางกฎหมายในประเทศไทย นอกจากนี้ นายนพดลยังได้จัดแถลงข่าว เพื่อตอบโต้ผู้กล่าวหาและโจมตี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อยู่เป็นระยะ

เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2550 นายนพดล นำจดหมายที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เขียนด้วยลายมือ เนื้อหาเป็นการตอบโต้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้แถลงข่าวสรุปสถานการณ์เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 เมื่อวันที่ 1 มกราคม กล่าวหากลุ่มอำนาจเก่าผู้สูญเสียประโยชน์ทางการเมือง โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เขียนปฏิเสธว่า ตนไม่เคยคิดจะทำเรื่องเลวร้ายเช่นนั้น[41]

ข้อกล่าวหาเรื่องล็อบบียิสต์

ในเวลาใกล้เคียงกันมีข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรฯ ว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ว่าจ้างบริษัทล็อบบียิสต์ เพื่อชี้ช่องทาง และให้คำแนะนำ เกี่ยวกับผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในวอชิงตัน ดี.ซี. และต่างประเทศ (Provide guidance and cousel with regard to Thaksin’s interest in Washington DC and abroad) [42] [43] [44] [45] แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ปฏิเสธรายงานดังกล่าว

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าว พร้อมนำเอกสารมาแสดงว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ว่าจ้าง บริษัทล็อบบียิสต์ แห่งที่ 2 เพื่อให้ช่วยงานด้านการเมือง โดยบริษัทดังกล่าว เป็นของ นายเจมส์ เอ.เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา ที่มีความใกล้ชิดกับ นายจอร์จ เอช.ดับเบิลยู.บุช อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา แต่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แถลงข่าวตอบโต้นายกอร์ปศักดิ์ ว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ว่าจ้างบริษัทดังกล่าว ให้ดูแลเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ และติดตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ไม่ได้จ้างทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์แต่อย่างใด [46] [47]

การเดินทางกลับประเทศไทย

การกลับประเทศไทยของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เวลา 09.40 น. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เดินทางมาถึงประเทศไทย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมกับก้มลงกราบพื้น ที่หน้าห้องรับรองพิเศษ และโบกมือทักทายประชาชนที่มารอให้การต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม[48]

จากนั้น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อรายงานตัวในคดีทุจริตที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ต่อด้วยการรายงานตัวต่ออัยการสูงสุดในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เอสซีแอสเซท จำกัด (มหาชน) ในเครือชินคอร์ป[49]

ความเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ

ระหว่างที่กำลังมีการดำเนินคดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และภริยา ได้เดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากนั้นศาลก็ได้อ่านคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มีความผิดในคดีดังกล่าว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จึงไม่เดินทางกลับมายังประเทศไทย และระหว่างนั้นก็ได้ดำเนินการหย่ากับคุณหญิงพจมาน นับแต่นั้นเป็นต้นมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เคลื่อนไหวผ่านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติด้วยวิธีการโฟนอินและวิดีโอลิงก์ พร้อมทั้งอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน และสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ได้ให้การสนับสนุน

ในช่วงสงกรานต์ พ.ศ. 2552 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้โฟนอินกล่าวให้กำลังใจกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่ทำการชุมนุมอยู่โดยกล่าวว่า หากมีเสียงปืนแตกตนจะกลับมานำขบวนในการต่อสู้กับรัฐบาล แต่เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเริ่มก่อความวุ่นวายและถูกปราบปราม กลับไม่มีความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แต่อย่างใด

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา[50] ทางรัฐบาลไทยจึงได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลกัมพูชาให้ส่งตัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ กลับไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไม่นับกรณีที่เป็นนักโทษทางการเมือง [51][52][53] รัฐบาลไทยจึงต่อต้านโดยการเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศ [54] ซึ่งส่งผลให้กัมพูชาเรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนกลับเช่นกัน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และครอบครัวเดินทางไปถึงกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เพื่อรับตำแหน่ง [55] และได้รับการต้อนรับอย่างดีโดย ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา

ก่อนหน้าเดินทางไปประเทศกัมพูชา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทม์สออนไลน์ของอังกฤษ และถูกรัฐบาลไทยกล่าวหาว่าเป็นการให้สัมภาษณ์ในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายหลัง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ทราบข่าวจึงได้ออกแถลงการณ์ว่าไทม์สออนไลน์บิดเบือนคำให้สัมภาษณ์ของตน ในขณะที่ไทม์สออนไลน์ตอบโต้ด้วยการเผยแพร่เสียงและข้อความการให้สัมภาษณ์ฉบับเต็มบนอินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นการพิสูจน์[ต้องการอ้างอิง]

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณได้ตัดสินใจจดทะเบียนหย่ากับคุณหญิงพจมาน ด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่สถานกงสุลใหญ่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง หลังจากสมรสและอยู่ด้วยกันมานานกว่า 32 ปี [56]

การดำรงตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี

หลังจากไปใช้ชีวิตที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี ถือหุ้นทั้งหมด 75 เปอร์เซ็นต์ โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ขอให้แฟนบอลเรียกตนอย่างง่ายๆ ว่า แฟรงค์ ชินาตรา (Frank Sinatra) [57]

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการเรียกตัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เข้ารับฟังการพิจารณาคดี ทำให้สถานะประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี เริ่มสั่นคลอน เนื่องจากว่า เงื่อนไขของการเป็นประธานสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ไม่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะในประเทศใดในโลกนี้ก็ตาม [58] กันยายน พ.ศ. 2551 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จึงขายสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี ให้กับ Abu Dhabi United Group ในราคา 141 ล้านเหรียญสหรัฐ และเปลี่ยนตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ก่อนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในภายหลัง[59]

หน้าที่การงาน และบทบาททางสังคม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร


เกียรติยศและรางวัลที่ได้รับ

  • รางวัลเกียรติยศจักรดาว" ด้านพัฒนาเศรษฐกิจจากคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร (พ.ศ. 2535)
  • ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ในบุคคล 50 คน ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในโลก ของ นิตยสารไทม์ (พ.ศ. 2538)
  • รางวัล 1992 Asean Business Man of the Year โดย Asean Institute ประเทศ อินโดนีเซีย (พ.ศ. 2535)
  • 1 ใน 3 คนไทยดีเด่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างประเทศไทย และฟิลิปปินส์ จากสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2538)
  • บุคคลดีเด่นผู้พัฒนาโทรคมนาคม เพื่อสังคมของประเทศไทย ประจำปี 2536 จากสมาคมโทรคมนาคม แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2537)
  • 1 ใน 12 นักธุรกิจผู้นำของเอเชีย ได้รับยกย่องจากหนังสือพิมพ์ Singapore Business Times (พ.ศ. 2537)
  • รางวัล Outstanding Criminal Justice Alumnus Awards จาก Criminal Justice Center, มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2539)
  • รางวัล Distinguished Alumni Award จากมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท (5 ตุลาคม พ.ศ. 2539)
  • Asian CEO of the Year จาก นิตยสาร Financial World (พ.ศ. 2537)
  • รับพระราชทาน ปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2537)
  • ทุน Lee Kuan Yew Exchange Fellowship จากประเทศสิงคโปร์ คนไทยคนแรก และเป็นบุคคลที่ 3 ในเอเชีย ที่ได้รับทุน (พ.ศ. 2537)
  • 1992 Asean Business Man of the Year" จาก Asean Institute ประเทศอินโดนีเซีย (พ.ศ. 2535)
  • รางวัล โลซินเซีย แอพพลิเคชั่น อวอร์ด จากองค์การภาพยนตร์ โมชั่น พิคเจอร์แอพพลิเคชั่น (พ.ศ. 2546)
  • รางวัล International Forgiveness Award 2004

ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่มีความพยายามที่มุ่งไปสู่สันติภาพและสร้างความเป็นเอกภาพ ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับรางวัลนี้มาแล้ว ได้แก่ 1. พระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่2 2. พระคาดินัล Vinko Puljic 3. นาย Sergio Vieira De Mello ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 4. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร


คดีความ

คดีขายหุ้นกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) ซึ่งเป็น กองทุนเพื่อการลงทุน ของ รัฐบาลสิงคโปร์ จำนวน 1,487,740,000 หุ้น (คิดเป็น 49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งถือเป็น การขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมูล่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์[ต้องการอ้างอิง] โดยที่ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการขายหุ้นเพียงไม่กี่วันก่อนหน้า และการที่ไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากผลกำไรในการขายหุ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดที่ทำให้ กระแสการขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจาก นายกรัฐมนตรี ขยายตัวออกไปในวงกว้าง

คดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาล ในคดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก โดยทั้งสองเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีบุตรธิดาทั้งสามรออยู่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นได้ขออนุญาตศาลฯ ออกนอกประเทศเพื่อไปชมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษต่อ แทนที่จะกลับมายังประเทศไทย[60][61]

ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงออกหมายจับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานประพฤติมิชอบในการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาทและตั้งสินบนนำจับทันที[60] [62][63][64] โดยคดีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จะมีอายุความ 15 ปี ถึงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 [63]

คดียึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 13.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีที่ อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวย ผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดินโดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่แท้จริง และใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอื้อ ประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป เอไอเอส และชินแซทฯโดยตรง อันมีผลทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทชินคอร์ปสูงขึ้น รวมทั้งได้เงินปันผลจำนวนดังกล่าว จึงมีคำพิพากษา ให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเงินปันผล จำนวนทั้งสิ้น 46,373,687,454.64 บาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้คืนทรัพย์สินที่มีมาก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำนวนทั้งสิ้น 30,247,915,606.31 บาท[ต้องการอ้างอิง] ซึ่ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ยอมรับผลการตัดสินดังกล่าว และอาจจะยื่นเรื่องเพื่ออุทธรณ์ต่อศาลโลกต่อไป[ต้องการอ้างอิง]

วัฒนธรรมและภาพลักษณ์ทางการเมือง

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2544 ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 1,353 ตัวอย่าง ในหัวข้อ "ภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในสายตาประชาชน" ผลปรากฏว่าประชาชนมั่นใจ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในเรื่องต่างๆ ดังนี้

มั่นใจ ไม่มั่นใจ ไม่มีความเห็น
ความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศ 90.2 7.2 2.6
ความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 67.6 28.2 4.3
ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง 33.3 48.3 18.4
ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ 35.1 38.1 26.8
ความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 38.0 48.0 14.0
ความสามารถในการบริหารประเทศ 85.1 9.2 5.6
ความจริงจังในการทำงานเพื่อประชาชน 79.7 12.6 7.7
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 77.6 10.3 12.0

[65]

แต่หลังจากที่มีการรัฐประหารแล้ว เอแบคโพลได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,864 ตัวอย่างในหัวข้อ "อารมณ์และความรู้สึกเบื้องต้นของสาธารณะชนต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปรียบเทียบกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และภาพลักษณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ระบุภาพลักษณ์ พล.อ.สุรยุทธ์ ดีเหมือนเดิมถึงดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด เช่น ร้อยละ 65.1 ระบุความเป็นที่ไว้วางใจได้ ร้อยละ 63.2 ระบุด้านคุณธรรม เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 60.2 ให้ความเชื่อมั่นต่อ พล.อ.สุรยุทธ์[66]

ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เอแบคโพลได้เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจและผลวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง"ฐานสนับสนุนนักการเมืองกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร" กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 27 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,286 ครัวเรือน ดำเนินโครงการสำรวจระหว่างวันที่ 22 - 24 ตุลาคม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.4 ขออยู่ตรงกลางยังไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในขณะที่ ร้อยละ 25.0 สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ขณะที่ร้อยละ 21.6 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์[67]

กลุ่มผู้สนับสนุน

กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่สองเป็นต้นมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ผู้นิยมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการที่มีแนวคิดแตกต่างกับรัฐบาล โดยสาเหตุหลักมาจากการกล่าวหาว่า รัฐบาลมุ่งเอื้อประโยชน์ให้กับเครือญาติและพวกพ้อง, แผนฟินแลนด์ ที่เป็นแผนอันชั่วร้าย ซึ่งกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และคนใกล้ชิด ได้วางไว้ก่อนจัดตั้งรัฐบาล ที่ประเทศฟินแลนด์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มิได้ตอบคำถามต่างๆ เหล่านั้นอย่างชัดเจน[ต้องการอ้างอิง]

โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ได้ตอบโต้ ด้วยการตั้งฉายาให้กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่วิจารณ์อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มรู้ทันทักษิณ หรือ นายธีรยุทธ บุญมี ว่าเป็น “ขาประจำ” และยังชี้ให้เห็นว่า ผู้โจมตีรัฐบาลบางส่วน เป็นกลุ่มทุนเก่า และผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จากการที่กลุ่มทุนใหม่มีอำนาจทางการเมือง[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2548 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความส่วนตัว ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท รวมถึงในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ได้ยื่นฟ้องนายสนธิในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย แต่หลังจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้นายธนา ดำเนินการถอนฟ้อง เพื่อรับสนองกระแสพระราชดำรัส พร้อมกันนี้ ศาลก็ได้ยกคำร้องของตำรวจไปทั้งหมด[68][69]

ค่ำวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549 พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวก ได้นำประชาชนที่มาร่วมฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่สวนลุมพินี กว่า 3,000 คน เดินเท้ามายังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้งมีบางส่วนที่บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และเนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันเด็กแห่งชาติ จะมีเด็กและเยาวชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการสลายการชุมนุมในคืนวันนั้น[70]

จากกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป เป็นจุดที่ทำให้ประชาชนที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ รวมถึงกลุ่มคนที่เห็นว่าว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ หลีกเลี่ยงภาษี ร่วมกันแสดงท่าทีขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมประท้วง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จัดขึ้นนานมาแล้ว จนเมื่อเกิดการขายหุ้นดังกล่าว ตามที่นายสนธิคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณได้ปฏิเสธตลอดมา ส่งผลให้มีผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยกล่าวถึงเหตุผล ในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 20.30 น. คืนวันเดียวกันว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย กดดันให้ตนลาออกจากตำแหน่ง[71]

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทย จัดการปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ หัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัย ในเวลา 20.00 น. มีผู้เดินทางมาฟังปราศรัย เป็นจำนวนหลายแสนคน จนเต็มท้องสนามหลวง และล้นออกไปถึง ถนนราชดำเนินกลาง ใกล้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[72][73]

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย แกนนำ ทั้ง 5 ได้นำประชาชนจำนวนหนึ่ง ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล กดดันทุกวิถีทาง เพื่อให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเว้นวรรคทางการเมือง อีกทั้งต้องตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ยืนยันว่า ตนจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ จึงไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้[74]

การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2548 จากการนำของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ต่อมาได้เปลี่ยนสภาพเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งได้ขยายตัวออกไปยังบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพจำนวนมากในเวลาต่อมา [75] [76] [77]

การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ สิ้นสุดลง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการก่อรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

กรณีศาลท่านท้าวมหาพรหม

ในช่วงเช้าของวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 นายธนกร ภักดีผล ผู้เคยมีประวัติอาการทางจิตและภาวะซึมเศร้า เข้าทำลายรูปปั้นท้าวมหาพรหมใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งในภายหลังได้ถูกชาวบ้านทุบตีจนเสียชีวิต[78] จากเหตุการณ์ดังกล่าว นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้หยิบยกมากล่าวอ้างในการชุมนุมในวันรุ่งขึ้นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้บงการให้เกิดการทำลายเทวรูปดังกล่าว และแทนที่เทวรูปพระพรหมด้วย "อำนาจมืด" ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับเขา[79] นายสนธิได้กล่าวอ้างว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ว่าจ้างนายธนกรให้กระทำการดังกล่าวผ่านทางชาแมนมนต์ดำเขมร[80] เนื่องจาก "เป็นผู้หลงใหลอยู่ในความเชื่อที่ผิด" และ "เป็นการปัดเป่าลางร้าย"[81]

บิดาของผู้เสียชีวิต นายสายันต์ ภักดีผล กล่าวว่า นายสนธิเป็น "คนโกหกคำโตที่สุดที่เคยเจอมา"[80] ส่วน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มองว่าการกล่าวอ้างของนายสนธิ "บ้า" และจนถึงปัจจุบัน นายสนธิก็ยังปฏิเสธจะให้ "ข้อมูลเชิงลึก" แก่สาธารณะชนในเรื่องดังกล่าว

อ้างอิง

  1. ^ สรุปงบการเงินรายปี52
  2. ^ "Thaksin has Nicaraguan passport", 16 April 2009
  3. ^ "Nicaraguan party queries Thaksin move", 23 April 2009
  4. ^ "Montenegro gives Thaksin a passport", Bangkok Post, May 13, 2009
  5. ^ "Unprecedented 72% turnout for latest poll" The Nation. February 10, 2005.
  6. ^ Aurel Croissant and Daniel J. Pojar, Jr., Quo Vadis Thailand? Thai Politics after the 2005 Parliamentary Election, Strategic Insights, Volume IV, Issue 6 (June 2005)
  7. ^ Inside Thailand Review. Appendix: Government Annual Report 2003. สืบค้นเมื่อ 05-03-2010
  8. ^ BBC News, Thai party's disbandment solves little, 1 June 2007
  9. ^ New York Times, Thai Court Convicts Ex-Premier for Conflict in Land Deal, 21 October 2008
  10. ^ The Nation, Thaksin's assets frozen, 12 June 2007
  11. ^ The Nation, Slighted Sawat resigns from AEC, 2 October 2006
  12. ^ ตาดูดาวเท้าติดดิน ตอนที่ 4 มรดกจากพ่อ
  13. ^ BBC News, Billionaire hopes to score Liverpool deal, 18 May 2004
  14. ^ Pasuk Phongpaichit & Chris Baker, "The Only Good Populist is a Rich Populist: Thaksin Shinawatra and Thailand's Democracy, October 2002
  15. ^ ตาดูดาว เท้าติดดิน ตอนที่ 11 เสาร์ที่ 28 มค. 49 ชีวิตนักเรียนนายร้อยตำรวจ
  16. ^ Deposed Thai Prime Minister Teaches At Takushoku University
  17. ^ PH.D Doctor
  18. ^ ปริญญาเอกดุษฎีฯ
  19. ^ Pasuk Phongpaichit & Chris Baker, "The Only Good Populist is a Rich Populist: Thaksin Shinawatra and Thailand's Democracy, October 2002
  20. ^ "Thaksin Shinawatra-a biography", Bangkok Post, unknown
  21. ^ "Thai govt pins border hopes on soaps", The Nation, May 25, 2002
  22. ^ ภราดร ศักดา. เปิดม่านคนดังหลังวัง ตำนานเก่าเล่าเรื่องดารายุคภาพยนตร์ไทยเฟื่อง. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สยามบันทึก, พ.ศ. 2551. 264 หน้า. ISBN 978-974-13-8887-5
  23. ^ List of subsidiaries from the AIS website
  24. ^ ย้อนรอยกรณีโอนหุ้นไม่เสียภาษี ?
  25. ^ สุนทรพจน์ ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 9 กพ.2544
  26. ^ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ปกปิดไม่แจ้งทรัพย์สิน คือหุ้นที่โอนไปให้คนใกล้ชิด คนขับรถ และคนรับใช้ ถือแทน โดยมีมูลค่าหุ้นจำนวน 646.984 ล้านบาท (จากมูลค่ารวมทั้งหมดที่ครอบครองกว่า 60,000 ล้านบาท) พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชี้แจง ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เอกสารการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช.ไม่ชัดเจน อีกทั้งตนเองก็โอนหุ้นนี้ให้ภริยานานแล้ว ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการเมือง แต่ ป.ป.ช.ชี้แจงว่า สามีภริยาย่อมเป็นบุคคลเดียวกันตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในประเด็นนี้ว่า การพิพากษาตัดสินคดีที่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของประเทศ จะใช้การอนุมานเอาตามกฎหมายไม่ได้ ป.ป.ช.จะต้องนำสืบให้ได้ว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ทราบหรือไม่ว่าภริยาโอนหุ้นไปให้แก่คนอื่นถือไว้แทนตน เพราะในข้อเท็จจริงสามีไม่จำเป็นจะต้องทราบสิ่งที่ภริยาทำทุกเรื่อง ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ รับรู้การโอนหุ้นครั้งนี้ (คดีนี้มิใช่คดีแพ่ง ที่สามีภริยามีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน หากมีการละเมิดเกิดขึ้น แต่เป็นคดีคล้ายคดีอาญา ที่จะต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า จำเลยทราบการกระทำของภริยาหรือไม่) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544
  27. ^ ดูข้อสังเกตเพิ่มเติมของ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับคดีนี้ได้ที่ [1]
  28. ^ ไทยโพสต์ บันทึกหน้า 4 / มะนาวหวาน
  29. ^ เปิดงานวิจัย “นโยบายทักษิณ” เอื้อประโยชน์ “กลุ่มชินฯ” อื้อซ่า
  30. ^ "Unprecedented 72% turnout for latest poll" The Nation. February 10, 2005.
  31. ^ Aurel Croissant and Daniel J. Pojar, Jr., Quo Vadis Thailand? Thai Politics after the 2005 Parliamentary Election, Strategic Insights, Volume IV, Issue 6 (June 2005)
  32. ^ รัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
  33. ^ รัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
  34. ^ The Nation, Public debt end-Sept falls to 41.28% of GDP, 17 November 2006
  35. ^ World Bank, Thailand Economic Monitor, October 2003
  36. ^ The War on Drugs, HIV/AIDS, and Violations of Human Rights in Thailand. Human Rights Watch. “Beginning in February 2003, the Thaksin government instructed police and local officials that persons charged with drug offenses should be considered “security threats” and dealt with in a “ruthless” and “severe” manner. The result of the initial three-month phase of this campaign was some 2,275 extrajudicial killings”
  37. ^ สรุปผลการประกาศสงครามกับยาเสพติดของรัฐบาล
  38. ^ ทวี มีเงิน, "ทักษิณ"ปั้นหรือปั่นศก. (2) "ยางพารา-ข้าว"เก่งหรือเฮง, มติชน
  39. ^ ข่าว 'คตส.'เตรียมสอบ 4 ประเด็นใหญ่ ทุจริตกล้ายาง กรุงเทพธุรกิจบิซวีค 29 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  40. ^ http://www.thaioctober.com/smf/index.php?topic=2581.0
  41. ^ เปิดจดหมายทักษิณ ชินวัตร ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องระเบิดกรุงทพ
  42. ^ Lobbying Registration
  43. ^ Lobbying Registration
  44. ^ Lobbying Registration
  45. ^ korbsak.com
  46. ^ เอกสารต้นฉบับ
  47. ^ ข่าว [http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0103080250 แฉเป้า"แม้ว"จ้างล็อบบี้ยิสต์ ปลุกรบ.ต่างชาติ กดดันให้เปิดทางกลับ"ไทย" ] หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
  48. ^ http://www.nationmultimedia.com/specials/nationphoto/showphoto.php?pid=2120
  49. ^ ผู้จัดการ, “เศรษฐีแม้ว” ถึงไทยแล้ว-ลิ่วล้อแห่รับถึงบันไดเครื่องบิน, 28 กุมภาพันธ์ 2551
  50. ^ "ทักษิณ"จวกรบ."เด็ก-โอเวอร์"เรียกทูตพนมเปญกลับ บอกลาคนไทยขอไปรับใช้เขมร โฆษกกัมพูชาอ้าแขนรับ, มติชนออนไลน์, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  51. ^ เขมรตอบหนังสือ ยืนยันปฏิเสธ ส่งทักษิณมาไทย, ไทยรัฐออนไลน์, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  52. ^ ฮุนเซนโอ๋ทักษิณ กษัตริย์ตั้ง ส่งตัวกลับไม่ได้, ไทยรัฐออนไลน์, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  53. ^ กมฺพุชา​บฎิเสธ​ชา​ผฺลูวการ​มิน​เธฺวิ​บตฺยาบัน​กฺนุง​กรณี​ถาก̍ซีน, วิทยุเอเชียเสรี, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 (เขมร)
  54. ^ ไทยตอบโต้เขมร เรียกทูตกลับ สัมพันธ์ตึงเครียด, ไทยรัฐออนไลน์, 5 พฤศจิกายน 2552
  55. ^ ทักษิณถึงเขมร สื่อเทศยัน รับตำแหน่ง, ไทยรัฐออนไลน์, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  56. ^ ทักษิณหย่าพจมาน จบชีวิตรัก 32 ปี
  57. ^ งานเปิดตัวประธานสโมสร ManCity - Frank Shinawatra 1
  58. ^ "League ready to subject Thaksin to second fit and proper test", The Guardian, 2008-12-08
  59. ^ http://www.forbes.com/sport/2008/09/01/thaksin-sells-club-face-sports-cx_pm_0901autofacescan01.html
  60. ^ 60.0 60.1 "Thaksin Flees to London — Again", The Time, 2008-12-08
  61. ^ "“แม้ว” ซุกอังกฤษหนีคดี! เหิมด่าศาลสองมาตรฐาน เพ้อขอตายที่เมืองไทย", ผู้จัดการออนไลน์, 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551
  62. ^ "โรงพักใจถึงติดประกาศจับ “แม้ว-อ้อ” หน้าโถส้วม!", ผู้จัดการออนไลน์, 16 สิงหาคม พ.ศ. 2551
  63. ^ 63.0 63.1 "ออกหมายจับ!"ทักษิณ-พจมาน"", โพสต์ ทูเดย์, 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551
  64. ^ "ขึ้นบัญชีหมายจับ “ทักษิณ-พจมาน”", ไทยรัฐ, 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551
  65. ^ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ : หัวข้อ “ภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในสายตาประชาชน”
  66. ^ เอแบคโพลล์ชี้ภาพลักษณ์รัฐบาล "สุรยุทธ์" ดีกว่า "ทักษิณ"
  67. ^ โพลระบุนิยมทักษิณนำอภิสิทธิ์-ก่ำกึ่งจิ๋วพบฮุนเซน
  68. ^ นายกฯลุยฟ้องสนธิ-ชัยอนันต์-เจิมศักดิ์ปูดปฏิญญาฟินแลนด์
  69. ^ ลิ่วล้อ “ทักษิณ” งานเข้า ฟ้อง “สนธิ” หมิ่นอีกคดี
  70. ^ "ทักษิณ"เดือดกราดเอ็งเป็นใคร! ม็อบลุยทำเนียบกลางดึก โดนตร.จับกราวรูด 40ราย
  71. ^ ด่วน!!! “ทักษิณ”ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่
  72. ^ ประมวลภาพบรรยากาศ “ทักษิณ” ปราศรัยที่ท้องสนามหลวง
  73. ^ แฉม็อบจัดตั้ง ทรท.ยั่วยุม็อบอหิงสาไล่ทักษิณ
  74. ^ ล้อม"ทำเนียบ" นับแสนโชว์พลังไล่"ทักษิณ"
  75. ^ The Nation,"'Finland plot' on dangerous ground", 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  76. ^ The Nation, "Burning Issue: Finland, monarchy: a dangerous mix", 25 พฤษภาคม, พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  77. ^ The Bangkok Post, "Manager sued for articles on 'Finland plot'", 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  78. ^ The Nation. Man beaten to death after desecrating the Erawan Shrine. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  79. ^ Foo Yee Ping. Dreaded day dawns – despite lies and dark forces. TheStar. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  80. ^ 80.0 80.1 The Nation. Vandal's dad distraught. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  81. ^ The Nation. Things to improve from now: Chidchai. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Commons
สมัยก่อนหน้า ทักษิณ ชินวัตร สมัยถัดไป
ชวน หลีกภัย 2leftarrow.png Seal Prime Minister of Thailand.png
นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
(คณะรัฐมนตรีคณะที่ 54
55)
(9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 254411 มีนาคม พ.ศ. 2548
11 มีนาคม พ.ศ. 254819 กันยายน พ.ศ. 2549)
2rightarrow.png พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
เกษม วัฒนชัย 2leftarrow.png ตราศึกษาธิการ.gif
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(14 มิถุนายน พ.ศ. 25449 ตุลาคม พ.ศ. 2544)
2rightarrow.png สุวิทย์ คุณกิตติ
ประสงค์ สุ่นศิริ 2leftarrow.png กระทรวงการต่างประเทศ.gif
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
(25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538)
2rightarrow.png กระแส ชนะวงศ์
2leftarrow.png TRTP Logo.png
หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
(14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549)
2rightarrow.png จาตุรนต์ ฉายแสง
(รักษาการ)
จอห์น วอร์เดิล 2leftarrow.png MCFC.png
ประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี
(21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551)
2rightarrow.png ซูไลมาน อัล ฟาห์อิม
พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล 2leftarrow.png นายกสมาคมกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย
(30 เมษายน พ.ศ. 2550- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551)
2rightarrow.png บุญชู เรืองกิจ