ประเทศติมอร์ตะวันออก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เตตุม: Repúblika Demokrátika
Timor Lorosa'e
เรปูบลีกา เดโมกราตีกา ตีมอร์ โลโรซาเอ
โปรตุเกส: República Democrática de
Timor-Leste
เรปูบลีกา เดโมกราตีกา ดี ตีมอร์-เลชตี
สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
ธงชาติติมอร์ตะวันออก ตราแผ่นดินของติมอร์ตะวันออก
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญUnidade, Acção, Progresso
(โปรตุเกส: เอกภาพ การกระทำ ความก้าวหน้า)
เพลงชาติPátria
ที่ตั้งของติมอร์ตะวันออก
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
ดิลี

8°34′S 125°34′E

ภาษาทางการ ภาษาเตตุมและภาษาโปรตุเกส1
รัฐบาล สาธารณรัฐ
 -  ประธานาธิบดี โจเซ รามอส-ฮอร์ตา
 -  นายกรัฐมนตรี เคย์ ราล่า ซานานา กุสเมา
เอกราช
  ประกาศ
เป็นที่ยอมรับ
จาก โปรตุเกส2
28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518
20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 15,007 กม.² (ลำดับที่ 159)
 -  พื้นน้ำ (%) น้อยมาก
ประชากร
 -  ก.ค. 2548 ประมาณ 1,040,880 (อันดับที่ 153)
 -  ความหนาแน่น 69/กม.² (อันดับที่ 128)
GDP (PPP) 2548 ประมาณ
 -  รวม 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 210)
 -  ต่อประชากร 400 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 192)
HDI (2546) 0.513 (กลาง) (อันดับที่ 140)
สกุลเงิน ดอลลาร์สหรัฐ3 (USD)
เขตเวลา (UTC+9)
รหัสอินเทอร์เน็ต .tl
รหัสโทรศัพท์ +670
1 รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซีย เป็น "ภาษาปฏิบัติการ"

2 อินโดนีเซีย ยึดครองติมอร์ตะวันออกในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2518 และถอนไปในปี พ.ศ. 2542

3 นอกจากนี้ยังใช้เหรียญเซนตาโว

ประเทศติมอร์ตะวันออก (อังกฤษ: East Timor) หรือ ติมอร์-เลสเต หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (อังกฤษ: Democratic Republic of Timor-Leste) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย เกาะติมอร์ด้านตะวันออก เกาะอาเตาโร (Atauro) และเกาะจาโก (Jaco) ที่อยู่ใกล้เคียง และ โอเอกุสซี-อัมเบโน (Oecussi-Ambeno) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของเกาะติมอร์ ติมอร์ตะวันออกถูกล้อมรอบโดยพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย

แต่เดิมประเทศติมอร์ตะวันออกถูกปกครองโดยประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้ยึดครองติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) และในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ติมอร์ตะวันออกได้แยกตัวเป็นอิสระ และได้รับเอกราชอย่างเต็มตัวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) เมื่อประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าร่วมองค์การสหประชาชาติในปีเดียวกัน ก็ได้ตกลงว่าจะเรียกประเทศอย่างเป็นทางการว่า ติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) ซึ่งเป็นชื่อในภาษาโปรตุเกส

เนื้อหา

[แก้] ประวัติศาสตร์

ดินแดนติมอร์ตะวันออกเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2063 (ค.ศ. 1520) ภายหลังโปรตุเกสถอนตัวออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยมิได้จัดการปกครองให้แก่ติมอร์แต่อย่างใด เป็นเหตุให้ประเทศอินโดนีเซียได้ส่งทหารเข้ายึดครองติมอร์โดยผนวกเข้าเป็นจังหวัดที่ 27 ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งต่อมาได้ถูกคัดค้านจากประชาชนชาวติมอร์เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การชุมนุมทางศาสนาในพิธีมิสซาที่โบสถ์โมทาเอล (Motael) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 ริมทะเลกรุงดิลี โดยผู้ชุมนุมได้เดินขบวนไปยังสุสานซานตาครูซจำนวนผู้ร่วมชุมนุมจึงมีมากขึ้น และการชุมนุมก็เปลี่ยนเป็นการเรียกร้องเอกราช โดยมีนายซานานา กุสเมา เป็นผู้นำที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ดีเมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียยินยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกกว่าร้อยละ 80 ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในติมอร์ตะวันออกโดยกลุ่มกองกำลังมิลิเทีย (militia) ที่นิยมอินโดนีเซีย สหประชาชาติจึงได้ตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (International Force in East Timor – INTERFET) เมื่อ 15 กันยายน 2542 เพื่อส่งเข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก ก่อนที่จะประกาศเอกราชในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ในขณะนี้ สหประชาชาติดำเนินการสนับสนุนติมอร์ตะวันออกภายใต้ United Nations Mission of Support in East Timor (UNMISET) ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

[แก้] วิกฤตการเมืองพ.ศ. 2549

ความวุ่นวายได้เริ่มขึ้นในติมอร์ตะวันออกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 หลังจากที่การชุมนุมเพื่อสนับสนุนทหารติมอร์ตะวันออก 600 นาย ซึ่งถูกปลดออกจากราชการเนื่องจากหนีทัพกลายเป็นการจลาจลที่มีผู้เสียชีวิต 5 คน และมีมากกว่า 20,000 คนที่หนีจากบ้านของตัวเอง

การต่อสู้อันรุนแรงระหว่างทหารที่สนับสนุนรัฐบาลและทหารฟาลินติลที่ไม่พอใจได้เกิดขึ้นเมื่อ พฤษภาคม 2549 [1] แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจน แรงจูงใจเบื้องหลังการต่อสู้ คาดว่าจะเป็นการกระจายของกองทุนน้ำมัน และการจัดการไม่ดีของกองทัพและตำรวจติมอร์ ซึ่งรวมถึงตำรวจอินโดนีเซียเดิม และกบฎติมอร์เดิม นายกรัฐมนตรี มารี อัลกาติรี ได้เรียกความรุนแรงนี้ว่าเป็นการรัฐประหาร และได้ยอมรับความช่วยเหลือจากกองทัพจากต่างประเทศหลายชาติ[2][3] ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ประเทศออสเตรเลีย โปรตุเกส นิวซีแลนด์ และมาเลเซียได้ส่งทหารไปยังติมอร์ เพื่อปราบปรามความไม่สงบ [4][5]

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ประธานาธิบดีซานานา กุสเมา ได้ขอร้องอย่างเป็นทางการให้นายกรัฐมนตรีมารี อัลคาทีรี ลาออก ซึ่งสมาชิกพรรคเฟรติลินส่วนใหญ่ได้ข้อรองให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยกล่าวหาว่า ได้พูดเท็จเกี่ยวกับการกระจายอาวุธให้พลเรือน [6] เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2549 นายกรัฐมนตรีมารี อัลกาติรี ได้ลาออกโดยกล่าวว่า เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการลาออกของประธานาธิบดี[7] โฆเซ รามอส ฮอร์ตา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อ วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 [8]

[แก้] การปกครอง

ปัจจุบันประเทศติมอร์ตะวันออกมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยความที่เป็นประเทศใหม่ ซึ่งต้องเผชิญกับเหตุการณ์สงครามกลางเมือง และการรุกรานจากประเทศอื่น เพื่อให้การดำเนินการในติมอร์ตะวันออกเป็นไปโดยสงบ องค์การสหประชาชาติโดยสำนักงานโครงการเพื่อสนับสนุนภารกิจของในติมอร์ตะวันออก (United Nation Mission of Support in East Timor : UNMISET) เป็นหน่วยงานที่คอยให้การสนับสนุนการดำเนินการต่างๆในติมอ์ตะวันออกให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ประเทศติมอร์ตะวันออกเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2002

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

แผนที่แสดงเขตต่าง ๆ ของประเทศติมอร์ตะวันออก

ติมอร์ตะวันออกแบ่งเขตการปกครองเป็น 13 เขต (administrative districts) ดังนี้

  1. เขตเลาเตง
  2. เขตเบาเกา
  3. เขตวีเกเก
  4. เขตมานาตูโต
  5. เขตดิลี
  6. เขตไอเลอู
  7. เขตมานูฟาอี
  8. เขตลีกีซา
  9. เขตเอร์เมรา
  10. เขตไอนาโร
  11. เขตโบโบนาโร
  12. เขตโกวา-ลีมา
  13. เขตโอเอกุสซี-อัมเบโน

[แก้] ภูมิศาสตร์

ประเทศติมอร์ตะวันออกเป็นประเทศหมู่เกาะ จัดเป็นเกาะในกลุ่มเกาะอินโดนีเชีย เรียกว่า เกาะติมอร์ ด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะขนาดเล็ก เกาะติมอร์ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย และอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตาของประเทศอินโดนีเซียไปทางตะวันออกประมาณ 2,100 กิโลเมตร ประเทศติมอร์ตะวันออกประกอบไปด้วยดินแดนส่วนปลายด้านตะวันออกของเกาะติมอร์ และมีดินแดนส่วนแยกเขตโอกุสซีที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของติมอร์ตะวันตกซึ่งอยู่ในการปกครองของประเทศอินโดนีเซีย

[แก้] ภูมิอากาศ

ประเทศติมอร์ตะวันออกมีเพียงสองฤดู เช่นเดียวกับทางภาคใต้ของประเทศไทย คือมีฤดูฝน และฤดูแล้งเหมือนประเทศไทย ภูมิอากาศบางแห่งมีภูมิอากาศแบบสะวันนา ด้วยเหตุที่ได้รับลมแล้งจากทะเลทรายทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ทรัพยากรทางธรรมชาติของติมอร์ตะวันออกคือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจมีมากไม่แพ้ประเทศบรูไนที่อยู่ในทะเลลึกที่เรียกว่า Timor Gap ซึ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างติมอร์ตะวันออกกับประเทศออสเตรเลีย ส่วนพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ กาแฟ มะพร้าว โกโก้ ข้าวโพด และปศุสัตว์ที่สำคัญได้แก่ โค กระบือ แกะ ม้า และทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่มากมาย

[แก้] เศรษฐกิจ

ลู่ทางการค้าการลงทุนในติมอร์ตะวันออกที่มีศักยภาพ คือ ไร่กาแฟ การประมง ธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงแหล่งทรัพยากรประเภทน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในเขต Timor Gap ซึ่งอยู่ระหว่างติมอร์ตะวันออกกับออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ธุรกิจเหล่านี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา และการสนับสนุนด้านการเงินจากนักลงทุนภายนอกอยู่มาก เนื่องจากติมอร์ตะวันออกยังขาดเงินทุน และชาวติมอร์ตะวันออกยังขาดทักษะในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กอปรกับในปัจจุบันมีอัตราผู้ว่างงานสูงประมาณร้อยละ 80 ซึ่งในส่วนของนักธุรกิจไทยจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของระเบียบรวมถึงอุปสรรคดังกล่าวต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความเสี่ยงในการลงทุนในติมอร์เลสเต และขณะนี้สินค้าส่วนใหญ่ในติมอร์ตะวันออกนำเข้าจากออสเตรเลีย เพื่อรองรับการบริโภคของคณะเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติและคณะทูตที่ปฏิบัติงานในติมอร์ตะวันออก

[แก้] ประชากร

งานแต่งงานของชาวติมอร์เชื้อสายจีนแคะ ปี ค.ศ. 2006

ประเทศติมอร์ตะวันออกมีประชากรประมาณ 1,040,880 คน โดยประชากรมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ และภาษาที่มีถึง 30 กลุ่ม โดยต่างคนต่างอยู่ นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวติมอร์เชื้อสายจีน และคนไทยในกรุงดิลี ส่วนภาษาทางการนั้นไม่เป็นที่ตกลงแน่นอนว่าจะใช้ภาษาใดเป็นภาษาทางการ แต่ภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในติมอร์ตะวันออก คือ ภาษาเตตุม ภาษาโปรตุเกส ภาษาอินโดนีเซีย และภาษาอังกฤษ โดยสองภาษาหลังนี้ทางการถือเป็นภาษาปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

[แก้] วัฒนธรรม

ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชนบท โดยส่วนมากยังทำการเกษตรแบบดั้งเดิม และพึ่งพาตนเอง มีการศึกษาต่ำ มีการจับปลาและเลี้ยงสัตว์ ผู้คนส่วนใหญ่ค้าขายไม่เป็น ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล แต่ชาวติมอร์ตะวันออกนั้นมีความเคารพในระบบอาวุโส มีระบบเครือญาติที่แข็งแกร่ง รักพวกพ้อง รักขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม โดยสตรีชาวติมอร์นั้นจะทำงานหนักในขณะที่บุรุษมักไม่ค่อยช่วยงานบ้าน

[แก้] ศาสนา

รูปปั้นพระแม่มารีของศาสนาคริสต์ในเมืองดิลี
ศาสนา จำนวนศาสนิก[9] ร้อยละ
นิกายโรมันคาทอลิก 715,285 คน 96.5 %
นิกายโปรเตสแตนต์ 16,616 คน 2.2 %
นับถือผี/ไสยศาสตร์ 5,883 คน 0.8 %
ศาสนาอิสลาม 2,455 คน 0.3 %
ศาสนาพุทธ 484 คน 0.06 %
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 191 คน 0.02 %
อื่นๆ 616 คน 0.08 %
รวม 741,530 คน 100.00 %

ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศติมอร์ตะวันออกนับถือศาสนาคริสต์ โดยแยกเป็นสองนิกายหลัก คือ นิกายโรมันคาทอลิก มีศาสนิกกว่าร้อยละ 96 ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์นั้นมีร้อยละ 2.2 มีส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลามซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบซุนนีย์ นอกนั้นนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และอื่นๆ[9]

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น