อัลกออิดะห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงของอัลกออิดะห์ในอิรัก

อัลกออิดะห์ (อาหรับ: القاعدة‎,al-Qā`ida คำแปล: ฐานที่มั่น (The Base), อังกฤษ: Al-Qaeda) เป็นกลุ่มก่อการร้ายสากลชาวอิสลาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531[1] มีนายอุซามะห์ บิน ลาดิน และนาย Ayman al-Zawahiri เป็นหัวหน้า

อัลกออิดะห์ หรืออัลไกดา เป็นองค์กรทางทหารของมุสลิมนิกายซุนนี มีเป้าหมายเพื่อขับไล่อิทธิพลของต่างชาติออกไปจากประเทศมุสลิม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือลัทธิวะฮาบีย์หรือซาฟาอีย์ อัลกออิดะห์เป็นที่รู้จักจากการก่อวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ทำให้สหรัฐอเมริกาออกมาต่อต้านกลุ่มนี้ภายใต้คำว่า “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” กลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายโดยสหรัฐอเมริกา[2] อังกฤษ[3] แคนาดา[4] ออสเตรเลีย[5] อินเดีย,[6] ซาอุดิอาระเบีย นาโต[7][8]สหประชาชาติ[9] สหภาพยุโรป [10] อิสราเอล,[11] ญี่ปุ่น[12] เกาหลีใต้,[13] ฝรั่งเศส,[14] เนเธอร์แลนด์,[15] รัสเซีย,[16] สวีเดน,[17] ตุรกี[18] และสวิตเซอร์แลนด์.[19]


เนื้อหา

[แก้] ที่มาของชื่อ

คำว่าอัลกออิดะห์เป็นภาษาอาหรับหมายถึงมูลนิธิ ที่มั่น บินลาเดนให้สัมภาษณ์แก่วารสาร al Jazeera ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ว่าคำว่าอัลกออิดะห์นี้ใช้ตั้งแต่สมัยที่กลุ่มมุญาฮิดีนต่อสู้กับสหภาพโซเวียตโดยเรียกค่ายฝึกว่าอัลกออิดะห์ คำว่าอัลกออิดะห์นำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 ในการสอบสวนผู้ต้องหาสี่คนที่นิวยอร์กจากคดีการวางระเบิดสถานทูตสหรัฐในแอฟริกาตะวันออกเมื่อ พ.ศ. 2541 ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 กลุ่มนี้ปรากฏในชื่อกออิดะห์ อัล ญิฮาด (ที่มั่นแห่งญิฮาด)

[แก้] ประวัติ

[แก้] ญิฮาดในอัฟกานิสถาน

จุดกำเนิดของกลุ่มเริ่มขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์หลังโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานใน พ.ศ. 2522 โดยการบริหารของชาวอาหรับจากต่างประเทศในชื่อมุญาฮิดีน สนับสนุนทางการเงินโดยบิน ลาเดนและการบริจาคของชาวมุสลิม สหรัฐมองว่าการรุกรานอัฟกานิสถานของโซเวียตเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น หน่วยสืบราชการลับได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวผ่านทางปากีสถาน[20][21] อัลกออิดะห์พัฒนาจากกลุ่ม Maktab al-Khadamat ที่เป็นส่วนหนึ่งของมุญาฮิดีน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารชาวปาเลสไตน์ และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเช่นเดียวกับมุญาฮิดีนกลุ่มอื่นๆ การสู้รบดำเนินไป 9 ปี จนสหภาพโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานใน พ.ศ. 2532 รัฐบาลสังคมนิยมของ โมฮัมเหม็ด นาจิบุลลอห์ ถูกมุญาฮิดีนล้มล้าง แต่เนื่องจากผู้นำกลุ่มมุญาฮิดีนไม่สามารถตกลงกันได้ ความวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจจึงตามมา

[แก้] การขยายตัว

หลังจากสงครามต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลงนักรบมุญาฮิดีนบางกลุ่มต้องการขยายการต่อสู้ออกไปทั่วโลกในนามนักรบอิสลามเช่นความขัดแย้งในอิสราเอลและแคชเมียร์ หนึ่งในความพยายามนี้คือการตั้งกลุ่มอัลกออิดะห์โดยบิน ลาเดนใน พ.ศ. 2531

[แก้] สงครามอ่าวเปอร์เซียและเริ่มต้นต่อต้านสหรัฐ

ดูบทความหลักที่ สงครามอ่าวเปอร์เซีย

เมื่อสงครามในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลง บินลาเดนเดินทางกลับสู่ซาอุดิอาระเบีย เมื่อเกิดการรุกรานคูเวตของอิรักใน พ.ศ. 2533 บิน ลาเดนได้เสนอให้ใช้นักรบมุญาฮิดีนของเขาร่วมมือกับกษัตริย์ฟาฮัด เพื่อปกป้องซาอุดิอาระเบียจากการรุกรานของอิรักที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียปฏิเสธและหันไปอนุญาตให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในซาอุดิอาระเบีย ทำให่บิน ลาเดนไม่พอใจ เพราะเขาไม่ต้องการให้มีกองทหารต่างชาติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม (คือเมกกะและเมดินา) การที่เขาออกมาต่อต้านทำให้เขาถูกบีบให้ไปซูดานและถูกถอนสัญชาติซาอุดิอาระเบีย[22]

[แก้] ในซูดาน

ใน พ.ศ. 2534 แนวร่วมอิสลามแห่งชาติซูดานขึ้นมามีอำนาจและเชื้อเชิญกลุ่มอัลกออิดะห์ให้ย้ายเข้ามาภายในประเทศ อัลกออิดะห์เข้าไปประกอบธุรกิจในซูดานเป็นเวลาหลายปี และสนับสนุนเงินในการสร้างทางหลวงจากเมืองหลวงไปยังท่าเรือซูดาน พ.ศ. 2539 บิน ลาเดนถูกบีบให้ออกจากซูดานเนื่องจากแรงกดดันของสหรัฐ เขาจึงย้ายกลุ่มอัลกออิดะห์ไปตั้งมั่นในจาลาลาบัด อัฟกานิสถาน

[แก้] บอสเนีย

การประกาศเอกราชของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ออกจากสหพันธรัฐยูโกสลาเวียในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ทำให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาแห่งใหม่ในยุโรป ในบอสเนีย ชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมแต่ก็มีชาวเซิร์บที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์และชาวโครแอตนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เป็นสามเส้าขึ้น โดยเซอร์เบียและโครเอเชียหนุนหลังชาวเซิร์บและชาวโครแอตที่มีเชื้อชาติเดียวกันตามลำดับ เหล่านักรบอาหรับในอัฟกานิสถานเห็นว่าสงครามในบอสเนียเป็นโอกาสอันดีที่จะปกป้องศาสนาอิสลาม ทำให้กลุ่มต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งอัลกออิดะห์เข้าร่วมในสงคราม ตั้งเป็นกลุ่มมุญาฮิดีนบอสเนีย โดยนักรบส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับไม่ใช่ชาวบอสเนีย

การลงนามในข้อตกลงวอชิงตันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 ทำให้สงครามระหว่างบอสเนีย-โครแอตสิ้นสุดลง กลุ่มมุญาฮิดีนยังสู้รบกับชาวเซิร์บต่อไป จนกระทั่งบันทึกสันติภาพไดตอนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ทำให้สงครามสิ้นสุดลง และเหล่านักรบต่างชาติถูกบีบให้ออกนอกประเทศ ส่วนผู้ที่แต่งงานกับชาวบอสเนียหรือไม่มีที่กลับได้รับสัญชาติบอสเนียและอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้

[แก้] ผู้ลี้ภัยในอัฟกานิสถาน

หลังจากการถอนตัวของสหภาพโซเวียต อัฟกานิสถานอยู่ในสภาพวุ่นวายถึง 7 ปี จากการสู้รบของกลุ่มที่เคยเป็นพันธมิตรกัน ในช่วง พ.ศ. 2533 มีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นคือกลุ่มตาลีบันหรือฏอลิบาน (แปลตามตัว = นักเรียน) เป็นกลุ่มเยาวชนที่เกิดในอัฟกานิสถานยุคสงครามได้รับการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (มัดรอซะ; madrassas) ในกันดะฮาร์ หรือค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนปากีสถาน – อัฟกานิสถาน

ผู้นำของฏอลิบาน 5 คนจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม Darul Uloom Haqqania ใกล้กับเปชาวาร์ ที่อยู่ในปากีสถาน แต่ผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากปากีสถาน โรงเรียนนี้สอนศาสนาตามลัทธิซาลาฟีย์ และได้รับการสนับสนุนจากชาวอาหรับโดยเฉพาะบิน ลาเดน ชาวอาหรับในอัฟกานิสถานและฏอลิบานมีความเกี่ยวพันกันมาก หลังจากโซเวียตถอนตัวออกไป ฏอลิบานมีอิทธิพลมากขึ้นจนสามารถก่อตั้งรัฐเอมิเรตส์อิสลามแห่งอัฟกานิสถาน ใน พ.ศ. 2537 ฏอลิบานเข้ายึดครองพื้นที่ในกันดะฮาร์และเข้ายึดกรุงคาบูลได้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2539

หลังจากซูดานได้บีบให้บิน ลาเดนและกลุ่มของเขาออกนอกประเทศ เป็นเวลาเดียวกับที่ฏอลิบานมีอำนาจในอัฟกานิสถาน บิน ลาเดนจึงเข้าไปตั้งมั่นในเขตจาลาลาบัด ในเวลานั้นมีเพียงปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้นที่ยอมรับว่าฏอลิบานเป็นรัฐบาลของอัฟกานิสถาน บิน ลาเดนพำนักในอัฟกานิสถาน จัดตั้งค่ายฝึกนักรบมุสลิมจากทั่วโลก .[23][24]จนกระทั่งรัฐบาลฏอลิบานถูกขับไล่โดยกองกำลังผสมภายในประเทศร่วมกับกองทหารสหรัฐใน พ.ศ. 2544 หลังจากนั้น เชื่อกันว่า บิน ลาเดนยังคงพำนักกับกลุ่มฏอลิบานในบริเวณชายแดนปากีสถาน

[แก้] เริ่มโจมตีพลเรือน

พ.ศ. 2536 Ramzi Yousef ผู้นำคนหนึ่งของอัลกออิดะห์ ใช้การวางระเบิดในรถยนต์ โจมตีตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก แต่ไม่สำเร็จ และ Yousef ถูกจับในปากีสถาน แต่ก็เป็นแรงดลใจให้กลุ่มของบิน ลาเดน ทำสำเร็จเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2544

อัลกออิดะห์เริ่มสงครามครูเสดใน พ.ศ. 2539 เพื่อขับไล่กองทหารต่างชาติออกไปจากดินแดนอิสลามโดยต่อต้านสหรัฐและพันธมิตร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 บิน ลาเดนและ Ayman al-Zawahiri ผู้นำของกลุ่มญิฮาดอียิปต์และผู้นำศาสนาอิสลามอีกสามคน ร่วมลงนามใน “ฟัตวาห์” ,[25] หรือคำตัดสินภายใต้ชื่อแนวร่วมอิสลามโลกเพื่อญิฮาดต่อต้านยิวและครูเสด (World Islamic Front for Jihad Against the Jews and Crusaders; ภาษาอาหรับ: al-Jabhah al-Islamiyya al-'Alamiyya li-Qital al-Yahud wal-Salibiyyin)โดยประกาศว่าเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกประเทศในการสังหารชาวสหรัฐและพันธมิตรทั้งทหารและพลเรือนเพื่อปลดปล่อยมัสยิดอัลอักซาในเยรูซาเลมและมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ในเมกกะ.[26] หลังจากนั้นได้เกิดการวางระเบิดสถานทูตสหรัฐในแอฟริกาตะวันออกภายในปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิต 300 คน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 เกิดระเบิดพลีชีพในกองทัพเรือสหรัฐในเยเมน[27]

[แก้] วินาศกรรม 11 กันยายน และปฏิกิริยาของสหรัฐ

ดูบทความหลักที่ วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544
ความสูญเสียจากการก่อวินาศกรรม 11 กันยายน

การก่อวินาศกรรม 11 กันยายน ทำให้สหรัฐและนาโตออกมาต่อต้านอัลกออิดะห์ และฟัตวาห์ พ.ศ. 2541 การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นวินาศภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน รวมทั้งความเสียหายจากการพังทลายของตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนถูกทำลายลงไปบางส่วน หลังจากนั้น สหรัฐได้มีปฏิบัติการทางทหารโต้ตอบเรียกร้องให้ มุลลอหฺ โอมาร์ ผู้นำฏอลิบานส่งตัวบิน ลาเดนมาให้ แต่ฏอลิบานเลือกที่จะส่งตัวบิน ลาเดนให้ประเทศที่เป็นกลาง สหรัฐจึงส่งกองทัพอากาศทิ้งระเบิดทำลายที่มั่นที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกบดานของอัลกออิดะห์ และส่งปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดินร่วมกับพันธมิตรฝ่ายเหนือเพื่อล้มล้างรัฐบาลฏอลิบาน

ทหารสหรัฐในอัฟกานิสถาน

หลังจากถูกกวาดล้าง กลุ่มอัลกออิดะห์พยายามรวมตัวอีกครั้งในเขต Gardez แต่ยังคงถูกโจมตีจากฝ่ายสหรัฐ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2545 กองทัพอัลกออิดะห์ถูกทำลายจนลดประสิทธิภาพลงมาก ซึ่งเป็นความสำเร็จในขั้นต้นของการรุกรานอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม ฏอลิบานยังมีอิทธิพลอยู่ในอัฟกานิสถาน และผู้นำคนสำคัญของอัลกออิดะห์ยังไม่ถูกจับ ใน พ.ศ. 2547 สหรัฐกล่าวอ้างว่าจับตัวผู้นำของอัลกออิดะห์ได้ 2 – 3 คน แต่อัลกออิดะห์ก็ยังดำเนินกิจกรรมต่อไปได้

[แก้] กิจกรรมในอิรัก

บิน ลาเดน เริ่มให้ความสนใจอิรักตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2533 อัลกออิดะห์ติดต่อกับกลุ่มมุสลิมชาวเคิร์ด Ansar al-islam ใน พ.ศ. 2542 ระหว่างการรุกรานอิรักใน พ.ศ. 2546 อัลกออิดะห์ให้ความสนใจเป็นพิเศษ หน่วยทหารของอัลกออิดะห์เริ่มวางระเบิดกองบัญชาการของสหประชาชาติและกาชาดสากล พ.ศ. 2547 ฐานที่มั่นของอัลกออิดะห์ในเมืองฟาลูยะห์ ถูกโจมตีและปิดล้อมด้วยกองทหารสหรัฐ แต่อัลกออิดะห์ยังคงโจมตีทั่วอิรัก แม้จะสูญเสียกำลังคนไปมาก ในระหว่างการเลือกตั้งในอิรัก พ.ศ. 2548 กลุ่มอัลกออิดะห์ออกมาประกาศความรับผิดชอบระเบิดพลีชีพ 9 ครั้งในแบกแดด

Abu Musab al-Zarqawi ทหารชาวจอร์แดนเป็นผู้จัดตั้งองค์กร "Jama'at al-Tawhid wal-Jihad" เมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และประกาศเป็นตัวแทนของอัลกออิดะห์ในอิรัก หลังจากเขาถูกฆ่าจากการโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ Baqubah เชื่อกันว่า Abu Ayyub al-Masri ขึ้นเป็นผู้นำอัลกออิดะห์ในอิรักแทน แม้ว่าการต่อสู้ของอัลกออิดะห์ในอิรักยังไม่ประสบผลในการขับไล่กองทหารอังกฤษและสหรัฐ รวมทั้งล้มล้างรัฐบาลของผู้นับถือนิกายชีอะห์ แต่ก็ได้สร้างความรุนแรงกระจายไปทั่วประเทศ

[แก้] อัลกออิดะห์ในแคชเมียร์

เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ชายลึกลับอ้างตัวเป็นสมาชิกอัลกออิดะห์โทรศัพท์ไปที่นักข่าวท้องถิ่นในศรีนคร ประกาศว่าขณะนี้อัลกออิดะห์เข้ามาในแคชเมียร์แล้ว เพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกรัฐบาลอินเดียกดขี่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กลุ่มอัลกออิดะห์แทรกซึมเข้ามาในบริเวณนี้ตั้งแต่ก่อนการรุกรานอัฟกานิสถานของสหรัฐ และน่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถาน

[แก้] กิจกรรม

[แก้] กิจกรรมทางอินเทอร์เน็ต

กลุ่มอัลกออิดะห์ใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างเครือข่ายและประชาสัมพันธ์ผลงาน

[แก้] กิจกรรมทางการเงิน

การโอนเงินจากบัญชีของบิน ลาเดนจากธนาคารแห่งชาติบาห์เรน จะถูกส่งต่อไปยังบัญชีผิดกฎหมายที่ไม่แสดงข้อมูลใน Clearstream ซึ่งเป็นแหล่งฟอกเงิน

[แก้] ในอิสราเอล

อัลกออิดะห์ไม่ค่อยมีบทบาทในการต่อต้านอิสราเอล ทฤษฎีหนึ่งคือ อัลกออิดะห์ไม่ยอมร่วมมือกับกลุ่มนิกายชีอะห์ เช่น ฮิซบุลลอหฺ ซึ่งสนับสนุนการต่อต้านอิสราเอลของปาเลสไตน์ หรือมิฉะนั้น ชาวปาเลสไตน์ไม่ต้องการต่อสู้ภายใต้หลักการของอัลกออิดะห์ แต่ต้องการต่อสู้ด้วยหลักการของตนเอง อัลกออิดะห์เคยถูกตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะมีส่วนในการโจมพลเรือนอิสราเอลเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ที่เคนยา เช่น การวางระเบิดโรงแรมที่มีชาวอิสราเอลเข้าพัก หรือพยายามโจมตีเครื่องบิน

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Wright, Looming Tower (2006), p.133-4
  2. ^ United States Department of State. Foreign Terrorist Organizations (FTOs). สืบค้นวันที่ 2006-07-03
  3. ^ United Kingdom Home Office. Proscribed terrorist groups. สืบค้นวันที่ 2006-07-03
  4. ^ Public Safety and Emergency Preparedness Canada. Entities list. สืบค้นวันที่ 2006-07-03
  5. ^ Australian Government. Listing of Terrorist Organisations. สืบค้นวันที่ 2006-07-03
  6. ^ The Hindu : Centre bans Al-Qaeda
  7. ^ NATO. Press Conference with NATO Secretary General, Lord Robertson. สืบค้นวันที่ 2006-10-23
  8. ^ NATO Library (2005). AL QAEDA (PDF). สืบค้นวันที่ 2007-06-11
  9. ^ Commission of the European Communities (2004-10-20). COMMUNICATION FROM THE COMMISSION TO THE COUNCIL AND THE EUROPEAN PARLIAMENT (DOC). สืบค้นวันที่ 2007-06-11
  10. ^ Israel Ministry of Foreign Affairs (March 21, 2006). 21, 2006.htm Summary of indictments against Al-Qaeda terrorists in Samaria. สืบค้นวันที่ 2007-06-10
  11. ^ Diplomatic Bluebook (2002). B. TERRORIST ATTACKS IN THE UNITED STATES AND THE FIGHT AGAINST TERRORISM (PDF). สืบค้นวันที่ 2007-06-11
  12. ^ Korean Foreign Ministry. "Seoul confirms release of two Korean hostages in Afghanistan", August 14, 2007. สืบค้นวันที่ 2007-09-16
  13. ^ La France face au terrorisme. Secrétariat général de la défense nationale (France). สืบค้นวันที่ 2009-08-06 ((ฝรั่งเศส))
  14. ^ General Intelligence and Security Service. Annual Report 2004 (PDF). สืบค้นวันที่ 2007-06-11
  15. ^ "Russia Outlaws 17 Terror Groups; Hamas, Hezbollah Not Included"
  16. ^ Ministry for Foreign Affairs Sweden (March – June 2006). Radical Islamist Movements in the Middle East (PDF). สืบค้นวันที่ 2007-06-11
  17. ^ "Türkiye'de halen faaliyetlerine devam eden başlıca terör örgütleri listesi" (Emniyet Genel Müdürlügü)
  18. ^ Report on counter-terrorism submitted by Switzerland to the Security Council Committee established pursuant to resolution 1373 (2001) (PDF) (December 20, 2001). สืบค้นวันที่ 2007-06-11
  19. ^ "How the CIA created Osama bin Laden", Green Left Weekly, 2001-09-19. สืบค้นวันที่ 2007-01-09
  20. ^ 1986-1992: CIA and British Recruit and Train Militants Worldwide to Help Fight Afghan War. Cooperative Research History Commons. สืบค้นวันที่ 2007-01-09
  21. ^ Osama bin Laden: A Chronology of His Political Life. PBS. สืบค้นวันที่ 2007-01-12
  22. ^ Islamist Militancy in the Pakistan-Afghanistan Border Region and U.S. Policy
  23. ^ Denmark: Danish Muslims training in al-Qaeda camps, planning attack against Denmark
  24. ^ "Bin Laden's Fatwa", Al Quds Al Arabi, August 1996. สืบค้นวันที่ 2007-01-09
  25. ^ สรุปจากการสัมภาษณ์บิน ลาเดน เมื่อ 26 พ.ค. 2541 โดย John Miller Most recently broadcast in the documentary Age of Terror, part 4, with translations checked by Barry Purkis (archive researcher).
  26. ^ Weir, Shelagh (July/September 1997), A Clash of Fundamentalisms: Wahhabism in Yemen, Middle East Report, Middle East Research and Information Project, http://www.merip.org/mer/mer204/weir.htm, เรียกดูวันที่ 2009-01-19 ; cited in Burke, Jason (2003). Al-Qaeda: Casting a Shadow of Terror. New York: I.B. Tauris. pp. 128–129. ISBN 1850433968. 

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น