ทวี บุณยเกตุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทวี บุณยเกตุ
ทวี บุณยเกตุ

ดำรงตำแหน่ง
31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 – 17 กันยายน พ.ศ. 2488
สมัยก่อนหน้า ควง อภัยวงศ์
สมัยถัดไป ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

เกิด 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447
จังหวัดตรัง ประเทศไทย
ถึงแก่อสัญกรรม 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (67 ปี)
สมรสกับ คุณหญิงอำภาศรี บุณยเกตุ

นายทวี บุณยเกตุ (10 พ.ย. 2447 - 3 พ.ย. 2514) นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 (รัฐบาลที่ 12) หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยและเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง พ่อสอนลูก

เนื้อหา

[แก้] ชีวประวัติส่วนตัว

นายทวี บุณยเกตุ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2447 เวลา 13.20 น. ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นบุตรของพระยารณชัยชาญยุทธ์ (ถนอม บุณยเกตุ) กับคุณหญิงรณชัยชาญยุทธ์ (ทับทิม) โดยชื่อ ทวี มาจากการที่บิดาและมารดาสมรสกันในวันทวีธาภิเษก บุคคลที่เข้าร่วมงานเมื่อเลิกจึงมาในงานสมรสโดยไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ติดเหรียญตราทวีธาภิเษกเข้าร่วมงานเลย

นายทวีสมรสกับคุณหญิงอำภาศรี บุณยเกตุ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2514 รวมอายุได้ 67 ปี

[แก้] การศึกษา

ในระหว่างศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส นายทวี มีโอกาสได้พบปะกับผู้นำความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ และได้เข้าร่วมเป็นแกนนำคนหนึ่งของคณะราษฎร

[แก้] การรับราชการ

นายทวีจบการศึกษาวิชากสิกรรมเมื่อ พ.ศ. 2468 และรับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ หน้าที่การงานก้าวหน้าขึ้นจนเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมประมง เมื่อ พ.ศ. 2478 จากนั้นย้ายมาเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2482 และขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2483

[แก้] ผลงานทางการเมือง

นายทวี บุณยเกตุ มีส่วนร่วมในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยได้รับมอบหมายให้คุมกำลังเข้าควบคุมค่ายทหาร ที่บางซื่อ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในผู้แทนราษฎรชุดแรก จำนวน 70 คน เมื่อสิ้นสุดอายุของสภาชุดนี้ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาประเภทสอง (วุฒิสมาชิก)

ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ยังสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากนายควง อภัยวงศ์ เป็นอย่างมาก

ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวี และนายควง ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2486 แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับจอมพล ป. ซึ่งไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีและนายควง จึงลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. นายทวี บุณยเกตุได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงเวลานั้น นายทวียังได้รับมอบอำนาจเป็นผู้สั่งการแทนนายกรัฐมนตรีในหลายโอกาส ทั้งยังเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการประกาศพระบรมราชโองการว่าสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488

หลังจากนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และอยู่ระหว่างรอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แต่งตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลาออกเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ระยะเวลาในการบริหารประเทศของท่านจึงสั้นเพียง 18 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด

[แก้] การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย

หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2488 ให้เรียกชื่อประเทศว่า สยาม เช่นเดิม แต่เมื่อจอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 จึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ประเทศไทย อีกครั้ง และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

[แก้] ลี้ภัยออกนอกประเทศ

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารเข้ายึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทวี บุณยเกตุ ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมกับภริยา ไปใช้ชีวิตที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 โค่นล้มจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ใช้เวลาร่างถึง 10 ปี

นายทวี บุณยเกตุ ได้ก่อตั้งมูลนิธิทางการศึกษาชื่อ มูลนิธิ ทวี บุณยเกตุ ซึ่งเคยช่วยเหลือสมาชิกคุรุสภา ผู้ประสบอัคคีภัยและภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ใช้ชื่อท่านเป็นห้องประชุม (ห้องประชุม ทวี บุณยเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี)

[แก้] อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึงปี พ.ศ. 2489 นับเป็นคนที่ 2 ของมหาวิทยาลัย (ต่อจาก พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน)

[แก้] ผลงานเขียน

  • พ่อสอนลูก
  • การสังคม (พ.ศ. 2543)
  • การครองเรือน (พ.ศ. 2543)

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

สมัยก่อนหน้า ทวี บุณยเกตุ สมัยถัดไป
พันตรี ควง อภัยวงศ์ 2leftarrow.png นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
(31 สิงหาคม พ.ศ. 248817 กันยายน พ.ศ. 2488)
2rightarrow.png หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ภาษาอื่น