หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร
สวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร.jpg
นามปากกา: ดวงดาว, บังใบ
เกิด: 28 เมษายน พ.ศ. 2454
ถึงแก่กรรม: 1 กันยายน พ.ศ. 2544 (90 ปี)
อาชีพ: นักเขียน
บิดา: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี
มารดา: หม่อมช้อย กัลยาณมิตร
หัวข้อ: นวนิยาย
ผลงานครั้งแรก: คำอธิษฐานของดวงดาว
ผลงานสำคัญ: ผยอง, เชลยศักดิ์, เคหาสน์สีแดง, ม่านไฟ

หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร (28 เมษายน พ.ศ. 2454 - 1 กันยายน พ.ศ. 2544 [1]) เป็นพระธิดาพระองค์ที่ 4 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี และเป็นพระองค์ที่ 2 ในหม่อมช้อย กัลยาณมิตร [2] ( ธิดา เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ เชย กัลยาณมิตร ) ทรงมีพระเชษฐา และ พระอนุชา ร่วมหม่อมมารดา ดังนี้

  • หม่อมเจ้าชายสีหวิลาศ ประวิตร
  • หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร
  • หม่อมเจ้าชายกวีวิศิษฐ์ ประวิตร

หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดมทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ภายหลัง พระบิดาทรงจ้างครูแหม่มมาสอนพิเศษ ณ วังราชสกุลประวิตร เชิงสะพานเทเวศน์ ( บริเวณที่เป็นตลาดจันทร์ประวิตร ในปัจจุบัน ) พร้อมกับทรงศึกษาดนตรีจนมีความเชี่ยวชาญทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล และโปรดกีฬาทรงม้า

หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดมทรงโปรดการอ่านหนังสือตั้งแต่ท่านยังทรงพระเยาว์ และเป็นแรงบันดาลใจให้นิพนธ์นิยายต่างๆ ในเวลาต่อมา เมื่อพระชันษาได้ 17 ปี ทรงสนิทสนมกับหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ (พระชันษา 23 ปี) พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งประทับอยู่ที่วังใกล้กัน หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงกราบทูลให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงสู่ขอหม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม เป็นพระชายา ต่อหม่อมช้อย [3] เมื่อ พ.ศ. 2471 แต่ทรงปฏิเสธเนื่องจากมิได้ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ด้วย [4]

หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดมทรงนิพนธ์นวนิยายเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 ขณะพระชันษาได้ 24 ปี โดยใช้นามปากกาว่า "ดวงดาว" โดยทรงให้เหตุผลว่า เพราะทรงโปรดที่จะทอดพระเนตรดวงดาวในยามค่ำคืน เพราะดูแล้วน่ารักดี แต่เมื่อทรงส่งเรื่อง "คำอธิษฐานของดวงดาว" ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติวันอาทิตย์ นามปากกาได้กลายเป็น "บังใบ" ไป ซึ่งมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ตั้งถวายโดยความเข้าใจผิด ชื่งต่อมาในภายหลังทรงเปลี่ยนมาใช้นามปากกา "ดวงดาว" ตลอดมา และมีผลงานติดต่อมาหลายเรื่อง เช่น นวนิยายเรื่อง "ผยอง", "เชลยศักดิ์" และ "เคหาสน์สีแดง"

พระองค์ท่านทรงมีพระนิสัยรักงาม และทรงมีพระอารมณ์สนุก โปรดในการประพาสต่างจังหวัด เสด็จไปในที่ที่ไม่เจริญ เพื่อทรงทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นำมาเป็นข้อมูลในงานพระนิพนธ์ เรื่องสั้นต่างๆ โดยมีหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์ศิริ กฤดากร เป็นพระสหายสนิทที่ทรงโปรดที่สุด

หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร ทรงหยุดเขียนนวนิยายในปี พ.ศ. 2508 เพราะไม่ทรงเห็นด้วยกับนิตยสารบางเล่ม ที่ให้ผู้อ่านทายชื่อนักประพันธ์ในนิยายที่ไม่ลงชื่อผู้แต่ง [5] แต่ยังทรงพระนิพนธ์เรื่องสั้นต่อมาอีกบ้าง เรื่องสุดท้ายที่ทรงพระนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2529 คือ เรื่อง "อดีตที่รัก" ซึ่งเป็นพระประวัติเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ลงพิมพ์ในหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงหญิงเหมือนจันทร์ ประวิตร

ทรงได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลนราธิปครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2544 [6]

หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร ถึงชีพิตักษัยด้วยอาการเส้นพระโลหิตในสมองตีบ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ สิริรวมพระชันษา 90 ปี

[แก้] ผลงาน

  • คำอธิษฐานของดวงดาว
  • ระเริงไพร
  • สุริยา
  • ชาตรี
  • อยู่เพื่อรัก
  • ข้ามฝั่งวารินทร์
  • ใจเดียว
  • แพรชมพู
  • เหนือพื้นพสุธา
  • ดาวรุ่ง
  • ผยอง
  • โดมไพร
  • เชลยศักดิ์
  • ชายโฉด
  • ตะวันตรง
  • วสันต์ทราย
  • ม่านไฟ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
  2. ^ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2548. 136 หน้า. ISBN 974-221-746-7
  3. ^ พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2544. 448 หน้า. ISBN 974-341-064-3
  4. ^ ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. ISBN 974-8267-78-4
  5. ^ พระประวัติ หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร ชุมนุมนักเขียนไทย
  6. ^ รายพระนามและรายนามผู้ได้รับรางวัลนราธิป


Books-aj.svg aj ashton 01.svg หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร เป็นบทความเกี่ยวกับ วรรณกรรม วรรณคดี นวนิยายหรือหนังสือ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:โลกวรรณศิลป์