กรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การแถลงข่าวการขายหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เหตุการณ์กรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมดในกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชินคอร์ป) ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (เทมาเส็ก) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำนวน 1,487,740,000 หุ้น (49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท ซึ่งเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดที่ทำให้ การขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขยายตัวออกไปในวงกว้าง ซึ่งนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

เนื้อหา

[แก้] ลำดับเหตุการณ์

  • 12 ธันวาคม 2548 - ข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า มีการเจรจาขายหุ้นชินคอร์ปกับกลุ่มสิงเทลและไชน่าเทเลคอม โดยทางผู้บริหารชินคอร์ปได้ปฏิเสธข่าวว่าไม่เป็นความจริง
  • วันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2549 - ข้อความว่า "ไม่ทราบ ต้องไปถามลูกผม ไม่ใช่มาถามผม" จากการสอบถามของนักข่าวต่อ พ.ต.ท. ทักษิณเกี่ยวกับเรื่องการขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป
  • วันพฤหัสที่ 12 มกราคม 2549 - บริษัท กุหลาบแก้ว จัดตั้งขึ้น
  • วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 - รัฐบาลประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) เปลี่ยนจากฉบับที่ 1 ที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2544
  • วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 - ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป

[แก้] การวิพากษ์วิจารณ์

การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรเอกชน นักวิชาการบางส่วน รวมทั้งสาธารณชน เป็นอย่างมาก ทั้งในประเด็นการได้รับยกเว้นภาษี ประเด็นเรื่องจังหวะเวลาที่ขายหุ้นซึ่งเกิดหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่เพียงสองวัน และประเด็นเรื่องการที่กิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ต้องตกไปอยู่ในการบริหารของต่างชาติ

นอกจากนี้ผู้วิจารณ์ได้แสดงความสงสัยต่อความตั้งใจของ พ.ต.ท. ทักษิณ ที่ให้เหตุผลว่าตระกูลชินวัตรตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดออกไป เนื่องจากต้องการลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีมาตลอดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตีสมัยแรกว่า การดำรงตำแหน่งที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายรัฐ และการถือหุ้นหรือมีบุคคลใกล้ชิดถือหุ้นในกิจการที่จะได้รับผลได้เสียจากนโยบายรัฐ ในเวลาเดียวกันนั้น เป็นการขัดแย้งกันเองทางผลประโยชน์ โดยผู้วิจารณ์ได้ตั้งคำถามว่าถ้าหากมีความตั้งใจเช่นนั้นจริง ทำไมจึงไม่ขายหุ้นทั้งหมดเสียตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อ ปี พ.ศ. 2544 (5 ปีก่อนหน้า) สำหรับคำถามนี้ พ.ต.ท. ทักษิณตอบว่า เนื่องจากหุ้นเป็นจำนวนเงินสูงมาก การจะหาผู้ซื้อจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

อีกประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ คือเรื่องเกี่ยวกับที่มาของหุ้นจำนวนเพิ่มเติมของนายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส. พิณทองทา ชินวัตร ซึ่งในขั้นต้นระบุว่าซื้อมาจาก แอมเพิลริช (Ample Rich Investment, ARI) จำนวนเท่ากันคนละ 164,600,000 หุ้น สำหรับประเด็นนี้ ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2548 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้มีหนังสือสั่งให้บุคคลทั้งสองชี้แจง เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 [1]

[แก้] การโจมตีประเด็นการเอื้อประโยชน์

ประเด็นการขายหุ้นของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้อำนาจเพื่อเอื้อต่อผลประโยชน์ต่อครอบครัว โดยนำไปเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2548 ที่ประกาศใช้ก่อนการประกาศขายหุ้นอย่างเป็นทางการสองวัน โดยพ.ร.บ การประกอบกิจการโทรคมนาคมประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ 2549 ส่วนการประกาศการขายหุ้นอย่างเป็นทางการของครอบครัวชินวัตรเกิดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2549 (อนึ่ง มีข่าวการเจรจาขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรออกมาก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ 2548 แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ)

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การขยายสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากไม่เกิน 25% เป็นไม่ถึง 50% และให้ยกเลิกสัดส่วนกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ออกทั้งหมด ซึ่งผู้วิจารณ์มองว่าสอดคล้องกับการที่ ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ป ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ จำนวน 49.595% ให้กับบริษัทเทมาเส็กของสิงคโปร์ ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ (บริษัทถือหุ้นแทน) อนึ่ง การที่ต้องขาย ผ่านบริษัทโฮลดิ้งส์นั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บริษัทที่ชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ คือ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (ShinSAT) และ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 49% เนื่องจากสามบริษัทดังกล่าวนี้ มีผู้ถือหุ้นต่างชาติจำนวนหนึ่งอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตามมีการชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงต่อคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ว่า พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม นั้น รัฐบาลต้องออกตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับองค์กรการค้าโลกตั้งแต่ปี พ.ศ 2541 ในยุครัฐบาลก่อนหน้านี้ [ต้องการอ้างอิง] โดยประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีรับการลงทุนจากต่างประเทศภายในระยะเวลา 8 ปี และรัฐบาลได้ดำเนินการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตั้งแต่ปี พ.ศ 2547 เมื่อการเจรจาขายหุ้นเกิดขึ้นในปลายปี 2548 ซึ่งดำเนินเนินการหลังจากฎหมายได้ผ่านรัฐสภาไปแล้วกำลังอยู่ในขั้นตอนการรอลงพระปรมาภิไธย [ต้องการอ้างอิง] จึงประกาศการตกลงภายหลังกฎหมายมีการประกาศใช้เพียง 2 วัน

ส่วนกรณีบริษัทไอทีวี ซึ่งเป็นกิจการสื่อสารมวลชน และหากมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติเกินครึ่งหนึ่ง จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในการซื้อขายหุ้น หากปริมาณหุ้นของผู้ถือหุ้นใหม่นั้นขัดต่อกฎหมาย ผู้ถือหุ้นใหม่ก็จะต้องขายหุ้นของตนออกไป ไม่สามารถถือครองไว้ได้ (แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามว่าจะขายไม่ได้ เพียงแต่ห้ามว่าไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ต่อไปได้) [ต้องการอ้างอิง]

ประเด็นอื่นๆ คือ มีผู้เกรงกันว่าการเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้นครั้งนี้จะทำให้ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อกิจการโทรคมนาคมของประเทศเนื่องจาก บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศทั้งสองบริษัทคือ เอไอเอส (ชินคอร์ปถือหุ้น 42.8%, สิงเทล (สิงคโปร์) 19.2%) และชินแซท (ชินคอร์ป 51.38%) [ต้องการอ้างอิง] ต้องตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของต่างชาติ. อย่างไรก็ตามกรณีเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเสรี ตัวอย่างกิจการอื่นๆ ที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของและดำเนินการ เช่น ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจการเงินการธนาคาร (โรงกลั่นน้ำมัน 3 ใน 5 โรงกลั่นของไทยเป็นของต่างชาติ) [ต้องการอ้างอิง]


[แก้] เกี่ยวกับการยกเว้นภาษี

สำหรับประเด็นการได้รับยกเว้นภาษีนั้น ตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เนื่องจากบุคคลธรรมดาที่ขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับการยกเว้นภาษี ตามข้อ 2(23) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)โดยจุดประสงค์ของการยกเว้นนี้ เพื่อจูงใจให้บุคคลธรรมดาเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งความถูกต้องในเรื่องภาษีนี้ได้รับการยืนยันจากดร. สุวรรณ วลัยเสถียรโฆษก และผู้แทนตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษี ในวันแถลงข่าว

[แก้] บริษัทที่มีส่วนร่วมในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้

บริษัทที่เข้าถือหุ้นใน บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่มีส่วนร่วมในกรณีการซื้อขายหุ้นครั้งนี้

[แก้] กุหลาบแก้ว

บริษัท กุหลาบแก้ว จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2549 (ก่อนหน้าการซื้อขายหุ้น 11 วัน) มีผู้ถือหุ้นดังนี้

  1. นายสมยศ สุธีรพรชัย (สัญชาติไทย, อาชีพทนายความ) 5,094 หุ้น (50.09%)
  2. บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ (นิติบุคคลต่างด้าว) 4,900 หุ้น (49%)
  3. และบุคคลธรรมดา (สัญชาติไทย) อีก 6 คน คนละ 1 หุ้น

รวมมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยทั้งหมด 51% และต่างชาติ 49% โดยหุ้นของผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยทั้งหมด เป็นหุ้นบุริมสิทธิ (หุ้นด้อยสิทธิ) และหุ้นของผู้ถือหุ้นต่างชาติทั้งหมด เป็นหุ้นสามัญ ในการประชุมจัดตั้งบริษัทกุหลาบแก้ว มีมติให้หุ้นบุริมสิทธิ 10 หุ้น มีสิทธิออกเสียงในประชุมผู้ถือหุ้น 1 เสียง และจำกัดเงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิไว้ที่ร้อยละ 3 รวมสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยมีสิทธิออกเสียง 510 เสียง และผู้ถือหุ้นต่างชาติ 4,900 เสียง อำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จจึงอยู่กับผู้ถือหุ้นต่างชาติ

[แก้] ซีดาร์ โฮลดิ้งส์

บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์

มีผู้ถือหุ้นดังนี้

  1. บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ (นิติบุคคลต่างด้าว) 48.99%
  2. บริษัท กุหลาบแก้ว (นิติบุคคลสัญชาติไทย) 41.1%
  3. ธนาคารไทยพาณิชย์ (นิติบุคคลสัญชาติไทย) 9.9%

ทำให้ในทางกฎหมายแล้ว บริษัทซีดาร์ฯ เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย (มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ 51%) แต่เมื่อดูเสียงผู้ถือหุ้นในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทแล้ว จะพบว่าเป็นสัดส่วนของต่างชาติถึง 90% ผ่านบริษัทไซเพรส 48.99% และกุหลาบแก้ว (ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจอยู่ที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติ) 41.1%

[แก้] เปรียบเทียบการขายหุ้นกิจการโทรคมนาคมของตระกูลเบญจรงคกุล

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ตระกูลเบญจรงคกุล โดยนายวิชัย-บุญชัย และ นางวรรณา จิรกิติ ได้ขายหุ้นในกิจการโทรคมนาคมไปเช่นกัน คือ หุ้นของบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (ยูคอม) บริษัทแม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (แทค) ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของเอไอเอส บริษัทลูกของชินคอร์ป โดยขายหุ้น จำนวน 173,331,750 หุ้น ในราคาหุ้นละ 53 บาท ให้กับบริษัท ไทยเทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของ บริษัท เทเลนอร์ จากประเทศนอร์เวย์ โดยมีมูลค่าการขาย 9,186.58 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของชินคอร์ป นอกจากมูลค่าที่แตกต่างกันกว่า 7 เท่าแล้ว มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกันคือ ทั้ง 2 กรณี ต่างได้รับการยกเว้นภาษีรายได้จากการขายหุ้น และเป็นการขายหุ้นในลักษณะ "ยกล็อต" ในกระดานนักลงทุนรายใหญ่ และยังเป็นการซื้อหุ้นจากบุคคลธรรมดาไม่ใช่นิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีชินคอร์ปมากกว่า ก็คือ ยูคอมไม่ได้ดำเนินกิจการสื่อสารมวลชน และกิจการดาวเทียม ซึ่งเป็นสองกิจการที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ ผู้บริหารของยูคอมและคนสนิทก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น