อเล็กซานเดอร์มหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รูปปั้นอเล็กซานเดอร์มหาราช

อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซิโดเนีย (356-323 ปีก่อนคริสตกาล) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช (อังกฤษ: Alexander III of Macedon หรือ Alexander the Great, กรีก: Μέγας Ἀλέξανδρος, Mégas Aléxandros) เป็นกษัตริย์กรีกจากแคว้นมาซิโดเนีย ผู้สร้างชื่อเสียงมากที่สุดของราชวงศ์อาร์กีด เป็นผู้สร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เกิดที่เมืองเพลลา ตอนเหนือของมาซิโดเนีย เมื่อปีที่ 356 ก่อนคริสตกาล ได้รับการศึกษาตามแบบกรีกดั้งเดิมภายใต้การกำกับดูแลของอริสโตเติล นักปรัชญากรีกผู้มีชื่อเสียง สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจาก ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย เมื่อปีที่ 336 ก่อนคริสตกาลหลังจากที่พระบิดาถูกลอบสังหาร สิ้นพระชนม์ในอีก 13 ปีต่อมาเมื่อพระชนมายุเพียง 32 พรรษา แม้ว่าราชบัลลังก์และจักรวรรดิของอเล็กซานเดอร์จะอยู่เพียงชั่วครู่ยาม แต่ผลกระทบจากการพิชิตดินแดนของพระองค์ส่งผลสืบเนื่องต่อมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ อเล็กซานเดอร์ถือเป็นหนึ่งในบุรุษผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกยุคโบราณ มีชื่อเสียงเลื่องลือในความสามารถทางการรบ ยุทธวิธี และการเผยแพร่อารยธรรมกรีกไปในดินแดนตะวันออก

พระเจ้าฟิลิปทรงนำแว่นแคว้นกรีกโดยมากบนแผ่นดินใหญ่กรีซให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของมาซิโดเนีย โดยใช้ทั้งกลวิธีทางการทูตและทางทหาร เมื่อฟิลิปสิ้นพระชนม์ อเล็กซานเดอร์จึงได้สืบทอดราชอาณาจักรที่เข้มแข็งและกองทัพที่เปี่ยมประสบการณ์ พระองค์เป็นที่ยอมรับในด้านการรบจากแว่นแคว้นกรีซ และได้เริ่มแผนการขยายอำนาจแผ่อาณาจักรตามที่บิดาเคยริเริ่มไว้ พระองค์ยกทัพรุกรานดินแดนเอเชียไมเนอร์ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเปอร์เซีย และกระทำการรณยุทธ์อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาร่วมสิบปี อเล็กซานเดอร์เอาชนะชาวเปอร์เซียครั้งแล้วครั้งเล่า นำทัพข้ามซีเรีย อียิปต์ เมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย และแบคเทรีย ทรงโค่นล้มกษัตริย์ดาริอุสที่ 3 แห่งเปอร์เซีย และพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียได้ทั้งหมด1 พระองค์ไล่ตามความปรารถนาที่ต้องการเห็น "จุดสิ้นสุดของโลกและมหาสมุทรใหญ่ที่เบื้องปลาย" จึงยกทัพบุกอินเดีย แต่ต่อมาถูกบีบให้ต้องถอยทัพกลับโดยบรรดาทหารที่กำเริบขึ้นเนื่องจากเบื่อหน่ายการสงคราม

อเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ที่เมืองบาบิโลน ในปีที่ 323 ก่อนคริสตกาล ก่อนจะเริ่มแผนการรบต่อเนื่องในการรุกรานคาบสมุทรอาระเบีย ในปีถัดจากการสิ้นพระชนม์ของอเล็กซานเดอร์ เกิดสงครามกลางเมืองทั่วไปจนอาณาจักรของพระองค์แตกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้เกิดเป็นรัฐใหญ่น้อยมากมายปกครองโดยบรรดาขุนนางชาวมาซิโดเนีย แม้ความเป็นผู้พิชิตของพระองค์จะโดดเด่นอย่างยิ่ง แต่มรดกของอเล็กซานเดอร์ที่ยืนยงต่อมากลับมิใช่ราชบัลลังก์ กลายเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ติดตามมาจากการพิชิตดินแดนเหล่านั้น การก่อร่างสร้างเมืองอาณานิคมกรีกและวัฒนธรรมกรีกที่เผยแพร่ไปในแดนตะวันออกทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมเฮเลนนิสติก ซึ่งยังคงสืบทอดต่อมาในจักรวรรดิไบแซนไทน์กระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 อเล็กซานเดอร์เป็นบุคคลในตำนานในฐานะวีรบุรุษผู้ตามอย่างอคิลลีส มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมปรัมปราทั้งของฝ่ายกรีกและที่ไม่ใช่กรีก เป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานซึ่งบรรดานายพลทั้งหลายใช้เปรียบเทียบกับตนเองแม้จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนการทหารทั่วโลกยังคงใช้ยุทธวิธีการรบของพระองค์เป็นแบบอย่างในการเรียนการสอน2

เนื้อหา

[แก้] ชีวิตช่วงต้น

[แก้] เชื้อสายและวัยเยาว์

อเล็กซานเดอร์ประสูติเมื่อวันที่ 20 (หรือ 21) กรกฎาคม ปีที่ 356 ก่อนคริสตกาล,[1][2] ที่เมืองเพลลา เมืองหลวงของราชอาณาจักรมาซิดอน เป็นโอรสของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 มารดาเป็นภริยาคนที่ 4 ของฟิลิปชื่อนางโอลิมเพียส เป็นธิดาของ นีโอโทเลมุสที่ 1 แห่งเอพิรุส นครรัฐกรีกทางเหนือ[3][4][5][6] แม้ฟิลิปจะมีชายาถึง 7-8 คน แต่นางโอลิมเพียสก็ได้เป็นชายาเอกอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์อาร์กีด อเล็กซานเดอร์จึงถือว่าสืบเชื้อสายมาจากเฮราคลีสผ่านทางกษัตริย์คารานุสแห่งมาซิดอน4 ส่วนทางฝั่งมารดา เขาถือว่าตนสืบเชื้อสายจากนีโอโทลีมุส บุตรของอคิลลีส5 อเล็กซานเดอร์เป็นญาติห่างๆ ของนายพลพีร์รุสแห่งเอพิรุส ผู้ได้รับยกย่องจากฮันนิบาลว่าเป็นแม่ทัพผู้เก่งกาจที่สุด[7] หรืออันดับที่สอง (รองจากอเล็กซานเดอร์)[8] เท่าที่โลกเคยประสบพบเจอ

ตามบันทึกของพลูตาร์ค นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ ในคืนวันก่อนวันวิวาห์ของนางโอลิมเพียสกับฟิลิป โอลิมเพียสฝันว่าท้องของนางถูกสายฟ้าฟาดเกิดเปลวเพลิงแผ่กระจายออกไป "ทั้งกว้างและไกล" ก่อนจะมอดดับไป หลังจากแต่งงานแล้ว ฟิลิปเคยบอกว่า ตนฝันเห็นตัวเองกำลังปิดผนึกครรภ์ของภรรยาด้วยดวงตราที่สลักภาพของสิงโต[3] พลูตาร์คตีความความฝันเหล่านี้ออกมาหลายความหมาย เช่นโอลิมเพียสตั้งครรภ์มาก่อนแล้วก่อนแต่งงาน โดยสังเกตจากการที่ครรภ์ถูกผนึก หรือบิดาของอเล็กซานเดอร์อาจเป็นเทพซูส นักวิจารณ์ในยุคโบราณมีความคิดแตกแยกกันไปว่าโอลิมเพียสประกาศเรื่องเชื้อสายอันศักดิ์สิทธิ์ของอเล็กซานเดอร์ด้วยความทะเยอทะยาน บางคนอ้างว่านางเป็นคนบอกอเล็กซานเดอร์เอง แต่บางคนก็ว่านางไม่สนใจคำแนะนำทำนองนี้เพราะเป็นการไม่เคารพ[3]

ในวันที่อเล็กซานเดอร์เกิด ฟิลิปกำลังเตรียมตัวเข้ายึดเมืองโพทิเดียซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งคาลกิดีกี (Chalkidiki) ในวันเดียวกันนั้น ฟิลิปได้รับข่าวว่านายพลพาร์เมนิออนของพระองค์ได้ชัยชนะเหนือกองทัพผสมระหว่างพวกอิลลีเรียนกับพาอิเนียน และม้าของพระองค์ก็ชนะการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ยังเล่ากันด้วยว่า วันเดียวกันนั้น วิหารแห่งอาร์เทมิสที่เมืองเอเฟซัส อันเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ถูกไฟไหม้ทลายลง เฮเกเซียสแห่งแม็กนีเซียกล่าวว่า ที่วิหารล่มลงเป็นเพราะเทพีอาร์เทมิสเสด็จมาเฝ้ารอการประสูติของอเล็กซานเดอร์[1][5][9]

เมื่อยังเล็ก ผู้เลี้ยงดูอเล็กซานเดอร์คือนางอภิบาล ลาไนกี พี่สาวของเคลอิตุสซึ่งในอนาคตได้เป็นทั้งเพื่อนและแม่ทัพของอเล็กซานเดอร์ ครูในวัยเยาว์ของอเล็กซานเดอร์คือลีโอไนดัสผู้เข้มงวด ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายมารดา และไลซิมาคัส[10][11]

เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 10 ปี พ่อค้าม้าคนหนึ่งจากเมืองเทสสะลีนำม้ามาถวายฟิลิปตัวหนึ่ง โดยเสนอขายเป็นเงิน 13 ทาเลนท์ ม้าตัวนี้ไม่มีใครขี่ได้ ฟิลิปจึงสั่งให้เอาตัวออกไป ทว่าอเล็กซานเดอร์สังเกตได้ว่าม้านี้กลัวเงาของตัวมันเอง จึงขอโอกาสฝึกม้านี้ให้เชื่อง ซึ่งต่อมาเขาสามารถทำได้สำเร็จ ตามบันทึกของพลูตาร์ค ฟิลิปชื่นชมยินดีมากเพราะนี่เป็นสิ่งแสดงถึงความกล้าหาญและความมักใหญ่ใฝ่สูง เขาจูบบุตรชายด้วยน้ำตา และว่า "ลูกข้า เจ้าจะต้องหาอาณาจักรที่ใหญ่พอสำหรับความทะเยอทะยานของเจ้า มาซิดอนเล็กเกินไปสำหรับเจ้าแล้ว" แล้วพระองค์จึงซื้อม้าตัวนั้นให้แก่อเล็กซานเดอร์[12] อเล็กซานเดอร์ตั้งชื่อม้านั้นว่า บูซีฟาลัส หมายถึง "หัววัว" บูซีฟาลัสกลายเป็นสหายคู่หูติดตามอเล็กซานเดอร์ไปตลอดการเดินทางจนถึงอินเดีย เมื่อบูซีฟาลัสตาย (เนื่องจากแก่มาก ตามที่พลูตาร์คบันทึกไว้ มันมีอายุถึง 30 ปี) อเล็กซานเดอร์ได้ตั้งชื่อเมืองแห่งหนึ่งตามชื่อมัน คือเมืองบูซีฟาลา[13][14][15]

[แก้] การศึกษา และชีวิตวัยหนุ่ม

เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 13 ปี ฟิลิปตัดสินพระทัยว่าอเล็กซานเดอร์ควรได้รับการศึกษาขั้นสูงขึ้น จึงเริ่มเสาะหาอาจารย์ดีให้แก่บุตร เขาเปลี่ยนอาจารย์ไปหลายคน เช่น ไอโซเครตีส และ สพีอุสสิปัส ซึ่งเป็นผู้สืบทอดของเพลโตที่วิทยาลัยแห่งเอเธนส์ ซึ่งขอลาออกเองเพื่อไปรับตำแหน่ง ในที่สุดฟิลิปเสนองานนี้ให้แก่ อริสโตเติล ฟิลิปยกวิหารแห่งนิมฟ์ที่มีซาให้พวกเขาใช้เป็นห้องเรียน ค่าตอบแทนในการสอนหนังสือแก่อเล็กซานเดอร์คือการสร้างเมืองเกิดของอริสโตเติล คือเมืองสตาเกราที่ฟิลิปทำลายราบไปขึ้นใหม่ และให้ฟื้นฟูเมืองนี้โดยการซื้อตัวหรือปลดปล่อยอดีตพลเมืองของเมืองนี้ที่ถูกจับตัวไปเป็นทาส และยกโทษให้แก่พวกที่ถูกเนรเทศไปด้วย[16][17][18][19]

มีซา เป็นเหมือนโรงเรียนประจำสำหรับอเล็กซานเดอร์และบรรดาบุตรขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ของมาซิดอน เช่น ทอเลมี และ แคสแซนเดอร์ นักเรียนที่เรียนพร้อมกับอเล็กซานเดอร์กลายเป็นเพื่อนของเขาและต่อมาได้เป็นแม่ทัพนายทหารประจำตัว มักถูกกล่าวถึงด้วยคำว่า "สหาย" อริสโตเติลสอนอเล็กซานเดอร์กับบรรดาสหายในเรื่องการแพทย์ ปรัชญา ศีลธรรม ศาสนา ตรรกศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ด้วยการสอนของอริสโตเติลทำให้อเล็กซานเดอร์เติบโตขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจอย่างสูงในงานเขียนของโฮเมอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง อีเลียด อริสโตเติลมอบงานเขียนฉบับคัดลอกของเรื่องนี้ให้เขาชุดหนึ่ง ซึ่งอเล็กซานเดอร์เอาติดตัวไปด้วยยามที่ออกรบ[20][21][22][23]

[แก้] ทายาทของฟิลิป

[แก้] ผู้สำเร็จราชการและผู้สืบทอดมาซิดอน

พระเจ้าฟิลิปที่ 2 บิดาของอเล็กซานเดอร์

เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 16 ปี การร่ำเรียนกับอริสโตเติลก็ยุติลง พระเจ้าฟิลิปยกทัพไปทำสงครามกับไบแซนเทียมและแต่งตั้งให้อเล็กซานเดอร์รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ระหว่างที่ฟิลิปไม่อยู่ พวกแมดีในเทรซก็แข็งเมืองต่อต้านการปกครองของมาซิโดเนีย อเล็กซานเดอร์ตอบโต้อย่างฉับพลัน บดขยี้พวกแมดีและขับไล่ออกไปจากเขตแดน แล้วผนวกเมืองนี้เข้ากับอาณาจักรกรีก ตั้งเมืองใหม่ขึ้นให้ชื่อว่า อเล็กซานโดรโพลิส[24][25][26][27]

หลังจากฟิลิปกลับมาจากไบแซนเทียม พระองค์มองกองกำลังเล็กๆ ให้แก่อเล็กซานเดอร์เพื่อไปปราบปรามกบฎทางตอนใต้ของเทรซ มีบันทึกว่าอเล็กซานเดอร์ได้ช่วยชีวิตของบิดาไว้ได้ระหว่างการรบครั้งหนึ่งกับนครรัฐกรีกชื่อเพรินทุส ในขณะเดียวกัน เมืองแอมฟิสซาได้เริ่มการทำลายสถานสักการะเทพอพอลโลใกลักับวิหารแห่งเดลฟี ซึ่งเป็นโอกาสให้ฟิลิปยื่นมือเข้าแทรกแซงกิจการของกรีซ ขณะที่พำนักอยู่ที่เมืองเทรซ ฟิลิปสั่งให้อเล็กซานเดอร์รวบรวมกองทัพสำหรับการรณยุทธ์กับกรีซ เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่านครรัฐกรีกอื่นๆ จะยื่นมือเข้ามายุ่ง อเล็กซานเดอร์จึงแสร้งทำเสมือนว่ากำลังเตรียมการไปโจมตีอิลลีเรียแทน ในระหว่างความยุ่งเหยิงนั้น อิลลีเรียถือโอกาสมารุกรานมาซิโดเนีย แต่อเล็กซานเดอร์ก็สามารถขับไล่ผู้รุกรานไปได้[28]

ปีที่ 338 ก่อนคริสตกาล ฟิลิปยกทัพมาร่วมกับอเล็กซานเดอร์แล้วมุ่งหน้าลงใต้ผ่านเมืองเทอร์โมไพลีซึ่งทำการต่อต้านอย่างโง่ๆ ด้วยกองทหารชาวธีบส์ ทั้งสองบุกยึดเมืองเอลาเทียซึ่งอยู่ห่างจากเอเธนส์และธีบส์เพียงชั่วเดินทัพไม่กี่วัน ขณะเดียวกัน ชาวเอเธนส์ภายใต้การนำของดีมอสเทนีส ลงคะแนนเสียงให้เป็นพันธมิตรกับธีบส์เพื่อทำสงครามร่วมรบกับมาซิโดเนีย ทั้งเอเธนส์และฟิลิปพากันส่งทูตไปเพื่อเอาชนะใจธีบส์ แต่ทางเอเธนส์เป็นฝ่ายประสบความสำเร็จ[29][30][31] ฟิลิปยกทัพไปแอมฟิสซา จับกุมทหารรับจ้างที่ดีมอสเทนีสส่งไป แล้วเมืองนั้นก็ยอมจำนน ฟิลิปกลับมาเมืองเอลาเทียและส่งข้อเสนอสงบศึกครั้งสุดท้ายไปยังเอเธนส์และธีบส์ แต่ทั้งสองเมืองปฏิเสธ[32][33][34]

รูปปั้นอเล็กซานเดอร์ ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งอิสตันบูล

ฟิลิปยกทัพลงใต้ แต่ถูกสกัดเอาไว้บริเวณใกล้เมืองไคโรเนียของโบโอเทีย โดยกองกำลังของเอเธนส์และธีบส์ ระหว่างการสัประยุทธ์แห่งไคโรเนีย ฟิลิปบังคับบัญชากองทัพปีกขวา ส่วนอเล็กซานเดอร์บังคับบัญชากองทัพปีกซ้าย ร่วมกับกลุ่มนายพลซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของฟิลิป ตามแหล่งข้อมูลโบราณ ทั้งสองฟากของกองทัพต้องต่อสู้อย่างหนักเป็นเวลายาวนาน ฟิลิปจงใจสั่งให้กองทัพปีกขวาของตนถอยทัพเพื่อให้ทหารฮอพไลท์ของเอเธนส์ติดตามมา ทำลายแถวทหารของฝ่ายตรงข้าม ส่วนปีกซ้ายนั้นอเล็กซานเดอร์เป็นคนนำหน้าบุกเข้าตีแถวทหารของธีบส์แตกกระจาย โดยมีนายพลของฟิลิปตามมาติดๆ เมื่อสามารถทำลายสามัคคีของกองทัพฝ่ายศัตรูได้แล้ว ฟิลิปสั่งให้กองทหารของตนเดินหน้ากดดันเข้าตีทัพศัตรู ทัพเอเธนส์ถูกตีพ่ายไป เหลือเพียงทัพธีบส์ต่อสู้เพียงลำพัง และถูกบดขยี้ลงอย่างราบคาบ[35]

หลังจากได้ชัยชนะที่ไคโรเนีย ฟิลิปกับอเล็กซานเดอร์เดินทัพต่อไปโดยไม่มีผู้ขัดขวางมุ่งสู่เพโลพอนนีส (Peloponnese) โดยได้รับการต้อนรับจากทุกเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาเดินทางไปถึงสปาร์ตา กลับถูกปฏิเสธ ทว่าพวกเขาก็เพียงจากไปเฉยๆ[36] ที่เมืองโครินธ์ ฟิลิปได้ริเริ่ม "พันธมิตรเฮเลนนิก" (Hellenic Alliance) (ซึ่งจำลองมาจากกองทัพพันธมิตรต่อต้านเปอร์เซียในอดีต เมื่อครั้งสงครามเกรโค-เปอร์เซียน) โดยไม่นับรวมสปาร์ตา ฟิลิปได้ชื่อเรียกว่า เฮเกมอน (Hegemon) (ซึ่งมักแปลเป็น "ผู้บัญชาการสูงสุด") ของคณะพันธมิตรนี้ นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่เรียกคณะพันธมิตรนี้ว่า สันนิบาตแห่งโครินธ์ (League of Corinth) ครั้นแล้วฟิลิปประกาศแผนของตนในการทำสงครามต่อต้านอาณาจักรเปอร์เซีย โดยเขาจะเป็นผู้บัญชาการเอง[37][38]

[แก้] การลี้ภัยและหวนกลับคืน

หลังจากกลับมาเมืองเพลลา ฟิลิปตกหลุมรักกับคลีโอพัตรา ยูรีไดส์ แห่งมาซิดอน และต่อมาได้แต่งงานกัน นางเป็นหลานสาวของแอตตาลัส นายพลคนหนึ่งของเขา การแต่งงานครั้งนี้ทำให้สถานะรัชทายาทของอเล็กซานเดอร์ต้องสั่นคลอน เพราะถ้าหากคลีโอพัตรา ยูรีไดส์ให้กำเนิดบุตรชายแก่ฟิลิป เด็กนั้นจะเป็นทายาทที่มีเชื้อสายมาซิดอนโดยตรง ขณะที่อเล็กซานเดอร์เป็นเพียงลูกครึ่งมาซิโดเนีย[39] ในระหว่างงานเลี้ยงฉลองพิธีวิวาห์ แอตตาลัสซึ่งเมามายได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์โดยอธิษฐานต่อเทพเจ้าขอให้การแต่งงานนี้สร้างทายาทอันถูกต้องตามกฎหมายให้แก่ราชบัลลังก์มาซิโดเนีย อเล็กซานเดอร์ตะโกนใส่แอตตาลัสว่า "อย่างนั้นข้าเป็นอะไรเล่า ลูกไม่มีพ่อหรือ?" แล้วขว้างแก้วใส่นายพล ฟิลิปซึ่งก็เมามากเช่นกัน ชักดาบออกมาแล้วเดินไปหาอเล็กซานเดอร์ ก่อนจะหกล้มคว่ำไป อเล็กซานเดอร์จึงว่า "ดูเถอะ ชายผู้เตรียมจะยกทัพจากยุโรปสู่เอเชีย ไม่อาจแม้แต่จะเดินจากเก้าอี้ตัวหนึ่งไปถึงอีกตัวหนึ่ง"[24]

อเล็กซานเดอร์หนีออกจากมาซิดอนโดยพามารดาไปด้วย ต่อมาเขาพานางไปฝากไว้กับน้องชายของนางที่โดโดนา เมืองหลวงของเอพิรุส เขาเดินทางต่อไปถึงอิลลีเรีย โดยขอลี้ภัยอยู่กับกษัตริย์แห่งอิลลีเรียและได้รับการต้อนรับอย่างดีในฐานะแขกของชาวอิลลีเรีย ทั้งที่เมืองนี้เคยพ่ายแพ้เขาในการรบเมื่อหลายปีก่อน อเล็กซานเดอร์หวนกลับมาซิดอนอีกครั้งหลังจากลี้ภัยอยู่ 6 เดือน ด้วยความพยายามช่วยเหลือของสหายของครอบครัวผู้หนึ่ง คือ ดีมาราตุส ชาวโครินธ์ ซึ่งช่วยประนีประนอมให้ทั้งสองฝ่าย[24][40][41]

ปีถัดมา พิโซดารุส เจ้าเมืองเปอร์เซียผู้ปกครองคาเรีย ได้เสนองานวิวาห์ระหว่างบุตรสาวคนโตของตนกับฟิลิป อาร์ริดาอุส ซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดาของอเล็กซานเดอร์ โอลิมเพียสกับเพื่อนอีกหลายคนของอเล็กซานเดอร์เห็นว่าสิ่งนี้แสดงถึงความตั้งใจของฟิลิปที่จะแต่งตั้งให้อาร์ริดาอุสเป็นรัชทายาท อเล็กซานเดอร์ตอบโต้โดยส่งเทสซาลุสแห่งโครินธ์ นักแสดงผู้หนึ่งไปแจ้งแก่พิโซดารุสว่าไม่ควรเสนอให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับบุตรชายผู้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทว่าควรให้แต่งงานกับอเล็กซานเดอร์มากกว่า เมื่อฟิลิปทราบเรื่องนี้ก็ตำหนิดุด่าอเล็กซานเดอร์อย่างรุนแรง แล้วเนรเทศสหายของอเล็กซานเดอร์ 4 คนคือ ฮาร์พาลุส นีอาร์คุส ทอเลมี และเอริไกอุส ทั้งให้ล่ามตรวนเทสซาลุสกลับมาส่งให้ตน[39][42][43]

[แก้] กษัตริย์แห่งมาซิดอน

ภาพโมเสคที่ค้นพบที่ซากเมืองปอมเปอีย์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์รบ กับ กษัตริย์ดาไรอุสที่ 3 แห่งเปอร์เซีย ณ สมรภูมิกัวกาเมล่า (รูปนี้ถ้าเป็นรูปเต็ม จะมีรูปกษัตริย์ดาไรอุสตกพระทัยจากหอกที่พุ่งใส่ อยู่บนรถม้าอยู่ทางขวามือ โดยรูปนี้แสดงถึงความกล้าหาญของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ และความอ่อนแอของกษัตริย์ดาไรอุส โดยรูปนี้นับเป็นรูปที่มีชื่อเสียงที่สุดของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ด้วย)

[แก้] การขึ้นครองราชย์

ปีที่ 336 ก่อนคริสตกาล ขณะที่ฟิลิปอยู่ที่ Aegae เข้าร่วมในพิธีวิวาห์ระหว่าง คลีโอพัตรา บุตรสาวของตนกับโอลิมเพียส กับอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเอพิรุส ซึ่งเป็นน้องชายของโอลิมเพียส พระองค์ถูกลอบสังหารโดยนายทหารราชองครักษ์ของพระองค์เอง คือ เพาซานิอัสแห่งโอเรสติส7 ขณะที่เพาซานิอัสพยายามหลบหนี ก็สะดุดล้มและถูกสังหารโดยสหายสองคนของอเล็กซานเดอร์ คือ เพอร์ดิคคัสกับเลออนนาตุส อเล็กซานเดอร์อ้างสิทธิ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยการสนับสนุนของกองทัพมาซิโดเนียและขุนนางแห่งมาซิดอนเมื่ออายุได้ 20 ปี[44][45][46]

[แก้] การรวบรวมอำนาจ

[แก้] ยุทธการบอลข่าน

[แก้] การรบที่กัวกาเมล่า

เมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 212 พระองค์ยาตราทัพสู่อาณาจักรเปอร์เซีย เพื่อท้ารบกับกษัตริย์ดาไรอุสที่ 3 แห่งเปอร์เซีย ที่เชื่อว่าเป็นผู้จ้างคนลอบสังหารพระเจ้าฟิลิปที่ 2 พระบิดาของพระองค์ ทัพของทั้งคู่เผชิญหน้ากันที่กัวกาเมล่า (อยู่ใกล้กับประเทศอิรักในปัจจุบัน) โดยที่กองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราชมีเพียง 20,000 เท่านั้น ขณะที่กองทัพเปอร์เซียมีนับแสน แต่ด้วยความกล้าหาญของทหารมาซิโดเนียทุกคน กับการวางแผนการรบที่ชาญฉลาดอเล็กซานเดอร์มหาราช ทำให้พระองค์ได้รับชัยชนะแม้จะสูญเสียเป็นจำนวนมากก็ตาม ในการรบครั้งนี้นับเป็นการรบที่มีชื่อของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่สุด เนื่องจากพระองค์ทรงควบบูซาเฟลัสบุกเดี่ยวฝ่ากองป้องกันของทหารเปอร์เซียขว้างหอกใส่กษัตริย์ดาไรอุส ทำให้กษัตริย์ดาไรอุสตกพระทัย และหลบหนีขึ้นเขาไปในที่สุด ผลจากการรบครั้งนี้ทำให้อเล็กซานเดอร์มหาราชได้เข้าสู่นครเปอร์ซีโปลิส (Persepolis) ศูนย์กลางอาณาจักรเปอร์เซีย และได้เป็นพระราชาแห่งเอเชีย

[แก้] การรบครั้งสุดท้าย

การรบครั้งสุดท้ายที่มีผู้ต่อกรกับอเล็กซานเดอร์มหาราชอย่างจริงจัง เมื่อพระองค์ยกกองทัพเข้ามาทางภาคเหนือของอินเดียในปี พ.ศ. 217 โดยเข้าสู่บริเวณลุ่ม แม่น้ำสินธุ ตีกรุงตักสิลาใน แคว้นคันธาระ แตก แล้วบุกตระลุยลงมาสู่เมืองนิเกีย (Nicaea) แคว้นปัญจาบ ในพระเจ้าโปรัสหรือพระเจ้าพอรุส (Porus) (หากใช้สำเนียงเอเซียจะเรียกว่าพระเจ้าเปารวะ) พระเจ้าเปารวะเป็นผู้เข้มแข็งในการรบ ซึ่งมีพระสมญาว่า "สิงห์แห่งปัญจาบ" ได้รับแจ้งข่าวกับบรรดามหาราชาแห่งอินเดียว่ามีข้าศึกชาวตะวันตกผมบรอนซ์ตาสีฟ้ายกทัพข้ามภูเขาฮินดูกูชเข้ามา ฝ่ายอินเดียระดมกำลังพลทหารราบ 40,000 ทหารม้า 4,000 รถศึกอีก 500 และกองทัพช้างมหึมาจำนวน 500 เชือกรอรับอยู่ กองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกับกองทัพฝ่ายอินเดียโดยมีพระเจ้าเปารวะเป็นแม่ทัพได้ปะทะกันที่ฝั่งแม่น้ำวิตัสตะ อันเป็นสาขาของแม่น้ำสินธุ กำลังพลจำนวน 17,000 ในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ข้ามแม่น้ำสำเร็จโดยอาศัยธรรมชาติช่วย แต่ทหารม้าของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชไม่เคยสู้รบกับช้างจึงบังเกิดความแตกตื่นอลหม่านขึ้น ทหารหอกยาวนับหมื่นของพระองค์ก็ได้พยายามต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ นี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่รบมาเป็นเวลา 15 ปีที่กองทหารหอก (Phalanx) อันมีระเบียบวินัยในพระองค์บาดเจ็บจนบ้าเลือดบุกตะลุยไปทั่ว ทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทหารจากฝ่ายใด การรบวันนั้นต้องสิ้นสุดลงด้วยการหย่าศึก เพราะบาดเจ็บล้มตายกับทั้งสองข้าง แต่ถึงอย่างไรพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ยังทรงได้รับชัยชนะอยู่ดี เพราะพระเจ้าเปารวะถูกอาวุธบาดเจ็บสาหัสและถูกนายทหารกรีกจับเป็นเชลยสงคราม เมื่อพระเจ้าเปารวะถูกจับมาเผชิญพระพักตร์กับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราชตรัสถามว่า

"พระองค์ต้องการจะให้เราปฏิบัติอย่างไร?" พระเจ้าเปารวะตรัสตอบอย่างองอาจว่า

"ต้องการให้ปฏิบัติเราอย่างกษัตริย์" แทนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจะพิโรธกลับตรัสถามต่อไปว่า

"ทรงประสงค์จะขออะไรอีก?" พระเจ้าเปารวะจึงตรัสตอบว่า

"คำว่า "กษัตริย์" นั้นครอบคลุมไปถึงสิ่งทั้งหมดที่เราต้องการขอแล้ว"

ดินแดนภายใต้การยึดครองของอเล็กซานเดอร์

ด้วยความกล้าหาญรักษาขัตติยเกียรติของพระเจ้าเปารวะทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งมีพระทัยโปรดคนกล้าหาญ ได้พระราชทานคืนบ้านเมืองให้แล้วแต่งตั้งพระเจ้าเปารวะให้เป็นพระราชาตามเดิม แต่ดำรงในฐานประเทศราช

เสร็จศึกในครั้งนั้นอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้สดับความมั่งคั่งสมบูรณ์ของแคว้นมคธ และได้ตระเตรียมยาตราทัพมาตี แต่ทหารของพระองค์ที่ร่วมศึกกับพระองค์มาตั้งแต่เป็นพระยุพราชเป็นเวลา 15 ปีที่ไม่ได้กลับบ้านกลับเมือง พากันเบื่อหน่ายการรบ โดยให้ความเห็นว่าถ้าตีมคธได้ก็คงตีแคว้นอื่นต่อไปอีกไม่มีกำหนดสิ้นสุด อเล็กซานเดอร์มหาราชจึงต้องจำพระทัยเลิกทัพกลับ ช่วงนิวัตกลับอเล็กซานเดอร์มหาราชแบ่งกองทัพออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งให้กลับทางบก ส่วนพระองค์นิวัตโดยทางชลมาร์คลงมาตามแม่น้ำสินธุอย่างผู้พิชิตพร้อมด้วยทหารฝ่ายที่เหลือ รวมเวลาที่อเล็กซานเดอร์มหาราชรบอยู่ในอินเดีย 1 ปี กับ 8 เดือน พระองค์ได้เสด็จฯไปยังกรุงบาบิลอนซึ่งเป็นนครเอกของโลกในเวลานั้น

[แก้] ดวงชะตา

ดวงพระชะตาของอเล็กซานเดอร์มหาราชขึ้นอยู่เป็นเวลา 13 ปีที่พระองค์ไม่แพ้ใครเลย จนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ. 219 เฮฟาอีสเตียน (Hephaestien) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีและนายทหารพระสหายสนิทที่ใกล้ชิดพระองค์ที่สุดของพระองค์ตายที่เมืองเอกบาตานา (Ecbatana) อเล็กซานเดอร์มหาราชเศร้าโศกเป็นอย่างมาก และไม่ยอมตั้งใครให้ทำหน้าที่แทนพระสหายรักในพระองค์ ทรงจัดพิธีศพให้ที่กรุงบาบิลอนโดยใช้กองฟืนที่มีราคาแพง ต่อจากนั้นได้รับสั่งให้สร้างสุสานขนาดใหญ่ที่สวยงามเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เฮพาเอสเชียนที่เมืองบาบิโลน สืบเนื่องจากการสูญเสียพระสหาย พระองค์ก็ได้แต่เสวยน้ำจันฑ์ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ ณ กรุงบาบิลอน จึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ประชวรอยู่ 10 วันก็ได้ แล้วจึงเสด็จฯสู่สวรรคาลัยในวันที่ 10 มิถุนายน ปี พ.ศ. 220 โดยมีพระชนมายุเพียง 33 พระชันษา

[แก้] ความรัก

ในเรื่องของความรักของพระองค์ ผู้ซึ่งเป็นจักรพรรดิครองโลกในสมัยโบราณมาแล้วครึ่งโลก พระองค์เป็นชาวมาเซโดเนียมีพระปรีชาสามารถทางการรบเป็นอย่างสูง กล่าวกันว่าดวงพระชะตาของพระองค์ตั้งแต่ที่ได้ขึ้นครองราชย์มาล้วนไม่เคยแพ้ผู้ใด เว้นเสียแต่ว่าแพ้ใจตนเอง พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับสตรีชาวพื้นเมืองอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง แต่สาเหตุที่ทำการอภิเษกสมรสนั้นก็ล้วนเกิดจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ ดังที่คนส่วนใหญ่ทราบกันดี ว่าความสัมพันธ์ของพระองค์ที่ต่อทหารของพระองค์ล้วนลึกซึ่งเกินกว่าคำว่าเพื่อนสนิท หรือเจ้ากับข้า ครั้งหนึ่งจากความสูญเสียเฮพาเอสเชียนพระองค์ทรงเสียพระทัยจนถึงจะทรงทำอัตวินิบาตกรรม และเสวยน้ำจัณฑ์ติดต่อกันหลายวัน จนแทบไม่พระทัยในพระราชกรณียกิจอื่นใด พลูตาร์กได้บันทึกว่า ในปี พ.ศ. 220 ตรงกับฤดูใบไม้ผลิ เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จฯไปถึงเมืองบาบิโลนเพื่อไปทอดพระเนตรสุสานที่เก็บศพเฮพาเอสเชียนพระสหายสนิท แต่กลับยังสร้างไม่เสร็จ ปรากฏว่าพระองค์ทรงยกเลิกพิธีเคารพศพกลับมาเสวยน้ำจัณฑ์ติดต่อกันเจ็ดวันเจ็ดคืนจนสวรรคต

เรื่องราวความรักของพระองค์นอกเหนือจากนี้เราสามารถหาอ่านได้จากงานเขียนของคาลลิสเธเนส ซึ่งเป็นนามแฝงของหลานชายอริสโตเติล, บันทึกของเอมีร์ คูสเรา, บันทึกของเนคตาเนเบส เป็นต้น

[แก้] เชิงอรรถ

หมายเหตุ 1: ในเวลาที่อเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ พระองค์สามารถพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียทั้งหมด ผนวกดินแดนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมาซิโดเนีย หากพิจารณาตามนักเขียนยุคใหม่บางคน นั่นคือดินแดนเกือบทั้งหมดของโลกเท่าที่ชาวกรีกโบราณรู้จัก[47][48] ภาพคร่าวๆ ของโลกในสายตาของอเล็กซานเดอร์ สามารถดูได้จากแผนที่ของเฮกาเตอุสแห่งมิเลตุส ดูที่ ไฟล์:Hecataeus world map-en.svg

หมายเหตุ 2: ตัวอย่างเช่น ฮันนิบาล ยกย่องอเล็กซานเดอร์ว่าเป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด[49] จูเลียส ซีซาร์ ร่ำไห้เมื่อเห็นอนุสาวรีย์ของอเล็กซานเดอร์ เพราะพระองค์ประสบความสำเร็จได้เพียงน้อยนิดขณะเมื่ออายุเท่ากัน[50]พอมพี แสดงตัวว่าเป็น "อเล็กซานเดอร์คนใหม่"[51] นโปเลียน โบนาปาร์ต ก็เปรียบเทียบตนเองกับอเล็กซานเดอร์[52]

หมายเหตุ 7: นับตั้งแต่ยุคสมัยนั้นก็มีข้อสงสัยมากมายอยู่ว่า เพาซานิอัสถูกว่าจ้างให้มาสังหารฟิลิป ผู้ต้องสงสัยว่าจ้างวานได้แก่อเล็กซานเดอร์ โอลิมเพียส รวมไปถึงจักรพรรดิเปอร์เซียที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ คือ พระเจ้าดาริอุสที่ 3 ทั้งสามคนนี้ล้วนมีแรงจูงใจที่ต้องการให้ฟิลิปสิ้นพระชนม์[53]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 Plutarch, Alexander, 3
  2. ^ อเล็กซานเดอร์เกิดในวันที่ 6 ของเดือน Hekatombaion ตามปฏิทินแอตติกThe birth of Alexander at Livius.org.
  3. ^ 3.0 3.1 3.2 Plutarch, Alexander, 2
  4. ^ McCarty, p. 10.
  5. ^ 5.0 5.1 Renault, p. 28.
  6. ^ Durant, Life of Greece, p. 538.
  7. ^ Plutarch. "Life of Pyrrhus". Penelope.uchicago.edu. Retrieved 14 November 2009.
  8. ^ Appian, History of the Syrian Wars, §10 and §11 at Livius.org
  9. ^ Bose, p. 21.
  10. ^ Renault, pp. 33–34.
  11. ^ Plutarch, Alexander, 5
  12. ^ Plutarch, Alexander, 6
  13. ^ Fox, The Search For Alexander, p. 64.
  14. ^ Renault, p. 39.
  15. ^ Durant, p. 538.
  16. ^ Plutarch, Alexander, 7
  17. ^ Fox, The Search For Alexander, p. 65.
  18. ^ Renault, p. 44.
  19. ^ McCarty, p. 15.
  20. ^ Fox, The Search For Alexander, pp. 65–66.
  21. ^ Plutarch, Alexander, 8
  22. ^ Renault, pp. 45–47.
  23. ^ McCarty, Alexander the Great, p. 16.
  24. ^ 24.0 24.1 24.2 Plutarch, Alexander, 9
  25. ^ Fox, The Search For Alexander, p. 68.
  26. ^ Renault, p. 47.
  27. ^ Bose, p. 43.
  28. ^ Renault, pp. 47–49.
  29. ^ Renault, pp. 50–51.
  30. ^ Bose, pp. 44–45
  31. ^ McCarty, p. 23
  32. ^ Renault, p. 51.
  33. ^ Bose, p. 47.
  34. ^ McCarty, p. 24.
  35. ^ Diodorus Siculus, Library XVI, 86
  36. ^ History of Ancient Sparta. Sikyon.com. สืบค้นวันที่ 14 November 2009
  37. ^ Renault, p. 54.
  38. ^ McCarty, p. 26.
  39. ^ 39.0 39.1 McCarty, p. 27.
  40. ^ Bose, p. 75.
  41. ^ Renault, p. 56
  42. ^ Renault, p. 59.
  43. ^ Fox, The Search For Alexander, p. 71.
  44. ^ McCarty, pp. 30–31.
  45. ^ Renault, pp. 61–62.
  46. ^ Fox, The Search For Alexander, p. 72.
  47. ^ Danforth, Loring M. (1997). The Macedonian Conflict: Ethnic Nationalism in a Transnational World. Princeton University Press. ISBN 0691043566. 
  48. ^ Stoneman, Richard (2004). Alexander the Great. Routledge. ISBN 0415319323. 
  49. ^ Goldsworthy, A. (2003). The Fall of Carthage. Cassel. ISBN 0304366420. 
  50. ^ Plutarch, Caesar, 11
  51. ^ Holland, T. (2003). Rubicon: Triumph and Tragedy in the Roman Republic. Abacus. ISBN 9780349115634. 
  52. ^ Barnett, C. (1997). Bonaparte. Wordsworth Editions. ISBN 1853266787. 
  53. ^ Fox, The Search For Alexander, pp. 72–73.

[แก้] บรรณานุกรม

[แก้] แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ

  • Arrian, Anabasis Alexandri (The Campaigns of Alexander).
  • Curtius Rufus, Historiae Alexandri Magni (History of Alexander the Great).
  • Diodorus Siculus, Bibliotheca historica, (Library of History).
    • ฉบับออนไลน์ : Diodorus Siculus, Library. perseus.tufts.edu. สืบค้นวันที่ 14 November 2009 (อังกฤษ)
    • แปลโดย C.H. Oldfather (1989).
  • Justin, Epitome of the Philippic History of Pompeius Trogus.
  • Plutarch, Alexander.
  • Plutarch, Moralia, Fortuna Alexandri (On the Fortune or Virtue of Alexander).
    • ฉบับออนไลน์ : Plutarch, On the Fortune of Alexander. penelope.uchicago.edu. สืบค้นวันที่ 14 November 2009 (อังกฤษ)
    • แปลโดย Bill Thayer.

[แก้] แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ

  • Barnett, C. (1997). Bonaparte. Wordsworth Editions. ISBN 1853266787. 
  • Beazley JD and Ashmole B (1932). Greek Sculpture and Painting. Cambridge University Press. 
  • Bose, Partha (2003). Alexander the Great's Art of Strategy. Allen & Unwin. ISBN 1741141133. 
  • Bowra, Maurice (1994). The Greek Experience. Phoenix Books. ISBN 1857991222. 
  • Danforth, Loring M. (1997). The Macedonian Conflict: Ethnic Nationalism in a Transnational World. Princeton University Press. ISBN 0691043566. 
  • Durant, Will (1966). The Story of Civilization: The Life of Greece. Simon & Schuster. ISBN 0671418009. 
  • Bill Fawcett, (2006). Bill Fawcett. ed. How To Loose A Battle: Foolish Plans and Great Military Blunders. Harper. ISBN 0060760249. 
  • Gergel, Tania (editor) (2004). The Brief Life and Towering Exploits of History's Greatest Conqueror as Told By His Original Biographers. Penguin Books. ISBN 0142001406. 
  • Green, Peter (1992). Alexander of Macedon: 356–323 B.C. A Historical Biography. University of California Press. ISBN 0520071662. 
  • Green, Peter (2007). Alexander the Great and the Hellenistic Age. Orion Books. ISBN 9780753824139. 
  • Greene, Robert (2000). The 48 Laws of Power. Penguin Books. p. 351. ISBN 0140280197. 
  • Grimal, Nicolas (1992). A History of Ancient Egypt (reprint ed.). Blackwell Publishing. ISBN 9780631193960. 
  • Gunther, John (2007). Alexander the Great. Sterling. ISBN 1402745192. 
  • Hammond, N. G. L. (1989). The Macedonian State: Origins, Institutions, and History. Oxford University Press. ISBN 0198148836. 
  • Holland, T. (2003). Rubicon: Triumph and Tragedy in the Roman Republic. Abacus. ISBN 9780349115634. 
  • Holt, Frank Lee (2003). Alexander the Great and the mystery of the elephant medallions. University of California Press. ISBN 0520238818. 
  • Keay, John (2001). India: A History. Grove Press. ISBN 0802137970. 
  • Lane Fox, Robin (1973). Alexander the Great. Allen Lane. ISBN 0860077071. 
  • Lane Fox, Robin (1980). The Search for Alexander. Little Brown & Co. Boston. ISBN 0316291080. 
  • Goldsworthy, A. (2003). The Fall of Carthage. Cassel. ISBN 0304366420. 
  • Luniya, Bhanwarlal Nathuram (1978). Life and Culture in Ancient India: From the Earliest Times to 1000 A.D.. Lakshmi Narain Agarwal. LCCN 78907043. 
  • McCarty, Nick (2004). Alexander the Great. Penguin. ISBN 0670042684. 
  • Murphy, James Jerome (2003). A Synoptic History of Classical Rhetoric. Lawrence Erlbaum Associates. p. 17. ISBN 1880393352. 
  • Nandan, Y and Bhavan, BV (2003). British Death March Under Asiatic Impulse: Epic of Anglo-Indian Tragedy in Afghanistan. Mumbai: Bharatiya Vidya Bhavan. ISBN 8172763018. 
  • Narain, AK (1965). Alexander the Great: Greece and Rome–12. 
  • Daniel Ogden (2009). "Alexander's Sex Life". in Alice Heckel, Waldemar Heckel, Lawrence A. Tritle. Alexander the Great: A New History. Wiley-Blackwell. ISBN 1405130822. 
  • Pratt, James Bissett (1996). The Pilgrimage of Buddhism and a Buddhist Pilgrimage. Laurier Books. ISBN 8120611969. 
  • Pomeroy, S. (1998). Ancient Greece: A Political, Social, and Cultural History. Oxford University Press. ISBN 0195097424. 
  • Renault, Mary (2001). The Nature of Alexander the Great. Penguin. ISBN 014139076X. 
  • Trudy Ring, Robert M. Salkin, K. A. Berney, Paul E. Schellinger (1994). Taylor & Francis. ed. International dictionary of historic places. Chicago ; Fitzroy Dearborn, 1994-1996.. ISBN 9781884964036. 
  • Sabin, P; van Wees, H; Whitby, M (2007). The Cambridge History of Greek and Roman Warfare: Greece, the Hellenistic World and the Rise of Rome. Cambridge University Press. ISBN 0521782732. 
  • Sacks, David (1995). Encyclopedia of the Ancient Greek World. Constable and Co.. ISBN 0094752702. 
  • Stoneman, Richard (2004). Alexander the Great. Routledge. ISBN 0415319323. 
  • Studniczka, Franz (1894). Achäologische Jahrbook 9. 
  • Tripathi, Rama Shankar (1999). History of Ancient India. ISBN 9788120800182. 
  • Trudy Ring, Robert M. Salkin, K. A. Berney, Paul E. Schellinger (1994). International dictionary of historic places. Taylor & Francis. ISBN 1884964036. 
  • Wilcken, Ulrich [1932] (1997). Alexander the Great. W. W. Norton & Company. ISBN 0393003817. 
  • Worthington, Ian (2003). Alexander the Great. Routledge. ISBN 0415291879. 
  • Worthington, Ian (2004). Alexander the Great: Man And God. Pearson. ISBN 9781405801621. 

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons

ภาษาอื่น