อิศรา อมันตกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อิศรา อมันตกุล

นายอิศรา อมันตกุล (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2512) (ชื่อเดิม อิบรอฮีม อะมัน) นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย และ นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

นายอิศรา เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 10 คน ของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน จบชั้นประถมศึกษา จาก โรงเรียนบำรุงวิทยา ถนนจักรพงษ์ และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา (ปีที่ 8) จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในปี พ.ศ. 2472 โดยมีคะแนนในวิชาภาษาอังกฤษสูงสุดของประเทศ และสอบได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 ของนักเรียนทั่วประเทศในรุ่นนั้น ต่อมา ได้ไปทำงาน เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับคณะมิชชันนารี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 2 ปี จากนั้น ได้เดินทางไปยังประเทศใกล้เคียงอยู่ระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร

นายอิศรา สมรสกับ นางสเริงรมณ์ อมันตกุล (นามสกุลเดิม บุนนาค) ธิดาของ พลโท พระยาสีหราชเดโช นายอิศรา ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 เวลา 15.15 น. ด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้น หลังจากพักรักษาตัว ณ ตึกจงกลณี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลาเกือบ 10 เดือน

[แก้] งานหนังสือพิมพ์

เริ่มงานหนังสือพิมพ์กับ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ นายมาลัย ชูพินิจ ใน หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ และ หนังสือพิมพ์ประชามิตร ตามลำดับ จากนั้น ได้ร่วมก่อตั้ง หนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ กับ นายทองเติม เสมรสุต นายเสนีย์ เสาวพงศ์ และ นายวิตต์ สุทธิเสถียร

ต่อมา ได้ย้ายไปทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน (ผู้ก่อตั้ง)หนังสือพิมพ์เอกราช หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวัน หนังสือพิมพ์สยามนิกร หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ หนังสือพิมพ์กิตติศัพท์ หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ยุคใหม่ และ หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในปัจจุบัน)

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 จาก จอมพล ถนอม กิตติขจร หลังจากนั้นเพียง 1 วัน (21 ตุลาคม พ.ศ. 2501) หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ถูกปิด นายอิศรา ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ รวมถึงบรรณาธิการ และนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคน ถูกจับ ด้วยข้อหา มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยถูกคุมขัง เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ก็ถูกปล่อยตัว โดยไม่มีการส่งฟ้องศาล เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2507 หลังจากนั้น เข้ารับตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในปัจจุบัน) จนกระทั่งถึงแก่กรรม

นอกจากนี้ นายอิศรา ได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน (พ.ศ. 2499, พ.ศ. 2500 และ พ.ศ. 2501) และยังเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการจัดหน้าหนังสือพิมพ์ จากหน้าละ 7 คอลัมน์ เป็น 8 คอลัมน์ อีกด้วย

มูลนิธิ อิศรา อมันตกุล

[แก้] มูลนิธิ อิศรา อมันตกุล

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2512 สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และ สมาคมหนังข่าวแห่งประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกัน และมีมติให้จัดตั้ง “มูลนิธิ อิศรา อมันตกุล” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอิศรา จดทะเบียนก่อตั้ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 โดยมี นายสนิท เอกชัย เป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก

โดยมีภารกิจสำคัญ ร่วมกับ สมาคมนักข่าวฯ จัดให้มีการประกาศรางวัลผลงานข่าวหนังสือพิมพ์ และภาพข่าวหนังสือพิมพ์ดีเด่น โดย สมาคมนักข่าวฯ เป็นฝ่ายแต่งตั้งคณะกรรมการตัดสิน จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 และมีพิธีมอบรางวัลครั้งแรก ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2516

[แก้] นามปากกา

  • นายอิสระ
  • มะงุมมะงาหรา
  • อโศก
  • ธนุธร
  • รติรมย์
  • เริง อภิรมย์
  • นที บุรีรัมย์
  • เริง กุลราช
  • ทรงกลด กลางหาว
  • พราย พิสดาร
  • ดร.x XYZ
  • แฟรงค์ ฟรีแมน
  • เจดีย์ กลางแดด

[แก้] ผลงาน

นายอิศรา มีผลงานเรื่องสั้นหลายเรื่อง ก่อนจะทำงานหนังสือพิมพ์ และยังเขียนนวนิยายไว้เป็นจำนวนมาก

[แก้] นวนิยาย

  • นักบุญ - คนบาป
  • ฮาลิมาวกุนิง(เสือเหลือง)
  • นาถยา
  • สถาพรผู้กลับมา (นาถยา ภาคจบ)
  • วีรบุรุษในหนังฬา
  • ข้าจะไม่แพ้
  • ธรณีประลัย
  • ไซง่อนพิศวาส
  • ไซง่อนเสน่หา
  • พยัคฆ์ร้ายไซง่อน
  • ชุมทางดาวร้าย
  • ลูกผู้ชายชื่อไอ้แผน
  • ท้ามัจจุราช
  • มังกรมาเก๊า
  • กิเลนเกาลูน
  • มนุษย์สองชีพ
  • ป่ามโนราห์
  • ร้อยชู้หรือจะสู้รุ่งรำแพน
  • ควันปืนที่ธารกะปอร์
  • จูบฉันแล้วจงตายเสีย
  • 108 แพศยา
  • เขานั้นหรือ ชื่อจอม จัตุรัส (เดิมชื่อ ทิศตะวันออกตะวันตก)
  • ชุดนักสืบพราย พิศดาร

[แก้] เรื่องสั้น

  • พรและคำสาป
  • ยุคทมิฬ
  • หัวเราะและน้ำตา
  • วายุภักษ์ปีกหัก
  • เหตุเกิดบนแผ่นดิน
  • เพลงแห่งอิสรภาพ
  • พระเจ้าคนละองค์
  • เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี
  • เกลือก ว่าเราจะลืม
  • เขาเลี้ยงงูพิษในใจ


[แก้] สารคดี

  • ยักษ์ตื่นในเอเชีย
  • สตาลินผู้พิชิต
  • เยี่ยมอยคุปต์

[แก้] เรื่องแปล

  • วัยรุ่นและพรหมจรรย์

[แก้] วิชาการ

  • Slang ไม่ใช่ของแสลง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Nuvola apps ksig.png อิศรา อมันตกุล เป็นบทความเกี่ยวกับ นักเขียน หรือ นักประพันธ์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อิศรา อมันตกุล ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ