อสมท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน))
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
ประเภท สื่อและสิ่งพิมพ์
รูปแบบ สื่อสารมวลชน
ก่อนหน้า บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
(พ.ศ. 2495-พ.ศ. 2520)
องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(พ.ศ. 2520-พ.ศ. 2547)
ก่อตั้งเมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 (อายุ 5 ปี)
สำนักงานใหญ่ เลขที่ 63/1 ถนนพระรามที่ 9
แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พื้นที่ที่ให้บริการ Flag of ไทย ประเทศไทย
บุคลากรหลัก สุรพล นิติไกรพจน์
ประธานกรรมการ
ธนวัฒน์ วันสม
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
อุตสาหกรรม สถานีโทรทัศน์/สถานีวิทยุ/สำนักข่าว
ผลิตภัณฑ์
หุ้นรวม 687,099,210
เจ้าของ กระทรวงการคลัง
บริษัทลูก บจก.พาโนรามา เวิลด์ไวด์
คำขวัญ ก้าวไกลรับใช้ประชาชน
เว็บไซต์ www.mcot.net
(SET:MCOT)

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: MCOT Public Company Limited; ชื่อย่อ: บมจ.อสมท, MCOT PCL.) เป็นรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นกิจการสื่อสารมวลชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาลไทย โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน อันประกอบด้วย กิจการวิทยุโทรทัศน์ แพร่ภาพออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยระบบสี 625 เส้น จากสถานีแม่ข่ายในกรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่ายในภูมิภาคจำนวน 35 สถานี มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเกือบทั่วประเทศไทย ทางช่อง 9 ในชื่อ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และยังมีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอีก 2 ช่อง ออกอากาศสถานีละ 24 ชั่วโมง คือ เอ็มคอทวัน และ เอ็มคอททู แพร่ภาพออกอากาศทาง โทรทัศน์เคเบิลทรูวิชั่นส์ ของ อสมท ในระบบดิจิตอล กิจการวิทยุกระจายเสียง ส่งกระจายเสียงด้วยระบบเอฟเอ็ม ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จำนวน 35 สถานี และในระบบเอเอ็ม ในส่วนกลาง 2 สถานี สำนักข่าวไทย ดำเนินการผลิต รวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข่าวสาร ทั้งทางสื่อโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียง รวมไปถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ตั้งปัจจุบัน ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 63/1 ถนนพระรามที่ 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

บมจ.อสมท ได้เริ่มจัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดให้มีการบริการออกอากาศวิทยุและโทรทัศน์ขึ้นในประเทศไทย โดยผู้นำรัฐบาลได้เสนอจัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า "โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ" ต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีและเหล่าข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ ได้เลี่ยงไปจัดตั้งเป็นบริษัทที่มีชื่อว่า บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 (ซึ่งในความจริงแล้วควรจะให้หน่วยงานราชการจัดตั้งสถานีเอง) ต่อมาในภายหลัง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ประสบปัญหาในการดำเนินกิจการ รัฐบาลสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงได้มีมติให้ยุบเลิกกิจการเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 และได้มีการตรา พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) พ.ศ. 2520 ขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520 เพื่อดำเนินการจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือต่อเนื่อง หรือใกล้เคียง กับกิจการสื่อสารมวลชน ทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร และให้โอนพนักงาน และลูกจ้าง ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เข้ามาเป็นพนักงานขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งรับโอนกิจการวิทยุและโทรทัศน์ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด มาดำเนินการต่อ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2520 อ.ส.ม.ท. ได้ก่อตั้งสำนักข่าวไทยขึ้นมาเพื่อดำเนินงานด้านข่าวอีกหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งสำนักข่าวอย่างเป็นทางการแห่งแรกของประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2532 อ.ส.ม.ท. ได้เป็นผู้มอบคลื่นความถี่ระบบเคเบิล (CATV),สัมปทานให้ภาคเอกชนเช่าสัมปทานและความถี่ และได้ร่วมดำเนินธุรกิจกับภาคเอกชนในการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกเป็นครั้งแรกของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันดำเนินการในนาม ทรูวิชั่นส์ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 บมจ. อสมท ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ด้วยการแปลงสภาพองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยทั้งองค์กรเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตาม พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 600 ล้านหุ้น โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว

บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และกระจายหุ้นสู่มหาชนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 และบริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท พาโนราม่า เวิลด์ไวด์ จำกัด เป็นบริษัทย่อย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 สำหรับผลิตรายการและสารคดีให้กับ บมจ.อสมท, หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อเผยแพร่หรือขายให้กับสถานีโทรทัศน์ทั้งในและต่างประเทศ

[แก้] การประกอบธุรกิจ

[แก้] สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

ดูบทความหลักที่ โมเดิร์นไนน์ทีวี

กิจการวิทยุโทรทัศน์ ในการกำกับดูแลของ บมจ.อสมท คือ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เปลี่ยนชื่อมาจาก สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 กับ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 แลเปลี่ยนเป็นระบบสีในปี พ.ศ. 2517 ดำเนินการออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง โดยแพร่ภาพออกอากาศจากสถานีแม่ข่าย ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่ ไปยังสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาคจำนวน 35 สถานีทั่วประเทศ มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศประมาณ 87% และมีประชาชนอยู่ในเขตพื้นที่บริการประมาณ 88.5%

[แก้] สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอ็มคอท

สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอ็มคอท เป็นอีกหนึ่งในกิจการโทรทัศน์ของ บมจ.อสมท ออกอากาศจำนวน 2 สถานี ซึ่งสามารถรับชมได้ทางทรูวิชั่นส์ ในระบบดิจิตอล โดยเอ็มคอทวัน ออกอากาศทางช่อง 78 และ เอ็มคอททู ออกอากาศทางช่อง 79 ดำเนินการออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง รวม 2สถานี เป็นเวลา 48 ชั่วโมง โดย เอ็มคอททีวี ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาของ บมจ.อสมท ครบ 30 ปี ในปี พ.ศ. 2550 โดยทั้ง 2 สถานี ได้ออกอากาศรายการและสาระต่าง รวมทั้ง ข่าวสาร การถ่ายทอดสด และกีฬา ต่างๆ เป็นต้น

[แก้] สถานีวิทยุโมเดิร์นเรดิโอ

กิจการวิทยุกระจายเสียง ในการกำกับดูแลของ บมจ.อสมท คือ สถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์น เรดิโอ ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2497 ภายใต้ชื่อ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ในปัจจุบันทำการส่งกระจายเสียงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีจำนวนสถานีทั่วประเทศทั้งหมดจำนวน 62 สถานี ประกอบไปด้วย สถานีวิทยุที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 9 สถานี แบ่งเป็นระบบ FM 7 สถานีและระบบ AM 2 สถานี และในส่วนภูมิภาค ส่งกระจายเสียงในระบบ FM 53 สถานี มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศประมาณ 92.4% และมีประชาชนอยู่ในเขตพื้นที่บริการประมาณ 93.8% ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตเพื่อทำการจัดตั้งสถานีเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการ

[แก้] สำนักข่าวไทย

ดูบทความหลักที่ สำนักข่าวไทย

กิจการบริการข่าวสาร ในการกำกับดูแลของ บมจ.อสมท คือ สำนักข่าวไทย ก่อตั้งขึ้น ภายหลังการก่อตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 เป็นศูนย์กลางในการผลิต รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยนำเสนอผ่านทางสื่อของบริษัท ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี, เครือข่ายสถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์น เรดิโอ, สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไซต์อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ขยายความร่วมมือด้านต่างๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสารกับสำนักข่าว และสื่อสำคัญๆ ทั่วโลก

[แก้] ธุรกิจอื่น

บมจ.อสมท มีธุรกิจย่อย ในกิจการผลิตรายการโทรทัศน์และสารคดีโทรทัศน์ คือ บริษัท พาโนรามา เวิลด์ไวด์ จำกัด ซึ่งได้จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 โดย บมจ.อสมท มีสัดส่วนการถือหุ้น 49% นอกจากนี้ บมจ.อสมท ยังได้ร่วมดำเนินการกิจการกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ประกอบไปด้วย 2 กิจการหลักที่สำคัญคือ ร่วมกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (บีอีซี) ในการดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อสมท รวมทั้งให้เช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาทางสถานีวิทยุ FM 105.5 MHz และร่วมกับ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก

[แก้] ตราสัญลักษณ์

[แก้] พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2520

Ch4 Logo.png
MCOT Logo.png
MCOTPCL ThaiLogo.png

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร

[แก้] พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2547

หลังจากที่สถานีได้ก่อตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ เป็นรูปวงกลม ภายในเป็นรูปคลื่นกระจายสัญญาณ โดยฝั่งบนมีสีที่กระจายอยู่ 3 สี คือแดง เขียว น้ำเงิน และมีตัวอักษรคำว่า อ.ส.ม.ท. แบบโค้งสีดำ อยู่ฝั่งล่างพื้นหลังเป็นเหลือง ซึ่งอยู่ฝั่งล่าง แต่ในเอกสารจะใช้แบบโครงเส้น

[แก้] พ.ศ. 2547 - ปัจจุบัน

โมเดิร์นไนน์ทีวี มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม มีเส้นตัดกันอยู่ทางซ้ายมือ แทนลูกโลก ทางขวามือมีตัวเลข 9 สีม่วงซ่อนอยู่ ด้านบนมีเส้นโค้งสีเทา ลักษณะโดยรวมคล้ายดวงตา ด้านล่างมีตัวอักษรย่อ “MCOT” หรือ “อสมท” สีส้ม เดินเส้นขอบสีเทา กำกับอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตราแรก ก่อนที่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จะถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

[แก้] บุคลากร

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


Nuvola apps personal.png อสมท เป็นบทความเกี่ยวกับ บริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองค์กร  ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อสมท ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ
ภาษาอื่น