พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระนางเจ้าสุวัทนา.jpg
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระนามเต็ม พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระอิสริยยศ พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘) พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เนื้อหา

[แก้] พระประวัติ

[แก้] เมื่อทรงพระเยาว์

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ มีพระนามเดิมว่า "เครือแก้ว อภัยวงศ์" มีพระนามเล่นว่า "ติ๋ว" ทรงเป็นธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค

หลังจากมารดาถึงแก่กรรม คุณติ๋วได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้เป็นยายซึ่งเป็นผู้อำนวยการละครหลวงฝ่ายในกรมมหรสพ ต่อมาได้รับการฝึกฝนดุริยางคศิลป์ไทยในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำแหน่งต้นเสียงและฉลองพระเดชพระคุณในการแสดงละครเวทีที่เป็นบทพระราชนิพนธ์หลายโอกาสด้วยกัน และในเดือนเมษายน ๒๔๖๗ คุณเครือแก้วได้พระราชทานนามใหม่ว่า สุวัทนา

[แก้] อภิเษกสมรส

เสด็จประพาสสิงคโปร์และมลายู

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครเรื่อง "พระร่วง" ขึ้นเป็นครั้งแรกที่นั่น ซึ่งพระองค์ทรงแสดงเป็น นายมั่นปืนยาว ส่วนคุณติ๋วแสดงเป็นสาวใช้ของนางจันทร์ ซึ่งต้องมีบทพูดจาโต้ตอบกับบรรดาสาวใช้ของนางจันทร์ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๗

ภายหลังจากการซ้อมและการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วงพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชประดิพัทธ์ต้องพระราชอัธยาศัย ด้วยท่านมีความสุขุม ไม่ได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์กระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นในระหว่างการซ้อมละคร จึงได้ทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ

ต่อมา ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2467 ได้ทรงสถาปนาคุณสุวัทนาขึ้นเป็น เจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาระหว่างวันที่ 21 กันยายน ถึง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และแหลมมลายูเพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรี การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนา โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนา ได้ตามเสด็จไปในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

[แก้] พระประสูติกาลพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและพระธิดา

ต่อมาไม่นาน เจ้าจอมสุวัทนาก็ตั้งครรภ์พระหน่อ ยังให้บังเกิดความปีติปราโมทย์ในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ทรงเฝ้ารอพระประสูติการด้วยพระราชหฤทัยจดจ่อ

ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468 เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเจ้าจอมสุวัทนาจะมีสูติกาลพระหน่อในไม่ช้า จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วยเหตุผลดังปรากฏในพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ดังนี้

เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะทรงยกย่องให้เปนใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า

แต่แล้วเหตุการณ์มิคาดฝันได้เกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงพระประชวร ด้วยโรค พระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ภายหลังจาก พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้นมา

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 12.55 น. พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ประสูติ พระราชธิดา ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว แต่ก็มีพระอาการเพียบหนักขึ้น ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตร พระราชธิดาอย่างใกล้ชิด ในบ่ายวันรุ่งขึ้น แต่ก็มิสามารถมีพระราชดำรัสได้แล้ว จากนั้น ก็ทรงรู้สึกพระองค์น้อยลง กระทั่งสวรรคต เมื่อเวลา 1.45 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามแก่พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 ว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี" มีคำนำพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ" ซึ่งหมายความว่าหญิงที่สืบเนื่องจากพี่ชาย ดังนั้น การออกพระนาม สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

[แก้] การดำรงพระชนมชีพในสมัยรัชกาลที่ 7

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ วังรื่นฤดี

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ พร้อมด้วยพระธิดา ประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง อยู่ระยะหนึ่งจึงทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี และทรงย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ ในพระราชวังดุสิต ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ผู้ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ในความเป็นอยู่ของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แต่ต่อมาไม่นานได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง ทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองและกบฏบวรเดช จึงต้องทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งทั้งในสวนดุสิต สวนสุนันทา วังสระปทุม และตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา

เมื่อเหตุการณ์วุ่นวายคลี่คลายลง กอปรกับสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระวัยขึ้น พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า เชิญเสด็จพระธิดาไปประทับ ณ ตำหนัก “สวนรื่นฤดี” ที่โปรดให้สร้างขึ้นไว้บนที่ดินบริเวณถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย อันเป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้เมื่อคราวราชาภิเษกสมรส

[แก้] ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงสังเกตว่าพระพลานามัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นัก จึงทรงนำเสด็จพระธิดาไปทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับอยู่ นับแต่ก่อนทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477 ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2481 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ พร้อมด้วยพระธิดา จึงเสด็จไปยังประเทศอังกฤษ ทรงมีที่ประทับถาวรแห่งแรกอยู่ ณ ตำบลแฟร์ฮิลล์ แคว้นแคมเบอร์ลีย์ และต่อมาทรงย้ายไปประทับ ที่ เมืองไบรตัน

ระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ยังทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น ทรงช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ทรงม้วนผ้าพันแผล และถักเครื่องกันหนาว ประทานแก่ทหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยรบ เป็นต้น กระทั่งสภากาชาดอังกฤษ ได้ถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงประสบ ความยากลำบากนานาประการ โดยเฉพาะในยาม เศรษฐกิจฝืดเคือง อันเนื่องมาจากภาวะสงคราม จึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งทรงทำงานบ้านเอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ ทรงเรียนรู้วิธีซื้อขายหุ้น ตลอดจนการทำธุรกิจ ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และทรงดำเนินการดังกล่าวได้อย่างชำนาญ

ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงรักษาพระเกียรติยศ แห่งราชนารี ได้อย่างมั่นคง ผู้มีหน้าที่รับใช้อยู่บนตำหนัก ไม่ว่าจะเป็นที่ตำหนักแฟร์ฮิลล์ ตำหนักไบรตัน หรือ ตำหนักไดก์โรด ล้วนเป็นสตรีทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยโปรดให้เข้าเฝ้ารับประทานเลี้ยงอยู่เสมอ

[แก้] นิวัตประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่ง ทักษิโณทก พระราชทานแก่พระนางเจ้าสุวัทนา

ครั้นพุทธศักราช 2502 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงได้เสด็จนิวัต ประเทศไทย เป็นการถาวร ประทับ ณ วังรื่นฤดี วังแห่งใหม่ในซอยสันติสุข สุขุมวิท 38

[แก้] สิ้นพระชนม์

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประชวรด้วยพระอาการพระปัปผาสะอักเสบ กระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เวลา 17.09 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ขณะพระชนมายุ 80 พรรษาเศษ

[แก้] พระเกียรติยศ

[แก้] พระอิสริยยศ

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] พระอัธยาศัย

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงวางพระองค์ได้งามสม ทรงเป็นที่นับถือของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังทรงเป็นพระชนนีผู้ประเสริฐ ดังจะเห็นได้จาก พระอุปนิสัย และพระอัธยาศัยงดงาม ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ล้วนแต่บังเกิดการอบรมพระธิดา ให้ทรงงามสมพระอิสริยศักดิ์ ส่วนพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เอง ก็มีพระอุปนิสัยร่าเริง ทรงสามารถรับสั่งกับบุคคลทุกอาชีพ ทุกวัยได้เป็นอย่างดี โปรดการเลี้ยงสุนัข โปรดการปลูกต้นไม้ และโปรดธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง

[แก้] พระกรณียกิจสังเขป

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงอุปการะกิจการเพื่อ การสาธารณประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่นเมื่อครั้งทรงเจริญ พระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2508 ได้ประทานเงิน ก่อสร้างอาคารสำหรับผู้ป่วยนอก และห้องฉุกเฉินใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ 1 หลัง ประทานนามว่า “ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน” นอกจากนี้ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ที่ทรงได้รับมรดกคือที่ดิน และบ้านของพระบุพการี ณ จังหวัดปราจีนบุรี ก็ทรงพระกรุณา ประทานกรรมสิทธิ์ ให้แก่ทางราชการ เมื่อทางราชการได้ใช้สถานที่ดังกล่าว สร้างโรงพยาบาล ก็ไม่ทรงใช้พระนามของพระองค ์เป็นนามโรงพยาบาลแห่งนี้ หากแต่โปรดประทานนามว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบรรพบุรุษ

ส่วนการพระศาสนานั้น ทรงศรัทธาบำเพ็ญพระกุศลโดยประการต่าง ๆ อยู่เสมอ โปรดเสด็จไปทรงทอดผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ทั้งในพระนคร และต่างจังหวัดทั่วทุกภาค ทรงเยี่ยมและประทานพระอนุเคราะห์ แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

[แก้] ราชตระกูล

พระราชตระกูลในสามรุ่นของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระชนก:
พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์)
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์)
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ท่านผู้หญิงทับทิม บุนนาค
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
คุณหญิงสอิ้ง อภัยภูเบศร
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
ไม่ทราบ
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ไม่ทราบ
พระชนนี:
คุณเล็ก บุนนาค
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ท่านผู้หญิงกลิ่น บุนนาค
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่ทราบ
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่ทราบ

[แก้] อ้างอิง

ภาษาอื่น